คุยกับผู้สร้าง 'สามย่าน มิตรทาวน์’ ในยุคที่ปลายทางของ ‘ศูนย์การค้า’ ไม่ได้มีไว้แค่ ‘Shopping’ | Techsauce

คุยกับผู้สร้าง 'สามย่าน มิตรทาวน์’ ในยุคที่ปลายทางของ ‘ศูนย์การค้า’ ไม่ได้มีไว้แค่ ‘Shopping’

‘สามย่าน มิตรทาวน์’ โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use) หรือโครงการที่เป็นการผสมผสานระหว่างศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งได้รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา จากคอนเซ็ปต์ที่เน้นการเข้าถึงได้ง่าย มีความแตกต่าง และที่สำคัญตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มักจะต้องการได้รับประสบการณ์จากการมาศูนย์การค้า ที่ไม่ได้แค่มาซื้อของ หรือรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการพบปะสังสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า นอกเหนือจากทำเลที่ดี ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ย่านพระราม 4  แล้ว ทำไม ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ จึงได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของคนเมือง

ในบทความนี้  Techsauce ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ธนพล ศิริธนชัย’ ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Golden Land ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งได้เล็งเห็นถึง ‘พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว' โดยถือเป็นหนึ่งในที่มาของการเกิดคลื่น Disruption ขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทัน และต้องหาแนวทางที่จะทำให้เป็นผู้เล่นในตลาดที่นำเทรนด์ได้

 

แนวคิดหลักของการสร้างโครงการ 'สามย่าน มิตรทาวน์' เป็นอย่างไร 

ต้องบอกว่ากว่าที่จะออกมาเป็น สามย่าน มิตรทาวน์ แบบนี้ เราได้ศึกษาและทำวิจัยมาค่อนข้างมาก โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีความแตกต่างจากที่อื่น ๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 

หนึ่ง  การมีทำเลที่อยู่ในย่านการศึกษา เราเห็นว่าสภาพแวดล้อมหรือคนบริเวณนั้นจะใฝ่รู้ หรือสนใจเรื่องการเรียน ฉะนั้นเราโฟกัสเรื่อง Knowledge เป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่ได้จะครอบคลุมหรือเจาะกลุ่มแค่นิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่สังคมผู้สูงอายุก็มีมากขึ้น เราเห็นว่าบางคนก็สนใจเรื่องงาน Art งานCraft ซึ่งนี่ก็ถือเป็นการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

สอง ทำเลที่เราอยู่ คือ ตลาดสามย่าน ซึ่งคนที่มาใช้ชีวิตอยู่บริเวณนี้ ส่วนใหญ่เขาจะคุ้นเคยกับ ตลาดสามย่าน เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารยอดนิยม เราจึงคิดว่าจะต้องดึงกลิ่นอายหรือความเป็นตลาดสามย่านที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของการที่คนมักจะมาเสาะหาของอร่อย ฉะนั้นเรื่องของอาหารก็เป็นส่วนที่เราทำให้โดดเด่นขึ้นมา 

ขณะเดียวกันเราก็ดูในเรื่องของการออกแบบ mood & tone ด้วย โดยคอนเซ็ปต์คือ เราต้องการที่จะเชื่อมคำว่า Smart และคำว่า Knowledge เข้าด้วยกัน ดังนั้นการออกแบบจึงต้องมีความทันสมัย โดยเราใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวเชื่อมระหว่าง โลกเก่าและโลกใหม่ ในการทำให้คนสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้  ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนก็ตาม นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำให้การออกแบบมีความ smart ขึ้น แต่ก็มีความเรียบง่าย สบายๆ 

ต่อมาเป็นเรื่องของความเป็นมิตร (Friendly) เราต้องการทำให้พื้นที่ของเราเป็นที่ที่เข้าถึงง่าย การใช้ประโยชน์และการใช้สอยอาคารต่างๆ จะเอื้อกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกคนมาแล้วจะต้องรู้สึกสบาย เพราะเราเชื่อว่า การเรียนรู้จะเริ่มต้นขึ้นได้ถ้าเราเป็นมิตรต่อกัน เราไม่อยากทำศูนย์ที่เข้าถึงยากหรือทำให้คนมีความเกร็งในการที่จะเข้ามา 

ซึ่งเมื่อเปิดแล้วสิ่งที่เห็นทำให้เราก็ประหลาดใจว่า คนที่มาก็มีความหลากหลายช่วงวัย โดยเฉพาะ senior citizen ก็ให้ความสนใจกันค่อนข้างมาก เราได้เห็นภาพการผสมผสานระหว่างผู้สูงวัย และกลุ่มวัยรุ่นหรือคนทำงานสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านการเรียนรู้และการใช้สถานที่ ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ 

เราทำ ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ ด้วยความไม่รู้ เพราะว่า Golden Land เราไม่เคยทำศูนย์การค้ามาก่อน แต่ถ้าเราเอามืออาชีพทางด้านนี้มาทำ ก็คงจะมีสูตรสำเร็จว่า เราต้องทำตามคอนเซ็ปต์ แบบนั้นแบบนี้ มันก็จะไม่ออกมาเป็นอย่างที่เห็น

ภาพประกอบจาก Facebook : Samyan CO-OP

Golden Land ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการหรือสร้างนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นใน ‘สามย่าน มิตรทาวน์’  อย่างไรบ้าง 

ด้วยคอนเซ็ปต์เรื่องของความ smart การออกแบบของเราทุกส่วนต้องมีความทันสมัยและเป็นสากล อย่างเช่น ในส่วนของอาคารสำนักงาน หรือ Office Building เราก็จะมี self-check in, Face recognition หรือการเตรียม Fiber optic เพื่อรองรับเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 

ส่วนของตัวศูนย์การค้า เราได้ทำแอปพลิเคชัน  ไม่ว่าจะเป็น mitr App ในการบริหารจัดการ ให้ข้อมูลเพื่อให้คนเข้ามาใช้งานเข้าถึงได้ง่าย อีกส่วนที่เราทำคือ SAMYAN CO-OP  เป็น Co-learning Space พื้นที่ที่ให้คนวัยทำงานหรือนักศึกษาได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้หรืออ่านหนังสือได้ 24 ชั่วโมง โดยคนที่จะใช้บริการต้องโหลดแอปพลิเคชัน SAMYAN CO-OP 

ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยจัดการข้อมูล ส่วนในด้านความปลอดภัยที่เราใช้เป็น Pass card ในการเข้าไปใช้บริการ  โดยปัจจุบัน SAMYAN CO-OP  เรามีสมาชิกผู้ใช้บริการประมาณ 35,000 คน โดยในแต่ละวันมีผู้ใช้ประมาณ 5,000-6,000 คน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูล ทำให้เราสามารถทำงานได้ง่าย และอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อเรามาก ๆ 

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีข้อมูล เราก็ต้องระมัดระวังในการใช้ข้อมูลเหล่านั้นด้วย  เพราะในปัจจุบันเรื่อง ความเป็นส่วนตัวนั้นสำคัญ เราต้องไม่ใช้ข้อมูลไปในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันถ้าเราใช้ไปในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ในการที่เราจะบริหารข้อมูลเหล่านี้”

ภาพประกอบจาก Facebook : Samyan Mitrtown

จากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มีบทบาทในแทบทุกเรื่อง ทาง Golden Land มีการบริหารบุคลากรอย่างไรให้พร้อมรับกับคลื่น Disruption บ้าง

เราให้ความสำคัญอยู่แล้วในเรื่องคน เพราะองค์กรจะเดินหน้าได้ต้องขับเคลื่อนด้วย 'คน' เป็นหลัก ดังนั้นทางบริษัทเราให้ความสำคัญกับพนักงานมาก  โดยเราจะมีการแนะนำงาน หรือปฐมนิเทศ (orientation) กับพนักงานทุกคน เพราะเรารู้สึกว่าการที่คนจะสามารถทำงานได้ ต้องเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำสมัยแค่ไหนก็ตาม ถ้าเราไม่เข้าใจการทำงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ไม่เป็นประโยชน์ 

ฉะนั้นการสื่อสารผ่านกระบวนการที่ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร ที่จะทำให้คนเข้าใจเป้าหมายของบริษัทแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างวัฒนธรรมของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย โดยเราจะมีแผนกที่เรียกว่า People passion ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้พนักงานมีความสุข ผ่านกิจกรรมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสันทนาการ การจัดแคมป์ หรือการออกกำลังกาย รวมถึงการให้คำปรึกษาและรับฟังปัญหาของพนักงาน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องการพื้นที่ของตัวเอง ไม่มากก็น้อย แต่ในขณะเดียวกันเราก็มี collaboration space ที่ทำให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์กันได้เช่นกัน  

เราเชื่อว่าการสื่อสารและการจัดกิจกรรม มันเป็นหัวใจที่จะทำให้พนักงานเข้าถึงการทำงาน หรือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ภาพประกอบจาก Facebook : Samyan Mitrtown

