Tencent Thailand เปิดฉากใหม่ให้บริการระดับ SEA | Techsauce

Tencent Thailand เปิดฉากใหม่ให้บริการระดับ SEA

  • เดินหน้าขยายบริการในกลุ่มประเทศ SEA ให้เข้มข้นนอกเหนือจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา
  • ผลักดัน JOOX ออกนอกกรุงเทพ ฯ สร้างฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในปีนี้
  • รุกตลาด B2B ด้วยบริการ Tencent Cloud หรือแพลตฟอร์มคลาวด์แบบตอบสนองอัจฉริยะที่ปรับให้ตรงความต้องการ
  • ภายในกลางปีนี้เปิดให้บริการ WeTV จับกระแสผู้บริโภคนิยมดู online TV เพิ่ม

SEA (South East Asia) หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวทีธุรกิจ content ที่ Tencent Thailand ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม บริการด้านเนื้อหา และโซลูชั่นด้านเทคโนโลยี มุ่งจะทะยานขึ้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลัก ภายใต้การนำของ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยยังมีอีกเป้าหมายสำคัญคือการขยายขอบข่ายบริการสู่กลุ่มลูกค้า B2B มากขึ้นสำหรับฐานในเมืองไทย ที่ล่าสุดส่ง Tencent Cloud มาตอบโจทย์

Tencent-to-SEA

ภาพรวมของ Tencent Thailand ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

เรามีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม หนึ่งคือ News & Portal ซึ่งก็คือ sanook.com (สนุกดอทคอม) เป็นเว็บไซต์ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ ปี 2541 ไม่เพียงเท่านั้นในส่วนนี้ยังมี NoozUP (นิวส์อัพ) ที่คล้ายกับ Sanook แต่มีเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชัน เพื่อทำความเข้าใจผู้ใช้งานให้มากขึ้น และยังให้บุคคลทั่วไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองผ่านการเขียนและแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้อ่านด้วย

ส่วนกุล่มสองคือ Entertainment & Multimedia ที่ประกอบด้วย JOOX (จู๊กซ์) คือ มิวสิคสตรีมมิ่งแอปพลิเคชันสำหรับคนรักเสียงเพลง ซึ่งประเทศไทยเปิดตัวเป็นประเทศที่ 4 นับจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี 2557

นอกจากนี้ยังมี Tencent Games (เทนเซ็นต์เกม) ที่เราเป็นทั้งผู้พัฒนาเกมและผู้ให้บริการเกมระดับโลก ซึ่งเกมที่นำมาทำการตลาดในประเทศไทย ได้แก่ PUBG Ultimate Legends Ultimate Racing และ Kingdom Craft เป็นต้น รวมถึง VOOV (วูฟ) ซึ่ง แพลทฟอร์มความบันเทิงที่รวมคลิปวิดีโอ ทั้งแบบมินิวิดีโอ (Short VDO) และแบบถ่ายทอดสด (Live Streaming)

สำหรับกลุ่มที่สามคือ Services เริ่มจาก TSA (Tencent Social Ads) คือ เครือข่ายโฆษณาผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ของ Tencent เช่น QQ WeChat QZone QQ news QQ Music Tencent News และ Tencent VDO เป็นต้น สำหรับลูกค้าที่ต้องการเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคชาวจีน

โดยในปี 2560 เริ่มเปิดให้ลูกค้าใช้บริการ Mini Program ซึ่งเป็นเสมือนแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใน WeChat ที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนจีนได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังรองรับการทำ social commerce ด้วย เช่น การทำคูปอง และ การทำธุรกรรมทางออนไลน์ รวมถึงมี Topspace ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเอเจนซี่แบบครบวงจร

สำหรับบริการล่าสุดที่เพิ่งเปิด คือ Tencent Cloud หรือ บริการคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่มาพร้อมกับบริการแบบครบวงจร สามารถรองรับการใช้งาน และเพิ่มศักยภาพให้กับหน่วยงานรัฐบาล สถาบันทางการเงิน ตลอดจนลูกค้าองค์กรด้วยมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งมุ่งเน้นมาจับตลาดกลุ่ม B2B ที่ไม่นานนี้ได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี (True IDC) เปิดตัว Tencent Cloud อย่างเป็นทางการ

Tencent Cloud แตกต่างจากคนอื่นตรงที่ทำงานกับ partner โดยตรง จึงสามารถปรับผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้จริง

กลุ่มธุรกิจใดคือฐานรายได้หลักของ Tencent Thailand

รายได้ของเรามาจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ แต่อัตราส่วนมากสุดที่ 70-80% ของรายได้รวมจะมาจาก sanook.com JOOX และ Tencent Games ขณะที่ Tencent Cloud เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะมาช่วยให้เราทำตลาดกับกลุ่ม B2B ได้มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเพิ่มศักยภาพของ Tencent Cloud ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กับเรามากขึ้น

