มาเล่าให้ฟังต่อกันนะครับกับความบังเอิญในนวัตกรรมกับยามหัศจรรย์ที่ทุกๆ คนคงรู้จักกันดี ซึ่งก็คือ Viagra นั่นเอง
บริษัท Pfizer ได้ลงทุนวิจัยยาตัวหนึ่งเพื่อที่จะรักษาอาการโรคหัวใจขาดเลือด หรือ Angina ซึ่งเป็นอาการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ทำให้เกิดอาการปวดหน้าอก และหายใจไม่ออกโดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดขยายตัว จนได้ยาชื่อ UK-92480 หรือ sildenafil citrate ซึ่งก็เหมือนได้ผลพอใช้ได้ในกลุ่มสัตว์ทดลอง จึงได้นำไปทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร แต่ก็พบว่ายานี้กลับใช้ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้ Pfizer จึงวางแผนที่จะยกเลิกยาดังกล่าว
แต่บังเอิญพยาบาลสาวสังเกตบรรดาหนุ่มๆนอนอายกันอยู่ เพราะเส้นเลือดที่ขยายตัวกลับไม่ใช่เส้นเลือดที่หัวใจ แต่ดันเป็นเส้นเลือดตรงนั้น ตั้งแต่นั้นแทนที่ยานี้จะเป็นยารักษาโรคหัวใจ เลยกลายเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศไป คราวนี้แจ็คพอตเลยเข้า Pfizer แทนที่จะมีลูกค้านิดเดียว เลยกลายเป็นยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA ในปี 1998 และมีมูลค่ามหาศาล แค่ทวีปอเมริกาเหนือทวีปเดียวมียอดขายถึงปีละกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
แน่นอนที่สุดเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว มียาจำนวนมากที่ใช้รักษาปัญหาต่างจากที่ตั้งใจไว้ เช่น bimatoprost (Lumigen) ที่ผลิตมาเพื่อรักษาโรคความดันในตาสูงก็ถูกใช้เป็นยาเพื่อทำให้ขนตายาว ภายใต้ชื่อ Latisse ส่วนยา finasteride (Proscar) ที่ไว้ลดอาการต่อมลูกหมากโตก็ถูกนำมาใช้เพื่อแก้อาหารผมร่วง ภายใต้ชื่อ Propecia
และยาเหล่านี้คงไม่ได้ออกมาเป็นยาอย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หากไม่มีการเก็บข้อมูลกันอย่างจริงจัง รวมทั้งผลข้างเคียง ซึ่งเราก็สามารถเอามาสะท้อนถึงนวัตกรรมได้ว่า บางครั้งนวัตกรรมที่เรามีก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างที่เราตั้งใจไว้ เราต้องคอยฟังลูกค้าให้ดี และหาว่าผลิตภัณฑ์ที่เรามีช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้าได้ นั่นแหล่ะเป็นสิ่งที่เราควรจะทำการตลาดกับลูกค้า
บทความนี้เป็น Guest Post โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด