รู้จักกฎ 85% ของการทำงาน ไม่ต้องใส่เต็มร้อยตลอด ก็สร้างทีมที่ประสบความสำเร็จได้ | Techsauce

รู้จักกฎ 85% ของการทำงาน ไม่ต้องใส่เต็มร้อยตลอด ก็สร้างทีมที่ประสบความสำเร็จได้

‘พยายาม 100% = สำเร็จ 100%’ จริงหรอ ? หลายครั้งแม้พยายามเต็มที่ ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นแบบที่ต้องการเสมอไป ยิ่งในการทำงาน การใส่เต็มร้อยอยู่ตลอดเวลาอาจจะทำให้เหนื่อยและหมดไฟได้ง่ายๆ บทความนี้จะพามารู้จัก กฎ 85% ของการทำงาน ที่บอกว่า จะสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่จำเป็นต้องใส่เต็มร้อยเสมอก็ได้

ไม่เห็นต้องเจ็บปวดก็เรียนรู้ได้ 

Carl Lewis นักกีฬาชาวสหรัฐ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 9 เหรียญ หนึ่งใน The GOAT (Greatest of all time) ของวงการกีฬาโลก ให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับการเป็นนักกีฬาระดับโลกของเขา และบอกว่าาแนวคิด ‘No pain, no gain’ นั้นไร้สาระ

การซ้อมของคุณควรจะสมเหตุสมผล ในหลายครั้งการพักผ่อนมีความสำคัญมากกว่าการผลักดันตัวเองไปสู่จุดที่เจ็บปวด

Tom Tellez โค้ชของ Lewis เสริมว่าพวกนักกีฬาที่วิ่งสปรินท์ได้แบบเทพๆ ต้องผ่อนคลายใบหน้า กราม และดวงตาขณะวิ่ง  (การวิ่งระยะทางสั้น แต่ใช้ความเร็วสูงสุดของร่างกาย เพราะต้องทำเวลาให้น้อยที่สุด)

“อย่ากัดฟัน ถ้าคุณกัดฟัน ความตึงมันจะไหลลงคอและลำตัวไปจนถึงขาของคุณ”

ทำไมหลายบริษัทแก้ปัญหาพนักงานหมดไฟไม่ได้ 

ปัจจุบันหลายบริษัทมีสวัสดิการเป็นโปรแกรมสุขภาพจิต คูปองไปนวด หรือกิจกรรมที่จะช่วยให้พนักงานผ่อนคลาย เพราะเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ยังคงคาดหวังให้พนักงานทำงานอย่างหนัก ต้องสร้าง productivity ให้บริษัทมากๆ หรือมีความไม่สมดุลระหว่างงานกับคน ไม่งานเยอะกว่าคนทำ ก็งานไม่เหมาะกับทักษะของคน

นี่ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายบริษัทแก้ปัญหา Burnout ของพนักงานไม่ได้ แม้จะลงเงินจำนวนมหาศาลไปกับการดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงาน เพราะปัญหาที่เป็นตอใหญ่ที่สุดอย่าง วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษในองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการหมดไฟ ยังคงอยู่ บริษัทไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ ถ้ายังใช้วิธีทำงานแบบเดิม

แล้วทำไมเราไม่ลองหาวิธีพยายามแบบเหมาะสมที่สุดแทน แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกัน และนี่คือวิธีคิดของกฎ 85%

วิธีสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ 85% 

เวลางานก็จบในเวลางาน 

‘เวลาของทุกคนมีค่า’ 24 ชั่วโมงของมนุษย์ออฟฟิศก็ไม่ได้มีแค่งาน หลายคนใช้เวลากับครอบครัว หลายคนอยากไปฟิตเนส หลายคนอยากไปนั่งจิบเบียร์ที่ร้านประจำ หัวหน้าทีมควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพเวลาของกันและกัน เวลางานก็ควรจะจบในเวลางาน

เมื่ออยู่ในเวลาทำงาน ทุกคนก็ควรเคารพเวลาการทำงานด้วยการตั้งใจทำ แต่เมื่อนอกเวลางาน ก็ควรให้เกียรติกันด้วยการไม่เอางานไปเกี่ยวข้อง หรือเป็นไปได้ก็ให้มันน้อยที่สุด (อาจยกเว้นให้สำหรับกรณีฉุกเฉินจริงๆ)

ขอให้ทำเกือบเต็มที่ที่สุดก็พอ

ในเมื่อทุ่ม 100% ก็อาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้งไป แทนที่หัวหน้าจะบอกเพื่อนร่วมงานว่า “ทำให้เต็มที่ ใส่เต็มร้อย” ทำไมไม่ลองขอให้ทีมทำให้เกือบเต็มที่ที่สุดดู (สัก 85%)

ผลสำรวจโดย Yale Center for Emotional Intelligence ร่วมกับ Faas Foundation พบว่า 20% ของพนักงานในสหรัฐฯ 1,000 คน มีทั้งอาการหมดไฟสูงและมีส่วนร่วมกับงานในองค์กรระดับสูงเช่นเดียวกัน ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักนี้ ทำให้เกิดความเครียด คับข้องหมองใจ และมีโอกาสที่จะลาออก

ที่น่าสนใจคือพนักงานกลุ่มนี้ล้วนเป็นหัวกะทิ ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ชี้ให้เห็นว่าบริษัทอาจต้องเสียบุคลากรดีๆ ออกไป เพราะภาระงานที่มากเกิน

ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจแบบดีที่สุดตลอด 

สิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับบริษัทใหญ่ ที่มีระบบการทำงานเป็นลำดับชั้น พนักงานทั่วไปอาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของบริษัท

แต่ในบริษัทที่ไม่ได้มีพนักงานเยอะ เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกับการออกความเห็นและตัดสินใจทิศทางการทำงานร่วมกันนั้น หัวหน้าทีมไม่ควรสร้างวัฒนธรรมการตัดสินใจที่ต้องดีที่สุดทุกครั้ง

การตัดสินใจที่ถูกต้องสัก 85% ก็โอเคแล้ว เพราะการตั้งมาตรฐานสูงสุดตลอดเวลามีแต่จะสร้างความกดดันให้พนักงาน จนพวกเขาอาจไม่กล้าตัดสินใจหรือออกความเห็นอะไรอีก นอกจากนั้นอาจทำให้งานที่กำลังรอการตัดสินใจต้องถูกชะลอให้ช้าลง เพราะไม่มีใครกล้าตัดสินใจ

หลีกเลี่ยงการใช้ท่าทาง ภาษา ที่กดดันกัน 

“พี่ขอด่วนนะ งานนี้ต้องห้ามพลาดนะ” คำพูดประเภทนี้แค่ได้ยินก็ปวดหัวไม่อยากตื่นไปทำงานแล้ว จริงอยู่ที่มันเป็นความจำเป็น แต่หัวหน้าทีมสามารถเลือกใช้คำพูดที่ช่วยให้ลูกน้องผ่อนคลายกว่านี้ได้ หรืออาจะให้เหตุผลความจำเป็นของความเร่งด่วนนั้นด้วย

ถ้าเป็นไปได้ควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีอิสระที่จะเลือก หรือถามถึงสิ่งที่เขาต้องเสียไปเพื่อตอบรับความต้องการของเรา บางคนอาจจะต้องทิ้งธุระสำคัญ บางคนอาจจะต้องหักเวลาที่จะได้พักผ่อน

เลิกประชุมก่อน 10 นาที 

ในหนึ่งวันอาจมีการประชุมติดกันหลายประชุม การเลิกประชุมก่อน 10 นาทีให้พนักงานได้พักสมองพิสูจน์ด้วยการวิจัยแล้วว่าสามารถช่วยให้พวกเขาผ่อนคลาย พร้อมจะออกไอเดียใหม่ๆ

การวิจัยจาก Human Factors Lab ของ Microsoft ขอให้ผู้ทดสอบสวมเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อตรวจสอบการทำงานของสมอง โดยให้แต่ละคนทดลองวิธีการประชุมที่ต่างกันออกไป กลุ่มหนึ่งประชุมติดต่อกัน 4 ครั้งโดยไม่มีการหยุดพัก อีกกลุ่มจะหยุดพัก 10 นาทีก่อนเริ่มอีกประชุม

โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ไม่ได้หยุดพักเลยจะเครียดสะสม ยิ่งนานเข้ายิ่งโฟกัสไม่ได้ ไม่มีสมาธิกับการประชุมครั้งต่อๆไป ตรงข้ามกับคนที่ได้หยุดพักที่จะเครียดน้อยลงทุกครั้งที่ได้พักสมองก่อนประชุม พร้อมจะกลั่นกรองไอเดียที่ดีที่สุดออกมา

ตั้งค่าตัวเราเองไว้ที่ 85% ด้วย 

สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวหัวหน้าทีมหรือผู้จัดการก็ต้องตั้งมาตรฐาน 85% นี้ให้กับตัวเองด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างวิถีการทำงานและการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมทีมทางอ้อมด้วย ว่าไม่เป็นไรที่จะพักบ้าง และไม่จำเป็นต้องตึงมากไปกับการทำงานตลอดเวลา

หากหัวหน้าอยากจะเซตวิธีการทำงานแบบ 85% ให้กับทีม แต่ตัวเองยังส่งข้อความหาทีมตอนดึก หรือส่งอีเมลในวันหยุด ก็คงไม่สามารถทำให้ทั้งทีมเข้าใจและทำตามเป้าหมายนี้ได้ 

แปลและเรียบเรียงจาก : Harvard Business Review

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...