ทำไมถึงต้องขยายไปสู่ B2B

นโยบายที่จะรุกตลาด B2B เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2561 แล้ว จากที่เดิมฐานรายได้หลักมาจากกลุ่ม B2C เป็นหลัก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศจีนเริ่มชะลอลง ก็เลยทำให้รายได้รวมของ Tencent ตกลงไปด้วย จึงมองว่าต้องเริ่มหันมาทำตลาด B2B มากขึ้น

Tencent Cloud ถือเป็น strategic product และไทยเป็นประเทศแรกที่สร้าง Cloud นอกจีนเพราะมีโอกาสมหาศาลในการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ AI เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจาก Tencent Cloud ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่อื่น ๆ อีกหรือไม่

จากแนวโน้มที่ผู้บริโภคนิยม online TV มากขึ้น เราจึงจะจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ WeTV ภายในกลางปีนี้ โดยเป็นแอปพลิเคชันความบันเทิงจากจีน ทั้งซีรีส์ละครดัง รายการวาไรตี้ ภาพยนตร์ และการ์ตูนอนิเมะจากจีน มาให้ผู้บริโภคในไทยได้ชมฟรี ซึ่งมองว่าธุรกิจนี้ในปัจจุบันก็ยังมีคู่แข่งในตลาดไม่มากนัก จึงนับว่ายังเป็นตลาดแบบ Blue Ocean อยู่

ทั้งนี้ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการยังมี content จากจีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วน partner ที่จะป้อน content ให้เราจะเป็น GMM One โดย WeTV จะแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นตรงจะเน้นกลุ่ม mass โดยจะมี content ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ (รวมทั้งจากจีน เกาหลี และประเทศอื่น ๆ) ที่อัตราส่วน 50:50

ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถนำ local content ไปอยู่บน Tencent VDO ซึ่งแพลตฟอร์มที่ใหญ่มากในจีนได้ จึงเป็นโอกาสให้ดาราไทยได้ไปแจ้งเกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่วงการบันเทิงไทยต้องการ

tencent-to-sea

มีแผนอย่างไรบ้างสำหรับ ในส่วนธุรกิจดั้งเดิม เช่น JOOX

สำหรับ JOOX ที่เปิดตัวมาได้ 3 ปีแล้วก็ประสบความสำเร็จดี จนเริ่มมี JOOX Thailand Music Awards ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งเหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันวงการเพลงในด้านใหม่นอกเหนือจากแนว Pop Rock เช่น Hip Hop หรือแม้แต่ R&B สำหรับต่อไปก็ต้องการขยายไปยังเพลงประเภทอื่น ๆ มากขึ้น เช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง

ดังนั้นแผนงานสำหรับ JOOX ในไทยสำหรับปี 2562 จะเน้น 3 ส่วนหลัก คือ การบุกตลาดนอกกรุงเทพ ฯ การเสริมแกร่งฟีเจอร์คาราโอเกะ และการบำรุงรักษาระบบสตรีมมิ่งให้ทำงานลื่นไหลที่สุด เพื่อรองรับยอดฟังเพลงสตรีมมิ่งที่เชื่อว่าจะสูงกว่า 3 พันล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 สิ่งหลักที่ JOOX ต้องการทำในปีนี้ คือ การบุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ผ่านทางเว็บไซต์ JOOX.com เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการฟัง JOOX ผ่าน PC มากกว่า smartphone นอกจากนี้ยังมีแผนเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงการทำโครงการระหว่างศิลปินต่างค่าย และต่างชาติ เพื่อสร้างเพลงเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมีให้บริการบน JOOX ก่อนบริการอื่น โดยปีนี้จะเน้นเพลงลูกทุ่ง

ปัจจุบัน JOOX มีฐานผู้ใช้ราว 10 ล้านคนในไทย 42% ของผู้ใช้มีอายุ 18-24 ปี และ 55% อยู่ในเขตกรุงเทพฯ จุดนี้ JOOX หวังให้การขยายฐานผู้ใช้ในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น เป็นตัวช่วยดันฐานผู้ใช้รวมให้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในปีนี้

นอกจากการขยายฐานผู้ใช้แล้ว ส่วนที่ 2 คือ คาราโอเกะ ซึ่งได้รับความนิยมจนมียอดการร้องสูงเกิน 5 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา และมีการแชร์เพลงที่ร้องแบบคาราโอเกะออกไปมากกว่า 2.6 ล้านครั้ง จุดนี้การสำรวจพบว่า กลุ่มคนร้องคาราโอเกะผ่านระบบสตรีมมิง วันนี้มีจำนวนมากกว่า 62% ทำให้ JOOX มองเห็นโอกาสเติบโตของตลาด ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ JOOX มองหาศิลปินใหม่ และสร้างคอมมูนิตี เพื่อต่อยอดได้อีก

ส่วนที่ 3 ที่ JOOX จะลงทุนเต็มที่ในปีนี้ คือ การพัฒนาระบบให้ดีที่สุด โดยจะออกแบบและพัฒนาให้ระบบทำงานดีขึ้น ลื่นไหลกว่าเดิม

นโยบายของบริษัทแม่สนับสนุนให้เครือข่ายแต่ละประเทศพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ exclusive มากแค่ไหน

ส่วนใหญ่ Tencent Thailand จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่กำลังนิยมจากจีนมาทำตลาดในเมืองไทย เพราะจริง ๆ จีนก็เป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี ดังนั้นก็ต้องเลือกดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนเหมาะสมที่จะนำมา localize กับตลาดในไทยได้

อะไรคือพัฒนาการที่โดดเด่นมากสุดของ Tencent ในไทย

น่าจะเป็น JOOX ซึ่งได้รับเลือกว่าเป็น User Choice Award 2018 ใน Google Play Store แต่จริง ๆ ก็มีหลายผลิตภัณฑ์ที่นำมาตลาดไทยแล้วประสบความสำเร็จ

แม้จะมีส่วนได้เปรียบจากที่จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีประเทศหนึ่งของโลก แล้วมีอะไรเป็นจุดอ่อนที่ Tencent Thailand ต้องมาปรับปรุงหรือพัฒนาหรือไม่

น่าจะเป็นประเด็นที่ผลิตภัณฑ์ของ Tencent ในจีนแข็งแกร่งมาก ๆ ทำให้เวลาที่ไปเปิดตัวในต่างประเทศ ทำให้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์มีความเห็นว่าควรต้องมีแนวทางหรือกลยุทธ์ในการเปิดตัวในแบบเดียวกันกับในจีน เพราะพิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จ ขณะที่คนท้องถิ่นก็จะมีความเห็นอีกแบบ จึงเป็นหน้าที่ของ local team อย่างพวกเราที่ต้องอธิบายว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะมีหลายปัจจัยที่ต่างจากจีน เช่น ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตลาดอย่างไร ต้องเพิ่ม local content แบบไหนอีก ต้องมีวิธีการดีลกับ partner อย่างไร เป็นต้น

จริง ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์แล้วไม่ successful เพราะใช้รูปแบบการทำตลาดแบบในจีน แต่พอมีทีมในไทยแล้ว ก็เสนอไปว่าจะทำเอง จึงเป็นสาเหตุให้เรา localize ค่อนข้างมาก

การหว่านล้อมให้คนที่บริษัทแม่เข้าใจและยอมรับเป็นเรื่องยากหรือไม่

จะว่ายากก็ยาก แต่จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ภายหลังที่เรามีผลงานเป็นที่พิสูจน์แล้วก็ไม่ยาก

ในฐานะผู้นำองค์กรมีแนวทางอย่างไรให้องค์กรที่มีวัฒนธรรมหลากหลายสามารถทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น

ความเป็นจริง MIH Holdings Limited ที่เดิมเคยซื้อ MWEB (ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Sanook และ เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศแอฟริกาใต้) ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ก็เคยเป็นเจ้าของ Tencent อยู่แล้วด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นจาก MIH มาเป็น Tencent ก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงกับวัฒนธรรมองค์กรมากนัก นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นจากจีนเองก็ค่อนข้างปล่อยให้มีการบริหารงานที่อิสระมาก จึงทำให้การบริหารด้านวัฒนธรรมองค์กรจึงขึ้นกับผู้บริหารในเมืองไทยเป็นหลัก จนแทบไม่มี DNA ของบริษัทสัญชาติจีนเลยยกเว้นกำหนดเรื่อง corporate identity

เราเป็นบริษัทที่อยู่ในเมืองไทยมากกว่า 20 ปี แม้มีผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของจะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่ก็มี DNA เป็นไทยสูงมาก

ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรในแบบของ Tencent Thailand เป็นอย่างไร

เราต้องการเปลี่ยนให้ move เร็วขึ้น โดยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแบบ Hungry and Humble เพราะเดิมด้วยความที่ Sanook ใหญ่มากจึงทำให้บางทีก็ละเลยการพัฒนาตัวเองไป ซึ่งการที่มีพนักงานใหม่ ๆ เข้ามาก็ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรในแบบที่ต้องการได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยงานทีม editor ตัดสินใจบริหาร content บนพื้นฐานของข้อมูลตัวเลข เช่น เลือกเรื่องที่ตอนนี้ตัวเลขชี้ว่ากำลังได้รับความนิยมมาลงในเว็บ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ในการรับสมัครพนักงาน ก็จะมีแบบสอบถามแบบออนไลน์ให้ผู้สมัครป้อนเข้ามูลเพื่อสามารถนำมาวิเคราะห์เรื่องมุมมองและทัศนคติในด้านต่าง ๆ ได้ เพื่อจะได้รู้ว่าบุคคลนี้เหมาะสมกับ DNA ของบริษัทหรือไม่

ใช้กลยุทธ์อะไรที่ผลักดันให้ทีมสามารถทำงานอย่างเต็มศักยภาพ

ผมจะบอกกับทีมเสมอว่า หน้าที่ของผมคือไปหาโอกาสมาให้คุณ แต่ก็ต้องมีคนที่ Hungry and Humble แล้วไปทำให้โอกาสนี้เกิดผลสำเร็จเพื่อจะได้มีผลงานไปต่อยอดแล้วขยายธุรกิจต่อไป ซึ่งบางทีเราก็เป็นเหมือนโค้ชที่อาจจะไปเตะบอลด้วยบางครั้ง แต่ก็ไม่สามารถลงไปได้ทุกครั้ง นอกจากนี้ก็จะมีการ challenge ทีมงานอยู่เสมอ ตั้งแต่เริ่มแรกที่บริษัทไม่ใช่เป็นแค่ Sanook แล้วเราเป็น Tencent  ซึ่งเป็นบริษัทระดับสากลที่มีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากมาย

ในส่วนความ Humble นั้นก็จะบอกทีมงานว่าในฐานะที่เป็น technologist ที่มีหน้าที่สร้าง online platform ที่ไม่ได้มา Disrupt หรือสร้างผลกระทบกับ partner แต่มาเป็นเหมือนสะพานให้บริษัทที่ยังอยู่ในธุรกิจดั้งเดิมก้าวข้ามมาสู่โลกดิจิทัลได้ จึงพยายามบอกทีมงานว่าไม่อยากให้ใช้คำว่า Disrupt เพราะจะมีผลกับความรู้สึกของ partner

จากเป้าหมายที่ต้องการเป็น Tencent SEA มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

นอกจากมีสำนักงานที่มาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว ขณะนี้เราเปิดตัว JOOX ที่เมียนมาและอินโดนีเซียไปแล้ว เพราะตลาดที่สำคัญของ Tencent Thailand คือประเทศไทยและอินโดนีเซีย เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มากและยังมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ยดีกว่าประเทศอื่น ๆ แล้ว

ปีที่แล้วผมบอกกับทีมว่าเราไม่ใช่แค่ Tencent Thailand แต่เราต้องเป็น Tencent SEA ทำอย่างไรที่เราจะทำให้พนักงานที่มีอยู่กว่า 200 คนขยายธุรกิจไปถึงระดับภูมิภาคได้

ตัวแปรอะไรบ้างที่สะท้อนว่าเราเป็น Tencent SEA แล้ว

ในแง่ของทีมงานที่มีความหลากหลายเชื้อชาติจาก SEA ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เมียนมา จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราสามารถผลักดันไปถึงระดับภูมิภาคได้ รวมถึงต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะซึ่งกันและกันระหว่างทีมงานหลาย ๆ เชื้อชาติ ไม่เพียงเท่านั้นยังมี partner จากหลายประเทศใน SEA ด้วย เพื่อให้มีเครือข่ายระดับภูมิภาคมากขึ้น

“เราต้องการขยายบริการไปยังประเทศอื่น ๆ ใน SEA เพิ่มอีกแต่ยังไม่ได้กำหนดแผนชัดเจน เพราะต้องดูก่อนว่าจะมีทีมงานมารองรับพร้อมหรือไม่ และประเทศเหล่านั้นมีกำลังซื้อเพียงพอแค่ไหนด้วย”

มองว่าตัวเองเป็นผู้นำในแบบไหน

ผมเป็นคนตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เพราะมีงานที่ต้องทำมาก คงไม่มีเวลาพอจะพูดอ้อม ๆ ได้ จนบางคนก็งงว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ

ปัจจัยท้าทายที่ต้องรับมือในอนาคต

การหาบุคลากรที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี เพราะตอนนี้มีบริษัทด้านเทคโนโลยีเปิดกิจการในเมืองไทยมากกว่าอดีต ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าพนักงานต่างชาติมามากขึ้น และต้องพยายามสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานเพื่อดึงดูดคนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิสระในการทำงาน ความท้าทายของเนื้องาน ผลตอบแทนที่ยุติธรรม และวัฒธรรมองค์กร ซึ่งแม้เรื่องเงินจะสำคัญระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่เป็นเหตุผลทั้งหมดที่บุคลากรจะเลือกว่าจะทำงานกับองค์กรใด

เราต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมเรียนรู้ สามารถคิอเองทำเองได้ เพราะงานตรงนี้ถือเป็นธุรกิจใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจึงต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ เช่นการที่เราทำให้ JOOX เป็นสะพานให้ธุรกิจเพลงมาสู่โลกดิจิทัล

 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...