‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) ที่เราคุ้นเคยจากภาพยนตร์ในจักรวาลมาร์เวล ดูเหมือนว่าตอนนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งของมนุษยชาติ กำลังพาเราก้าวข้ามสู่ยุคใหม่ ซึ่งเปลี่ยนผ่านจาก ‘ยุคดิจิทัล’ ไปสู่ ‘ยุคควอนตัม’ ที่อัดแน่นด้วยจำนวนข้อมูลมหาศาล ด้วยระบบประมวลผลรวดเร็วขึ้น และมีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดย รองศาสตรจารย์ ดร.วันชัย ไพจิตโรจนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้เปิดไทม์ไลน์การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) พร้อมแนวทางการปรับตัวทางวิศวกรรมที่มีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราคุ้นเคยไปโดยสิ้นเชิง
การเติบโตของ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เริ่มคึกคักและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทุ่มงบประมาณมหาศาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิ้ล (Google) ไอบีเอ็ม (IBM) และ ดีเวฟ (D-Wave) ที่มีเป้าหมายเพื่อการวิจัยและพัฒนาไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งพบว่าเป็นเทคโนโลยีมีจุดเด่น มีโอกาสเติบโตสูง และน่าลงทุนมากกว่า เมื่อเทียบกับ ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ (Digital technology) ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดย TSE คาดว่าอีกไม่นาน ทั่วโลกจะเริ่มหันหลังให้กับยุคดิจิทัล เหมือนที่เราเคยเปลี่ยนผ่านจากยุคแอนาลอก มาสู่ยุคดิจิทัลนั่นเอง และเตรียมเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘ยุคควอนตัม’ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่ทั่วโลกกำลังจับตา
พื้นฐานของ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) เกิดขึ้นจากการประยุกต์องค์ความรู้จากหลากหลายสาขา ซึ่งสามารถประยุกต์นำไปใช้งานได้มากมายเช่นกัน แต่หากพิจารณาการตอบรับจากตลาดผู้บริโภคของไทยในปัจจุบัน TSE มองว่าประเทศไทยกำลังเติบโตท่ามกลางข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ผ่านแฟลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งพบว่า ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ยังเต็มไปด้วยช่องโหว่ และมีความเสี่ยงถูกโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์จากแฮกเกอร์ (Hacker) ได้ง่าย ดังนั้น โจทย์ของการพัฒนา ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) จึงพุ่งเป้าไปที่การยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เป็นลำดับแรก และจะขยายไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไป
เมื่อเราเข้าใจถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านของ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้จักคือ หน่วยของข้อมูล ซึ่งในการคำนวณเชิงควอนตัมเรียกว่า ‘คิวบิต’ (Qubit) ที่มีความละเอียดสูงขึ้น แม่นยำมากขึ้น และประมวลผลได้เร็วขึ้น โดย TSE มองเห็นจุดเด่นสำคัญที่จะพลิกโฉมการจัดการเครือข่ายข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data Network) ไปตลอดกาล คือ ความสามารถของ ‘ควอนตัมคอมพิวติ้ง’ (Quantum Computing) ที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์จากแฮกเกอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิค ‘การเข้ารหัสขั้นสูง’ (Cryptography) โดยระบบจะตรวจจับการรบกวนจากแฮคเกอร์ และสร้างกุญแจไขรหัสใหม่ไปยังผู้ใช้งานทันที ซึ่งปิดโอกาสในการคัดลอกกุญแจไขรหัสเดิม เรียกได้ว่าเป็นระบบที่ปลอดภัยจากแฮคเกอร์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
การพัฒนา ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) ของไทยในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคบุกเบิก’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กร อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันมาตรวิทยา และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่รวมกลุ่มในนาม ‘Quantum Technology Research Group’ ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยจากสถาบันดังกล่าวกว่า 30 คน ซึ่งมีนักวิจัยจากกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งได้จัดตั้ง Quantum Technology Foundation (Thailand) หรือ QTFT ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่แสวงหากำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าวิจัย มีเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีควอนตัมภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าหรือการจัดซื้อจากต่างประเทศที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) เพื่อให้คนไทยมีความพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้
เมื่อเราไม่สามารถหยุดยั้งสายพานการพัฒนาของเทคโนโลยีได้ ‘การปรับตัว’ จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่ง TSE ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้มีทักษะความพร้อมที่จะเผชิญการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย โดยเฉพาะเทรนด์ของ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ที่มีความสนใจได้ลงเรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องตามความสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาในโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน หรือ TEP (Twinning Engineering Programmes) ที่มีโอกาสไปศึกษาต่อเกี่ยวกับ ‘วิศวกรรมคอมพิวเตอร์’ (Computer Engineering) ในชั้นปีที่ 3-4 ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่อยู่ในความร่วมมือของ TSE อีกด้วย นอกจากนี้ TSE ยังได้มอบโอกาสให้กับนักศึกษาในการไปฝึกงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่กำลังเดินหน้าโปรเจค IBM Q เพื่อศึกษาการนำเทคโนโลยีควอนตัมมาให้ประโยชน์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดความรู้ทางวิชาการ สู่การลงมือปฏิบัติที่ TSE พร้อมส่งเสริมตลอดหลักสูตร
รองศาสตรจารย์ ดร.วันชัย ไพจิตโรจนา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ถ้าเรารู้จักการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตของ ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ (Quantum Technology) ที่พร้อมพาเราไปสู่ยุคใหม่ นั่นคือ ‘ยุคควอนตัม’ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่ง TSE มองการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นโอกาสของนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ที่ถึงเวลาต้องปรับเป้าหมายในการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ซึ่งนอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกงานแล้ว TSE กำลังพัฒนา ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านควอนตัมฟิสิกส์’ ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อต่อยอดสู่การทดลองมากขึ้น โดยมั่นใจว่านักศึกษาของ TSE จะมีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในขับเคลื่อนประเทศ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคควอนตัมได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รวมถึงข่าวสารของ TSE และการรับสมัครนักศึกษาใหม่ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด