เปลี่ยนมุมมอง ยืดหยุ่นบ้าง พาองค์กรประสบความสำเร็จ ด้วย Flexible working hours เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น | Techsauce

เปลี่ยนมุมมอง ยืดหยุ่นบ้าง พาองค์กรประสบความสำเร็จ ด้วย Flexible working hours เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น

เคยไหม ? ตื่นแต่เช้าไปทำงาน เจอรถติดเป็นชั่วโมง ไปถึงบริษัทพลังก็หมดแล้ว คิดงานไม่ออกหัวไม่แล่น สุดท้ายงานก็ไม่เสร็จ ถ้าคุณหรือคนในทีมของคุณกำลังเจอปัญหานี้อยู่ ทำไมไม่ลองทำความรู้จักและปรับใช้ Flexible working hours หรือการยืดหยุ่นเวลาการทำงานดูหละ

ปี 66 คนไทยเครียดงานจัด

ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับ ‘ความเครียด’ โผล่ขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวันจนเหมือนเป็นเรื่องปกติของสังคมกันไปแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกถึงต้นตอจะพบว่า ส่วนใหญ่ล้วนมีสาเหตุมาจากการทำงาน

เมื่อเดือนมกราคม สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เปิดเผยข้อมูลว่า มีคนอายุ 20-59 ปี โทรมาปรึกษาความเครียดเพราะไม่มีความสุขกับการทำงานเกือบ 6,000 สาย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมดกว่า 8,000 สาย

สถิติดังกล่าวสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า คนไทยเครียดกับการทำงานมากจนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและอาจเห็นวิธีแก้มาแล้วมากมาย

ในบทความนี้ เราจึงอยากเสนอ “Flexible working hours” เป็นอีกหนึ่งทางแก้ที่ไม่เพียงแต่ลดความเครียดจากพนักงาน แต่ยังช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อีกด้วย

แน่นอนว่าการทำงานตรงตามเวลาที่องค์กรกำหนดถือเป็นการทำงานที่มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ …แต่จะดีกว่าไหม ?  ถ้าผู้ทำงานได้มีส่วนกำหนดเวลาด้วย

Flexible working hours ตอบโจทย์ยังไง 

แล้ว Flexible working hours คืออะไร ? แปลง่าย ๆ เลยคือ เวลาทํางานที่ยืดหยุ่น …แต่ไม่ได้หมายถึงไม่เข้าทำงานเลย หรือส่งงานช้าได้ตามอำเภอใจล่ะ

Flexible working hours คือ การให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง โดยพนักงานอาจเข้าออกออฟฟิศเร็วกว่าหรือช้ากว่าเวลาที่กําหนดไว้ได้ แต่ต้องทำงานให้ครบชั่วโมงตามที่องค์กรกำหนด

ส่องบริษัทต้นแบบ Flexible working hours

Google

บริษัท Google ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เข้าใจความต้องการพนักงาน ได้นำรูปแบบการทำงานแบบ Flexible hours มากระตุ้นให้พนักงานสร้างสรรค์ผลงานได้เต็มประสิทธิภาพ

นโยบายหลัก ๆ ที่ใช้คือ พนักงานสามารถกำหนดวันหรือสัปดาห์ที่จะงดประชุมได้เพื่อสร้าง Work-life balance  และมี Reset Day หรือวันที่ให้พนักงานเลือกหยุดพักผ่อน  นอกจากนี้ Google ยังสร้างฟีเจอร์ที่เรียกว่า Focus Time ใน Google Calendar โดยสมาชิกในทีมสามารถตั้งฟีเจอร์นี้ตัดแจ้งเตือนทั้งหมด เพื่อโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า หากมีสายโทรประชุมเข้ามาก็จะปฏิเสธไปโดยอัตโนมัติ

Google จึงติดอันดับหนึ่ง บริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุด จาก Fortune ถึง 8 ครั้งในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา และยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเทค ฯ ที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีที่สุด โดยได้คะแนนรีวิวจากเว็บไซต์ Glassdoor ไปถึง 4.4

Apple

ในหนึ่งสัปดาห์ พนักงานจะต้องไม่ทํางานติดต่อกันเกิน 5 วัน ยกเว้นช่วงระหว่างการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมปรับชั่วโมงทำงานขั้นต่ำเป็น 10 ชม. จากเดิม 12 ชม. โดยพนักงานสามารถทำงานเลย 6 โมงเย็นได้แค่ 3 วันต่อสัปดาห์

จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จต่างสร้างนโยบายเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น นั่นแปลว่าข้อดีของ Flexible working hours ไม่ได้มีแค่สำหรับพนักงาน แต่ยังส่งผลดีกับองค์กรอีกด้วย

รวมข้อดีสำหรับองค์กร

ดึงดูดคนรุ่นใหม่

สมาคมวิชาชีพด้านทรัพยากรบุคคล (SHRM) ชี้ พนักงานกว่า 55% กล่าวว่า Work life balance และความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นปัจจัยสําคัญที่ทำให้ชอบงานที่ทำ

แน่นอนว่าสมัยนี้ใคร ๆ ก็ชอบทำงานที่ที่ยืดหยุ่นไม่ตึงเครียดจนเกินไป การที่องค์กรมีนโยบายนี้จะสร้างภาพลักษณ์บริษัทให้ดูทันสมัยและเป็นกันเอง ช่วยดึงดูดพนักงานใหม่ ๆ ที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมทำงาน

อีกทั้งหากสร้างความประทับใจแก่พนักงานปัจจุบันได้ โอกาสที่พวกเขาจะไปหางานที่อื่นทำก็ลดน้อยลงเช่นกัน

จากผลการสำรวจประจำปี 2562 ของ FlexJobs  ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 30% ออกจากงานเพราะบริษัทไม่มีข้อเสนอการทํางานที่ยืดหยุ่น และ 80% ยอมรับว่าตนจะภักดีต่อนายจ้างมากขึ้นหากพวกเขามีข้อเสนอดังกล่าว

กระตุ้นคุณภาพพนักงาน

รายงานจาก FlexJobs เผย ผู้คนกว่าร้อยละ 97 เห็นด้วยว่างานที่ยืดหยุ่นสร้างผลดีกับคุณภาพชีวิต

มนุษย์เราแตกต่างกัน ไลฟสไตล์การทำงานของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน บางคนอาจสมองแล่นตอนดึก บางคนสมองรับได้ติดต่อกันไม่เกิน 4 ชม. เป็นต้น การหวังให้พนักงานทำงานตามเวลาที่กำหนดไว้เป๊ะ ๆ อาจสร้างความตึงเครียดจนพนักงานเกิดภาวะ Burnout และใช้เวลาไปกับการส่องนาฬิกา นับถอยหลังมากกว่าการทํางานจริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกเช้าวันธรรมดา ถนนประเทศไทยเนืองแน่นไปด้วยรถและมนุษย์ทำงาน หากพนักงานสามารถกะเวลาเข้าออฟฟิศใหม่เพื่อเลี่ยงชั่วโมงรถติดได้ก็จะไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องไปสาย และใช้ช่วงเวลาทำงานที่เลือกไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ลดต้นทุน

องค์กรย่อมมีค่าใช้จ่ายเมื่อพนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศเป็นเวลานาน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในออฟฟิศ แต่หากมีนโยบายเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานอาจทำงานภายในออฟฟิศเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ทางองค์กรจะสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้มาก

องค์กรไทยกับเส้นทางสู่ Flexible working hours 

ในปัจจุบันองค์กรไทยที่มีนโยบายเวลาทำงานยืดหยุ่นยังมีไม่มากนัก ดังนั้นหากทุกคนอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วสนใจ อยากนำไปปรับใช้กับบริษัทหรือธุรกิจของตน เราได้รวบรวมแนวทางการนำ Flexible working hours มาปรับใช้กับองค์กรไทยไว้ให้ในหัวข้อนี้แล้ว

เนื่องจากคำว่า Flexible แปลว่า ‘ความยืดหยุ่น’ การทำงานแบบ Flexible working hours จึงไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เพียงแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพึงพอใจร่วมกันระหว่างฝ่ายองค์กรและฝ่ายพนักงาน หรือ win-win กันทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

Flexi time

เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยม เนื่องจากไม่บังคับเวลาเข้า-ออกทำงาน แต่วิธีนี้จะไปกำหนดในส่วนของระยะเวลาในการทำงานแต่ละวันแทน ซึ่งหมายความว่าพนักงานจะเข้าออกเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องมีชั่วโมงทำงานครบตามที่องค์กรกำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น

บริษัทนึงกำหนดให้ทำงาน 8 ชม./วัน พนักงานสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะกับตัวเองได้

  • Early bird มนุษย์ตื่นเช้า ไปเร็วกลับเร็ว เลี่ยงรถติด อาจเลือกช่วง 7.00 – 15.00 น. 
  • Night owl มนุษย์ค่ำคืน สมองแล่นตอนดึก ขี้เกียจตื่น อาจเลือกช่วง 10.00 – 18.00 น.

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจต้องระวังเรื่องการบริหารคนในทีม เพราะเมื่อแต่ละคนมีเวลาเข้าออกเป็นของตัวเอง การนัดประชุมหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ  พร้อมกันจะเป็นเรื่องยาก และถ้าช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งขาดพนักงานก็จะเกิดความล่าช้าซึ่งส่งผลเสียต่อบริษัท

ลดวันงานต่อสัปดาห์ (Condensed workweeks)

การปรับวันทำงานในแต่ละสัปดาห์ให้น้อยลง เช่น จากปกติทำงาน 5 วัน/สัปดาห์เปลี่ยนเป็นทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ทำให้พนักงานมีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน ทั้งนี้ วิธีนี้อาจต้องระวังไม่ให้ชั่วโมงการทำงานของพนักงานทั้งหมดยาวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ลดวันงานต่อปี (Annualized hours)

รูปแบบที่โฟกัสชั่วโมงการทำงานต่อปี โดยกำหนดข้อตกลงกับพนักงานว่าต้องทำงานขั้นต่ำกี่ชั่วโมงภายในหนึ่งปี ซึ่งหมายความว่าพนักงานสามารถวางแผนล่วงหน้าเวลาเอาเองได้ว่าจะทำงานตอนไหน จะหยุดพักร้อนยาวแค่ไหน เพียงแค่ทำงานให้ครบชั่วโมงที่กำหนดในหนึ่งปี แต่วิธีนี้อาจเหมาะกับองค์กรที่เปิด ให้บริการทุกวัน หรือทำงานตลอดทั้งปีมากกว่า

การใช้วิธีนี้ องค์กรอาจต้องคอยรักษาการติดต่อกับพนักงานในกรณีที่พนักงานไม่มาทำงานเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้ขาด engagement ต่อกัน

Term-time working

นับเป็นวิธีที่มีความยืดหยุ่นมาก เนื่องจากพนักงานสามารถกำหนดวันเวลาที่จะเข้ามาทำงานหรือไม่มาทำงานได้โดยต้องแจ้งล่วงหน้าให้เป็นแบบแผน ในวันที่ไม่เข้ามาทำงานก็จะไม่มีค่าจ้างให้ วิธีนี้จะเหมาะกับพนักงานที่ยังเรียนอยู่หรือวางแผนจะเรียนต่อ 

อ้างอิง : inside.6q , abilityoptions , vantagecircle , bangkokbanksme , cio , flexjobs 

viewsonic , croner 

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 วิธีเสริมแกร่งองค์กร เตรียมพร้อมสู่ยุคคนทำงานร่วมกับ AI สร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืน

การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างเหมาะสม ด้วย 4 ว...

Responsive image

"Founder Mode" วิถีแห่งผู้นำยุคใหม่หรือแค่ One-Man Show ที่กำลังจะล้าสมัย?

Silicon Valley ดินแดนแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ซึ่งไอเดียใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ท่ามกลางกระแสแห่งความคิดสร้างสรรค์นี้เอง กลับมีคำศัพท์ใหม่ที่จุดประกายความขัดแย้งขึ้น นั่นค...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...