คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับซิสโก้ พัฒนานวัตกรรม Med Tech ในการให้บริการสาธารณสุข | Techsauce

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับซิสโก้ พัฒนานวัตกรรม Med Tech ในการให้บริการสาธารณสุข

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน สู่ความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience)  

โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญดังนี้:

สร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้กับผู้ใช้บริการ และบุคลากรการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience)โดยมีการพัฒนาในสองระบบคือ:

  • ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System): สร้างระบบจัดสรรข้อมูลด้านลอจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถานบริการเครือข่าย 13 แห่งในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการเดินทางของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System): ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย และโมบายแอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการ คิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

เร่งการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Acceleration)เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่านสามโครงการดังนี้:

  • โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis  Screening Project): เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้นผ่านระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ AI และ Deep Learning ที่มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง และขอคำปรึกษาทางไกลในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ห่างไกลได้
  • โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Care: สร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx เสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล
  • โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project): ยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้อง ผ่านการอบรมทางไกล และนำประสบการณ์ไปดูแลผู้ป่วยและรายงานความคืบหน้าผลการรักษาผ่าน Cisco Webex ซึ่งเป็น Smart Learning Platform และ Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online learning system เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทำให้ลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล

ความร่วมมือนี้มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยทางซิสโก้มีการสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure),เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI),  แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML), ไอโอที (IoT), เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technologies) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking) 

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก จากสำรวจของ Global Market Insights ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น มูลค่าตลาดโลกในส่วนของการให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ (Telemedicine) มีมูลค่าถึง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 19.3

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล และด้วยพันธกิจที่ต้องสร้างสรรค์งานวิจัย และการบริการสุขภาพมาตรฐานระดับสากล ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ฯ และซิสโก้ที่จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในอนาคต” 

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับซิสโก้ที่ผ่านมา เรามีความมั่นใจทั้งในส่วนขององค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย โซลูชั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย และพร้อมสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ฯ ในการยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience) เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการในอนาคต”

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “ดิจิทัลเฮลท์แคร์เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการให้บริการด้านสาธารณสุข จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ

ซิสโก้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกด้วยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) และโซลูชันนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน รวมถึงโมบิลิตี้ ความปลอดภัยและดาต้าเซ็นเตอร์ ซิสโก้มีความยินดีที่ยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานต่อความร่วมมืออีกขั้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการดิจิทัลทางการแพทย์แบบครบวงจร ซิสโก้มีความยินดีในการนำเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นให้เป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างแท้จริง”


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...

Responsive image

เดลต้า ประเทศไทย ชูธงนวัตกรรม ESG คว้าดัชนี FTSE4Good ตอกย้ำความเป็นเลิศ

เดลต้าได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี FTSE4Good Index Series ซึ่งจัดทำโดย FTSE Russell ผู้ให้บริการด้านดัชนีและข้อมูลระดับโลก...

Responsive image

GMM Music เผย Digital Streaming ตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย

อุตสาหกรรมเพลงไทยยุคดิจิทัล
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพลังแห่งโลกดิจิทัลที่ทำให้ดนตรีไทยทะยานสู่ระดับโลก โดยปี 2023 ตลาดเพลงไทยขยายตัว 16% เที...