Motor Show หรือ งาน Bangkok International Motor Show มหกรรมยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นงาน Event จัดแสดงรถแห่งปีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยปัจจุบันได้มีการจัดงานมากว่า 40 ครั้งด้วยกัน และมีจำนวนผู้เข้าชมงานสูงถึงเกือบ 2 ล้านคน ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตสื่อเกี่ยวกับรถยนต์ (Auto) เบอร์หนึ่งของประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย ‘ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา’ หรือที่รู้จักกันในฐานะเจ้าพ่อมอเตอร์โชว์ ที่บริหาร Grand Prix ให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ
‘Grand Prix’ ความสำเร็จ ที่ไม่มีสูตร
ดร.ปราจินเล่าว่า เดิมทีตนนั้นเป็นเด็กต่างจังหวัด ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร จากการที่ความรู้ ความเจริญได้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวง จึงส่งผลให้ไม่ว่าใครก็อยากที่จะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยตอนนั้นตนได้มาศึกษาต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง ทำให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานศิลปะ
ซึ่งเป็นศาสตร์ที่สอนให้คนมีความอ่อนไหว อ่อนโยน มีความคิดและมีลีลา ถือเป็นรากเหง้าของการทำงานที่ได้ใช้มาโดยตลอด หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเข้าสู่การทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นลูกจ้างรับทำหนังสือแบบเรียน แต่ด้วยความเป็นคนขยัน อดทน และไม่กลัวการทำสิ่งใหม่ ๆ จึงสามารถเป็นบรรณาธิการนิตยสารรถยนต์ ฉบับแรกของประเทศไทยได้เพียงวัย 23 ปีเท่านั้น
ด้วยความได้เปรียบตรงที่เป็นคนอ่านหนังสือเยอะ ประกอบกับมีความรู้ ความสามารถด้าน Art work ขับรถได้ และหาโฆษณาได้ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่ในตอนนั้นไม่ได้ทำเป็นงานประจำ เพราะด้วยราคาหนังสือที่ขายในราคาเพียงแค่เล่มละ 3-5 บาท หากให้ยึดเป็นอาชีพหลักก็คงลำบาก จึงอาศัยเวลาหลังเลิกงานตอนกลางคืนมาใช้ทำหนังสือ ด้วยPassion และการสะสมประสบการณ์ เพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ต่อ
“ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย มันเลยทำให้เกิดความรู้สึกหิว กระหาย อยากได้อะไรก็ต้องใช้ความพยายามจนให้ได้มา เราโดนฝึกมาแบบนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ พอมาทำงานเราก็จะได้เปรียบคนอื่น”
หลังจากนั้นเมื่อช่วงอายุได้ 25 ปี ได้มีการจัดแข่งขันรถยนต์ระดับโลกเกิดขึ้นจากลาว ไปสิงคโปร์ ระยะทางรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร ในฐานะที่เป็นคนทำหนังสือก็ต้องมีการไปทำข่าว เพราะมีคนมาจากทั่วโลก รถที่เข้าแข่งขันอีกประมาณ 170 กว่าคัน
แต่ถ้าไปทำข่าวเพียงอย่างเดียวก็ต้องมีการออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง จึงได้ตัดสินใจลงแข่งขันเองด้วย เพราะอย่างน้อยมันมีโอกาสชนะ ซึ่งผลปรากฎว่าดร.ปราจิน เข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของ Overall และได้รับรางวัลชนะเลิศของรุ่น ทำให้พลิกชีวิตกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ และในเวลา 2 ปีต่อมา ในปี 2513 ดร.ปราจินได้มาจัดตั้งนิตยสารรถยนต์ใหม่ขึ้นด้วยตัวเอง ชื่อว่า Grand Prix โดยในจังหวะนั้นอุปสรรคที่ใหญ่หลวงคงหนีไม่พ้นเรื่องของเงินทุน ซึ่งในการทำนิตยสารต้องมีทุนประมาณ 50,000 บาท
จึงได้ไปขอกู้ธนาคาร แต่เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ทำให้ไม่สามารถกู้เงินได้ เขาจึงตัดสินใจใช้วิธีหาเงินจากคนรับซื้อขายเช็ค ซึ่งก็ได้เงินมาพอจัดทำนิตยสารได้ แต่ก็ต้องแลกกับการรับภาระดอกเบี้ยที่สูงถึง 24% ต่อปี
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกที่ค่อนข้างบีบรัดตัว แต่ดร.ปราจินไม่เคยคิดย่อท้อ และได้เปลี่ยนอุปสรรคให้กลายเป็นพลังในการขยันทำงานมากขึ้นไปอีก โดยเขามองว่าคนที่จะสามารถแก้ปัญหาได้เก่ง คือ คนที่เข้าใจปัญหา เพราะมันเป็นบทเรียนที่มนุษย์เราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น
ดังนั้นดร.ปราจินจึงใช้เวลาทั้ง 7 วันทุ่มเทให้กับการทำงาน ในทุก ๆวันหยุดก็จะไปรับเป็น Promoter จัดแข่งรถด้วย และขยายธุรกิจของกรังด์ปรีซ์ให้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งแห่งวงการยานยนต์
ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ไม่มีสูตร ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้หมด ทุกคนบังคับจิตใจตัวเองได้ เพราะใจมันจะเป็นตัวกำหนดให้เกิดความคิด และลงมือทำ กรังด์ปรีซ์จึงประสบความสำเร็จและอยู่มาจะ 50 ปีนี้แล้ว
Motor Show คือ ฟันเฟืองหลัก
จุดเริ่มต้นของงาน Motor Show เกิดขึ้นหลังจากที่นิตยสารกรังด์ปรีซ์ได้สร้างชื่อเสียงมาประมาณ 9 ปี โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้มีการขยายมาจัดงาน Event เกิดจากการที่ได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ และได้มองเห็นช่องว่างที่ควรเติมให้เต็มของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่ในอนาคตจะมีการเติบโตเป็นอย่างมากจากการพัฒนาของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่ง ‘รถ’ จะกลายเป็นสินค้าที่ประชาชนมีความต้องการเป็นอย่างมาก
สำหรับงานมอเตอร์โชว์ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2522 จัดขึ้นที่ลุมพินีสถาน และมีรถยนต์ที่มาร่วมจัดแสดงโชว์ในงานเพียงแค่ 5-6 แบรนด์เท่านั้น เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยยังไม่เฟื่องฟูมาก โดยทั้งประเทศมียอดขายรวมกันเพียง 5 พันคันต่อปี แต่กลับได้ผลตอบรับดีเกินคาดหมายจากยอดผู้เข้าชมงานกว่า 2 แสนคน
ในปีต่อมาต้องมีการขยายพื้นที่จัดงานไปจัดที่สวนอัมพร เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า สามารถรองรับผู้ชมและการจัดแสดงโชว์รถได้มากกว่าพร้อมกับใช้ชื่องานอย่างเป็นทางการว่า Bangkok International Motor Show ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างไม่สิ้นสุด
และในอีกหลายปีต่อมาก็ต้องมีการย้ายสถานที่จัดงานมาที่ ไบเทค บางนา เพื่อขยายพื้นที่ให้สามารถรองรับคนที่มาเข้าร่วมงานได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วได้ขยายไปจัดที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เข้ามาร่วมแสดงโชว์ในงานกว่า 50 แบรนด์ และมีผู้เข้ารวมชมงานถึงเกือบ 2 ล้านคน
งานมอเตอร์โชว์ได้รับผลตอบรับล้นหลาม ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมียอดขายทั้งประเทศมากกว่า 1 ล้านคันต่อปี จนกรังด์ปรีซ์ขึ้นแท่นผู้นำในการจัดงานแสดงด้านยานยนต์ระดับมาตรฐานสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นงานมอเตอร์โชว์จึงเป็นแหล่งรายได้หลักของกรังด์ปรีซ์ที่กินสัดส่วนไปกว่า 85% เลยทีเดียว
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความกลัว ซึ่งหลายคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดความกล้า พอเห็นว่าเป็นสิ่งไม่คุ้นเคย ก็ไม่อยากที่จะทำ แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างบนโลกใบนี้มันสามารถเรียนรู้กันได้หมด งานมอเตอร์โชว์เกิดจากความกล้า และการตัดสินใจที่รวดเร็ว
สยายปีกสู่ Platform Online
Grand Prix ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ หรือเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งก็ได้มีการแตกแขนงธุรกิจไปในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจมีเดีย ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า และธุรกิจรับจ้างพิมพ์ โดยจะเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของแต่ละยุคสมัย ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
จากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาให้ก้าวล้ำ และเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทำให้ในส่วนของภาพรวมกรังด์ปรีซ์ก็จะมีการ Re-branding ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้มีความทันสมัยและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
สำหรับธุรกิจที่เป็นยุคเริ่มต้นของกรังด์ปรีซ์ คือ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ด้านยานยนต์ แต่ปัจจุบันก็มีการขยายแพลตฟอร์มไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งในรูปแบบเว็ปไซต์ Facebook และ YouTube นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง YDM Thailand ใช้ Big Data มาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อที่จะนำมาสร้างแพลตฟอร์มในรูปแบบ Application ให้ตอบโจทย์ฐานผู้ติดตามของกรังด์ปรีซ์มากที่สุด
พร้อมกันนี้จากการเติบโตของธุรกิจ E-Sport ทำให้บริษัทได้มีการเข้าไปรุกในธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นโดยเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่สนใจในเกมแข่งรถ หรือ E-Racing ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นการขยายฐานลูกค้าของกรังด์ปรีซ์ให้กว้างขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการปรับธุรกิจไปในออนไลน์มากขึ้น แต่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะมีการลดการตีพิมพ์นิตยสารลง แต่ไปรุกในการทำสินค้าประเภทกล่องบรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อสินค้า แค็ตตาล็อกมากขึ้น เพราะกรังด์ปรีซ์เดิมมีความเชี่ยวชาญในด้านการพิมพ์ และ Art Work อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการปรับในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้นเอง
“สินค้าบางอย่าง โดยเฉพาะรถ เชื่อว่ายังคงต้องมีการพึ่งสิ่งพิมพ์อยู่ เพราะสำหรับรถถ้าจะให้เลือกซื้อในเว็ปไซต์มันไม่สามารถสร้างประสบการณ์ในการเลือกซื้อได้เท่ากันดูในแค็ตตาล็อก”
ส่วนธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าอย่าง Motor Show มีแผนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นของสิ่งที่นำมาแสดงโชว์ในงานให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกมิติ รวมถึงได้มีการขยายตลาดไปในแถบประเทศเพื่อนบ้านระแวก CLMV ด้วย
โดยปีนี้ได้มีการขยายไปจัดที่เมียนมา ด้วยการจัดงาน Yangon International Motor Show 2019 ขึ้น ที่ประเทศเมียนมาซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจ และเชื่อว่าการขยายตลาดครั้งนี้จะส่งผลดีในอนาคต เพราะประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เติบโตเหมือนไทยในปัจจุบัน
50 ปีที่ผ่านมาของกรังด์ปรีซ์ เราต้องอย่าไปลุ่มหลงกับความสำเร็จเก่า ๆ เพราะตอนนี้มันทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด สิ่งที่เราเคยยิ่งใหญ่ในวันนั้น วันนี้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีการปรับตัวให้ทัน เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้