สำรวจ Smart Farming แบบเกษตรกรรมครบวงจร ของ KUBOTA ที่ฉลาดขึ้นด้วย IoT | Techsauce

สำรวจ Smart Farming แบบเกษตรกรรมครบวงจร ของ KUBOTA ที่ฉลาดขึ้นด้วย IoT

Smart Farming หรือ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานเข้ากับการเกษตรเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การสนับสนุน โดยเน้นพัฒนาแนวทางการเกษตรครบวงจรหรือ KUBOTA Agri Solution (KAS) ซึ่งฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยี loT รวมถึงเสริมองค์ความรู้ปฎิทินการเพาะปลูกแบบออนไลน์ ผ่าน App ซึ่งมาช่วยให้เพาะปลูกได้แม่นยำและป็นแบบแผนขึ้น โดยปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานแล้วกว่า 500 ราย

Smart Farming

KAS ตัวเอกด้าน Smart Farming

ด้วยการมาของประชาคมอาเซียน (AEC) ทำให้เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูกต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ซึ่งผลที่ตามมาคือเกษตรกรไทยได้รับผลผลิตน้อยและไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร 

ด้วยเหตุนี้ทาง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาประสิทธิภาพเกษตรกรรมของไทย และแก้ปัญหาด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่ ครอบคลุม ทั้งระบบเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น จึงพัฒนาแนวทางการเกษตรครบวงจรที่เรียกว่า KUBOTA Agri Solution หรือ KAS ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ จากคำบอกเล่าของ สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส 

Smart Farming สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด

“เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นสินค้าราคาแพง การจัดหามาใช้ย่อมเป็นเรื่องยากลำบาก จึงเริ่มมองว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าของเราสามารถใช้เครื่องจักรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงพยายามหาตัวช่วยที่จะมาส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าการให้ความรู้จะเป็นแนวทางหนึ่ง จึงเกิดเป็น KAS ขึ้น”

ในวันนี้ KAS จึงถือเป็นผู้รับบทนำในการส่งเสริมด้าน Smart Farming ของบริษัทในปัจจุบัน ด้วยการใช้เทคนิคการเพาะปลูกผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีระบบจัดการพื้นที่เกษตรหรือฟาร์มที่ช่วยในการวางแผน ปฏิบัติการ ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขในการทำการเกษตร รวมถึงการใช้ Drone ฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ทดแทนแรงงานคน 

ที่สำคัญคือการใช้เทคโนโลยี loT (Internet of things) และ Robot มาช่วยลดแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแม่นยำมากขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ ผลผลิตและรายได้ ตลอดจนยกระดับและสร้างมาตรฐานเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงเท่านั้นจาก pain point ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญในปัจจุบันมีสามข้อใหญ่ หนึ่งคือภัยธรรมชาติ ทั้งภาวะฝนแล้งและน้ำท่วม สองคือเรื่องราคาพืชผลที่ขึ้นกับกลไกลตลาด สามคือ การส่งเสริมที่ตรงจุด ที่จะมีส่วนแก้ไขปัญหาและข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้ ซึ่งด้วยนวัตกรรมด้านข้อมูลและ IoT ที่สามารถพยากรณ์เรื่องอากาศและน้ำได้ล่วงหน้า จะช่วยลดควาเสี่ยง จากภัยธรรมชาติได้

อีกหนึ่งเครื่องจักรกลการเกษตรนวัตกรรมใหม่ คือ Drone เพื่อการเกษตรเช่น บำรุงรักษาแปลงนา ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลดการใช้เเรงงานคน ทำงานได้รวดเร็ว สามารถควบคุมการฉีดพ่นได้สม่ำเสมอ ไม่เกิดการเหยียบต้นพืช ปลอดภัยต่อสุขภาพ และสามารถใช้กับสารที่เหมาะกับการใช้กับพืชที่ปลูกในประเทศไทยด้วย ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายในปีนี้ 

ส่วนตัวอย่างเด่นของนวัตกรรมการเกษตรครบวงจร คือ KAS Crop Calendar application ที่ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปฏิทินการเพาะปลูก (Crop Calendar) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ด้านการปลูกข่าวที่ถ่ายทอดมาจากเกษตรกรจากจังหวัด Niigata ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำและมีแบบแผน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรโหลด App ไปใช้งานแล้วกว่า 500 ราย

โดยมีฟังก์ชั่นหลัก ได้แก่ 1) “แจ้งเตือนการเพาะปลูก” ในทุก ๆ ขั้นตอนการเกษตร ตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวนอกจากนั้นยังสามารถปรับขั้นตอนให้เหมาะสมกับพื้นที่หรือเทคนิคส่วนตัวได้ 2) “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” ช่วยจดบันทึกทุกการใช้เงิน นำมาวิเคราะห์ เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและบริการการใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3) “รายงานสรุป” รายงานสรุปผลภาพรวมของการเพาะปลูกตั้งแต่วันแรกของการปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังสรุปรายรับ-รายจ่ายและผลผลิตที่ได้ เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกครั้งต่อไป

“ผมมองว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจหลักการเพาะปลูกข้าว ผ่านการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพียงแต่เราใช้ระบบที่ช่วยควบคุมให้แม่นยำขึ้น จึงไม่ขัดกับภูมิความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะยากขึ้นตรงต้องเก็บข้อมูล ต้องดำเนินการตามปฏิทิน และมาตรฐานต่าง ๆ” 

Smart Farming

KUBOTA Farm โชว์นวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะพัฒนา KAS เพื่อมาตอบโจทย์และแก้ pain point ให้แก่เกษตรกรแล้ว แต่เพื่อให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างถ่องแท้ จึงริเริ่มทำ  KUBOTA Farm ขึ้นเมื่อปี 2561 บนพื้นที่ 220 ไร่ ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

KUBOTA Farm คือฟาร์มสร้างประสบการณ์จริงในการเพาะปลูกพืชด้วยวิธีการเกษตรสมัยใหม่ ให้ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงในการทำการเกษตรเต็มรูปแบบแห่งแรกในอาเซียน ที่ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด End to End Solutions ซึ่งออกแบบและติดตั้งระบบจัดการฟาร์มด้วย IoT มาใช้ในระบบบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ 

ทั้งนี้ภายใน KUBOTA Farm แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่

1.    โซนให้คำปรึกษาเกษตรครบวงจร  

2.    โซนเกษตรแม่นยำข้าวและพืชหลังนาที่มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำเกษตรมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งมุ่งนำเสนอ 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. Zero Broadcast (โครงการปลอดนาหว่าน) ที่ส่งเสริม 3 วิธีด้วยกัน คือ การปักดำ การหยอดน้ำตม และ การหยอดข้าวแห้ง 2. KAS Crop Calendar 3. Zero Burn (โครงการเกษตรปลอดการเผา) โดยแนะนำวิธีการและนวัตกรรมเกษตรต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการลดการเผาหลังจากเก็บเกี่ยว 4. การปลูกพืชหลังนาเพิ่มรายได้ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือ ถั่วเขียว  5. การใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิตในข้าว ด้วยเครื่องจักรกลอัจฉริยะอย่าง KUBOTA Intelligent Solutions (KIS) ซึ่งคือ ระบบ GPS Telematics ซึ่งช่วยให้สามารถระบุพิกัดของเครื่องจักรกลคูโบต้าและสามารถดึงข้อมูลรายงานออกมาให้เกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพการทำเกษตรได้ รวมทั้งยังมีการสาธิตการใช้งาน Drone เพื่อการเกษตร ระบบควบคุมทิศทางอัตโนมัติ ตลอดจนสถานีวัดสภาพอากาศ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันบริหารเครื่องจักรกลอย่างมีประสิทธิภาพ

3.    โซนเกษตรสมัยใหม่พืชไร่ แสดงรูปแบบการเพาะปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เทคนิคการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร ด้วย KAS แนะแนวทางการจัดการน้ำ เทคนิคการปลูกอ้อยน้ำน้อย  การปรับระดับดินตามแนวความลาดชันด้วยเลเซอร์ ตลอดจนแนะนำวิธีการและนวัตกรรมเกษตรต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการลดการเผาหลังจากเก็บเกี่ยว (Zero Burn)

4.    โซนเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรและนำเสนอเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนารูปแบบการเกษตรสมัยใหม่ เช่น ระบบน้ำสั่งการด้วย Smart Device เทคโนโลยีวัดความหวานเพื่อเพิ่มมูลค่า เทคโนโลยีเครื่องปลูกผักกึ่งอัตโนมัติ เทคโนโลยีเตรียมแปลงปลูกผัก เทคโนโลยีเพาะกล้าผัก และการปลูกพืชในโรงเรือน  มุ่งเน้นการบริหารจัดการให้สร้างรายได้เป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน เป็นต้น 

5.    โซนก่อสร้าง นำเสนอโซลูชั่นเครื่องจักรกลสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการเกษตรแบบมืออาชีพ การขุดบ่อน้ำขนาดเล็ก เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อประสบปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง 

6.    โซนวิจัยเกษตรโซนปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้ นำเสนอรูปแบบการเพาะปลูกเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร KUBOTA และการสร้างรายได้จากการปลูกพืชเสริมในร่องหรือแถวระหว่างต้น

7.    โซนวิจัยเกษตรครบวงจร วิจัยและพัฒนาโซลูชั่นเกษตรครบวงจรด้วยนวัตกรรมเกษตร รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพดิน ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน 

8.    โซนอบรมเกษตรครบวงจร พื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรและผู้สนใจเพื่อให้เกิดทักษะและนำกลับไปใช้พัฒนาในพื้นที่ของตนเองได้

9.    โซนสร้างประสบการณ์เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร KUBOTA พื้นที่สำหรับทดลองใช้และเลือกเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้าที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกของเกษตรกร

“เกษตรกรทุกคนต่างต้องการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทั้งนั้น ผมมักเจอคำถามต่าง ๆ เสมอว่า ต้องทำอย่างไร ใครจะมาสอน หรือทำแล้วใครจะมาซื้อพืชผล ซึ่งด้วยตัว KUBOTA Farm จะช่วยให้เกษตรกรได้ทดลองใช้และเห็นภาพ จึงขึ้นกับว่าเราได้แนะนำเพียงพอหรือทำให้ช่วยเห็นภาพชัดเจนหรือไม่” 

นอกจากนี้ทาง KUBOTA ยังมีแนวทางส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำผ่านโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง  เพื่อร่วมคิดและลงมือแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการเรียนรู้และโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือต้องการทำให้เกษตรกรในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ท้ายที่สุดสามารถพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบและขยายผลสู่ชุมชนอื่นต่อไป เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืน

โดยตอนนี้สนับสนุนไปแล้ว 5 แห่ง ที่ครอบคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์ ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น

สำหรับบทบาทของ KUBOTA ที่มีต่อการส่งเสริมด้าน Smart Farming ซึ่งสมศักดิ์หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่  การส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ หรือส่งเสริมโครงการเกษตรสีเขียว (Green Agriculture) ที่เน้นเรื่องเกษตรปลอดการเผา ได้แก่ การไถกลบตอซังและการทำปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่กลับกอง และการลดการใช้สารเคมีในทุก ๆ ขั้นตอนของเกษตรกรรม 

ในอีกแง่ยังเน้นให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดทำข้าวอินทรีย์บรรจุถุง เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงเท่านั้นบริษัท ยังมีการพัฒนาต่อในแง่การตลาด เช่น การทำ e-Commerce ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นการรับซื้อข้าวหรือขายพืชผลการเกษตร แต่หาช่องทางจำหน่ายให้เกษตรกรได้มากขึ้น

“เป้าหมายระยะใกล้ คือต้องการเห็นเกษตรกรรายได้เพิ่มและมีความสุข เวลาที่เราเห็นทุกคนมีรอยยิ้มก็เป็นความภูมิใจของเรา” 

สำหรับคำแนะนำที่ฝากถึงเกษตรกรผู้ต้องการเป็น Smart Farmer แต่ขาดเงินทุนนั้น สมศักดิ์ย้ำว่าก้าวสำคัญคือต้องมีการรวมกลุ่มอย่างเข็มแข็งก่อน เพื่อให้สามารถแบ่งปันกันใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอย่างคุ้มค่า เพราะเป็นทางออกที่ช่วยลดต้นทุนได้ดีกว่าการใช้แรงงานภาคการเกษตร รวมถึงค่อย ๆ ปรับสู่วิถีการเกษตรสมัยใหม่ เพราะ Smart Farming เป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็วก็ได้  





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...