งานวิจัยจาก Allianz และ MIT เผย ยานพาหนะไร้คนขับอาจช่วยลดปัญหาการจราจรและที่จอดรถได้ถึง 70% | Techsauce

งานวิจัยจาก Allianz และ MIT เผย ยานพาหนะไร้คนขับอาจช่วยลดปัญหาการจราจรและที่จอดรถได้ถึง 70%

คณะนักวิจัยจาก Singapore - MIT Alliance for Research and Technology (SMART) และ MIT Senseable City Lab (SCL) ภายใต้ความร่วมมือกับ กลุ่ม Allianz หนึ่งในบริษัทด้านการเงินระดับโลกและผู้ถือหุ้นหลัก Allianz Ayudhya Assurance ได้ร่วมกันศึกษาถึงผลกระทบของการใช้ยานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous Vehicles – Avs) ที่มีต่อการสัญจรในเมือง และพบว่าเราอาจสามารถลดจำนวนความต้องการที่จอดรถได้มากกว่า70% แม้การวิจัยจะเป็นกรณีศึกษาในสิงคโปร์ แต่แนวคิดดังกล่าว อาจสามารถนำมาปรับใช้กับเมืองต่างๆ ได้ทั่วโลก

โครงการนี้ มีชื่อว่า 'Unparking' และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ Allianz หนึ่งในบริษัทประกันและบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของโลก ถึงผลกระทบจากการใช้ยานพาหนะไร้คนขับในเมือง โดยการวิจัยมุ่งไปที่การหารูปแบบการสัญจรในอนาคต ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ ลดเวลาการเดินทางและทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะผู้ร่วมโครงการ Allianz และทีม MIT Senseable City Lab จึงได้ร่วมกันระบุถึงแนวความคิดที่เป็นไปได้ เช่น การแชร์การสัญจร การลดพื้นที่จอดรถ การปรับปรุงระบบจราจร ซึ่งจะส่งผลทำให้ชีวิตคนเมืองมีคุณภาพ ความสุข และประสิทธิภาพมากขึ้น

เรย์มอนด์ อู หัวหน้าเอเชีย แล็บ อลิอันซ์ เอเชีย กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล Allianz ซึ่งประจำอยู่ที่สิงคโปร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีจากธุรกิจประกัน มาใช้สนับสนุนงานวิจัยของ MIT การจราจรในเมือง เป็นภาระที่เราทุกคนต้องพบเจอ และความร่วมมือนี้ เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญเพื่อคลี่คลายปัญหารถติดในเมืองใหญ่ทั่วโลก และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กลุ่ม Allianz ในการสนับสนุนและสร้างนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในอนาคต

Unparking นำเสนอตัวเลขประมาณการความต้องการที่จอดรถเมื่อเรามีการใช้ยานพาหนะไร้คนขับ รถยนต์ส่วนบุคคลจะถูกทิ้งไว้เฉยๆถึง 95% ของเวลาการใช้งานทั้งหมด และจะกินพื้นที่จอดรถโดยประมาณ คันละสองแห่ง คือ ที่บ้านและที่ทำงาน ซึ่งจากผลการวิจัยเบื้องต้น พบว่าการเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ยุคยานพานะแบบไร้คนขับ จะช่วยลดจำนวนรถยนต์และความต้องการที่จอดรถลงได้

“ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนตนเอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการจรจรในเมือง” ดร.แดเนียล คอนดอร์ หัวหน้าโครงการและนักวิจัยของ SMART กล่าว

คาร์โล ราตติ ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการของ Senseable City Lab ณ MIT และผู้ควบคุมโครงการ SMART กล่าวเสริมว่า “ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนเอง จะเข้ามาปิดช่องว่างระหว่างการเดินทางโดยรถส่วนตัวและรถสาธารณะ จากที่รถยนต์ส่วนตัว เคยถูกทิ้งไว้เฉยๆทั้งวันในที่จอดรถ หากเรามีการนำรถแบบขับเคลื่อนเองมาใช้ รถก็จะสามารถพาคุณมาทำงานในตอนเช้า จากนั้นในช่วงระหว่างวัน อาจจะไปรับส่งสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ หรือ แม้แต่เพื่อนบ้าน คนในชุมชนหรือคนในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การจำลองสถานการณ์ผ่านผู้ใช้งานร่วมกับตัวแปรอื่นๆ

การวิจัยใช้การจำลองสถานกาณณ์ผ่านผู้ที่สัญจรไปมาในสิงคโปร์ ซึ่งมีรถกว่า 600,000 คันและจุดจอดรถทั้งหมดประมาณ 1.37 ล้านจุดทั่วประเทศ ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า การเดินทางทั้งหมดที่เกิดจากรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถแทนที่ได้ด้วยยานพาหนะแบบไร้คนขับเพียง 200,000 คัน โดยที่ไม่เกิดความล่าช้าต่อการเดินทางของผู้โดยสาร และยานพาหนะแบบไร้คนขับนี้ ต้องการที่จอดรถรองรับเพียง 410,000 แห่งเท่านั้น และหากรถที่ใช้มีขนาดเล็กลง นั่นหมายถึงการลดจำนวนความต้องการที่จอดรถที่มากขึ้นไปอีก แต่ก็ทำให้รถต้องออกสู่ท้องถนนเพื่อรับส่งคนมากขึ้น เช่น หากปรับจำนวนรถแบบขับเคลื่อนเองให้อยู่ที่ 90,000 คัน จะทำให้จำนวนพื้นที่จอดรถลดลงมาอยู่ที่ 210,000 แห่ง แต่ก็หมายความว่า ระยะการเดินทางจะเพิ่มขึ้น 20% หมายถึงการมีรถบนท้องถนนมากขึ้น ในกรณีนี้ จะทำให้ตัวเลขยานพาหนะและจำนวนที่จอดรถ ลดลงถึง 85%

ผลการวิจัย มีพื้นฐานจากตัวแปรดังนี้:

  • มีการแชร์ยานพาหนะแบบไร้คนขับ และไม่มีการแชร์การเดินทางร่วมกัน
  • ยังไม่มีการเอาระยะเวลาการรอคอยของผู้โดยสารมาใช้ในการวิจัย

เปาโล ซานติ นักวิจัยจาก MIT Senseable City Lab ให้ความเห็นว่า “แนวทางที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ สามารถชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากการลดที่จอดรถและลดปัญหาจราจรในเมืองได้”

โครงการ Unparking กำลังจะขยายสู่เมืองอื่นๆ โดยการวิจัย ดำเนินการโดย MIT Senseable City Lab ในเมืองเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และ SMART ในประเทศสิงคโปร์ โดย อลิอันซ์ เป็นสมาชิกใน Senseable City Consortium งานวิจัยได้รับเงินสนับสนุนจาก National Research Foundation Singapore ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Campus for Research Excellence and Technological Enterprise (CREATE)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576' เตรียมรับ 'การระเบิดของความหวาดกลัว' กับ 'ความโดดเดี่ยว'

รวมประเด็นน่ารู้ (แบบไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม) จากผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (FUTURES OF MENTAL HEALTH IN THAILAND 2033)' ทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน เมกะเทรนด์ ฉากทัศน์แห่งอนา...

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทยรายอุตสาหกรรม (Part 2)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว Startup ไทยรายอุตสาหกรรม...

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทย (Part 1)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว จำนวนการลงทุนใน Startup ไทย รวมทั้งการควบรวมกิจการ...