ถอดบทเรียนจาก Top Self-made of 2019 ส่งแรงบันดาลใจสู่การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ | Techsauce

ถอดบทเรียนจาก Top Self-made of 2019 ส่งแรงบันดาลใจสู่การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

Self-made มากมายที่ถูกถ่ายทอดเรื่องราวโดย Techsauce ในรอบปี 2019 ด้วยหวังว่าเขาหล่านั้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นดังบทเรียนฉบับย่อให้กับผู้คนที่ฝันอยากจะสร้างตัวจากการทำธุรกิจในสักวันหนึ่ง ดังที่เราตั้งใจไว้ ในครั้งนี้จึงรวบรวมและคัดเลือกเจ้าของกิจการบางส่วนที่ประสบความสำเร็จ จนธุรกิจหรือแม้แต่ brand ที่แจ้งเกิดสามารถสร้างชื่อจนโด่งดังมานำเสนอ เพื่อตอกย้ำถึงแนวคิดและกลยุทธ์ที่พลิกให้รอดพ้นจากจังหวะที่พลาดพลั้งจนกลายเป็นผู้ชนะ 

Adventurer

Self-madeวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีโอแอลผู้กล้าแห่งโลกธุรกิจที่เป็นแรงบันดาลใจของคนมากมายดังเช่น วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีโอแอล (COL) ที่กล้าวางเดิมพันกับธุรกิจรูปแบบใหม่อย่าง catalog sales สำหรับการค้าอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียนจนทำให้แบรนด์ OfficeMate เลื่องชื่อ   กระทั่งเนื้อหอมจนเป็นที่สนใจของกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Central Group ซึ่งนำไปสู่การรวมกิจการขึ้นใหม่ในร่าง COL ในปัจจุบัน

หลายต่อหลายครั้งที่วรวุฒิได้แบ่งปันวิชาที่ตัวเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของผู้เป็น Self-made ตลอดจนแจกจ่ายคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่นักสู้บนโลกธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งในมุมความเชื่อเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน  อีกทั้งกลยุทธ์การบริหารคนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยหลักการควบคุมและตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ซึ่งมีรากฐานจากระบบบัญชีเดียวที่ถูกต้องเพื่อให้รู้เท่าทันสุขภาพของธุรกิจได้จริง 

โดยทั้งสองจุดนั้นคือไม้เด็ดที่ช่วยให้กิจการขนาดเล็กในอดีตสามารถเปลี่ยนเกมจนชนะคู่แข่งยักษ์ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เป็น  Self-made ที่คว้าชัยได้คือ ‘การบริหารความล้มเหลว’ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการบริหารความสำเร็จ เพราะบริหารความล้มเหลวไม่เป็นก็สำเร็จไม่ได้ ตามที่วรวุฒิได้กล่าวไว้

Passion

self-made-brand-ceoโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็ม วิชั่น

แม้ล่าสุด MVP หรือ บมจ.เอ็ม วิชั่น ในฐานะผู้บุกเบิกงาน Mobile Expo ของไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ จากที่ผู้ถือหุ้นบางส่วนของบริษัทได้ขายหุ้นให้แก่ สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ของบมจ. คอมเซเว่น (COM7) กว่า 12% หรือจำนวน 24 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 36 ล้านบาท ซึ่งทำให้สุระกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของ MVP

ทว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ไม่ได้สั่นคลอนต่อสถานะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้สร้างกิจการที่มุ่งมั่นของ โอภาส เฉิดพันธุ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง MVP ที่มีความลุ่มหลงหรือ passion อย่างแรงกล้าต่อการทำธุรกิจสื่อก่อนกลายเป็นผู้จัดงานมือทองนับแต่แรกเริ่มที่สร้างกิจการจนถึงวันนี้ 

ที่แม้จะริเริ่มจาก Thailand Mobile Expo แต่ก็เติบโตขึ้นเป็นธุรกิจ service provider แบบครบวงจรที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนการท่องเที่ยวและกีฬา กระทั่งต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการลงทุนในลักษณะ JV และบริษัทย่อย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โอภาสได้เรียนรู้จากอุปสรรคในการทำธุรกิจมาตลอด 20 ปี คือ “มองไปข้างหน้า เพื่อเตรียมแผนสองเสมอ เพราะเมื่ออยู่ในจุดที่กำลังสบายเป็นสัญญาณที่บอกว่าปัญหากำลังจะมาเร็ว ๆ นี้”

Innovation and Inventiveness

self-made-brand-ceoทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ (asap) 

เจ้าของกิจการผู้ผันจากเส้นทางค้ารถญี่ปุ่นในจังหวัดพิษณุโลกมาสร้างโอกาสใหม่ ซึ่งเกิดจากทิศทางที่องค์กรธุรกิจต่างชะลอการซื้อรถมาครอบครอง ขณะที่กระแส Car Sharing ขยายวงกว้างขึ้น จากปัจจัยที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป รวมถึงที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

ด้วยเหตุนี้ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ (asap) จึงเลือกพลิกสู่กิจการถเช่าเพื่อจะทำให้บริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องยิ่งกว่าการเป็นเพียง dealer อีกทั้งมองว่าธุรกิจให้เช่ารถจะเปิดกว้างมากขึ้นด้วยการนำนวัตกรรมมาเป็นรากฐานของการพัฒนาธุรกิจ กระทั่งเกิดเป็น asap GO ที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้ารายย่อยให้เติบโตขึ้น อีกทั้งแตกยอดธุรกิจใหม่ในรูปแบบแฟรนไชฺส์ asap AUTO PARK ที่ทั้งให้เช่าและขายรถมือสองไปทั่วไทย

ต้องยอมรับว่าการสร้างนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทรงวิทย์หลุดจากกำดักค่านิยมการต้องการครอบครองรถที่น้อยลงของผู้บริโภค และคว้าโอกาสจากกระแส Car Sharing ที่เติบโตได้อย่างดี เพื่อทำให้เป็นผู้ให้บริการด้านรถเช่าแบบครบวงจรที่เทียบได้กับผู้ให้บริการ mobility solution

Self-determination

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub และ Group CEO แห่ง Bitkub Capital Group Holdings Co.,Ltd.

หากมองหาผู้ที่บุกเบิกในธุรกิจ Crypto Currency ที่มีความเชื่อมั่นอย่างชัดเจนและไม่หวั่นไหวต่อกระแสแง่ลบนับแต่วันที่เริ่มสร้างกิจการของตน ต้องมีชื่อ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub และ Group CEO แห่ง Bitkub Capital Group Holdings Co.,Ltd. ขึ้นเป็นอันดับแรก 

แต่กว่าจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ ตัวเขาเคยแอบนอกลู่นอกทางไปบ้างเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นก่อนเข้าสู่เส้นทางนักศึกษาผู้มุ่งมั่น ที่ต้องพลิกบทเรียนจากความผิดพลาดให้ก้าวข้ามอุปสรรค จนสามารถคว้าปริญญาโทจาก University of Oxford กระทั่งถูกมนตราของ Bitcoin ดึงดูดให้เลือกสร้างกิจการ Startup ที่ได้รับเงินลงทุนระดับ seed fund สูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย ก็ต้องผ่านแรงเสียดทานจากกระแสโจมตีและภาพลักษณ์ด้านลบของธุรกิจมาไม่น้อยกว่าจะแกร่งขึ้นจนถึงวันนี้ ที่เขาออกตัวว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ตั้งใจไว้

กระนั้น จิรายุส ก็มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้นั้นควรมีคุณสมบัติหลัก 3 ข้อ หนึ่งคือต้องรับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ ได้ สองคือต้องเชื่อและยึดมั่นใน vision ของตัวเองอย่าให้คนที่ไม่ได้รู้จริงมาทำให้ไข้วเขว และสามคือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้มีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาและเร็วขึ้นอย่างมาก

Perseverance

นำชัย  สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย จ.สุพรรณบุรี

Innovation คือเมล็ดพันธ์ที่งอกงามขึ้นเป็นกิจการ Self-made อย่างกลุ่มบริษัท โชคนำชัย แห่ง จ.สุพรรณบุรี ที่สร้างโดยนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย อดีตช่างซ่อมรถยนต์ที่จบการศึกษาเพียงป.4 ผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน และหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ จึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ได้รับโอกาสสร้างกิจการของตัวเองขึ้นและประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ผลิตแม่พิมพ์รถยนต์คุณภาพสูงและวางใจได้ในแง่การส่งมอบที่ตรงเวลา จากค่ายรถยนต์ต่างประเทศในเวลาต่อมา 

แม้แต่ทุกวันนี้ที่นำขัยจะอายุล่วงเลยเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว ก็ยังไม่หยุดฝันใหญ่เดินหน้าปั้น Sakun C ให้เป็น brand จากฝืมือคนไทยที่เลื่องชื่อ โดยแจ้งเกิดจากผลิตภัณฑ์เรืออลูมิเนียมก่อนต่อยอดสู่รถโดยสาร และตู้รถไฟระบบรางคู่ พร้อมมองการณ์ไกลนำบริษัทสู่กิจการมหาชนในอนาคต 

อย่างไรก็ตามนำชัยเชื่อว่า ‘คน’ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรแห่งความสำเร็จของทุกกิจการ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่ถ้าคนขาดศักยภาพที่จะมุ่งมั่นเรียนรู้และวางเป้าหมายในชีวิต ก็คงไม่อาจร่วมกันนำพาองค์กรก็ให้พัฒนาต่อได้ 

นำชัยฝากคำแนะนำถึงบรรดาผู้ที่ต้องการเป็นหนึ่งใน Self-made ที่ประสบความสำเร็จว่านอกจากไม่กลัวที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ แล้วยังต้องเตรียมเงินสำรองไว้ให้พร้อมอยู่เสมอ ตลอดจนการมีพันธมิตรที่ดีและมีมุมมองที่แตกต่างก็จะส่งเสริมให้กิจการที่เราสร้างไว้ไปได้ไกลยิ่งขึ้นได้

Achievement emphasis

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด

นักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ให้กับโชคชะตา ซึ่งพลิกผันให้เด็กชายวัย 14 ปีที่เคยอยู่ในครอบครัวที่สุขสบายต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่บ้านล้มละลาย ดังเช่นที่วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ต้องประสบ จึงเป็นที่มาให้ตัวเขามีคำมั่นกับตัวเองว่าต้องสร้างกิจการให้ประสบความสำเร็จและเติบโตกว่าที่พ่อของเขาเคยทำไว้ให้ได้เมื่อถึงวัย 30  ปี 

โดยเขาเริ่มต้นจากการรับจ้างผลิตชุดเครื่องแบบก่อนจะเห็นโอกาสกับธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาที่สามารถคว้าลิขสิทธิ์ชุดฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งให้แบรนด์ Warrix เป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในวงกว้าง จนล่าสุดกำลังคว้าดีลเสื้อฟุตบอลสโมสรใน J1 League 

ทั้งนี้วิศัลย์ยังไขว่คว้าความสำเร็จในอีกระดับ โดยเลือกทำ Business Transformation เพื่อให้กิจการไปต่อและสร้างยอดขายบนโลก online ดังเป้าหมาย 50% ของยอดขายรวม พร้อมปักธงที่จะเป็นผู้นำของตลาด ASEAN ภายใน 5 ปี

ท้ายสุดวิศัลย์ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ฝันจะสร้างกิจการของตัวเองว่า ให้เริ่มหาประสบการณ์ในฐานะลูกจ้างขององค์กรต่าง ๆ ก่อน เพื่อจะได้ค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรหรือเชี่ยวชาญในเรื่องใด แล้วค่อยตัดสินใจก่อตั้งกิจการของตัวเอง เพราะหากไม่มี passion ก็คงทำไปไม่รอด แต่จุดสำคัญที่วิศัลย์ย้ำว่าต้องการฝากไว้สำหรับคนที่ต้องการเป็น self-made คือ “คนที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องไม่ยึดความโลภเป็นที่ตั้ง

Relationships and Partnership

อมร-ธวัชชัย พุฒิพิริยะ ผู้ก่อตั้ง บมจ.ธนพิริยะ

'ร้านธนพิริยะ' เป็นที่รู้จักกันอย่างดีของชาวจังหวัดเชียงรายและภาคเหนือของประเทศไทย จึงสามารถครองตลาดโซนดังกล่าวได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการสร้างสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับคนในท้องถิ่น 

โดยเฉพาะแนวทางที่ทำให้ลูกค้ามองว่า ถ้าจะซื้อของต้องมาที่ ‘ธนพิริยะ’ จึงดึงดูดด้วยการสร้างทั้งความประทับใจ สร้างความเชื่อมั่น และให้เกิดความไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นจุดเหนือที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกอย่าง Supermarket หรือร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่คู่สามีภรรยา ธวัชชัย - อมร พุฒิพิริยะ ผู้ก่อตั้ง บมจ.ธนพิริยะ สามารถรับมือการแข่งขันกับบรรดาผู้เล่นปลาใหญ่ได้รอดปลอดภัยจนถึงวันนี้ 

รวมถึงด้วยกลยุทธ์ปรับโฉมร้านโชห่วยธรรมดาให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ตลอดจนให้ความสำคัญกับการทำระบบบัญชีที่ถูกต้องและโปร่งใสมาตลอด ทำให้จากร้านแรกเมื่อปี 2550 สามารถเติบโตและกระจายไปตั้งตามอำเภอต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง จนล่าสุดขยายแล้วถึง 29 สาขา 

แม้ Supermarket ชื่อดังแห่งเมืองเหนือไม่ได้เดือดร้อนในเรื่องเงินทุน แต่ก็เลือกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 2558 ด้วยผู้ก่อตั้งมองว่าจะนำมาสู่ระบบการจัดการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการมุ่งเป็นบริษัทอยู่เกินร้อยปี

Going beyond expectations

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์อดีตเด็กกวาดลานมันสำปะหลัง ผู้ที่คิดการใหญ่ด้วยการนำยางพารามาปลูกในพื้นที่ภาคอีสานเป็นครอบครัวแรกเมื่อปี 2527 นับเป็นหนึ่งในแนวคิดเหนือความคาดหมายของใครหลายคนในเวลานั้น ที่มองว่าภาคใต้เท่านั้นคือพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกยางพารา คือเรื่องราวของชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ (์NER) 

จากก้าวแรกในวันนั้น เป็นการจุดประกายให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ เห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังในถิ่นอีสานสามารถทำได้จริง จึงกลายเป็นวิถีการเกษตรที่แพร่หลายในเวลาต่อมา ซึ่งหลายครอบครัวต่างทำรายได้จากการกรีดยางกันมากมายในเวลาต่อมา

แต่จากเดิมที่ครอบครัวนำยางพาราที่กรีดได้ไปขายที่จังหวัดระยองแต่ต้องเผชิญการถูกกดราคา ชูวิทย์จึงเริ่มหาทางออกที่เริ่มจากศึกษาและเรียนรู้ธุรกิจแบบครูพักลักจำมา และลงไปดูงานเพิ่มเติมที่ภาคใต้ เพื่อขอคำแนะนำจากผู้รู้ และกลับมาเปิดโรงงานที่ภาคอีสาน ในนาม บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ เมื่อปี 2549 ซึ่งดำเนินธุรกิจยางพารา โดยผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ  จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินเดีย เป็นต้น

กระนั้นเคล็ดลับของการเป็น Self-made ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ตัวเขามองว่าคือ เมื่อคิดแล้วก็ต้องลงมือทำทันทีโดยไม่ต้องรอให้รู้ซึ้งถึง 100% ก่อน เพราะระหว่างทางต่างต้องเจอปัญหาอยู่ดี เพราะหากช้าไปอาจถูกคนอื่นแย่งไปทำก่อน ตลอดจนต้องมีความจริงใจและให้ความเป็นเพื่อนกับทุกคน 

Competitive Aggressiveness

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวีไดเร็ค

TV Direct ถือเป็น brand ยืนหนึ่งจนกลายเป็นตำนานท่ามกลางคู่แข่งในธุรกิจ TV Shopping และ Home Shopping ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ  ด้วยฝีมือของ ทรงพล ชัญมาตรกิจผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวีไดเร็ค ที่ปลุกปั้นธุรกิจด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้าจนสามารถครองใจผู้บริโภคได้สำเร็จ

ตามที่ตัวเขายืนยันว่าในโลกธุรกิจวันนี้การแข่งขันไม่ได้เฉือนเอาชนะกันที่ตัวผลิตภัณฑ์ หากแต่ขึ้นกับว่าผู้เล่นรายใดดูแลลูกค้าได้ดีกว่ากัน ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนให้ TV Direct ยังครองใจลูกค้าได้อยู่นั้น ประกอบขึ้นจากหลายแนวทาง 

ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้สามารถล่วงรู้ได้ว่าทีมงานของบริษัทดูแลลูกค้าได้ดีเพียงใด นอกจากนี้ยังปรับกระบวนการต่าง ๆ ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของวางโครงสร้างธุรกิจแบบ Omnichannel เพื่อให้สุดท้ายแล้วลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำนั่นเอง เช่นเดียวกับที่มีการปรับภาพลักษณ์ของ brand เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 35 ปีลงมาด้วย

โดยทรงพลทิ้งท้ายถึงความสำเร็จในการสร้างกิจการว่า สำหรับตัวเขาคือ Passion เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เมีพลัง มีความอดทนได้สูงมาก จนสามารถทำให้มีความบันเทิงบนความเศร้าได้ รวมถึงมีมุมมองที่แตกต่างบนความล้มเหลว และมีความสุขบนความสำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้แม้ผ่านมา 20 ปีแล้วยังคงอยากมาทำงานอยู่เสมอในทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา และไม่เคยรู้สึกเบื่อ

Proactiveness

ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด แม้ ชาคริต ทีปกรสุขเกษม ผู้ก่อต้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (CPanel) จะเริ่มต้นเข้าสู่วงจรธุรกิจด้วยการช่วยงานในกิจการของครอบครัวคือ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี ก่อน แต่เมื่อเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete Wall Panel) จึงทำให้เลือกเดินหน้าสู่เส้นทาง Self-made ด้วยการก่อตั้งธุรกิจของตัวเองแทน 

จากมุมมองที่ว่านอกเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดความเชี่ยวชาญจากการผลิตคอนกรีตแบบดั้งเดิมได้แล้ว ทว่ายังพลิกให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่สามารถสร้างเติบโตในตลาดใหม่ที่คู่แข่งน้อยก่อนจะต้องเผชิญกับการถูก disrupt 

ทั้งนี้ด้วยความที่ CPanel เป็นกิจการที่ยังไม่เติบใหญ่ ทำให้เจ้าของกิจการอย่างชาคริตต้องพร้อมขยับตัวเพื่อให้สามารถรุกไปข้างหน้าก่อนผู้เล่นร่วมสังเวียนจะไล่ทัน หรือที่ตัวเขาย้ำว่า ความสวยงามของการเป็นกิจการขนาดเล็ก คือ ต้องดิ้นรนตลอดเวลา มีความหิว และรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องหาทางเพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดได้

นอกจากนี้ยังตอกย้ำถึงการขับเคลื่อนกิจการให้วิ่งถึงเส้นชัยว่า ต้องเริ่มจากรู้จักตัวเอง และเข้าใจลูกค้า  หลังจากนั้นก็วาง Business Model ให้ชัด โดยเฉพาะในส่วนของโรงงาน ซึ่งต้องให้สามารถเห็นจุดคุ้มทุนได้ชัดเจน และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เป็นการ Build to stock มาเป็น Just in time 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็น Self-made ที่ประสบความสำเร็จ ผ่านแนวทางใดก็ตาม แต่จุดหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนเป็นผู้รอดได้นั้น จะต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อกับปัญหา และยึดถือในสิ่งที่ตนเชื่ออย่างแน่วแน่ ก็จะสามารถสู่จุดหมายที่คาดหวังได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...