มารู้จัก Plant – Based แบรนด์ More Meat จุดเริ่มต้นใหม่ของอาหารเพื่อความยั่งยืนโลก | Techsauce

มารู้จัก Plant – Based แบรนด์ More Meat จุดเริ่มต้นใหม่ของอาหารเพื่อความยั่งยืนโลก

ถ้าถามว่าการรับประทานอาหารมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร? เกินครึ่งของผู้บริโภคต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันแน่ ๆ ว่า “กินเพื่ออยู่รอด กินเพื่อให้อิ่มท้อง และกินเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต” แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ต้องยอมรับว่า การรับประทานอาหารมีวัตถุประสงค์และมีฟังก์ชั่นที่มากขึ้นพอ ๆ กับ เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่พัฒนาออกมาหลากหลายรุ่น จนทำให้คำตอบของคำถามนี้เปลี่ยนไปจากเดิมทั้ง กินเพื่อสวย กินเพื่อผอม กินเพื่อหน้าใส แต่ที่มากที่สุด ณ ช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้น “กินเพื่อให้มีสุขภาพดี” 

สำหรับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ทั้งในโลกและในไทย และในการค้นหาก็มาแรงพอ ๆ กับร้านบุฟเฟต์ คาเฟ่ และร้านหมูกระทะ ทั้งนี้ โซลูชั่นและทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์กับกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี และเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบจนกลายเป็นเมนูประจำบ้านก็คือ “แพลนต์เบส : Plant – Based” หรือการพัฒนาโปรตีนจากพืชให้อยู่ในรูปแบบของเนื้อเทียม โปตีนทดแทน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ทั้งแบรนด์ผู้ผลิตอาหาร ภัตตาคาร รวมทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ให้ความสนใจในการพัฒนาและจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น โดยแบรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงและกำลังติดตลาดในกลุ่มผู้บริโภคสายเฮลธ์ตี้ก็คือ “มอร์มีท : More Meat” ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่โกยคะแนนความนิยม และเป็นขวัญใจของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารที่เน้นความยั่งยืนและปลอดภัยแบบไม่รู้สึกผิดต่อสิ่งแวดล้อม 

คุณวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ Co-Founder มอร์มีท :More Meat บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด เล่าว่า More Meat เริ่มต้นจากธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้านโดยปกติก็มีการนำเข้าแพลนต์เบสจากอเมริกา และฮ่องกงอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบคือ แพลนต์เบสที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้นมีโซเดียมค่อนข้างสูง ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ หรือผู้สูงอายุที่ต้องการรับประทานแพลนต์เบส อีกทั้งยังมีการแต่งกลิ่นเนื้อเทียม กลิ่นเครื่องเทศที่ฉุนเกินไป ดังนั้นทางบริษัทจึงมีแนวคิดที่อยากจะทำแพลนต์เบสเพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงได้มีการคิดค้นสูตรมากถึง 20 กว่าสูตร และสุดท้ายจึงลงตัวที่การนำเอาเห็ดแครงมาดัดแปลงเป็นเนื้อจากพืช โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการ Space-F กับทางสำนักงานนวัตรรมแห่งชาติ หรือ NIA ซึ่งก็ได้ความรู้มาพัฒนาสูตรเนื้อจากพืชด้วยถั่วเหลืองและเห็ดแครงให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในบ้านเรามากยิ่งขึ้น

“ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด -19 ผู้คนทั่วโลกเริ่มหันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์เนื่องจากมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย และการปนเปื้อนของสารเคมีประเภทต่าง ๆ และเบนเข็มมองหาอาหารจากกลุ่มโปรตีนทดแทน โดยเฉพาะแพลนต์เบสกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากให้ผลลัพธ์ที่ตรงใจทั้งในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติที่มีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ รวมถึงปัจจัยที่คำนึงถึงความยั่งยืนของโลก จึงเป็นโอกาสให้มอร์มีทได้เข้าสู่ตลาดนี้ และในระยะเวลากว่า 1 ปี ถือว่ามีการเติบโตที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ที่พัฒนาธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตามยังมองว่าโซลูชั่นแพลนต์เบสยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะฐานผู้บริโภคเริ่มขยายเป็นวงกว้าง เห็นได้ชัดตั้งแต่ในระดับประเทศ ในระดับอาเซียน เอเชีย รวมถึงภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ และเป็นไปได้ว่าในอนาคตสัดส่วนระหว่างผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์และผู้บริโภคโปรตีนจากพืช หรือเนื้อจากพืชอาจอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน”

มากกว่าการทำธุรกิจ คือต้องคิดให้กว้าง

การพัฒนาแพลนต์เบสนอกจากจะมองว่าทำออกมาเพื่ออตอบโจทย์กับกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องทำอย่างไรเพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานอาหารในรูปแบบปกติหันมาสนใจแพลนต์เบสด้วย นี่จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทางมอร์มีทใส่ใจ และพยายามผลักดันผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการปรับทั้งเรื่องของรสชาติ รสสัมผัส การนำไปปรุงแต่งอาหารให้มีความหลากหลายเสมือนกับเมนูปกติทั่วไป ซึ่งหากใครที่เคยได้ลองรับประทานมอร์มีทจะรู้สึกได้เลยว่า     แพลนต์เบสของมอร์มีทมีความคล้ายกับเนื้อสัตว์ แตกต่างจากโปรตีนเกษตรที่รับประทานกันในช่วงกินเจโดยสิ้นเชิง และที่สำคัญคือไม่ว่าจะสายวีแกน หรือสายเนื้อก็สามารถรับประทานร่วมโต๊ะกันได้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าจานนี้ไม่ใช่เนื้อสัตว์จริง หรือจานนี้คือเนื้อเทียม เพราะทุกอย่างคัดสรรมาเพื่อให้มีความคล้ายคลึงวิถีชีวิตปกติมากที่สุด

อร่อยอย่างหลากหลาย ได้คุณค่าแบบจัดเต็มฉบับมอร์มีท

สำหรับเคล็ดลับความอร่อยนั้น คุณวรกันต์ เล่าวว่า โปรตีนจากพืชมอร์มีทเหมาะสำหรับเอาไปปรุงอาหารทุกรูปแบบไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด โดยเคล็ดลับความอร่อยนั้นอยู่ที่ระหว่างนำมอร์มีทกระทะร้อน ๆ ไม่ต้องขยี้ให้ละเอียด แต่ควรทำเป็นชิ้นใหญ่ ๆ เพื่อให้ได้รสสัมผัสที่คล้ายเนื้อสัตว์จริง ๆจากนั้นค่อยปรุงรสตามใจชอบ นอกจากนี้สูตรพิเศษของมอร์มีทคือ เนื้อจะไม่ได้ปรุงแต่งรสใด ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเติ่มเครื่องปรุงได้ตามใจชอบก่อนนำไปทำอาหาร ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่จึงมักนำมอร์มีทไปทำสุกี้ ชาบู ไส้ซาลาเปา ซึ่งเวลาโดนความร้อน หรือสุกแล้วโปรตีนจากพืชมอร์มีทจะมีความคล้ายเนื้อสัตว์มากกว่าการใช้โปรตีนเกษตร แต่ที่สำคัญนอกเหนือจากความอร่อยคือ แคลอรี่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์ 3 เท่า ไขมันต่ำกว่า 10 เท่า ไม่มีคอเลสเตอรอล มี Fiber ในแบบที่เนื้อสัตว์ปกติไม่มีซึ่งดีต่อระบบขับถ่าย รวมถึงคนป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตที่ไม่สามารถทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากได้ก็อร่อยได้แบบไม่รู้สึกผิดอีกด้วย 

โซลูชั่นการกินแพลนต์เบสรูปแบบใหม่ เพื่อวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) กับจานเด็ดลาบทอด

นอกเหนือจากพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคนำไปรังสรรค์เมนูได้อย่างหลากหลายแล้ว ล่าสุดยังได้ร่วมมือกับบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) สร้างมิติใหม่ให้กับแพลนต์เบสด้วยการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชพร้อมทาน หรือ Ready To Eat ผ่านอาหารจานแซ่บอย่าง “ลาบทอด” จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์วีฟาร์ม ซึ่งการพัฒนาเมนูนี้มีเป้าหมายในการสร้างความสุขให้กับผู้บริโภคสายสุขภาพ ให้ได้รับประทานเมนูที่มีรสชาติแซ่บ จัดจ้าน เสมือนกับเป็นมื้อปกติทั่วไป และตอบโจทย์กับวิถีชีวิตใหม่ของคนเมืองที่มีความเร่งรีบ ที่ไม่ต้องเสียเวลาในการปรุงอาหาร แต่ยังคงได้รับประทานอาหารที่อร่อยและได้สุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน  นอกเหนือจากนี้ เมนูลาบทอดจากพืช ยังเหมาะกับช่วงเวลานี้ที่ประเทศไทยต้องเว้นระยะ ซึ่งคนที่ไม่ถนัดงานครัวสามารถนำไปปรุงผ่านความร้อนได้ง่าย ๆ ทั้งการทอดในหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือการทอดในกระทะ และยังเหมาะกับคนที่ว่างเว้นจากการไปยิม และต้องเปลี่ยนมาเป็นการควบคุมอาหาร เพราะเมนูนี้ 100 %ส่วนประกอบมาจากพืช ดังนั้นจึงมีความปลอดภัย และไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้นบนตราชั่งแน่นอน

ความมั่นคงทางอาหาร เรื่องที่ทุกแบรนด์ต้องใส่ใจ

วรกันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยอาจโชคดีที่มีทรัพยากรที่หลากหลาย และเพียงพอในการรองรับความต้องการการบริโภคของประชาชนในประเทศ แต่ทุกอย่างไม่ได้มีความยั่งยืนตลอดไป ซึ่งทุกคนคงจะเห็นแล้วว่าทุกวันนี้บริบททางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ดังนั้น สิ่งที่ต้องเพิ่มมากขึ้นในด้านปากท้องของประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกคือ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยเฉพาะการสร้างอาหารทดแทนเพื่อรองรับห้วงเวลาที่โลกต้องเผชิญกับสภาะวิกฤติ ทั้งในประเภทอาหารสำเร็จรูป ขนม เครื่องดื่ม ฯลฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับกับปัญหานี้ และหากพัฒนาได้กราฟการพัฒนาและการเติบโตที่ดีขึ้นจะเกิดกับทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งจะมีความยั่งยืนทั้งระบบห่วงโซ่

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย “มอร์มีท” ได้ปรับกลยุทธ์การขายซึ่งมีการส่งทั้งแบบเดลิเวอรี่ และจำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ของทาง ซึ่งทุกคนสามารถสุขภาพดีได้ในราคาเริ่มต้นเพียง 89 บาท สามารถสั่งซื้อและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/Moremeat.th หรือ www.morefoods.in

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NIA เปิดเวที AGROWTH เร่งการเติบโตดีพเทคสตาร์ทอัพเกษตร

NIA เดินหน้าสร้างสตาร์ทอัพ สายเกษตรให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งการเติบโตและแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนในภาคเกษตร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การพึ่...

Responsive image

ไทยมี ‘ผู้บริหารหญิง’ นั่งบอร์ด แค่ 19% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก-อาเซียน

มีผู้หญิงจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 23.3) ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 นับตั้งแต่รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2565...

Responsive image

EVAT จับมือ กฟผ. และ ม.กรุงเทพธนบุรี จัดแข่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมลงนาม MOU พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบั...