Technology หนุน JKN ยืนหนึ่งผู้นำ Global Content | Techsauce

Technology หนุน JKN ยืนหนึ่งผู้นำ Global Content

  • วางผังระบบ IT สนับสนุนบริหาร content ใน 4 กลุ่มหลัก
  • ตั้งเป้าหมายวางระบบเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
  • คาดช่วยเพิ่ม productivity ให้สูงขึ้น 30-40%
  • เตรียมรองรับ Digital Transformation เล็งใช้ AI มาเสริมศักยภาพ

Global Content ทั้งสารคดีจากฝั่งยุโรป ซีรีส์ดังจากทั้ง Hollywood เกาหลี และ อินเดีย คือเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จที่สร้างแต้มต่อให้ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN เติบโต โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการปรับโฉมองค์กรครั้งใหญ่ด้วยการนำ technology มาสนับสนุนธุรกิจรอบด้าน ที่นอกจากยกระดับ productivity ให้สูงขึ้น 30-40% แล้ว ท้ายที่สุดคือสามารถรองรับการเข้าสู่ Digital Transformation เพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น AI ตลอดจนส่งเสริมให้เป็นผู้นำอันดับ 1 สำหรับตลาดเมืองไทยและกลุ่มประเทศ CLMV

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง JKN

JKN ก่อตั้งโดย จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้มีพื้นฐานจากธุรกิจครอบครัวที่เป็นร้านให้เช่าและจำหน่ายวิดิโอในนาม ST Video ก่อนที่จะสร้างกิจการจำหน่ายลิขสิทธิ์ของตัวเองขึ้นเมื่อปี 2542 เมื่อกลับจากจบการศึกษาในต่างประเทศ

ปัจจุบันโครงสร้างกิจการของ JKN ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้ผู้ประกอบธุรกิจสื่อ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น สื่อโทรทัศน์ทุกระบบ สื่อออนไลน์ (Video On Demand หรือ VOD) และผู้ประกอบการธุรกิจ โฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Home Entertainment) เป็นต้น รวมถึงให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางสถานีโทรทัศน์ทั้งผ่านดาวเทียมและระบบดิจิตอล ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

กระทั่งหลังจากที่ JKN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2560 แล้ว จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่บริษัทต้องพลิกโฉมครั้งสำคัญด้วยการนำระบบ technology มาสนับสนุนการบริหาร content ที่นับเป็นขุมทรัพย์กองใหญ่ของบริษัท เพื่อให้การทำงานคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (productivity) ให้สูงขึ้น จากคำบอกเล่าของ สมบัติ กิตติบันเทิงกุล รองกรรมการผู้จัดการสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ แห่ง JKN

JKN-CTO

แผนการบริหาร content วางแนวทางไว้อย่างไร

ก่อนอื่นคือต้องกําหนดนโยบายและแผนการดําเนินงานของแผนก เพื่อนํา technology มาใช้ส่งเสริม สนับสนุน วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัที่ต้องการเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้าน Global Content ของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV

รวมถึงมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับการทํางานแต่ละแผนกในบริษัทที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องพัฒนานโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล Policy Standard Procedure and Guideline ทั้งในส่วนของงานเทคนโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ broadcast ตลอดจนดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้าน technology ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วน Broadcast Network และ IT Systems ในองค์กรเพื่อให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด

technology จะมาสนับสนุนการบริหาร content อย่างไรและในจุดใด

เราต้องวางโครงสร้างเพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งด้าน commercial และ operation ที่โดยรวมแล้วการบริหาร content จะครอบคลุม 4 กลุ่มงานหลัก

กลุ่มแรกคือ content commercialization ที่จะเกี่ยวข้องกับระบต่าง ๆ เช่น ERP (Enterprise Resource Management), MMS (Multimedia Management System) เป็นต้น

ทั้งนี้ ERP ถือว่าเป็นระบบหลัก ๆ ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ แต่เราก็ต้องเลือกว่า ERP ระบบใดที่จะมาตอบโจทย์ของเราได้มากที่สุด โดยจะต้องสามารถสนับสนุนได้ตั้งแต่การจัดซื้อไปจนถึงการบริหารองค์กร เช่น การเงิน บัญชี การบริหารต้นทุน เป็นต้น

กลุ่มที่สองคือ content management and distribution ซึ่งระบบนี้ค่อนข้างจะเป็นระบบเฉพาะ เนื่องด้วยสถานะที่ JKN เป็นผู้จำหน่าย content ดังนั้นระบบนี้จึงเป็นเครื่องมือที่มาช่วยบริหารเรื่องลิขสิทธิ์ นั่นคือต้องรู้ว่าทำอะไรกับ content ที่เราถือลิขสิทธิ์อยู่ได้บ้าง มีสิทธิ์ในการขายกี่ปี ขายให้ใครได้บ้าง ขายบนแพลตฟอร์มแบบไหน ไม่เพียงเท่านั้นระบบนี้ยังต้องสามารถบริหารคู่ค้าได้ด้วย ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับระบบ CRM

กลุ่มที่สามคือด้าน content operation and restoration จะใช้ระบบ MAM (Media Assets Management) ที่เน้นเรื่องบริหารไฟล์ของข้อมูลที่ส่งให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีความละเอียดเพื่อให้ความคมชัดสูง ฉะนั้นระบบที่จะนำมาบริหารจัดการจำเป็นต้องมีความเสถียร และรองรับกับการทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ได้

ตัวอย่างเช่นบริษัทมีซีรีส์กว่า 1,000 เรื่อง ในแต่ละเรื่องมีกว่า 100 ตอน จึงทำให้การค้นหาไฟล์เป็นเรื่องยาก ยิ่งทำให้การบริหารจัดการไฟล์เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องออกแบบให้ใช้งานง่าย เช่น เพียงพิมพ์ชื่อหนังพร้อมชื่อพระเอกกับนางเอกเท่านั้น ระบบก็จะไปดึงข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมาใช้งานได้

ส่วนกลุ่มสี่คือ content broadcasting เกี่ยวกับการออกอากาศช่องข่าว CNBC ที่ JKN ได้ลิขสิทธิ์มา จึงเป็นระบบที่สนับสนุนงานในส่วนของ Studio SCR (Studio Control Room) MCR (Master Control Room) เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ส่งทีมงานไปศึกษาดูงานของ CNBC ในต่างประเทศมาก่อนเพื่อมาปรับปรุงให้เข้ากับระบบของบริษัท

ทั้ง 4 ระบบนี้ ไม่ใช่ซื้อมาแล้วพร้อมใช้ได้ทันที แต่ต้อง customize เพื่อให้ระบบทำงานร่วมกันได้และสามารถตอบโจทย์ด้วย ซึ่งทั้งหมดใช้งบลงทุนไปประมาณ 100 ล้านบาท

global-content-jkn-cto

การพัฒนาระบบคืบหน้าอย่างไรบ้าง

เราเริ่ม implement ระบบตั้งแต่ปีที่แล้ว คาดว่าทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่อง content จะค่อย ๆ ทยอยเสร็จตั้งแต่ช่วงนี้ ขณะที่ในส่วน ERP ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่จะเสร็จช้าสุด

เมื่อระบบเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดในจุดใด

เราหวังว่าจะช่วยให้ productivity เพิ่มขึ้น 30 - 40% ด้วยมองว่าเราเหมือนโรงงานที่มีกระบวนการผลิตตั้งแต่นำ content จากต่างประเทศมาแล้วมาผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อ localization เช่น การแปลงภาพ พากย์เสียง เป็นต้น ก่อนจะนำออกไปออกอากาศตามช่องทางต่าง ๆ

ใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด productivity

ในตอนแรกต้องมีการปรับ KPI ใหม่ทั้งหมด เพราะก่อนหน้านี้เป็นการทำงานแบบ manual จึงต้องไปลงลึกที่ work flow ในแต่ละช่วง ที่ต้องมีการทำงานที่เร็วขึ้น ความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น ใช้เวลาน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์มากขึ้น ที่สุดท้ายจะสะท้อนผลทางอ้อมคือต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ต่ำลงและกำไรเพิ่มขึ้นแบบอัตโนมัติ

ประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับคือใช้เวลาไม่นานก็จะได้ชมซีรีส์หรือรายการที่รออยู่ เพราะขั้นตอนการผลิตเร็วขึ้น

หลังจากนี้จะนำ technology ใหม่ ๆ มาใช้อีกหรือไม่

ในปัจจุบันมี technology ในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนแรกเรามองเรื่อง AI ที่จะมาสนับสนุนงานด้านการตลาด โดยพยายามเก็บรวมรวมข้อมูลจากทุกส่วนเพื่อสร้าง big data และพยายามสร้างประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้

ในขั้นแรก AI อาจยังไม่พร้อมมากนัก เพราะก็ต้องอาศัย big data แต่ย่อมต้องมี step แรกก่อนแล้วค่อย ๆ ก้าวไป step ถัดไป

คิดว่าจะมีปัจจัยใดมา disrupt ธุรกิจ content ให้ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ในอนาคต

ถ้าพูดถึง technology มองว่าเราต้องวิ่งเข้าไปหา technology ก่อนที่จะถูก disrupt เพราะ Digital Disruption มักเกิดกับองค์กรที่ไม่ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ พอรู้ตัวอีกทีก็ไม่ทันแล้ว เรารู้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อก้าวไปสู่ Digital Transformation ให้เร็วที่สุด คนที่อยู่ในบริษัทในแผนกต่าง ๆ ทุกคนต่างยอมรับว่าต้องการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เขาก้าวไปได้ไกลกว่านี้ ฉะนั้นถ้าทุกคนพร้อมเราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก

การรับมือกับ Digital Disruption อาจไม่ใช่แค่เรื่อง technology อย่างเดียว JKN มองมุมอื่นอย่างไรและมีวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง

คนหรือบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าหัวหน้าบอกว่าต้องใช้ technology แต่ถ้าลูกน้องไม่ขยับก็เปลี่ยนแปลงลำบาก ซึ่ง JKN โชคดีตรงที่หัวหน้าของแต่ละฝ่ายต่างก็เห็นด้วยกับนโยบายของบริษัท ฉะนั้นการเดินไปข้างหน้าจึงไม่ยากนัก ที่เหลือคือการสื่อสารในแต่ละส่วน เพื่อให้บุคลากรเข้าใจและตระหนักว่าการนำ IT มาใช้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเข้ามาช่วย ที่สำคัญคือหากไม่ปรับตัวก็จะอยู่ลำบาก จริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงการทำงานในบริษัทเท่านั้น แต่อยู่บนโลกนี้ก็ลำบากเหมือนกัน

ความท้าทายในบทบาทของ CTO

คือการเลือก technology ที่มีอยู่มากมายมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร นั่นเพราะการทำความเข้าใจแต่ละ technology ได้ต้องใช้เวลา จึงไม่สามารถเห็นเพียงแค่ผิวแล้วจะนำมาใช้ได้เลยทันที แต่สิ่งที่ต้องทำคือเข้าไปคลุกคลีแล้วดูว่าเหมาะที่จะนำมาใช้หรือไม่ ซึ่งผมว่าอันนี้คือความยาก ฉะนั้นต้องคิดให้ดี ๆ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...