กลุ่มไทยพาณิชย์ นำยานแม่ SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์ ประกาศทำเทนเดอร์แลกหุ้น SCB เป็น SCBX เริ่มวันที่ 2 มี.ค.นี้ | Techsauce

กลุ่มไทยพาณิชย์ นำยานแม่ SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์ ประกาศทำเทนเดอร์แลกหุ้น SCB เป็น SCBX เริ่มวันที่ 2 มี.ค.นี้

กลุ่มไทยพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินและโครงสร้างการถือหุ้น มุ่งสร้างการเติบโตและมูลค่าในระยะยาว รับบริบทโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” (SCBX) ประกาศทำคำเสนอซื้อ หรือ Tender Offer หุ้นทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กับผู้ถือหุ้นของSCB เพื่อแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของ SCBX ในอัตราการแลกหลักทรัพย์เท่ากับ 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX โดยจะเริ่มกระบวนการแลกหุ้นได้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 เพื่อเตรียมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดในวันเดียวกัน

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของธนาคารฯ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ได้มาถึงกระบวนการแลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” เป็น “SCBx” และนำหุ้น “SCBx” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์ เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินที่มีศักยภาพสูง และธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งยกระดับองค์กรสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนและแข็งแรงให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปในระยะยาว” 

กระบวนการแลกหุ้นในครั้งนี้ SCBx จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญของ SCBX การแลกหุ้นดังกล่าวจะไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นของ SCB ได้ทำการ “ตอบรับ” คำเสนอซื้อหลักทรัพย์แล้วเท่านั้น และเมื่อกระบวนการแลกหุ้นแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 และเมื่อผู้ถือหุ้น SCB ตอบรับคำเสนอซื้อมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของ SCB หุ้น “SCBX” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “SCB” เช่นเดิม และผู้ถือหุ้น SCB ที่ได้ทำการแลกหุ้นได้สมบูรณ์ตามกำหนดเวลาจะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น SCBx แทน ส่วนผู้ถือหุ้นของ SCB ที่ไม่ได้ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในเวลาที่กำหนดจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารต่อไป อย่างไรก็ตามหลักทรัพย์ของธนาคารจะถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ในวันที่หลักทรัพย์ของ SCBX เข้าจดทะเบียน  

“เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการเติบโตของธุรกิจภายใต้กลุ่มไทยพาณิชย์ในหลายด้าน รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจของกลุ่มฯ ให้สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตได้อย่างเต็มที่ มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มไทยพาณิชย์โดยรวม และจะนำไปสู่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากการดำเนินงานของธุรกิจที่โอนย้ายไปยัง SCBX รวมถึงธุรกิจใหม่ในอนาคตในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพสูง” คุณอาทิตย์ กล่าวเสริม

สรุปข้อมูลการตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SCB

ระยะเวลารับซื้อ

ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2565 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2565 (เฉพาะวันทำการ) หรือระยะเวลาทำการของแต่ละช่องทางรับยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ รวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายเวลารับซื้อได้อีก


ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents)

  1. บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)

  2. บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน ภัทร จำกัด (มหาชน) (KKPS)

  3. บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (BLS)

  4. บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (ASP)


สถานที่ติดต่อในการยื่นแบบตอบรับคำเสนอซื้อ

  1. กรณีผู้ถือหุ้นมีใบหุ้น (scrip) 

  • ติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ (สำหรับผู้ถือหุ้นประเภทบุคคล) หรือ Investment Center (สำหรับลูกค้า SCB Wealth) หรือตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents) ได้แก่ SCBS, KKPS และ BLS (สำหรับผู้ถือหุ้นประเภทบุคคลและนิติบุคคล) ข้างต้น

หมายเหตุ: ขอความร่วมมือให้ผู้ถือหุ้นยื่นแบบตอบรับ ภายในวันที่ 5 เมษายน 2565  หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลารับซื้อ เนื่องจากตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ต้องนำใบหุ้นไปตรวจสอบและฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์

  1. กรณีผู้ถือหุ้นที่ไม่มีใบหุ้น (scripless) (เช่น มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์)

  • ติดต่อได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์นั้นให้บริการรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์

  1. กรณีฝากหุ้นไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในบัญชีของผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) สมาชิกเลขที่ 600

  • ติดต่อได้ที่ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents)

หมายเหตุ: ขอความร่วมมือให้ผู้ถือหุ้นยื่นแบบตอบรับ ภายในวันที่ 11 เมษายน 2565  หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลาการรับซื้อ เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการดำเนินการประสานงานในการโอนหลักทรัพย์ 

  1. กรณี NVDR

  • ติดต่อได้ที่ตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agents) 

หมายเหตุ: ขอความร่วมมือให้ผู้ถือหุ้นยื่นแบบตอบรับ ภายในวันที่ 11 เมษายน 2565  หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันทำการก่อนวันสุดท้ายของระยะเวลาการรับซื้อ เนื่องจากตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการโอน NVDR กับบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของการตอบรับคำเสนอซื้อต่อไป




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...