หลังมีข่าวออกมาว่ารัฐสภายุโรป มีการเสนอให้ แบนคริปโต ที่ใช้ Proof-of-Work ล่าสุดเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรปมีการลงมติเพื่อออกร่างกฎหมาย Markets in Crypto Assets (MiCA) ซึ่งเป็นกรอบการกำกับดูแลและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ โดยมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคริปโต การคุ้มครองผู้บริโภคจากการบิดเบือนตลาดและอาชญากรรมทางการเงิน และการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน
บทบัญญัติหนึ่งใน MiCA ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาในสัปดาห์ก่อน และเป็นถูกจับตามองเป็นอย่างมากคือการพยายามจำกัด (แบน) การใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ใช้รูปแบบ Proof-of-Work (PoW) เช่น Bitcoin เนื่องจากเป็นกระบวนการประมวลผลที่ใช้พลังงานจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานอาจถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะมากกว่าที่จะใช้เพื่อส่วนรวม โดยก็ตามบทบัญญัติประเด็นนี้มีมติปฏิเสธ 30-23 และอีก 6 คนงดออกเสียง แต่จะร่างกฎเกณฑ์เพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมแทน
ทั้งนี้ตัวร่างกฎหมาย Mica ได้รับการรับรองด้วยมติ 31 ต่อ 4 และงดออกเสียง 23 เสียง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้ใช้และสนับสนุนการพัฒนาบริการดิจิทัลและเครื่องมือการชำระเงินทางเลือก ซึ่งหลังจากการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาร่าง MiCA จะย้ายไปที่ "ไตรภาคี" ซึ่งเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปสภาและรัฐสภา
อย่างไรก็ตามทางฝั่งของนักพัฒนาและผู้ใช้งานในวงการคริปโตก็ตั้งข้อสังเกตว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถกำหนดหรือเลือกปฏิบัติเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งได้หรือไม่ พวกเขามองว่าบุคคลและองค์กรควรมีอิสระในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของพวกเขา
อนึ่ง Proof-of-Work (PoW) คือ อัลกอริธึมที่อยู่บนรากฐานของ Blockchain เป็นหนึ่งในประเภทของ Consensus Mechanism แบบกระจายอำนาจ (Decentralized) ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมซ้ำกันมากกว่าหนึ่งครั้งในเหรียญเดียวกันจากคนเดียวกัน (Double-Spending) เพราะก็จะส่งผลทำให้สกุลเงินดิจิทัลด้อยค่าลงไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถประมวลผลแบบ peer-to-peer ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้บุคคลที่สาม อย่างไรก็ตามในการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดกับระบบจำเป็นต้องใช้สมาชิกในเครือข่ายมาแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ หรือตรวจสอบธุรกรรมด้วยการ ‘ขุด’ ซึ่งใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง: coindesk, News European Parliament, euronews
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด