สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค แนะ 5 ข้อเสนอด่วนต่อที่ประชุม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ - ความยั่งยืน | Techsauce

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค แนะ 5 ข้อเสนอด่วนต่อที่ประชุม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ - ความยั่งยืน

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council - ABAC) เผยข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26 - 29 กรกฎาคม 2565 เพื่อรวบรวมส่งมอบแก่การประชุมเอเปคปลายปี โดยยกข้อเสนอเร่งด่วน 5 ประการ มุ่งเป้า “การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว” อันเกิดจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของการระบาดใหญ่ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก 

ABAC

การร่วมตัวของผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา (ประเทศสิงคโปร์ และประเทศแคนาดา ตามลำดับ) โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 5 กลุ่ม* ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก เพื่อเตรียมนำข้อสรุปส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

 “คณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่า เราจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปค มาร่วมบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนระบบการค้าตามกฎสากล และเร่งให้เกิด FTAAP (เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเรายังต้องการให้เอเปคส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวและการเติบโต ผ่านการสนับสนุนกลุ่ม MSMEs โดยเฉพาะในธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ และธุรกิจของคนท้องถิ่น และการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าว

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้ยกวาระเร่งด่วน 5 ประการ อันเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลยุทธ์หลักของคณะทำงาน เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันได้แก่

1. Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ
 
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2. Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์

แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน  

3. MSME and Inclusiveness – การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs

ด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

4. Sustainability - ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น

ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบครั้งประวัติศาสตร์จากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการ ‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

5. Finance and Economics – การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต

คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวเสริมถึงประเด็นการยกระดับความเข้มข้นในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารที่นำเทคโนโลยีและ BCG มาปรับใช้ไว้ว่า “ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคยังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่า ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญ ในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปคเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต” ดร.พจน์กล่าว 

สำหรับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นายกอบศักดิ์ ดวงดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย เผยว่า “เรามีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตให้กับภูมิภาคของเรา ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค”

การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งที่ 3 ได้ปิดท้ายลงอย่างงดงาม ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเอเชียแปซิฟิก สู่ความมั่งคั่ง เติบโต และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันอย่างยั่งยืน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวปิดท้ายไว้ว่า “เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค ด้วยมาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุประดับ และเราเชื่อมั่นว่า จะเป็นแนวทางในการช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนต่อไป”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...