ทำไม Facebook อยู่ในช่วงขาลง ไม่ใช่องค์กรในฝันอีกต่อไป | Techsauce

ทำไม Facebook อยู่ในช่วงขาลง ไม่ใช่องค์กรในฝันอีกต่อไป

Facebook เป็นบริษัทที่ ‘เคย’ ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่ควรค่าแก่การทำงานด้วยมากที่สุดใน Silicon Valley เมื่อเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีบริษัทอื่นๆ แต่ปัจจุบัน Facebook กลับไม่ติด Top 40 บริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุดจาก Glassdoor ด้วยซ้ำ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ Facebook ไม่ใช่สถานที่ทำงานในฝันของใครหลายคนอีกต่อไป?

Facebook

เหตุผลเบื้องหลังการรีแบรนด์จาก Facebook สู่ Meta 

ย้อนกลับไปในปี 2018 Facebook มีเหตุการณ์อื้อฉาวเกิดขึ้นมากมาย เช่น ประเด็นที่ Facebook ทำข้อมูลผู้ใช้หลุดหลายสิบล้านบัญชี จนเกิดกระแส #DeleteFacebook ทำให้ Mark Zuckerberg เริ่มถูกตั้งคำถามถึงการบริหารงานที่บกพร่อง ภายใต้ข่าวร้ายนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชื่อเสียงของ Facebook ในฐานะบริษัทที่ทุกคนอยากทำงาน กลับเริ่มมีรอยร้าวขึ้น จนต่อมา Facebook ก็เริ่มตกอันดับมาอยู่อันดับที่ 7 ในปี 2019

อีกทั้งเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา Facebook ก็ถูก Frances Haugen อดีตพนักงานออกมาแฉว่าทางบริษัทให้ความสำคัญกับการทำกำไรมากกว่าให้ความสนใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ Haugen ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรีแบรนด์ของ Facebook ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อให้ความสำคัญกับการสร้าง Metaverse ว่าไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากปัญหาความปลอดภัยที่เป็นประเด็นอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ความพยายามของ Mark Zuckerberg ในการเบี่ยงเบนชื่อเสียงเรื่องความ Toxic ด้วยการรีแบรนด์ใหม่เป็น Meta จึงไม่สามารถหยุดความตกต่ำของบริษัทในการจัดอันดับบริษัทชั้นนำของ Glassdoor ได้ เนื่องจากผลการจัดอันดับสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดประจำปี 2022 โดย Glassdoor เผยว่า Facebook ตกมาอยู่อันดับที่ 47 ซึ่งตกลงมา 36 อันดับจากปีที่แล้ว (ปีที่แล้ว Facebook อยู่อันดับที่ 11) เรียกได้ว่าเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า Facebook ไม่ใช่สถานที่ทำงานในฝันของใครหลายๆ คนอีกต่อไป 

เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ Facebook ไม่ใช่บริษัทอันดับต้นๆ ในใจของใครหลายคน ไม่ได้มีแค่เรื่องข่าวฉาวข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน ปัญหาระหว่างกระบวนการสรรหาว่าจ้าง และการปรับลดสวัสดิการด้วย

วัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘ลัทธิ’

พนักงาน Facebook ได้ออกมาพูดถึงบรรยากาศการทำงานที่ Facebook ว่ารู้สึกกดดันในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องยกบริษัทให้สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต การต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้จัดการ และการบังคับให้ต้องแสดงถึงความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงานเพื่อความก้าวหน้า แต่รู้หรือไม่ว่าพนักงานไม่สามารถบ่นในที่ทำงานได้ เพราะแม้ว่าพนักงานจะมีความทุกข์มากแค่ไหน ก็ต้องทำเหมือนว่ารักบริษัทอยู่เสมอ ซึ่งพนักงานหลายคนเปรียบวัฒนธรรมการทำงานที่ Facebook ว่าคือ ‘Cult’ หรือ ‘ลัทธิ’ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

Top-Down Approach: อดีตพนักงานเล่าว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญของบริษัทมักจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจแค่เพียงจากผู้นำของบริษัทเท่านั้น และไม่ส่งเสริมให้พนักงานแสดงความคิดเห็นว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมปี 2017 มีพนักงานคนหนึ่งถาม David Fischer ซึ่งเป็นรองประธาน Facebook เกี่ยวกับโครงการของบริษัท แม้ว่าเขาจะตอบคำถามนั้น แต่ในภายหลังกลับมีสายตรงลงมาถึงผู้จัดการของพนักงานคนนั้นว่า Fischer โกรธ อดีตพนักงานหลายคนจึงรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมของบริษัทนี้ไม่ส่งเสริมให้แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา เพราะพวกเขาไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในที่ทำงานได้มากนัก 

Performance Review System: สาเหตุที่ทำให้บรรยากาศการทำงานที่ Facebook เป็นเหมือนลัทธิส่วนหนึ่งมาจาก ‘ระบบรีวิวผลงานของพนักงาน’ โดยทางบริษัทจะให้พนักงานได้รับรีวิวการทำงานจากเพื่อนร่วมงานห้าคนปีละสองครั้ง ระบบรีวิวนี้กดดันให้พนักงานต้องสร้างมิตรภาพกับเพื่อนร่วมงานในทุกโอกาส ตั้งแต่การไปทานข้าวกลางวันหรือไปสังสรรค์หลังเลิกงานด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นการสร้างมิตรภาพเพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเอง จะได้ไม่โดนรีวิวแย่ๆ เนื่องจากรีวิวนี้มีผลต่อการพิจารณาในเรื่องต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือน การเลื่อนขั้น แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับระบบนี้เพราะชีวิตยังมีอย่างอื่นให้ทำอีกเยอะ ไม่ใช่แค่ต้องมาเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงาน

Employee Grading: Facebook มีการประเมินพนักงานปีละสองครั้ง โดยมีวิธีการคือให้ผู้จัดการร่วมให้คะแนนกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งวิธีการประเมินนี้ก็จะมีช่องโหว่ตรงที่ผู้จัดการจะเชียร์พนักงานที่ตัวเองชื่นชอบ ส่วนพนักงานที่ไม่ชอบหรือผู้ที่เคยได้คะแนนในการประเมินไม่ดีมาก่อนก็อาจจะต้องตกกระป๋องต่อไป อีกทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงถูกไล่ออกจากบริษัทได้ตลอดด้วย

จะเห็นได้ว่า Facebook มีวัฒนธรรมที่พนักงานหลายคนเรียกว่า ‘ลัทธิ’ เพราะพนักงานไม่มีสิทธิ์มีเสียง กีดกันคนเห็นต่าง แถมยังมีการประเมินพนักงานที่ไม่เป็นธรรม วัฒนธรรมการทำงานแบบนี้จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในหมู่พนักงาน และทำให้เกิดการเล่นการเมืองในบริษัทจากระบบการประเมินมากขึ้น ดังนั้นวัฒนธรรมแบบลัทธิก็คงไม่ต่างอะไรจากการมีวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครหลายๆ คนลาออก

จากการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน MIT Sloan Management Review พบว่า บริษัทที่มีวัฒนธรรมที่เป็นพิษมีแนวโน้มที่จะทำให้พนักงานลาออกมากกว่าเรื่องเงินเดือนถึง 10.4 เท่า โดยวัฒนธรรมในที่ทำงานที่เป็นพิษหมายถึงการมีภาวะผู้นำที่ไม่เหมาะสม การเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และสภาพแวดล้อมแย่ๆ แม้ว่าค่าแรงจะสูงแค่ไหนก็ทำให้คนหลายล้านคนลาออกมานักต่อนัก 

อีกทั้งจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย Glassdoor ก็พบว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จะสามารถรักษาพนักงานแถวหน้าให้อยู่กับบริษัทได้นานกว่าการให้ค่าจ้างสูงถึง 12.4 เท่า ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้พนักงานลาออกคือ ความไม่มั่นคงในการทำงาน การรับมือต่อโควิดที่ไม่ดี และการขาดความสนใจไยดีต่อพนักงาน

โดนกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ

ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมามีการรายงานว่า Facebook ไม่รับผู้สมัครที่เป็นผิวสีด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่เหมาะกับวัฒนธรรม” แม้ว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้สมัครผิวสีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ต้องเจอกับเหตุการณ์นี้ 

พนักงานของ Facebook อย่าง Oscar Veneszee Jr. ซึ่งเป็นคนผิวสี จึงได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน (Equal Employment Opportunity Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สอบสวนการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน พร้อมกับผู้สมัครผิวสีอีกสองคนที่ Veneszee คัดเลือก แต่ Facebook ไม่ได้ว่าจ้าง 

Veneszee เชื่อว่า Facebook เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครงานและพนักงานผิวดำ อีกทั้งยังส่งเสริมการเหมารวมทางเชื้อชาติ นอกจากนี้ยังล้มเหลวในการสร้างวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดและรักษาคนผิวดำด้วย การร้องเรียนนี้ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ความหลากหลายของ Facebook ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2018 โดย Mark Luckie ผู้จัดการฝ่ายหุ้นส่วนของ Facebook กล่าวก่อนลาออกอย่างเป็นทางการว่า ภายในตึกบริษัทมีป้าย Black Lives Matter เยอะกว่าคนผิวสีที่ทำงานที่ Facebook จริงๆ ดังนั้น Facebook ไม่ควรเคลมว่าตัวเองเป็นบริษัทที่เชื่อมต่อชุมชน หากไม่ได้แสดงให้เห็นในกระบวนการรับสมัครงานจริงๆ

ปรับลดสวัสดิการท่ามกลางกระแส Great Resignation

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน เพราะเป็นช่วงที่มีทั้งความเครียดและความวิตกกังวลในหลายๆ เรื่อง อัตราเงินเฟ้อก็สูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างสูงขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดข่าวร้ายครั้งใหม่กับพนักงาน Facebook เพราะบริษัทเทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อเรื่องสวัสดิการอย่าง Facebook มีแผนให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่การกลับไปทำงานครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากเดิม 

เพราะ Facebook ยกเลิกสวัสดิการซักผ้า-อบผ้าฟรี และปรับเวลาอาหารเย็นที่จากเดิมมีให้เวลา 18.00 น. ก็เลื่อนออกไปเป็นเวลา 18.30 น. และไม่มีกล่องให้ใส่กลับไปทานที่บ้าน แต่รถ Shuttle bus ที่คอยรับส่งพนักงานหมดช่วง 18.00 น. ทำให้พนักงานที่ต้องกลับบ้านโดยรถ Shuttle bus ไม่สามารถนำอาหารกลับไปรับประทานที่บ้านได้ และไม่สามารถนำอาหารไปตุนไว้ที่บ้านได้อย่างที่เคย การยกเลิกสวัสดิการครั้งนี้ทำให้พนักงานหลายคนไม่พอใจ และทวงถามว่าจะมีสวัสดิการอื่นๆ มาชดเชยในรูปแบบใดบ้าง

เมื่อพูดถึงการกลับไปทำงานในออฟฟิศคงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปัจจุบันหลายบริษัทต่างก็มีแผนให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่หากจะผลักดันเรื่องนี้ก็ต้องมีการวางแผนเรื่องการรักษาพนักงานไว้ให้ดี เพราะหลายบริษัทต่างก็ต้องแย่งชิงผู้มีความสามารถในช่วง Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ที่พนักงานผู้มีความสามารถมีโอกาสเลือกงานมากกว่าที่เคย ดังนั้นเรื่องสวัสดิการในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันสิ่งที่พนักงานต้องการมากที่สุดคือความยืดหยุ่นและสวัสดิการที่จะทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋าลงไปได้ การที่ Facebook ปรับลดสวัสดิการประหยัดเงินในกระเป๋าของพนักงาน เช่น การยกเลิกบริการซัก-รีดฟรี การปรับเวลาอาหารเย็น จึงทำให้พนักงานหลายคนเริ่มรู้สึกว่าความมั่นคงที่มีอยู่ถูกสั่นคลอน เนื่องจากต้องมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับลดสวัสดิการนี้

Facebook มีปัญหาและข่าวเสียๆ หายๆ ที่สะสมหลายอย่างมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่กระบวนการสรรหาที่มีการกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี การมีวัฒนธรรมที่เป็นเหมือนลัทธิที่ต้องบูชาตลอดเวลา ไปจนถึงการปรับลดสวัสดิการในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีคู่แข่งที่เข้ามาใหม่อย่าง TikTok ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงอนาคตระยะยาวของรูปแบบธุรกิจโฆษณาของบริษัท จนปัจจุบันมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ของ Facebook ลดลง ทำให้พนักงานบางคนเริ่มคิดว่า ‘ควรหางานใหม่หรือไม่’ เพราะเริ่มเล็งเห็นว่า Facebook กำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Facebook จึงเริ่มไม่ใช่บริษัทในฝันของใครหลายคนอีกต่อไป

อ้างอิง enterprise, thestreet, cnbc, nytimes, inc.com, businessinsider, fastcompany, forbes, theverge

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

True เดินหน้าปั้นผู้นำรุ่นใหม่ 'True Next Gen' ตั้งเป้าเป็น Telco-Tech ชั้นนำในภูมิภาค สู่ Automation 100%

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยเชื่อมั่นศักยภาพของ 'คนรุ่นใหม่' ร่วมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telecom Tech Company ชั้นนำแห่งภูมิภาค พร้อมปรับการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ 100% ปี 2570...

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...