เปิดเวที Forum for World Education 2022 เศรษฐกิจเปลี่ยนการศึกษาต้องปรับรับยุค 5.0
เร่งสร้างโอกาสการเรียนรู้คู่การทำงาน ชี้ “ทัศนคติ-ครู” คือหัวใจพัฒนาทุนมนุษย์ยุคใหม่
ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก “Forum for World Education 2022” ที่ สภาเพื่อการศึกษาระดับโลก(FWE) ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการเสวนาร่วมกับผู้บริหารของบริษัทระดับโลกในหัวข้อต่างๆ อาทิ “ยุทธศาสตร์ในการกำหนดอนาคตของการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” และ “การปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ในโลกยุค 5.0” ซึ่งมีประเด็นด้านการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่น่าสนใจและต้องร่วมกันขับเคลื่อนในอนาคต
มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ (Mr.Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาคือ ทัศนคติของผู้เรียนและทัศนคติของครู ในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้
“ทัศนคติในการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ถ้าเด็กๆ ไม่กลัวที่จะผิดพลาด กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะเสี่ยง ก็จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ และถ้าเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสสำรวจ ค้นหาความเก่ง ความถนัดของตัวเอง พวกเขาก็จะสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพโดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน นอกจากนี้ครูยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กสามารถเกิดเรียนรู้ และทำให้มีระบบการศึกษาที่แข็งแรง แต่ความท้าทายคือเรามีครูที่มีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอ ทำอย่างไรที่จะทำให้ครูสมัยใหม่เป็นครูที่เป็นมากกว่าครู ทำอย่างไรให้ได้คนเก่ง คนดี ได้มาเป็นครูในระบบให้มากขึ้น”
มร.คอลลิน มาร์สัน (Mr.Collin Marson) ผู้อำนวยการด้านการศึกษา กูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และนวัตกรรมสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกได้ ดังนั้นสิ่งที่กูเกิ้ลทำคือ การทำให้คนเข้าถึงข้อมูลต่างจากทั่วทุกมุมโลกได้เองจากที่บ้าน โดยเราพยายามอย่างมากในการสร้างการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มของเรา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการทำงาน ที่สามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน โดยมีมาตรการเข้าถึงความปลอดภัยด้านข้อมูล ซึ่งเป็นความท้าทายของกูเกิ้ลอย่างมาก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งในประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย
“ในประเทศไทยพบว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตมากสุดในเอเชีย จึงได้มีมาตรการ Internet awesome เพื่อให้ใช้งานออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งภายหลังจากวิกฤตการณ์โควิด19 ก็ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาปรับใช้เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้นด้วย”
มร.วิคราม เรา (Mr.Vikram Rao) หัวหน้าด้านวิสาหกิจ อาเซียน จากแอมะซอน กล่าวว่าเราจะสามารถจัดการการศึกษาให้เข้ากับเทรนด์ธุรกิจโลกในอนาคตอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในยุคที่คำว่าดิจิทัลได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเข้าถึงในเรื่องต่างๆ อย่างมากมาย
“การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จใน 10 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลและการสร้างความยั่งยืน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีผู้คนมากถึง 86 ล้านคนต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกอบรม แต่การเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนในจำนวนนี้มีถึง 2 ใน 3 คนที่ ยังขาดความมั่นใจและไม่มีทักษะในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นการทำงานในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ เราจึงต้องการคนที่มีทักษะและความรู้ในด้านเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจในการที่จะมาผสมผสานคนทั้งสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน ด้วยการเติมเต็มการมีทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนและธุรกิจไว้ด้วยกัน”
มร.อินูอูเอะ มิตซึเทรุ (Dr.Inoue Mitsuteru) กรรมการบริหารอาวุโส สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การสร้างความสำเร็จของระบบศึกษาที่ญี่ปุ่นนั้น จะเน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะในเรื่องเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการฝึกอบรม และสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับชาติ 51 แห่ง วิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง และ วิทยาลัยของเอกชนอีก 3 แห่ง โดยให้ทุนเรียนกับนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จนถึงระดับปริญญาเอก
“โคเซ็นเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนตั้งแต่จบมัธยมต้น เพื่อเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรม 5 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 15 จนถึงอายุ 21 ปี โดยอาจารย์ผู้สอนจะต้องจบปริญญาเอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทุกคน โดยจะเรียนหลักสูตรพื้นฐาน 60% เรียนเฉพาะทางวิศวกรรมอีก 40% เสริมด้วยทักษะการใช้ชีวิต การสื่อสาร และนวัตกรรมไอทีต่างๆ ซึ่ง เราต้องการสร้างวิศวกรที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเชื่อมั่นว่า พลังของคนรุ่นใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้”
“ต้องมีการเติมเต็มทักษะให้กับเด็ก โดยเฉพาะต้องมุ่งเน้นที่ไปการเรียนอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กนักเรียนมีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานที่ทีความหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น” มร.แอนเดรียส ชไลเคอร์ จาก OECD กล่าวย้ำ
สอดคล้องกับมุมมองของ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาและการเตรียมความพร้อมการพัฒนาทุนมนุษย์สู่โลกในยุค 5.0 โดยระบุว่า ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคโลกแห่งความเป็นดิจิทัลหรือยุค 5.0 แต่ระบบการศึกษาของไทยยังคงอยู่ที่ยุค 2.0 เรายังสอนให้คนออกมาทำงานในโรงงาน ทั้งๆ ที่แรงงานกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติหรือ AI
“ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าไปสู่ยุคแห่งความเป็นดิจิทัล ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญ และมีค่ามากกว่าเงิน ในยุค 5.0 เราต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการที่จะทำสิ่งเหล่านี้ แล้วทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ นั่นก็คือจะต้องพัฒนาคน และสร้างทัศนคติของคน ด้วยการสร้างให้คนเป็นเถ้าแก่ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นทุกแง่มุมของธุรกิจแบบเต็มองค์รวม มีความรู้ที่ถ้วนทั่ว มองเห็นทุกแง่มุมของโลก เราจะต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรุ่นใหม่ เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นคนที่สร้างโลกใหม่ของเรา ดังนั้นระบบการศึกษาของเราจะต้องหันมาพิจารณาตัวเองว่าจะต้องปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อที่จะได้ก้าวตามทันโลก อุตสาหกรรม และธุรกิจในปัจจุบัน”
ซึ่งแนวทางในการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดรับกับโลกและเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงาน โดยหลายๆ ประเทศต่างๆ เห็นตรงกันว่า ควรลดระยะเวลาการเรียนลง เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานให้เร็วที่สุด
“คนรุ่นใหม่น่าจะเรียนจบตั้งแต่อายุ 18 ปี แล้วเขาก็น่าที่จะรู้จักเส้นทางของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ทำอาชีพที่ตัวเองชอบได้เร็วขึ้น ซึ่งถ้าจะทำได้แบบนั้นได้ต้องมีการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนทั้งในเรื่องของการที่จะทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในการศึกษา รวมถึงทำให้เขาได้มีโอกาสในการทำงานไปพร้อมๆ กัน และการที่จะสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถ ครูถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะว่าความสามารถ ทัศนคติของครู มีความสำคัญพอๆ กับทักษะในการสอน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานในแวดวงการศึกษาได้ พร้อมที่จะสอน พร้อมที่จะเป็นครู พร้อมที่จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ เด็กที่เป็นเยาวชนของเรา” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาคนรุ่นใหม่
“ที่ประเทศเยอรมณีมีการจัดการระบบการศึกษาแบบ VET(Vocational Education and Training) ด้วยการจัดการเรียนในสถาบันการศึกษา 30% และ การเรียนรู้ การฝึกงาน และการทำงานด้วยการลงมือปฏิบัติในสถานประกอบการ 70% โดยใช้เวลาในการเรียนไม่เกิน 5 ปี เยาวชนเหล่านี้ก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม” มร.มาร์คุส ฮอฟฟ์มันน์ (Mr.Markus Hoffman) ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาความเป็นเลิศคู่เยอรมัน-ไทย(GTDEE) หอการค้าเยอรมัน-ไทย ระบุ
นอกจากนี้ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้เน้นยำถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อให้พร้อมกับมือกับโลกในยุคอนาคตว่า “ในมุมมองของภาคเอกชน เราไม่อยากได้คนที่จะมารับคำสั่งอย่างเดียว เราอยากได้คนที่มีความสนใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด คนที่กล้าที่จะถามคำถาม คนที่อยากจะทำงานวิจัยและค้นคว้าเพื่อความรู้เพิ่มขึ้น คนที่อยากจะลงมือทำงาน คนที่พร้อมทำงานเป็นทีม คนที่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ด้วยการใช้เหตุและผล คนพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องทำ คือไม่เน้นแค่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ แต่ควรจะสอนเยาวชนของเราให้สามารถที่จะรับมือกับความท้าทายทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามา และสามารถที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลกใบนี้ได้มากขึ้น” นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวสรุป
สำหรับสภาเพื่อการศึกษาระดับโลก หรือ Forum for World Education (FWE) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อระหว่างระบบการศึกษากับการทำงานให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ รวมทั้งนำเสนอมุมมองด้านธุรกิจต่อการจัดการศึกษา เพื่อช่วยขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทโลกทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจัดการประชุมสัมมนา ขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
และในปีได้จัดประชุม Forum for World Education 2022 ขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยเชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุม พร้อมกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ กว่า 400 คน เพื่อระดมความเห็นในการออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด