Property Technology กับการสร้างความสุขให้ลูกบ้านในแบบพฤกษา | Techsauce

Property Technology กับการสร้างความสุขให้ลูกบ้านในแบบพฤกษา

Property Technology ซึ่งขับเคลื่อนผ่านแนวทาง Pruksa Living Tech คือพระเอกที่จะส่งความสุขให้ลูกบ้าน จากการเปิดเผยของสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ที่มองว่าการนำ Data Science มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้ส่องมอบที่อยู่อาศัยได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายจะเป็นหนึ่งในอาวุธลับที่จะต่อกรกับ Disruption ได้ รวมถึงวางแปลนฟูมฟัก Startup ภายในองค์กร เพื่อจูงมือเข็นโครงการใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ตลอดจนเน้นย้ำให้จับตามอง 5G ซึ่งจะมาเขย่ากระแสนวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยและทุกธุรกิจในเร็ววันนี้

Property Technology

ที่มาของการริเริ่ม PRUKSA Living Tech คืออะไร

จากความเข้าใจถึงความต้องการของลูกบ้านและผู้บริโภคคือจุดตั้งต้น เพื่อจะยกระดับการอยู่อาศัยให้มีความสุขมากขึ้นตามแนวทางของสังคมสมัยใหม่ จึงคิดค้นจนเกิดเป็น PRUKSA Living Tech ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทั้ง 14 แบรนด์ ซึ่งครอบคลุมใน 4 ด้าน ตามความเหมาะสม

ด้าน Health Tech (เทคโนโลยีการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ) เช่น O2 System (การติดตั้งเครื่องผลิตออกซิเจน) ที่ช่วยให้มีระดับออกซิเจนที่ระดับกำลังพอดีที่อัตรา 21.5% ซึ่งมีทั้งในส่วนคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว รวมไปถึงติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นนวัตกรรมบ้านที่ใส่ใจผู้สูงอายุ โดยเน้นป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ

Smart Tech (เทคโนโลยีการอยู่อาศัยเพื่อความสะดวกสบายเชื่อมต่อเทคโนโลยี) ที่มาช่วยเรื่องการดูแลบ้านและที่อยู่อาศัย เช่น Home Automation ควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในบ้านให้ง่ายด้วยปลายนิ้ว แล้วยังมีเทคโนโลยีล่าสุดที่เรานำมาใช้ เช่น Smart Mirror ติดตั้งในห้องน้ำที่ทำให้ลูกบ้านสามารถเชื่อมต่อโลกโซเชียลได้ เป็นต้น

Green Tech (เทคโนโลยีการอยู่อาศัยเพื่อสังคมสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน) โดยมีระบบ Pruksa Fresh Air ช่วยเรื่องระบบหมุนเวียนอากาศ ทำให้บ้านเย็น ซึ่งเฉลี่ยแล้วบ้านพฤกษาจะมีอุณหภูมิภายในบ้านต่ำกว่าอากาศภายนอกราว 1 องศา จึงสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าจากการเปิดเครื่องปรับอากาศลงได้ รวมถึงยังใช้ระบบ Solar Cell System ที่นำมาในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ไฟทางเดิน คลับเฮาส์ เป็นต้น

Safety Tech (เทคโนโลยีการอยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัย) ที่ทำให้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยและมีความสุขด้วย โดยเฉพาะโครงการที่เป็นบ้านเดี่ยว ซึ่งหลัก ๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหลาย เช่น Triple Gate ระบบรักษาความปลอดภัยหน้าทางเข้าโครงการที่แน่นหนาถึง 3 ชั้น Door and Window Magnetic Sensor ระบบเซ็นเซอร์แม่เหล็กประตูและหน้าต่าง ที่จะมีหน้าที่แจ้งเตือนเมื่อมีการงัดแงะประตูหรือหน้าต่าอง

จุดใดที่ทำให้เราแตกต่างจากผู้พัฒนาอสังหา ฯ รายอื่น ๆ ที่นำนวัตกรรมมาใช้เช่นกัน

ที่เราภูมิใจคือการลงมือทำจริง ๆ กระทั่งจนมาลงที่โครงการแล้วลูกค้าได้สัมผัสหรือได้ประโยชน์จริง นอกจากนี้ด้วยการที่พฤกษามีโครงการหลายระดับ แต่เราสามารถคัดสรรแต่ละเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่เพียงเท่านั้นนวัตกรรมต่าง ๆ ของเรายังถูกคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย หรือที่ล้ำสมัยก็ตาม

Property Technology

มีแนวทางส่งเสริมกลยุทธ์ Living Technology ให้ต่อเนื่องอย่างไร

จริง ๆ กลยุทธ์หลักที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องคือเรื่องนวัตกรรม ที่เราจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ลูกบ้านเราอยู่อย่างมีความสุข เริ่มต้นตั้งแต่ใช้การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี Precast เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย ซึ่งแนวทางของเราก็คือจะพัฒนาต่อยอดในส่วนเทคโนโลยี Precast

ในขาที่สองคือเรื่องสถาปัตยกรรม เพราะการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อลูกบ้านแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไปตามแต่ไลฟ์สไตล์ จึงต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบมาใช้ในแนวทางที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค

เราจะไม่หยุดยั้งพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยเพื่อที่จะยกระดับเพื่อที่จะมอบความสุขให้ลูกบ้านของเราทุกคน

แล้วในส่วนการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรและการบริหารงานภายในที่จะมาตอบโจทย์ด้านนวัตกรรมเป็นอย่างไร

เรา rebranding จากภายในสู่ภายนอก โดยทำให้พันธกิจอยู่ในใจพนักงานของเราทุกคน หรือทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ว่าเราจะส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพ และบริการหลังการขายที่ทำให้ลูกบ้านมีความสุข เพราะคนเราซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยทั้งชีวิต

รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรคำว่า “ใส่ใจ” ที่เริ่มตั้งแต่คนที่โรงงานที่สามารถใส่ใจในรายละเอียดในการก่อสร้างและดูแลคุณภาพ เช่นเดียวกับที่พนักงานที่ออฟฟิสหรือแม้แต่พนักงานต้อนรับก็ใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะดูแลได้

บทบาทของ Data Science ต่อการรับมือ Digital Disruption เป็นเช่นไร

เรามีระบบหลังบ้านที่สร้าง Data Lake ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลลูกค้าเก่าและคนที่สนใจโครงการของเราเก็บไว้อยู่ราว 2 ล้านรายชื่อ แล้วก็ใช้ Data Science ซึ่งมีเครื่องมือพวก AI และ Machine learning มาประมวลผล เพื่อหาความต้องการของลูกค้าและหากลุ่มเป้าหมายที่จะทำให้เราถึงฐานลูกค้าได้ นั่นคือตรวจสอบว่าใครน่าจะมีโอกาสซื้อบ้านเรา แล้วโครงการไหนบ้านแบบใดน่าจะเหมาะสม และส่งข้อมูลให้คณะทำงานติดต่อไปให้บริการและเข้าถึงลูกค้า เพื่อช่วยให้ได้บ้านในฝันอย่างที่ต้องการมากที่สุด

ที่ผ่านมาเราได้ปรับการทำ brand และการตลาดให้เป็นแนวทาง Digital มากขึ้น เช่น ก่อนเปิดตัวโครงการจะใช้ Digital Marketing เพื่อให้เข้าถึงฐานลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด มาผสมผสานกับวิธีการขายแบบดั้งเดิมที่จะมีทั้งบ้านตัวอย่าง ระบบ Pre-approve  และระบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขายที่รวดเร็ว เพื่อให้พร้อมเข้าอยู่ได้เร็วที่สุด

พฤกษามีการทำงานร่วมกับ Startup ในไทยบ้างหรือไม่

เรามีทำงานร่วมกันบ้าง อาทิ ในส่วนของ Data Science เพื่อใช้ศักยภาพของเด็กไทยยุคใหม่ที่เก่ง ๆ มาช่วยเราในหลายโครงการ แต่มีแนวโน้มที่หลายโครงการซึ่งเราต้องการสร้างทีมงานที่จะเป็น Startup ในองค์กรของเราเองมากกว่าจะเป็นภายนอก เพราะเราว่าจากสถิติที่ผ่านมาคือสิ่งที่ Startup ขาดคือประสบการณ์และพี่เลี้ยง

ต้องการนำจุดแข็งของ Startup ในแง่ความคิดแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่และจุดแข็งขององค์กรที่ประสบความสำเร็จมาผสมผสานกันเพื่อทำให้เป็นจริง

ปัจจัยใดที่จะส่งผลต่อ Property Technology ในระยะต่อไป

มองว่าเรื่อง 5G จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในประเทศเราไม่ใช่เฉพาะ Property Technology เพราะว่า speed is everything นั่นคือความเร็วจะเอื้ออำนวยให้ทุกอย่างในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป จะมี digitizing มากขึ้นจนเราเห็นความแตกต่าง

ดังนั้นทุกองค์กรที่ไม่ใช่แค่ property ต้องเตรียมพร้อมรองรับ 5G ทั้งในส่วนเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะของคน เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์ได้

“เชื่อว่า 5G มาเร็วแน่ ถ้าเราเป็นคนที่นำมาใช้ก่อนจะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน การสร้าง brand และต่อยอดธุรกิจได้”

ขอย้อนกลับไปถึงเหตุผลที่เลือกเปลี่ยนสายธุรกิจและมาร่วมงานกับพฤกษา

เริ่มจากเมื่อ 7 ปีก่อนที่ได้รู้จักกับคุณทองมา (ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ PSH) ซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้มาร่วมงานด้วย แต่ตอนนั้นยังไม่จบกับภารกิจในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย กระทั่งผ่านไป 5 ปีก่อนจึงตัดสินใจมาร่วมงาน

“วันนั้นคุณทองมาทิ้งท้ายไว้ว่าวันไหนที่คุณสุพัตราเบื่อยูนิลีเวอร์แล้วให้คิดถึงผม แล้วผมจะรอ ซึ่งเราก็รับปากไว้ว่าจะเป็นคนแรกที่โทรหา”

แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่เลือกมาทำงานกับพฤกษาเพราะมองว่าคุณทองมาเป็นคนที่มีคุณธรรมสูง และมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อสังคม อยากให้คนมีบ้านในราคาที่ไม่แพงและคุณภาพดี นอกจากนี้ยังมองว่าตัวเองทำงานให้บริษัทต่างชาติมากกว่า 20 ปีแล้ว ก็อยากนำประสบการณ์และความสามารถมาใช้ประโยชน์แก่บริษัทคนไทย สร้าง brand ของไทย มาเติมเต็มธุรกิจของคนไทย

แล้วพอมาทำงานจริงต้องปรับตัวมากหรือไม่

ด้วยความที่ตลอดช่วงเวลาของการทำงานกับยูนิลีเวอร์ก็พบกับความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นการข้ามมาทำงานด้านอสังหา ฯ จะมีสองเรื่องใหญ่ที่ต้องเรียนรู้ คือผลิตภัณฑ์ ที่มองว่าไม่ยากมาก

อีกส่วนคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่เปลี่ยนจากแบบบริษัทข้ามชาติมาเป็นแบบไทย ที่เราต้องเคารพในความเก่งในจุดแข็งขององค์กร ขณะที่เราต้องดูว่าจุดแข็งของเราคืออะไรและจะมาเติมเต็มได้ตรงไหน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เราจะมาเติมก็ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังทางความรู้สึกว่าต้องเป็น Pruksa Way เท่านั้น

“การเปลี่ยนแปลงทำให้เราลงมาติดดิน เปิดใจและเปิดหูรับฟัง เพื่อให้เป็นคนที่น้ำไม่เต็มแก้ว ให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไม่เป็นคนที่ ego สูง และเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงได้มากขึ้น”

Secret Sauce ที่ทำให้ประสบความสำเร็จคืออะไร

ยึด 3 P ตัวแรกคือ passion หรือรักในงานที่ทำทั้งแบบหลงไหลและทุ่มเท ซึ่งจะทำให้มีพลังอยู่ตลอดและไม่ท้อถอย ต่อมาคือ purpose หรือจุดมุ่งหมายในชีวิตว่าเราทำเพื่ออะไร ซึ่งถ้าสอดคล้องกับจุดหมายขององค์กรก็เหมือนกับถูกลอตเตอรี่ เพราะเท่ากับสามารถสร้างงานที่มีความหมายแก่สังคมได้ และสุดท้ายคือ persistence หรือความมุ่งมั่นพากเพียรหรือทำให้มากอย่างสม่ำเสมอ จึงจะช่วยให้เราเก่งขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงได้

คนที่เก๋าที่เก่งได้มาจากประสบการณ์ไม่ใช่ทฤษฎี อยากให้เด็กรุ่นใหม่คิดว่าการทำงานหนักเป็นการสะสมแต้มในการพัฒนาตัวเอง



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...