บทความต้นฉบับโดย KELLY MANTHEY - FASTCOMPANY
สิ่งหนึ่งที่ผู้นำด้านธุรกิจส่วนใหญ่มีเหมือนกันคือการเข้าใจว่า “ต้องก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา” โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยเร่ง ทำให้ทุกอย่างดูเร็วไปหมด หากอยู่กับที่โดยไม่ก้าวไปไหนก็อาจทำให้รู้สึกว่าเราตามไม่ทันหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
แต่‘การก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ’ และ ‘การวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตลอดเวลา’ นั้นต่างกัน บางครั้งผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะชะลอและแตะเบรคบ้างเพื่อดูว่าเรากำลังจะเจอกับอะไรข้างหน้าหรือมีอะไรตามหลังเรามา เราจะได้มองเห็นเส้นทางที่เราสามารถซิ่งได้แบบเต็มที่ ทำให้เราไปได้เร็วมากกว่าเดิม
ถ้าเปรียบเทียบเป็นการทำงานแบบเป็นทีม จะมีคนอยู่ประเภทนึงที่ทำงานตลอดเวลา วิ่งไปข้างหน้าตลอดเวลา ขับเคลื่อนองค์กรอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว และเขาก็จะเชื่อใจว่าหัวหน้าหรือผู้นำจะเป็นคนคอยเบรคและคอยเร่งตามช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เหมือนกับที่ผู้นำเชื่อใจและปล่อยให้เขาขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เพราะบางครั้งเราก็ต้องแตะเบรคเพื่อมาประชุมปรับกลยุทธ์สำหรับการไปต่อให้เร็วขึ้นและดีกว่าเดิม
การที่ผู้นำต้องรู้จักช้าลงบ้างเพื่อที่จะไปได้เร็วขึ้น (slow-down-to-speed-up) นั้นไม่ใช่หลักการที่แปลกใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณานำมาใช้ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน การที่ผู้นำแบ่งเวลาเพื่อมาดูกลยุทธ์ในการดำเนินงานอีกรอบนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ
ในขณะที่ธุรกิจมีการเติบโต สิ่งที่มาพร้อมกันคือคำถามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เราจะขยายธุรกิจยังไง? ต้องโฟกัสที่เรื่องไหนก่อนดี? เราควรลงทุนในเรื่องไหนบ้าง? และคำถามอื่นๆ ที่กำลังจะผุดมาเรื่อยๆ ทำให้การตัดสินใจว่าอะไรควรไม่ควรนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะมีโอกาสและความเป็นไปได้หลายทาง ยิ่งช่วงที่เติบโตดีๆ เราก็จะรู้สึกตื่นเต้นและอยากลองนู่นลองนี่ไปหมด
เพราะฉะนั้นการคิดแบบ slow-down-to-speed-up จึงเป็นวิธีที่เหมาะมากสำหรับการตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท
สิ่งสำคัญที่สุดคือความชัดเจนในสิ่งที่เราจะเลือก และการใช้วิธีการเดิมซ้ำๆ เพื่อทดสอบและเรียนรู้อย่างรอบคอบที่สุดทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจจะไม่เห็น นำไปสู่การเจอเส้นทางหรือวิธีการที่จะทำให้เราไปได้เร็วมากกว่าเดิม ถึงแม้ว่าการทำแบบนี้จะดูเหมือนว่าเราช้ากว่าคนอื่นเพียงชั่วคราวก็ตาม
ทีนี้เราก็จะไปได้เร็วกว่าเดิม มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น ถือว่าเป็นการ ‘แตะเบรคเพื่อมองการณ์ไกล’ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อบริษัท
ผู้นำที่ตื่นตัวและดูขยันตลอดเวลาแต่กลับไร้ความรอบคอบมีแต่จะส่งผลเสียให้กับคนในทีม เพราะการเห็นผู้นำแบบ active ตลอดเวลา จะทำให้ผู้ตามรู้สึกเหนื่อย รู้สึกว่าทุกอย่างดูสำคัญไปหมดและต้องโฟกัสทุกอย่างพร้อมๆ กัน
ดังนั้นการเป็นผู้นำที่ตื่นตัวแต่รอบคอบและรู้ว่าควรโฟกัสที่ตรงไหน ขยันให้ถูกจุด จะทำให้ทีมไม่รู้สึกตึงเครียดจนเกินไป เพราะเชื่อใจว่าผู้นำจะรู้ว่าอะไรควรเลี่ยงและอะไรที่ควรทำ ดังคำกล่าวที่ว่า “ขยันผิดที่สิบปีก็ไม่รวย”
การทำงานแบบไม่รู้ว่าอะไรคือเป้าหมายในระยะยาวเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนในทีมเพราะพวกเขาจะรู้แต่เป้าหมายระยะสั้น ทำให้เตรียมตัวล่วงหน้าได้ยากสำหรับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เปรียบเหมือนการขับรถแบบดู GPS คือเราขับไปเรื่อยๆ ตามที่ GPS บอกแต่เราไม่ได้รู้เส้นทางในภาพรวมว่าถนนเส้นไหนควรไปหรือไม่ควรไป จะคำนวนเวลารถติดอะไรยังไง มันดูยากไปหมดเพราะเราไม่ได้เห็นภาพใหญ่ในการทำงาน
เพราะฉะนั้นถ้าเราสื่อสารกับคนในทีมถึงเป้าหมายที่มีร่วมกันเพื่อที่จะเตรียมเดินหน้าแบบเต็มกำลังจะทำให้ทีมทำงานง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนในทีมได้ใช้ประสบการณ์ที่มีเพื่อช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ทุกคนจะตามทันกันและกันและไปได้พร้อมกันเพราะทุกคนมีความมั่นใจที่ถูกส่งทอดมากจากผู้นำของพวกเขาว่ากำลังไปในทิศทางที่ถูก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด