วิธีสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานแบบ Agile | Techsauce

วิธีสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานแบบ Agile

ในโลกการทำงานปัจจุบัน องค์กรต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภค เป็นสาเหตุทำให้องค์กรที่ปรับตัวไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ตามหลังในที่สุด ดังนั้นองค์กรที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลใบนี้จึงไม่ได้วัดกันที่เรื่องความสามารถเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของความเร็ว หรือที่เราเรียกว่าเป็นยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจึงพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ตอบสนองต่อปัญหาให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

โดยจะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรเริ่มนำแนวคิดการทำงานแบบ “อไจล์” (Agile) เข้ามาปรับใช้ในองค์กร เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง และมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น พร้อมนำมาทดสอบ และเก็บผลตอบรับต่าง ๆ เพื่อกลับไปแก้ไขปรับปรุง ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ทาง Motive Talent ร่วมกับจ๊อบไทย (JobThai) จึงได้จัดงาน Human Reset Series Episode 2: Becoming Agile Organization โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร คือ คุณพีท เจียมศรีพงษ์ General Manager จาก ThoughtWorks และ คุณพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ Head of Business Development, AI and Robotic Venture จากPTTEP ผู้เชี่ยวชาญที่ได้นำแนวคิดแบบ Agile เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กร โดยวิทยากรทั้ง 2 ท่านได้นำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับผู้เข้าร่วมงานที่เป็น HR จากองค์กรชั้นนำมากมาย ซึ่งเนื้อหาภายในงานสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. Agile ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกองค์กร

Agile เป็นแนวคิดในการทำงานที่กระตุ้นให้ทุกคนสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ แม้จะยังไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องกล้าเสี่ยงที่จะลองและเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น พร้อมปรับปรุงตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแนวคิดการทำงานแบบ Agile นั้นอาจจะฟังดูดี และกระตุ้นให้คนทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้ แต่หาก HR จะลองนำไปประยุกต์ใช้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาบริบทรอบข้างประกอบด้วย เพราะ Agile ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร และไม่ได้เหมาะกับทุก Project เสมอไป

2. เริ่มจากเล็กๆ ทดลองให้แน่ใจก่อน ค่อยขยายผล

แนวคิดแบบ Agile ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หากองค์กรพิจารณาแล้วอยากจะทดลองนำแนวคิดแบบ Agile ไปใช้กับงาน HR ควรทดลองกับทีมหรือ Project เล็ก ๆ ก่อน ช่วยกันปรับความคิดของทีมงานให้สอดคล้องกับ Agile ซึ่งการทำงานครั้งแรกย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการทำงานที่ทีมไม่คุ้นเคย

ดังนั้นต้องพยายามพูดคุยกันในทีมบ่อย ๆ เพื่อหาปัญหาให้เจอ และแก้ไขปรับปรุงเรื่อย ๆ ถ้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ค่อยขยายผลทดลองกับทีมหรือProject ที่ใหญ่ขึ้นต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีการทดลองใช้แล้วประกาศเป็นนโยบายให้ทุกทีมในองค์กรทำเลย อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านและไม่เปิดรับแนวคิดในการทำงานรูปแบบนี้

3. สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานแบบ Agile

หัวใจสำคัญของแนวคิดการทำงานแบบ Agile คือ คน การสื่อสารระหว่างกัน และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่ง HR จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรหรือในทีมให้เอื้อต่อการใช้แนวคิดการทำงานแบบ Agile ให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • ให้การเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคลของกันและกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นเรื่องเพศ อายุ วัยวุฒิ และทักษะความสามารถต่าง ๆ ความหลากหลายของคนในทีมนี้จะสามารถทำให้เราทำงานที่มีคุณค่าตอบโจทย์คนในวงกว้างได้
  • เชื่อมั่นว่าแต่ละคนจะทำงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ บริหารจัดการงานต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง มีแรงจูงใจที่อยากจะพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ
  • กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารในทีม เพื่อให้ทีมมองเห็นเป้าหมายตรงกันว่าเราจะทำงานในทิศทางไหน ทุกคนเข้าใจกระบวนการการทำงานซึ่งกันและกัน ใครติดปัญหาหรืออยากแก้ไขปรับปรุงอะไร จะได้มีการร่วมมือแก้ไขกันได้อย่างรวดเร็ว
  • ไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องที่เป็นปัญหาเท่านั้น ถ้ามีเรื่องที่ชอบ พอใจ หรืออยากจะชื่นชมทีมก็สามารถทำได้ เพื่อเป็นการช่วยให้ทีมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีมจะเปิดใจที่จะนำเสนอความคิดเห็น หรือแนวคิดใหม่ ๆ ในการทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  • กระตุ้นให้คนในทีมปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อได้รับความคิดเห็นไม่ว่าจะจากทีม หรือพนักงานคนอื่นที่เกี่ยวข้องก็ต้องรีบกลับมาปรับปรุง แก้ไขทันที เปิดใจให้กว้าง พร้อมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองและทีมเสมอ นอกจากนี้ต้องไม่รอแค่ความคิดเห็นจากคนภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอด้วย

สุดท้ายนี้ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เห็นได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงง่ายและไวตามกระแสของโซเชียลมีเดีย ทำให้แนวคิดการทำงานแบบ Agile จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับองค์กรที่ต้องทำงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม

แม้ว่าสุดท้ายแนวคิดดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในทุกบริบท แต่สิ่งที่ทุกคนในองค์กรสามารถเรียนรู้และปรับใช้ได้คือ ความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นไม่ว่าทีมหรือองค์กรจะใช้วิธีการทำงานในรูปแบบไหน คนทำงานก็พร้อมที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อยู่เสมอ และองค์กรก็จะสามารถเดินไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างสวยงาม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เสริมสร้างความร่วมมือไทย-ฟินแลนด์ ศึกษาดูงานและขยายโอกาสนวัตกรรม

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนไทยศึกษาดูงานที่ฟินแลนด์ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน...

Responsive image

ไทยพบเอสโตเนีย แลกเปลี่ยนมุมมองรัฐบาลดิจิทัล ศึกษาต้นแบบ e-Government

ไทยเปิดใจเรียนรู้จากเอสโตเนีย ระบบ e-Government ที่ประชาชนไว้วางใจ...

Responsive image

ม.มหิดล ชูความสำเร็จผลงานนวัตกรรมวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี ชนิดเข็มเดียว เตรียมผลักดันออกสู่ตลาดโลก

โรคไข้เลือด เป็นหนึ่งในโรคประจำถิ่นในทุกประเทศเขตร้อนของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายหรือยุงรำคาญเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน และในปัจจุบันมีประชากรประม...