กรณีโดน "ใบสั่ง" หรือ ทำผิดกฎจราจรและไม่มาชำระค่าปรับ บช.น. หาแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปคือ เมื่อพบผู้กระทำผิดจะออกใบสั่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ การเขียนใบสั่งเล่ม, ใบสั่งจากภาพกล้องวงจรปิดส่งไปทางไปรษณีย์ และใบสั่งจากเครื่อง E-TICKET
เมื่อออกใบสั่งไปแล้ว แต่ผู้กระทำผิดไม่มาชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง หลังจากนั้นหากยังไม่ชำระค่าปรับอีก จะมีการแจ้งความดำเนินคดี และออกหมายเรียกไปยังผู้กระทำความผิด 2 ครั้ง หากไม่มาจ่ายอีก จะเสนอศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับ
ทั้งนี้ ใบสั่งออนไลน์ จากกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรแล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาการจราจร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีวินัยจราจร ลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ในระดับหนึ่ง
1.เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้า และความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2.กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง
โดยให้ถือว่าเจ้าของ/ผู้ครอบครอง ได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของธนาคารกรุงไทย, เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์
3.กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ
4.กรณีถูกออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ที่ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2 ได้
ปัจจุบัน ประชาชนสามารถ ตรวจสอบใบสั่งจราจรที่ได้รับมาผ่านเว็บไซต์ ptm.police.go.th ซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์ ptm.police.go.th/eTicket จากนั้นเลือกเมนู ลงทะเบียนใช้งาน
2. กรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนและเลขหลังบัตรหรือ Laser ID จากนั้นคลิกปุ่ม ถัดไป
3. เลือกรูปแบบข้อมูลที่ต้องการใช้ลงทะเบียน ข้อมูลรถที่ครอบครองหรือใช้ข้อมูลใบขับขี่ โดยจะเลือกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นกด ถัดไป
4. กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มให้ครบถ้วน จากนั้นคลิก ถัดไป
5. ระบบจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่ได้กรอกไว้ ทำการตรวจสอบความถูก แล้วกรอกอีเมลเพื่อใช้ในการลงทะเบียน กดถัดไป
6. ตรวจสอบอีเมลที่ใช้ยืนยัน นำรหัส OTP จำนวน 6 หลักที่ทางระบบส่งไปยังอีเมลมาใช้เพื่อยืนยันการสมัคร
7. ตั้งรหัสผ่าน และ ยืนยันรหัสสผ่านอีกครั้ง เสร็จแล้วคลิก ลงทะเบียน เป็นอันเสร็จสิ้นสามารถ Login เข้าใช้งานได้เลย
8.ทำการ Login ด้วยเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่านที่ตั้งไว้ จากนั้นเลือกช่วงเวลาที่ต้องการตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ กรอก ทะเบียนรถ เลขที่ใบสั่ง กดค้นหาหากมีใบสั่งขึ้นมาในระบบแสดงว่ามีใบสั่งค้างชำระ แต่หากไม่มีการค้างชำระ ระบบจะแจ้งว่าไม่พบข้อมูลใบสั่งในระบบ
สามารถจำหน่ายได้ที่ สถานีตำรวจ, ธนาคารกรุงไทย, ไปรษณีย์ไทย หรือตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยและตู้บุญเติม สามารถชำระค่าปรับได้เลย หรือ ชำระผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน KrungThai NEXT
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด