ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดในไทย ประชาชนต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงในด้านการดำเนินชิวิตและการทำงาน โดยจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนรวมถึงนโยบายของรัฐที่ออกมาเยียวยาแก้ปัญหา จากกรณีนี้อาจนำมาซึ่งความวิตกกังวลที่ส่งผลต่อความสุขและทัศนคติ รวมถึงความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนและครอบครัว เพื่อสำรวจความพึงพอใจชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับมูลนิธิเวลาดี สำรวจความพึงพอใจชีวิตของคนไทยกับความเห็นต่อบรรทัดฐานทางสังคม และความชอบนโยบายสาธารณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม
การสำรวจมีจำนวนประชากร 2,476 ตัวอย่าง อายุ 24-74 ปี อยู่อาศัยในเขตเทศบาล 9 จังหวัด ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีการกระจายเป็นไปตามโครงสร้างของประชากร และมีสัดส่วนตัวอย่างทุกภาคพอๆ กัน ในช่วงที่สำรวจสถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรงมากนัก คืออยู่ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 หรือเป็นช่วงที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ระยะแรก ถึงช่วงคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4
ในด้านการอยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาจำนวน 58% อาศัยอยู่กับคู่ครองซึ่งรวมถึงคู่ที่ไม่ได้แต่งงานด้วย อีก 17% แยกกันอยู่ หย่าหรือหม้าย และในด้านการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 70% จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. หรือต่ำกว่า ในด้านการทำงาน 55% เป็นแรงงานนอกระบบ และ 31% เป็นแรงงานในระบบ ที่เหลือเป็นนักเรียน นักศึกษา ทำงานบ้าน หางานทำ และพักผ่อน
ผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตตั้งแต่ระดับ 0 ต่ำที่สุด ไปถึง 10 สูงที่สุด (คะแนน 0 หมายถึง ไม่วิตกกังวลเลย และ 10 วิตกกังวลมากที่สุด) พบว่า โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างพึงพอใจในชีวิตตนเอง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของทุกพื้นที่เท่ากับ 7.3 อีกทั้งตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ค่อยวิตกกังวลกับชีวิตมากนักโดยมีคะแนนความวิตกกังวลเฉลี่ย 3.9 แต่เมื่อสอบถามความพึงพอใจในสถานการณ์การเงินของครอบครัวเฉลี่ย 5.4 เท่านั้น โดยตัวอย่างในภาคเหนือพึงพอใจด้านการเงินต่ำที่สุดเฉลี่ยเท่ากับ 5.1 ในช่วงที่สัมภาษณ์
เมื่อถามว่าโควิด-19 ทำให้เขาวิตกกังวลระดับใด พบว่าส่วนใหญ่วิตกกังวลเฉลี่ย 6.3 โดยที่ตัวอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือวิตกกังวลสูงที่สุด และเมื่อจำแนกตาม กลุ่มอายุ พบว่า กลุ่ม Gen Y (24-39 ปี) และ Gen X (40-55 ปี) วิตกกังวลมากกว่ากลุ่มที่อายุเกิน 55 ปี เป็นไปได้ว่า กลุ่มเหล่านี้ กังวลในเรื่องการขาดรายได้ การขาดอิสระกับชีวิตนอกบ้าน และกังวลกับการนำเชื้อโรคไปสู่ผู้สูงอายุที่บ้าน แต่วัยสูงอายุซึ่งปกติไม่ค่อยได้ไปไหน โควิด-19 จึงไม่ได้ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมากนัก
กลุ่มที่มีความวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 สูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน มีสองกลุ่มที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจที่ตรงกันข้ามกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มรายได้น้อยที่ประเมินตนเองว่าครอบครัวตนอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาวิตกกังวลมากขึ้นเป็นคะแนนเฉลี่ย 7.3
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มรายได้สูงที่สุด ดูจากการประเมินว่าครอบครัวตนเองอยู่ใน 10% ที่รวยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคนทั้งประเทศ โควิด-19 ทำให้เขาวิตกกังวลมากขึ้นเป็นคะแนนเฉลี่ย 8.1
ความรู้สึกวิตกกังวลของกลุ่มแรกน่าจะเกี่ยวข้องกับรายได้ เดิมที่จนอยู่แล้ว ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องเผชิญกับการทำมาหากินยากขึ้น ยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้นไปอีก ส่วนกลุ่มที่สองน่าจะกังวลกับโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ยาที่รักษามีประสิทธิผลไม่แน่นอน มีการรักษาตามอาการ มีการแพร่เชื้อง่ายและเร็ว การลดความเสี่ยงแบบที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ เป็นสิ่งที่คนมีฐานะร่ำรวยไม่คุ้นเคยนัก
แม้ว่าตัวอย่างที่ประเมินว่าตนมีฐานะดีระดับต้นๆ ของประเทศ จะวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 สูง แต่อารมณ์ความรู้สึกมีความสุขโดยรวมของเขาเหล่านี้ก็สูงด้วยเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ประเมินว่าตนเองจนกว่าผู้อื่น ค่าเฉลี่ยของอารมณ์มีความสุขของคนที่ประเมินว่าตนเองร่ำรวยคือ 8.5 แต่ค่าเฉลี่ยของคนที่ประเมินว่าตนเองอยู่ในกลุ่มที่จนที่สุดในประเทศคือ 6.6
ถ้าอยากมีความสุข ลองประเมินว่าตนเองรวยที่สุด ความรู้สึกมีความสุขจะเกิดขึ้นเอง
โดยปกติเราจะเห็นว่าคนรุ่นพ่อแม่เป็นผู้คัดสรรว่าจะส่งต่อคุณค่าทางสังคม ความเชื่อ ความรู้ และการปฏิบัติใดบ้างไปยังลูกหลาน ผลการสำรวจจะช่วยสะท้อนว่าการเป็นสื่อกลางของคนรุ่นพ่อแม่ (โดยเฉพาะ รุ่น Baby boom) สามารถส่งต่อเรื่องใดบ้างไปยังลูกหลาน (โดยเฉพาะรุ่น Gen X และ Gen Y)
บรรทัดฐานทางสังคมที่อยู่คู่ครอบครัวไทยและการส่งต่อได้สำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นคือ เรื่องลูกหลานต้องมีความกตัญญูและทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่และผู้สูงอายุในครอบครัว 95% ของรุ่น Baby boom เห็นว่าลูกหลานต้องกตัญญู และระดับความเห็นด้วยยังสูงมาถึงรุ่นหลัง คือรุ่น Gen X 90% และรุ่น Gen Y 82% ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ในช่วงโควิด-19 คนจำนวนมากให้ความร่วมมือป้องกันอย่างเข้มแข็งเพราะเป็นห่วงพ่อแม่และผู้สูงอายุที่บ้านจะเจ็บป่วย ซึ่งตรงข้ามกับสังคมตะวันตก
เมื่อลองเหลือบดูการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์พบข่าวการถกเถียงในสหรัฐอเมริกาว่า ถ้ามีผู้สูงอายุตายจากโควิด ลูกหลานบางคนดีใจว่าจะได้ย้ายจากห้องใต้ดิน (ไม่มีแสงแดดและหนาว) ขึ้นไปอยู่ชั้นบนของบ้าน
แต่สิ่งที่รุ่นพ่อแม่มีอิทธิพลน้อยลงต่อความคิดของลูกหลานคือ ความเชื่อเรื่องบาปบุญที่ส่งต่อระหว่างชาตินี้ชาติหน้า รุ่น Baby boom เพียง 15-18% ไม่เห็นด้วยว่าคนที่เกิดมามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ หรือว่าร่ำรวยในชาตินี้เพราะชาติที่แล้วทำบุญไว้มาก ความไม่เห็นด้วยสูงขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง รุ่น Gen X ไม่เห็นด้วย 19-25% รุ่น Gen Y ไม่เห็นด้วย 28-31% แต่อย่างไรก็ดี คนทุกรุ่นก็ยังชอบทำบุญ ทำทาน เพราะเห็นว่าทำแล้วรู้สึกสบายใจดี
ที่สำคัญคือ คนรุ่น Gen Y ชอบทำทานให้คน มากกว่าทำบุญให้แก่ศาสนาที่ตนนับถือ
แม้แต่เรื่องพิธีกรรมที่รุ่น Baby boom ทำตามกันมาถึงปัจจุบัน คนรุ่น Gen Y ก็เห็นด้วยน้อยลงอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจาก งานแต่ง งานบวช และงานศพแล้ว 25% ของคนรุ่น Gen Y ไม่เคยร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างอื่นๆ เลยในปีที่ผ่านมา และอีก 39% เคยร่วมบ้างบางครั้ง
ชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวที่เปลี่ยนไปทำให้คนยอมรับการเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น คนรุ่น Gen X และ Gen Y เริ่มชินและรับได้กับการที่ผู้หญิงสามารถเป็นได้ทั้งพ่อและแม่ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีสามี ประมาณ 30% ของคนรุ่น Baby boom ไม่เห็นด้วยกับการหย่า ถ้าอยู่ด้วยกันไม่มีความสุข คนรุ่นนี้เห็นว่าให้อดทนต่อไป
คนสามรุ่นนี้มีความชอบที่ห่างกันเรื่อยๆ ในเรื่องความเชื่อเรื่องบาปบุญ และการใช้ชีวิตครอบครัว ซึ่งน่าจะมีผลไปถึงความชอบนโยบายสาธารณะที่มากระทบชีวิตความเป็นอยู่ของเขาด้วย
รุ่น Baby boom เห็นด้วยถ้าหากจะต้องเสียภาษีเพิ่ม เพื่อให้รัฐจัดสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต ได้แก่เรื่องประกันสุขภาพ และบำนาญที่เพียงพอกับการยังชีพ ซึ่งคงไม่แน่แปลกใจเพราะคนรุ่นนี้มีสุขภาพและรายได้แย่ลงตามวัย
ส่วนคนรุ่น Gen Y ไม่ค่อยไว้วางใจรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะสักเท่าไร Gen Y 40% ไม่เห็นด้วยที่ต้องเสียภาษีเพื่อเอาเงินไปใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศ อีก 31% รู้สึกเฉยๆ อยากทำก็ทำไป คน Gen Y 50% ไม่คิดว่าว่ารัฐจะเข้ามาช่วยเหลือเขาให้ยังชีพอยู่ได้ ถ้าบังเอิญโชคร้ายจนถึงขั้นลำบากยากจน
รุ่น Gen X มากถึง 60% คิดว่าถ้าตกงานไม่มีงานทำ เขาจะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการจับจ่ายใช้สอยจนกว่าจะได้งานใหม่ 47% คิดว่าเมื่อเกษียณจะมีเงินไม่พอยังชีพ รุ่นนี้จึงอยากให้รัฐมีนโยบายช่วยเหลือให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ
นโยบายที่ทุกรุ่นไว้วางใจรัฐและเห็นด้วยว่ารัฐควรทำคือ การสร้างและจัดบริการห้องสมุดดี ๆ มีคุณภาพให้เด็ก ๆ ได้ใช้ แต่น่าเสียดายที่รัฐไม่ค่อยอยากทำเรื่องนี้สักเท่าไรนัก
แม้ว่าเรามักได้ยินผู้คนบ่นเรื่องคุณภาพการศึกษาของไทย แต่การสำรวจพบว่า เกินกว่า 75% ของทุกรุ่นเห็นว่าคุณภาพการศึกษารุ่นตนดีกว่ารุ่นพ่อแม่ และ 80% เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของรุ่นลูกจะดีกว่ารุ่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นี่เป็นการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาในประเทศเราเอง เราจึงพบว่าคุณภาพดีขึ้น แต่ถ้าเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราจะเห็นผู้คนไม่ค่อยพอใจคุณภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรที่ลงไปเพื่อการศึกษามีจำนวนสูงขึ้นมาก
กลุ่มคนไทยที่ถูกสำรวจไม่สนใจเรื่องการเมืองประมาณ 25% แต่ในสถานการณ์การเมืองแบบปัจจุบัน Gen Y รู้สึกไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี (34%) กลุ่มนี้ไม่ชอบการทำงานของราชการสูงกว่าคนรุ่นอื่นในเกือบทุกเรื่อง
Gen Y 15% เห็นว่าชีวิตไม่มีทางเลือกในด้านการเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย Gen Y 20% ไม่เรื่องชอบการจัดการขยะ Gen Y 22% และ Gen X 20% ผู้ซึ่งชอบเดินทางไปมานอกบ้าน ไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยในละแวกบ้าน ไม่สามารถเดินคนเดียวตอนกลางคืนได้อย่างปลอดภัย
ในขณะที่คนรุ่น Baby boom เดินทางไม่บ่อยเท่ารุ่น Gen Y และ Gen X เขาหวาดกลัวกับ อุบัติเหตุ 21% อาชญากรรม 24% และปัญหาการก่อการร้าย 29% และ 17% เห็นว่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยต่อชีวิต
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือ การประพฤติปฏิบัติของ Gen Y และ Gen X ที่เกี่ยวข้องกับสามัญสำนึกพื้นฐานด้านการโกง คือ การลอกการบ้านและข้อสอบ และการให้สินบน
Gen Y 28% และ Gen X 21% เคยลอกการบ้านเพื่อนเป็นประจำ และ Gen Y อีก 56% Gen X อีก 51% ลอกการบ้านเพื่อนเป็นบางครั้ง คนเหล่านี้แบ่งปันกันระหว่างเพื่อนโดย Gen Y 31% และ Gen X 21% เคยให้เพื่อนลอกการบ้านเป็นประจำและอีกประมาณ 50-54% ของทั้งสองรุ่นเคยให้เพื่อนลอกการบ้านเป็นบางครั้ง
ดูเหมือนว่า คนส่วนใหญ่ของทั้งสองรุ่นเคยลอกหรือเคยให้เพื่อนลอกการบ้าน และที่ยิ่งหย่อนไม่น้อยกว่ากันคือ การลอกและให้ลอกข้อสอบ
Gen Y 15% ลอกข้อสอบเพื่อนเป็นประจำ 35% ลอกข้อสอบเพื่อนเป็นบางครั้ง 16% ให้เพื่อนลอกข้อสอบเป็นประจำ 38% ให้เพื่อนลอกข้อสอบเป็นบางครั้ง มีไม่ถึงครึ่งของ Gen Y ที่ไม่เคยให้เพื่อนลอกข้อสอบเลย
นอกจาก ทุจริตเรื่องการสอบแล้ว ประมาณ 22% ของ Gen X และ Gen Y เคยจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้อำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ และ Gen Y ถึง 9% จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นประจำ
คนไทย 4.0 ในอนาคตจะมีแนวโน้มยึดถือพิธีกรรมน้อยลง การช่วยเหลือคนยากลำบากจะจัดการกันเองมากกว่าเอาเงินให้วัดไปจัดการให้ คนรุ่น Gen Y ไม่ค่อยรู้สึกว่านโยบายที่รัฐทำให้คุ้มกับภาษีที่จ่าย แต่ Gen X และรุ่น Baby boom อย่างน้อยได้ประโยชน์แล้วจากนโยบายการรักษาพยาบาลฟรี และคิดว่ารัฐช่วยเหลือได้ในเรื่องการประกอบอาชีพ ความหวังในชีวิตของคนรุ่น Gen Y ไม่สดใสนัก พวกเขามั่นใจน้อยลงว่าจะมีอาชีพที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ พวกเขาไม่พอใจมากขึ้นกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง ปัญหาความปลอดภัยในการออกนอกบ้านยามกลางคืน สถาบันที่ Gen Y ยังคงยึดถือไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้าคือ สถาบันครอบครัว แต่ที่ต่างคือการให้คุณค่ากับบทบาทของคนในครอบครัว
รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด