ฟังมุมมองTRC Construction เมื่อ‘นวัตกรรม’ในวงการรับเหมา ‘ไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่’ | Techsauce

ฟังมุมมองTRC Construction เมื่อ‘นวัตกรรม’ในวงการรับเหมา ‘ไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่’

What you should know about TRC Construction ?

  • TRC Construction เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการด้านงานรับเหมาก่อสร้าง และวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และก่อสร้างและติดตั้งระบบวิศวกรรมให้กับบริษัทต่างๆ ในธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีลูกค้าหลัก คือ กลุ่มบมจ.ปตท.  กลุ่มบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย

  • TRC Construction ผู้ก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันดิบในโครงการ Construction of Flow Lines Rima Satellites Small Fields จาก Petrogas Rima LLC และ PTTEP (Oman) Co., Ltd. ประเทศโอมาน 

  • TRC Construction มีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจด้านงานรับเหมา คือ บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาที่มีประสบการณ์มากกว่า 60 ปี

สายงานที่ดูเหมือนว่าได้เปรียบในยุค Disruption นอกจากสายงานด้านไอทีแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นด้านวิศวกรรม... สำหรับประเทศไทยเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจองค์กรที่ยังคงมีกระบวนการดำเนินงานแบบดั้งเดิม (Traditional) ก็คงไม่รอด  ต้องมีการปรับตัวไม่สู่การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร (Corperate Innovation) ด้วยการหันมาทบทวนบทบาทแนวคิดขั้นพื้นฐานของอุตสาหกรรมของตนให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถทำให้เข้าใจได้ว่าความต้องการของลูกค้า แท้จริงแล้ว คืออะไร ?

โดยหนึ่งในบริษัทด้านวิศวกรรมเก่าแก่และเป็นผู้นำด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ รวมถึงติดตั้งระบบวิศวกรรมในธุรกิจปิโตรเคมีอย่าง บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของ CEO รุ่น 2 อย่าง ‘ภาสิต ลี้สกุล’ ทายาทของ ‘ สมัย ลี้สกุล’ ผู้ก่อตั้งทีอาร์ซี ซึ่งได้มอบหมายความไว้วางใจให้สานต่อธุรกิจด้วยแนวคิดการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะสามารถนำพาองค์กรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านที่เข้ามา

ภาสิตเล่าว่า เดิมทีตนได้สำเร็จการศึกษาและทำงานทางด้านสายการเงินมาตั้งแต่แรก แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก็ได้เข้ามาเรียนรู้งานทางด้านวิศวกรรม และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเขาได้เข้ามาช่วยงานที่ทีอาร์ซี ตั้งแต่ปี 2009 เพื่อเรียนรู้งานในด้านต่างๆ และได้มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ที่ต้องขับเคลื่อนองค์กรด้วยตัวเองเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีมาแล้ว จากการที่เขาได้เห็นวิธีการทำงานต่าง ๆ รวมถึงได้ศึกษาความต้องการของลูกค้าในสายงานด้านวิศวกรรมอย่างลึกซึ้ง ทำให้เขาตัดสินใจปรับวิสัยทัศน์ในการดำเนินงาน หรือยกเครื่ององค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้องค์กรสามารถอยู่รอด และเติบโตได้ท่ามการแข่งขันที่สูงขึ้น

สำหรับบมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการงานรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจร ประกอบด้วยงานการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้าง หรือ EPC โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านงานวางระบบท่อ ไม่ว่าจะเป็นท่อก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำ และท่อปิโตรเคมี รวมถึงการรับเหมาก่อสร้างโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกด้วย โดยมีลูกค้าหลักจากงานด้านการทำท่อก๊าซ ก็คือ กลุ่มปตท. เป็นส่วนใหญ่

อีกทั้งก่อนหน้านี้ทีอาร์ซีได้เล็งเห็นการเติบโตด้านงานวิศวกรรมโยธา ที่สอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนเองก็มีความมั่นใจที่จะลงทุนและมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นไปด้วย จึงทำให้ตัดสินใจเข้าซื้อ บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานด้านวิศวกรรมโยธา เมื่อปี 2007 เพื่อเสริมการเติบโตให้กับบริษัท ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนั้นส่งผลให้ทีอาร์ซี ได้กลายเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างครบวงจร และเพิ่มโอกาสในการรับงานเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น

จากการที่ธุรกิจของทีอาร์ซี ถือเป็นงานด้านวิศวกรรมเฉพาะทางที่มีเพียงไม่กี่บริษัทในประเทศไทยเท่านั้นที่มี know how ตรงนี้และสามารถทำได้ จึงทำให้ ณ ช่วงเวลาที่ผ่านมาทีอาร์ซีมีผลกำไรที่เติบโตดีพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปโลกมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน ส่งผลให้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาใน sector ดังกล่าวมีบริษัทต่างชาติที่มี know how ตรงนี้เข้ามาค่อนข้างมาก ซึ่งต้องต่อสู้กันในด้านราคามากขึ้น ส่งผลให้ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของทีอาร์ซีลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัว โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทีอาร์ซีได้ตัดสินใจเปลี่ยน Vision และ Mission ในการดำเนินใหม่ทั้งหมด รวมถึงมีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรใหม่ เพื่อการบริหารงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นด้วย

ปรับ Process การทำงานสู่การเป็น Innovative Project

การ Transform องค์กรของทีอาร์ซี ภาสิตเล่ากับ Techsauce ว่าเขาได้มีการวาง Vision ขององค์กรใหม่เป็น A pioneer Organization who delivers innovative project solution in the region นั่นคือ ผู้บุกเบิกที่สามารถส่งมอบ Innovative Project ให้กับลูกค้า จากการที่ระยะแรกเริ่มทีอาร์ซี เติบโตมาจากการเป็นผู้บุกเบิกที่หาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็น niche ของตัวเอง เพราะฉะนั้นทีอาร์ซีเองก็ต้องเร่งหา พัฒนาตัวโครงการใหม่ ๆ ที่เน้นเรื่องของ Innovation และตอนนี้ก็ต้องพยายามเดินในเรื่องของระบบ Automation ให้มากขึ้น

 “สำหรับผม Innovation  ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ ๆ ให้ยิ่งใหญ่มากมาย แต่ Innovative Solution ของเราหมายความว่า เรามาดู Process ในตัวเราเอง เวลาส่งมอบงานให้ลูกค้า เขาต้องการความรวดเร็ว ปลอดภัย  ดังนั้น Innovation ในเรื่องของ Processในการทำงาน ที่เราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องทำงานอย่างไรก็ได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และประสิทธิผลให้สูงขึ้น”

ภาสิต กล่าวว่า เราอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ว่าทีอาร์ซีทำท่อ มาเป็นการทำสิ่งที่เป็นการส่งมอบเรื่องของ Solution ให้ลูกค้า ซึ่งจากการที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานาน เราได้ทำความเข้าใจลูกค้าโดยการหันมาทบทวนแนวคิดพื้นฐานว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ลูกค้าต้องการ คือ ลูกค้าอยากได้งานก่อสร้างที่รวดเร็ว เราก็หาวิธีการทำงานที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ ดังนั้นถึงได้บอกว่า Innovation สำหรับทีอาร์ซีเป็นการปรับในเรื่องของ Process การทำงาน

ผมพยายามเปลี่ยนความคิดของคนในองค์กรว่า อย่าไปยึดติดว่าเราต้องทำอะไรเหมือนเก่า นี่คือจุดประสงค์หลักของการเปลี่ยน Vision และ Mission ในครั้งนี้

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้หลายคนมีการตั้งคำถามว่า จะทำได้หรือ จะเปลี่ยนไปทำไม ตรงนี้ถือเป็นความท้าทาย แต่เมื่อเราตั้งเป้าหมายแล้ว เราก็จะแสดงให้เห็นว่า การทำเช่นนี้ สามารถที่จะให้ผลลัพธ์ ลดการทำงานที่ซับซ้อน ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ ‘การพัฒนาภายใน’

ในส่วนของกระบวนการทำงานภายในองค์กรเราก็ต้องทำให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยเราเองจะต้อง improve กระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ลูกค้า ทำอย่างไรให้ประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น และต้องคิดไปอีกว่าทำอย่างไรให้สามารถส่งมอบงานได้เร็วขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น การ Monitor ระบบต่าง ๆ โดยการนำ IoT (Internet of Things) เข้ามาใช้ อย่างโครงการที่เรากำลังพัฒนาให้เป็น solution แก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ก็จะเป็นเครื่องมือที่นำไปติดตั้งที่สถานีสูบน้ำต่าง ๆ แล้วสามารถติดตามการทำงานของเครื่องสูบน้ำผ่านแอปพลิเคชันได้ เพื่อนำไปสู่การควบคุมสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นนั่นเอง

นอกจากยังมีเรื่องของการนำ IoT เข้าไปดำเนินการ Monitor สถานการณ์การใช้พลังงานของอาคาร เพื่อที่จะทำให้รู้ว่าเราจะสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างไร อัตราการใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างไร สามารถปิดการใช้งานตรงไหนเพื่อประหยัดพลังงานได้บ้าง

ภาพจาก Freepix

สำหรับการสร้างถนน ซึ่งเป็นงานทางด้านวิศวกรรมโยธา เราก็ได้มีการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยในด้าน Process เช่นกัน เช่น หากเราต้องการก่อสร้างถนนระยะทาง 10 กิโลเมตร เราจะมีเครื่องมือสำหรับการบันทึกว่าคนงานเข้ามาทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเขาก็จะต้องบันทึกว่าวันนี้เขาสามารถดำเนินการไปได้เป็นระยะเท่าไหร่ และใช้คนงานในการทำจำนวนกี่คน ดังนั้นเราก็จะสามารถติดตามงานได้เเบบเรียลไทม์ เก็บข้อมูลต่าง ๆ มาเพื่อวิเคราะห์ และนำไปสู่การควบคุมต้นทุนได้ แทนที่จะให้คนมานั่งเก็บข้อมูลหน้างานแล้วนำมาเขียนรายงานเพื่อนำมาส่งลูกค้า ตรงนี้เราใช้ดิจิทัลมาช่วย คนก็จะได้เอาเวลาไปทำหน้าที่อื่น ๆ 

นอกจากนี้สิ่งที่เราวางในระยะต่อไป คือ การก้าวเข้าไปในการทำธุรกิจใหม่ที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม หรือการหา New S-curve โดยสิ่งที่เรามองเห็น คือ ทุก ๆ sector จะต้องมีการลดงบลงทุน หรือ อาจจะมีการลงทุนที่มีกรอบจำกัด จึงทำให้ทีอาร์ซีได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี และบริษัท แอพไพลแอ๊นซ์ เทคโนโลยี ซัพพลายส์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท แอท เอนเนอจี โซลูชั่น (AT Energy) เพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงานเป็นหลัก และธุรกิจการจัดหาและให้บริการด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะด้านพลังงานให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น การผลิตและจำหน่ายไอน้ำ ไฟฟ้า และน้ำใช้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ…. สมมติคุณจะทำโรงงานปลากระป๋อง แต่ในการทำโรงงานขึ้นมา 1 โรงงานจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น boiler  ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จะต้องมาประกอบโรงงาน ดังนั้นสิ่งที่เรามองคือ คุณถนัดด้านการผลิตปลากระป๋อง คุณก็โฟกัสแค่จุดเดียว ส่วนเรื่องอื่นๆที่ได้กล่าวไป ตัดออกมาให้เราทำ โดยเราอาจจะมีการเข้าไปลงทุนให้ operate ให้ supply ไอน้ำให้ จัดการเรื่องไฟฟ้าให้ แล้วคิดค่าบริการ ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่เราทำตอบโจทย์ในส่วนของการส่งมอบ Solution ให้กับลูกค้า 

นอกจากนี้ทีอาร์ซียังได้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจคลังสินค้าอัตโนมัติให้บริการพื้นที่และให้เช่าอุปกรณ์บริหารจัดการคลังสินค้า เช่น ชั้นวางของ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ และระบบโปรแกรมในการเก็บและขนย้ายสินค้า ด้วยที่จะเข้ามาเป็นธุรกิจ New S-Curve ของเรา
TRC-Construction

การออกแบบนวัตกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ คือ อาวุธสำคัญ

ทีอาร์ซี เป็นธุรกิจที่คลุกคลีกับสายงานด้านวิศวกรรมมาอย่างยาวนาน ซึ่งสิ่งที่เรามองเห็นถึงความคาดหวังที่สังคมมักจะมองอาชีพวิศวกร ก็คือ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ และการต่อยอด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้มากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราทำเมื่อต้องมีการรับวิศวกรใหม่เข้ามาทำงาน คือ การ Training โดยให้เขาได้ออกไปฝึกตามไซต์งานต่าง ๆ เพื่อที่จะได้เห็นภาพจริง และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ต่อไปได้

แต่ก่อนเรามักจะมีการทำงานตามแบบเดิม ๆ ความเชื่อเดิม ๆ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอะไรมาก เพราะวงการรับเหมาก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างมีการทำงานแบบอนุรักษ์นิยม แต่ทุกวันนี้มันจำเป็นมากที่จะต้องปรับเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น

ปัจจุบันทีอาร์ซีได้มีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกเวลาจะรับใครก็ตามเข้ามาทำงาน คือ ทัศนคติที่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติด สามารถยืดหยุ่นได้ 

สำหรับวิธีการทำงานโดยที่ให้วิศวกรของเราสามารถประยุกต์ และสร้างนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยทำให้กระบวนการทำงานของพวกเขาง่ายขึ้น คือ การเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง เราจะไม่มาบังคับว่าต้องทำงานตามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เราให้อิสระในการทำงาน เพราะการทำงานด้านวิศวกรรมมักจะมีส่งที่  Fixed มากพออยู่แล้ว

ดังนั้นการอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เรามักจะไม่พูดเรื่องของการทำงาน แต่เราวัดกันในเรื่องของประสิทธิภาพมากกว่า หรือที่เรียกว่า Man-hours เพราะในฐานะผู้ประกอบการสิ่งที่เราต้องการดูก็คือ cost per man-hours นั่นเอง ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถทำกำไรได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...