สภาดิจิทัลฯ เผย 5 แนวทางผลักดันประเทศไทย มุ่งสู่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับหนึ่งในอาเซียน | Techsauce

สภาดิจิทัลฯ เผย 5 แนวทางผลักดันประเทศไทย มุ่งสู่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับหนึ่งในอาเซียน

สภาดิจิทัลฯ ประกาศความสำเร็จ ผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันของไทยพุ่งขึ้น 5 อันดับ ครองอันดับที่ 25 ในการจัดอันดับ IMD World Competitiveness Ranking 2024 พร้อมเผย 5 แนวทางพลิกโฉมดิจิทัลไทย สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับ 1 ของอาเซียน 

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (Digital Council of Thailand, DCT) ประกาศความสำเร็จในการร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 25 ของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ อีกทั้งยังแซงหน้าประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ

4 แรงหนุน เพิ่มความสามารถการแข่งขัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นมาจาก 4 ด้าน ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีส่วนร่วมในการพัฒนา  ได้แก่ 

1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีส่วนผลักดันในด้านการลงทุนระหว่างประเทศ โดยผลักดันเรื่องมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ตอัป (Capital Gains Tax) การร่วมลงทุนจากภาครัฐ (Matching Fund) กิจกรรมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ (Investor Road Show) เป็นต้น 

2. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) สภาดิจิทัลฯ ร่วมผลักดันแนวปฏิบัติด้านการจัดการ เช่น โครงการ DCT Startup Connect และบริการช่วยเหลือสตาร์ตอัป (Startup Clinic) เป็นต้น 

3. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 

4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สภาดิจิทัลฯ ร่วมผลักดันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Upskill/Reskill) การร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ระบบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) การประยุกต์ใช้ 5G (5G Use Case) ศูนย์นวัตกรรม (Center of Excellence) การร่วมลงทุนจากภาครัฐ (Matching Fund) และ ความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) ด้านการศึกษา เช่น การสนับสนุนโครงการ Thailand Plus Package รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดหาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป 1.6 ล้านเครื่องสำหรับนักเรียน เป็นต้น

ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับ ภาคเอกชน  ภาครัฐ และ ภาคประชาชน เพื่อพัฒนาธุรกิจดิจิทัล ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ระดับสากล โดยตระหนักดีว่าการส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยซึ่งได้มีการดำเนินการผ่านพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ มาโดยตลอด

“งานเวิร์กช็อปครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระดมความคิด (Brainstorm) แนวทางพลิกโฉมไทย สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายคือ นำเสนอแนวทางต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมายร่วมกัน และขับเคลื่อนพันธกิจของคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯ ชุดที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรม” ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว

เปิด 5 แนวทางหลัก ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า การขยับอันดับความสามารถการแข่งขันครั้งนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมถึงสภาดิจิทัลฯ ในการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยต่อไป เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ทั้งนี้ นโยบายสำคัญที่สภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมผลักดันมี 6 ด้าน นั่นคือ 1. การลงทุนระหว่างประเทศ 2. การจ้างงาน 3. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 4. การศึกษา 5. แนวปฏิบัติด้านการจัดการ 6. ตลาดแรงงาน

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตา

จากการเวิร์กช็อปภายใต้พันธกิจและคณะทำงานของสภาดิจิทัลฯ ผู้ประกอบการ นักลงทุน และสตาร์ตอัป ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน 5 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย สู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล 5 ด้าน คือ 1. ด้านกำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) 2. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 3. ด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค (Regional Innovation Hub) 4. ด้านดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน (Digital Sustainability) และ 5. ด้านวัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) เพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลสสู่ระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ชี้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ Digital Transformation โดยเฉพาะการมาถึงของ Generative AI ที่กระตุ้นให้ภาคแรงงานในหลายอุตสาหกรรมเร่งปรับตัว Deglobalization การแบ่งขั้วความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก ส่งผลให้นานาประเทศหันกลับมาพึ่งพาตนเองและประเทศในระดับภูมิภาคมากขึ้น และ Decarbonization การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนและรับมือกับวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศ ผ่านการผลักดันเชิงนโยบายและกฎหมายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหา Digital Divide จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องรับมือ เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีทั่วถึง (Inclusiveness) รวมถึงสร้างแรงงานทักษะในประเทศ (Local Talents) ที่พร้อมเรียนรู้ รองรับงานใหม่และการลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกด้าน จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนมาตรฐานและตัวชี้วัดดิจิทัล (Digital Index and Standard) ในระดับประเทศที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับ นโยบายสาธารณะและการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หรือ PPP Partnership (Public Policy & Public Private People Partnership) ในการผลักดันนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ (Digital Economy) ทั้งนี้ อนาคตของประเทศไทยบนเวทีเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลกเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ (Regional Innovation Hub)


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อดีตซีอีโอ Nissan เตือน การควบรวมกิจการกับ Honda อาจทำให้เจอ 'ปัญหา' การลดต้นทุนครั้งใหญ่

Carlos Ghosn อดีตซีอีโอของ Nissan ออกมาเตือนว่า บริษัทอาจต้องเผชิญกับ "หายนะ" จากการลดต้นทุนครั้งใหญ่ หากตัดสินใจควบรวมกิจการกับ Honda โดยเขาให้เหตุผลว่า ทั้งสองบริษัทมีความซ้ำซ้อน...

Responsive image

เชื่อหมอมากกว่า TikTok ? วิจัยชี้ คำแนะนำทางการแพทย์เกือบครึ่ง 'มั่ว'

Tebra บริษัทวิจัยด้านสุขภาพ ได้ทำการวิเคราะห์วิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok กว่า 5,000 รายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำแนะนำทางการแพทย์ เพื่อทำการประเมินความถูกต้องของ ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เ...

Responsive image

Zoom เผย 10 เทรนด์ AI ในการทำงาน ที่ต้องจับตา ปี 2025

ในปี 2568 บริษัทซูม วิดีโอคอมมิวนิเคชันส์ (Zoom) มองว่าเทคโนโลยี AI อาจเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในหลายๆด้าน บริษัทที่ใช้ AI เป็นหลัก จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน สร้างประสบการ...