สุดท้ายนี้ Golden Land มีมุมมองที่มีต่อทิศทางการสร้างอสังหาริมทรัพย์ในไทยในอีก 2-3 ข้างหน้าอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดถึงในแง่ของที่อยู่อาศัย ก็ต้องเปลี่ยนไปตาม lifestyle ของคนแน่นอน เช่น ขนาดของครอบครัวอาจจะเล็กลง หรือการเดินทางที่มากขึ้นทำให้มีเวลาอยู่ที่บ้านน้อยลง เพราะฉะนั้นการสร้างที่อยู่อาศัยจะต้องทำให้เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้งานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดที่ง่ายขึ้น หรือว่าการจัดการที่ง่ายขึ้น 

ส่วนในแง่ของ office เราเชื่อว่า office ที่ทันสมัยและรองรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง service office หรือ Co-working space ก็เป็นเทรนด์ที่เราต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้นในเรื่องของการใช้งาน

ขณะที่ศูนย์การค้าเราก็ต้องเน้นไปที่การตอบสนอง lifestyle ที่เปลี่ยนไป ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมาศูนย์การค้าพื้นฐาน คือ ทุกคนให้ความสำคัญเรื่อง การซื้อของ ประสบการณ์ และการทานอาหาร แต่ปัจจุบันนี้และในอนาคตอันใกล้เทรนด์หนึ่งที่สำคัญ คือ  การพบปะสังสรรค์หรือการมาพบเจอกัน รวมถึงการมาประชุมหรือทำงาน นั่นเอง โดยจะเห็นว่าด้วย lifestyle ที่เปลี่ยนไปเป็นเช่นนี้ เราเปิดโซนที่สามารถให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ตอนแรกเรากังวลว่าจะมีคนมาใช้หรือไม่ แต่กลับได้รับผลตอบรับที่ดีเกิดความคาดหมาย 

ช่วงกลางคืนหลังเลิกงานแล้ว ทุกคนไม่ได้ต้องการจะไปเที่ยวผับ แต่คนต้องการจะมาพูดคุย พบปะสังสรรค์กัน ขอแค่ให้เป็นที่ที่ปลอดภัย และเป็นที่ที่เขามาแล้วเจอคนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตรงนี้ก็เป็นแนวคิดที่ทำให้ ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ กลายเป็นที่นิยม เพราะเราทำให้เกิดความแตกต่างเรื่องการใช้สอยพื้นที่ 

Think outside the box

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินเป็นโครงการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าเป็น ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัย   4 ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบกับธุรกิจอสังหาฯเป็นอันดับต้น ๆ
  • เมื่อพูดถึงธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงที่อยู่อาศัย เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งลักษณะของการประกอบธุรกิจนี้ก็จะเป็นการขายขาด และผู้ประกอบการก็จะมีรายได้ที่จะสร้างการเติบโตของบริษัทมาจากการขายโครงการที่พัฒนาแล้ว
  • Golden Land  เป็นหนึ่งในบริษัทอสังริมทรัพย์ดั้งเดิมรายใหญ่ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน และผ่านร้อนผ่านหนาวเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่มาหลายรุ่น จนกระทั่งในปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือ TCC Group  ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมถึงยังมี บริษัท เฟรเซอร์ พร็อปเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์มาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นและพันธมิตรด้วย
  • Golden Land เรียนรู้กลยุทธ์การทำธุรกิจอสังหาฯจากพันธมิตรต่างประเทศพบว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จาก 2 ส่วน ได้แก่  ส่วนที่ 1 คือซื้อมาขายไป (บ้าน และคอนโดมิเนียม) เพราะเป็นตัวหลักที่เราจะสร้างรายได้และผลกำไรประจำปีให้แก่บริษัท ส่วนที่ 2 คือ การสร้างรายได้ประจำ (recurring income) จากการให้เช่าอาคารสำนักงาน, retail และ service apartment ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนและให้บริษัทมีกระแสเงินสด มีรายได้เข้ามาต่อเนื่องสม่ำเสมอ
  • Golden Land เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรก ๆ ที่ปรับโครงสร้างรายได้ ด้วยการหันมาลงทุนโครงการที่สามารถสร้างรายได้ประจำ เพื่อลดความผันผวนของการเติบโตของรายได้ ที่ต้องพึ่งพาการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับองค์กร
  • โครงการ  Office Building ที่เป็นที่จดจำและสร้างการพูดถึงเป็นอย่างมาก ได้แก่  โครงการ ‘ปาร์ค เวนเชอร์ อีโค่เพล็กซ์ (Park Ventures Ecoplex) ออฟฟิศใจกลางเมืองที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำเลติดรถไฟฟ้าเพลินจิต ย่านสุขุมวิท และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของออฟฟิศ Google ประเทศไทย  และโครงการ FYI Center ออฟฟิศย่านศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด Business Creative และโครงการล่าสุดก็คือ ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ นั่นเอง 

ฟัง Podcast ได้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...