เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถานประกอบการหลายแห่งต้องหยุดหรือเลิกกิจการไปเพราะมาตรการลดการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ นำไปสู่ภาวะการเลิกจ้าง และว่างงาน รวมถึงกระทบต่อบัณฑิตที่กำลังจะจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่เข้ามามีบทบาทสำคัญและกลายเป็นความท้าทายของตลาดแรงงานทั่วโลก
เป็นผลให้หลายคนต้องทำงานในอาชีพที่ไม่เคยได้เรียนในตำรามาก่อน และพบว่าไม่สามารถอาศัยความรู้หรือทักษะดั้งเดิมที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษามาใช้ในการทำงานได้อีกต่อไป ทำให้แรงงานในทุกช่วงวัยต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต (Upskill) รวมถึงการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เช่น ทักษะทางด้านดิจิทัล หรือทำงานร่วมกับ AI
ดังนั้น เมื่อการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยไม่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งดำเนินการปรับบทบาทในกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อให้แรงงานในทุกช่วงวัยได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงการพัฒนาประเทศตามแนวคิดการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
วันนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับแพลตฟอร์มและหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะที่น่าสนใจจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย ดังนี้
CHULA MOOC คือ แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning Innovation Center) จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย โดยยึดหลักตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ด้วยการเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ในวิชาต่างๆ หลากหลายวิชา สอนโดยอาจารย์ผู้มากความสามารถจากคณะต่างๆ ของจุฬาฯ สร้างขึ้นสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทุกช่วงวัยที่สนใจแสวงหาความรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสะดวกสบาย เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคนอย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา หรือการเดินทาง และเมื่อเรียนจบคอร์สจะได้รับใบรับรองจากสถาบันอีกด้วย ปัจจุบัน CHULA MOOC แบ่งคอร์สเรียนออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่ ภาษา เทคโนโลยี การจัดการ ศิลปะและการพัฒนาตนเอง และสุขภาพ โดยปรับเปลี่ยนไปตามกระแสและสถานการณ์ของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง ตัวอย่างวิชาที่น่าสนใจและได้รับความนิยม เช่น ความปกติใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย (BIM), Data Analytics เป็นต้น
สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ ผ่านการ Reskill และ Upskill จากการสั่งสมประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนอบรมออนไลน์มาเป็นระยะเวลานาน ล่าสุดจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการเรียนออนไลน์ ที่มีชื่อว่า TU NEXT ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการฝึกทักษะได้เข้ามาหาความรู้และพัฒนาศักยภาพได้อย่างไร้ข้อจำกัด ผ่านการอบรมโดยทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้ที่สนใจสามารถเลือกลงทะเบียนและเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเรียนในเรื่องที่ตนเองต้องการได้ ตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรเส้นทางสู่โอกาสสร้างรายได้: พืชเศรษฐกิจใหม่กัญชงและกัญชา, หลักสูตรติดอาวุธการนำเสนอแบบ 360 องศา เป็นต้น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดตัว KLIX หรือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบ EdX เพื่อนำเสนอการศึกษาในรูปแบบการเรียนออนไลน์ ในโครงการผลิตวิชาออนไลน์ 6 Masterclass ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง สร้างขึ้นสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยมีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่ายและฟรี ด้วยการดึงศักยภาพสถาบันการศึกษาสำหรับโลกแห่งอนาคต สร้าง 6 วิชานำร่อง ร่วมกับ 6 องค์กรชั้นนำในการผลิตสื่อการเรียนการสอน ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ด้วยการออกแบบวิชาที่หลากหลายสำหรับคนทุกช่วงวัยอย่างทันสมัย และทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ทำให้มีผู้สนใจสมัครเรียนและได้รับความนิยมอย่างมาก ตัวอย่างหลักสูตรที่ได้รับความนิยม เช่น Digital Media Production: การผลิตสื่อดิจิทัล (Introduction), Modern Entrepreneur: ผู้ประกอบการสมัยใหม่ (Introduction) เป็นต้น
นอกจากแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแรงงานผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มในรูปแบบดิจิทัลจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศอีกมากมายที่มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาทักษะ (Reskill - Up-skill - Newskill) ให้แรงงานในทุกช่วงวัยได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและต้องการนำไปต่อยอด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ รองรับการทำงานในอนาคตหลังภาวะวิกฤต รวมถึงในปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศ
อย่างไรก็ดี แนวนโยบายด้านการพัฒนาทักษะหรือยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ข้างต้น ถือเป็นหนึ่งในภารกิจการปฏิรูประบบการศึกษาไทยของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ได้กำหนดกรอบการปฏิรูประบบการศึกษาไทยเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยในทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยส่วนหนึ่งของตัวอย่างความสำเร็จ คือ โครงการ “พัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด” (Thai-MOOC) (http://thaimooc.org) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ในปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรให้ผู้สนใจเลือกศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือจำเป็นต่อการทำงานในโลกยุคดิจิทัลเป็นจำนวนมากกว่า 500 หลักสูตร ซึ่งครอบคลุมสถาบันการศึกษาทั่วประเทศรวมกว่า 120 แห่ง ทั้งนี้ ในบางหลักสูตรเมื่อเรียนจบหรือสอบวัดผลผ่านเกณฑ์การเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถทำรายการในระบบเพื่อขอรับใบประกาศนียบัตร (Certificate) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีโครงการหรือกลไกอื่นๆ ที่จะสามาระช่วยหลักดันให้ผลิตผลทางการศึกษาของไทยตอบโจทย์ความต้องการของโลกที่มีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด