เจาะลึกผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576' เตรียมรับ 'การระเบิดของความหวาดกลัว' กับ 'ความโดดเดี่ยว' | Techsauce

เจาะลึกผลวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576' เตรียมรับ 'การระเบิดของความหวาดกลัว' กับ 'ความโดดเดี่ยว'

นับวัน...จำนวนประชากรโลกที่มีประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตก็ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น สำหรับประเทศไทย มีผลการวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) จากความร่วมมือในการจัดทำโดย 4 องค์กร ที่เผยบทวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์เอาไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ป่วยประสบปัญหาสุขภาวะทางจิตเพิ่มขึ้น ทั้งเครียด - เหงา - รู้สึกโดดเดี่ยว - หวาดกลัว รู้แบบนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเตรียมการป้องกันหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนนี้

5 ประเด็นน่ารู้จาก 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576'

อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)

องค์กรที่ร่วมจัดทำงานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน ได้แก่ 

  • กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 
  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 
  • สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) 
  • ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) 

ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานมีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมกันรับมือ ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของคนไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ภาพอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการเผยแพร่องค์ความรู้ออกสู่สาธารณะ ทั้งในมิติสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย และค่านิยม รวมถึงการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ต่อการดูแลสุขภาพจิตของประเทศไทยในอนาคตร่วมกัน

ทีมเทคซอสนำเสนอบางประเด็นสำคัญจากผลการวิจัย โดยแยกออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่

  1. จะอยู่เฉยได้อย่างไร ในเมื่อโลกของเรามีจำนวนผู้ป่วยด้าน Mental Health มากกว่าผู้ป่วยมะเร็ง
  2. 'เทคโนโลยีที่ใช่' เข้ามาช่วยดูแล-ป้องกัน-ฟื้นฟู สุขภาพจิตได้
  3. ปัญหาสุขภาพจิตในเชิงลึกและเมกะเทรนด์ที่สามารถส่งผลกระทบรอบด้าน (รวมถึงต่อจิตใจ)
  4. Future Scenarios : ภาพอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576
  5. Guide to Action : ตัวอย่างข้อเสนอต่อการปฏิบัติสำหรับ 'ภาครัฐ'


อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 การศึกษาวิจัยด้านอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิต มีความสำคัญมากในด้านการรู้แนวโน้ม เพื่อกำหนดนโยบาย การส่งเสริมองค์ความรู้ และการพัฒนาสังคมไทยไปยังภาพอนาคตด้านสุขภาพจิตที่พึงประสงค์ได้ 

1. จะอยู่เฉยได้อย่างไร ในเมื่อโลกของเรามีจำนวนผู้ป่วยด้าน Mental Health มากกว่าผู้ป่วยมะเร็ง

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) ยกตัวเลขขึ้นมาบอกว่า ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกมีโรคทางด้านสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยถึง 36% ซึ่งสูงกว่าโรคมะเร็งที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 34% ยิ่งไปกว่านั้น UN ยังประกาศให้ 80% ของประเทศในเครือข่ายทั่วโลก นำการดูแลสุขภาพจิตมาเป็นการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) 

เมื่อมองดูประเทศไทย 80.6% ของคนเมือง มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น และมากกว่าผู้อาศัยในเขตชนบทเกือบครึ่ง (48.9%) ชี้ให้เห็นว่า การจะทำให้คนที่อาศัยในเมืองมีสุขภาวะที่ดี เราจะต้องเข้าใจและดูแลสุขภาพจิตให้เตรียมพร้อมกับหลากหลายเหตุการณ์ด้วย เช่น โรคระบาด หรือ ภาวะเศรษฐกิจไม่มั่นคง

ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการจัดทำงานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033มีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมกันรับมือ ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของคนไทยในอนาคต ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ภาพอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการเผยแพร่องค์ความรู้ออกสู่สาธารณะ ทั้งในมิติสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย และค่านิยม รวมถึงการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ต่อการดูแลสุขภาพจิตของประเทศไทยในอนาคตร่วมกัน

Futures of Mental Health in Thailand 2033งานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 เป็นการตอกย้ำความสำคัญของการคาดการณ์อนาคต ที่นักวิจัยได้รวมสัญญาณที่สำคัญ รวมไปถึงการวิเคราะห์ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น ทำให้เข้าใจถึงสุขภาวะทางจิตใจของคนเมือง และสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อกำหนดแนวทาง หรือนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนไทยในอนาคต

แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น ประกอบกับค่านิยมของสังคมไทยที่มี การตีตราผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่มาก ความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตยังคงมีอยู่น้อย ทำให้การสร้างเสริมสุขภาพจิตของผู้คนในสังคมไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร 

คนไทยจำนวนหนึ่งยังขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง นำไปสู่การละเลย เพิกเฉย และปฏิเสธการเข้ารับบริการสุขภาพจิต สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่าง ๆ  ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในสังคมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด การเกิดโรคซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ และในบางกรณีนำมาซึ่งการสูญเสียจากการทำร้ายตนเอง

ผลจากการสำรวจจาก Mental Health Check In ในปี 2565 จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลจำนวน 1,149,231 ราย พบว่า มีอัตราความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.47 ภาวะหมดไฟ 4.59 และมีความเครียดสูงร้อยละ 4.37 ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตจึงเป็นความท้าทายที่ทุกคนและทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งหากขาดความเข้าใจถึงอนาคตของสุขภาพจิตสังคมไทยโดยละเอียด สังคมไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรงในอนาคต 

นอกจากนี้ ทั้ง 4 องค์กรยังร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย 'โครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมและอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิต' ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับสุขภาพจิตของคนในสังคมไทย โดยกรมสุขภาพจิตจะร่วมค้นคว้า สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาวิจัยอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิตผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนำเสนอผลการศึกษาวิจัยอนาคตศึกษาด้านสุขภาพจิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสมกับฉากทัศน์ด้านสุขภาพจิตของอนาคต

2. 'เทคโนโลยีที่ใช่' เข้ามาช่วยดูแล-ป้องกัน-ฟื้นฟู สุขภาพจิตของคนไทยได้

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ส่งเสริมและสนับสนุนการนำการมองอนาคตมาใช้ในการติดตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ซึ่งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนในสังคมไทย มีรายงานว่าประชาชนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุมมากนัก กอปรกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ของสังคมไทย พบว่าปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุและปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากช่องว่างระหว่างวัยกลับยังไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นสื่อสันทนาการหรือเข้ามามีส่วนช่วยในระบบบริการทางด้านสุขภาพจิตนั้น สามารถช่วยยกระดับสุขภาวะของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยที่นำเสนอบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำหลักสูตรสอนการฟังเชิงลึก (deep listening) ที่ผ่านการรับรองจากกรมสุขภาพจิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะ Software-as-a-Service (SaaS Platform) การทำแอปพลิเคชันที่นำเสนอกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตรูปแบบต่างๆ ให้เป็นเรื่องสนุกและช่วยให้ผู้ใช้งานมีทักษะและพลังยืดหยุ่นด้านสุขภาพจิตมากขึ้น และแชตบอตที่ช่วยเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมจากผู้ใช้งานไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาการซึมเศร้า

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวถึง ETDA โดย ศูนย์คาดการณ์อนาคต Foresight Center by ETDA ว่าทำหน้าที่เสมือนถังความคิด (Think Tank) ในการติดตามสัญญาณ (Signal) และแนวโน้ม (Trend) ในอนาคตเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำไปสู่การหาปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) การจัดทำเป็นภาพฉายอนาคต (Scenario) ต่อยอดสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

ความร่วมมือในการศึกษา อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 ภายใต้ความร่วมมือของ ETDA คือ การร่วมรับรู้ปัญหาและพิจารณาต่อว่า มีมิติใดที่ต้องจับตาหรือให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับสุขภาพของคนไทยแบบองค์รวมให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ

"จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณของเทคโนโลยีกับสุขภาพจิตใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล คนไทยส่วนใหญ่มีความพร้อมและใช้งาน Social Media เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในแง่ของ 2. การรู้เท่าทัน กลับพบว่า มีไม่มากนัก โดยสะท้อนจากสถิติของการถูกหลอกทางออนไลน์ ข่าวปลอม และการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมีตัวเลขเพิ่มสูงต่อเนื่องทุกปี" 

นี่คือโจทย์สำคัญของประเทศ รวมถึง ETDA ที่จะเดินหน้าอย่างไร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลไปพร้อมๆกับการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้าง Literacy สร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลให้กับคนไทย และจะป้องกันผลกระทบของปัญหาสุขภาพที่เป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไร

3. ปัญหาสุขภาพจิตในเชิงลึกและเมกะเทรนด์ที่สามารถส่งผลกระทบรอบด้าน (รวมถึงต่อจิตใจ)

ากวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในเชิงลึกจะพบว่ามีปัจจัยหลักอยู่ 3 ด้าน ได้แก่

  • ปัจจัยด้านร่างกาย เช่น โรคทางกาย ปัญหาทางสมอง พันธุกรรม
  • ปัจจัยด้านจิตใจ เช่น พื้นฐานอารมณ์ บุคลิกภาพ การจัดการปัญหา
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพจิตมักไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยส่งผลร่วมกัน การลดผลกระทบของโรคจิตเวชจึงจำเป็นต้องลดอิทธิพลของปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งหมดไปพร้อมกัน

เหนือสิ่งอื่นใด ผลการวิจัยยังเผย Megatrends หรือ แรงผลักดันขนาดใหญ่ คือ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นและมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิต ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของภาพอนาคตไปสู่ทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยมี 7 เทรนด์ ดังนี้

  1. ความหลากหลายในสังคม (Diversity)
  2. การอยู่ร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักรกล (Human-machine symbiosis)
  3. การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
  4. แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก (Global economic intensity)
  5. ปัญหาที่ซับซ้อนจากวิกฤติสิ่งแวดล้อม (Climate polycrisis)
  6. การขยายตัวของเมืองและการกระจายอำนาจ (Urbanization and decentralization)
  7. การให้คุณค่ากับสุขภาวะที่ดี (Values of well-being)

4. Future Scenarios : ภาพอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 

Mental Health in Thailand 2033

มาที่ ภาพอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 ผู้ร่วมวิจัยฉายภาพอนาคตออกเป็น 5 ฉากทัศน์ (5 Scenarios) ได้แก่ การระเบิดของความหวาดกลัว, วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส, มวลชนผู้โดดเดี่ยว, สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน และ จุดหมายแห่งความสุข 

  • Scenario 1 : การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst)

    ผู้คนในสังคมมีอารมณ์เชิงลบเป็นหลัก ทั้งความรู้สึกกลัว เจ็บปวด บอบซ้ำ โกรรแค้น สับสน และสิ้นหวัง ซึ่งเกิดจากปัญหาในชีวิตด้านต่าง ๆ รุมเร้าและทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีการใช้พฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น และเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ผู้คนมีความเสี่ยงโรคจิตเวชมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคติดยาเสพติด และอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงขึ้น คนส่วนมากไม่มีเวลา สำหรับการทำสิ่งที่ตัวเองชอบเพื่อสร้างความสุข แต่ต้องใช้เวลาว่างไปกับการหารายได้เสริมเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือดิ้นรนหาทางย้ายถิ่นฐานเพื่อไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย และสร้างความสุขให้แก่ตนเองและครอบครัวได้

    ความเจ็บปวดจากปัญหาทางสังคมที่ถูกละเลยมานานจะกลายเป็นความหวาดกลัว และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ ที่บังคับให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

  • Scenario 2 : วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส (Opportunity in adversity

    สถานการณ์ที่ผันผวนรุนแรงต่อเนื่องของสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกังวล และพยายามเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

  • Scenario 3 : มวลชนผู้โดดเดี่ยว (Packs of lone wolves) 

    ผู้คนมีความสะดวกสบายในทุกด้าน แต่กลับมีความรู้สึกเหงา เครียดและกดดันมากขึ้น การใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัยบีบบังคับให้เผชิญกับการแข่งขันที่สูงและวิถีชีวิตดิจิทัลที่โดดเดี่ยว

ในแต่ละฉากทัศน์ยังเผยแนวโน้มของ Future personas หรือ บุคคลในภาพอนาคต เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

  • Scenario 4 : สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน (Decentralized mental well-being)

    ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สุขใจ และภูมิใจในท้องถิ่น เป็นผลจากการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นและเขตสุขภาพโดยสมบูรณ์ ทรัพยากรด้านสุขภาพจิตถูกจัดสรรและออกแบบให้เข้ากับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
  • Scenario 5 : จุดหมายแห่งความสุข (Land of smiling minds)

    ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพจิตและเป็นจุดมุ่งหมายการใช้ชีวิตของผู้คนจากทั่วโลก ทุกภาคส่วนวางเรื่องสุขภาพจิตไว้ในทุกองค์ประกอบ ประชาชนรู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจ

5. Guide to Action : ตัวอย่างข้อเสนอต่อการปฏิบัติสำหรับ 'ภาครัฐ'

การศึกษาการคาดการณ์อนาคตสุขภาพจิตของคนไทยจะเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายหรือทิศทางการดูแลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการดูแล รักษา ป้องกันด้านสุขภาพจิต รวมไปถึงการอัปเดตเทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับอนาคตสุขภาพจิตของคนไทยได้ และในตอนท้ายผลการวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576' ยังมี ข้อเสนอต่อการปฏิบัติ (Guide to Action) สำหรับ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ, ชุมชน, ประชาชน และ ภาคเอกชน โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนจากข้อเสนอที่มีต่อ 'ภาครัฐ' ดังนี้

อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)

ภาครัฐ (Public Sector)

  • จัดลำดับความสำคัญของประเด็นสุขภาพจิตสังคมไทยและความสุขของคนไทยอยู่ในลำดับต้น ใช้กลไกด้านนโยบายและกฎหมายในทุกภาคส่วนของรัฐทั้งด้านสาธารณสุขและทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน ผลักดันให้มีประเด็นด้านสุขภาพจิตอยู่ในทุกนโยบายและการดำเนินงานของรัฐ 
  • ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพจิตในทุกโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นที่พักผ่อนของผู้คนในเมือง การพัฒนาพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมด้านสุขภาพจิตและเชื่อมต่อของคนในชุมชน
  • ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองด้านสุขภาพจิตและความปลอดภัยด้านจิตใจของประชาชน โดยมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และผลักดันการพัฒนากฎหมายใหม่เพื่อครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตที่มีมากขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์
  • ให้ความสำคัญกับทรัพยากรด้านสุขภาพจิตทั้งในแง่งบประมาณและบุคลากรด้านสุขภาพจิตในหลายระดับ รวมไปถึงสหวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตให้ทันสมัยและเข้าถึงได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพจิต เช่น ระบบการตรวจรักษาทางไกล ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเสมือนจริง อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ 

หากต้องการอ่านผลการวิจัย 'อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (FUTURES OF MENTAL HEALTH IN THAILAND 2033)' หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ (แล้วกด Skip Advertisement)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทยรายอุตสาหกรรม (Part 2)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว Startup ไทยรายอุตสาหกรรม...

Responsive image

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทย (Part 1)

สรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย ปี 2021 วิเคราะห์ภาพรวม เผยความเคลื่อนไหว จำนวนการลงทุนใน Startup ไทย รวมทั้งการควบรวมกิจการ...

Responsive image

Thailand Startup Ecosystem Year in review 2020 สรุปความเคลื่อนไหวประจำปีที่ห้ามพลาด

เป็นประจำทุกปีที่ Techsauce จะจัดทำรายงาน Thailand Startup Ecosystem Report ซึ่งในปี 2020 เพื่อให้ทุกท่านยังคงได้ติดตาม insight ของ Startup Ecosystem ประเทศไทย เราจึงรวบรวมเป็นบทสร...