Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทย (Part 1) | Techsauce

Techsauce Startup Year-in Review 2021 เผยภาพรวมสถานการณ์ Startup ไทย (Part 1)

ถือเป็นธรรมเนียมไปแล้ว สำหรับ Techsauce ในฐานะสื่อที่มีส่วนร่วมในการสร้าง Tech Startup Ecosystem ที่จะจัดทำเนื้อหาพิเศษประจำปีเพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์ของ Tech Startup Ecosystem ในประเทศไทย โดยในปี 2021 ซึ่งถือเป็นปีที่มีกิจกรรมที่มีนัยสำคัญมากมายก็เป็นปีที่ Techsauce ยังคงรวบรวมเนื้อหานำเสนอเป็นบทความ Year-in Review ให้ทุกท่านได้ติดตามกันในโอกาสนี้

    ทั้งนี้ขอขอบคุณ Contributors ทุกท่านที่สละเวลามาให้ข้อมูลกับ Techsauce ในการจัดทำบทสรุปรายงานประจำปี 2021

ภาพรวม Startup Ecosystem ในปี 2021

ปี 2021 ถือเป็นปีที่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องจากปี 2020 จากการคงอยู่ของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวกลับสู่สภาวะที่ใกล้เคียงก่อนการเกิดการแพร่ระบาด โดยจากสถานการณ์ของแต่ภาคธุรกิจ จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ก็จะมีการเติบโตต่อเนื่อง หรือสามารถดำเนินกิจการได้เป็นอย่างน้อย ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ก็ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวให้เห็นในปี 2022

สำหรับสถานการณ์เด่นในปี 2021 หนีไม่พ้นการระดมทุนของ Startup ไทยที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ได้สร้างตัวเลขสูงที่สุด แต่กลับสร้าง Impact ด้วยการมาของ Startup Unicorn ธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นด้วยคนไม่กี่คน และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่าง Flash Express ซึ่งระดมทุน Series D+ และ Series E ในปีนี้ กับ Bitkub ซึ่งถูกซื้อกิจการโดย SCB Security และนอกจากดีลดังกล่าวแล้ว การระดมทุนโดยภาพรวมเองก็มียังถือว่าคึกคักโดยเฉพาะระดับ Growth Stage อย่างระดับ Series A ขึ้นไป     

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใน Growth Stage จะมี Deal Flow ที่ดีขึ้น แต่ในระดับ Seed Stage กลับมีสัดส่วนน้อยลง ประเด็นนี้จำเป็นต้องติดตามเนื่องจากการขาด Pool ของ Seed Stage Startup อาจทำให้ Ecosystem ขาดการหมุนเวียนเงินทุนไปยัง Startup รายใหม่และทำให้เกิดการชะงักของ Ecosystem

ในส่วนอุตสาหกรรม ภาคส่วนที่ได้ผลกระทบเชิงบวกจาก COVID-19 ยังดำเนินกิจกรรมได้ดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Logistics, E-Commerce โดยเฉพาะกลุ่ม Business Solution ที่นำเสนอบริการด้าน Digital Transformation แก่องค์กรซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถ Operate งานทางออนไลน์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแส Work From Home ที่ยังต่อเนื่องอยู่

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะ Travel ที่เจอทั้งการ Lockdown และกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แม้ว่าจะมีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันที่จะช่วยให้ภาพรวมอุตสาหกรรมมีความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ในส่วนของ Startup นั้นยังมีลักษณะเดียวกับปี 2020 คือต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไป

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เติบโตจากปัจจัยอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ Blockchain จากการอนุญาตให้ดำเนินกิจการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย กรณีศึกษาที่องค์กรต่างๆ หันมาใช้ Blockchain ในองค์กร และความสนใจในการหาช่องทางการลงทุนทางเลือก แม้ว่าจะมีกระแสข่าวเรื่องการพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่อาจเป็นปัจจัยลบในด้านการใช้งาน แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตที่ดี

สำหรับปัจจัยสนับสนุนของ Tech Startup Ecosystem ที่เกิดขึ้นในปี 2021 มีด้วยกัน 2 ประเด็น ได้แก่ การพิจารณาลด Capital Gain Tax (ซึ่งต่อเนื่องมาถึงปี 2022) ในการลงทุน Startup อีกประเด็นคือการเกิด Mass Digital Adoption ผ่านโครงการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่กระตุ้นการใช้ e-Payment ในระดับประชาชนทั่วไป แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหนุนโดยตรงแต่ก็ช่วยให้ Startup ที่นำเสนอ Digital Service มีโอกาสมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

สำหรับปี 2022 จะเป็นปีที่เรียกได้ว่าเข้าสู่ Wave ที่ 2 ของ Startup Ecosystem ไทย โดยถือเป็นการก้าวสู่ทศวรรษใหม่ที่จะมีโอกาสที่เด่นชัดจากหลายปัจจัย ทั้งจากการเกิด Unicorn ที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับ Startup ไทยและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลที่จะเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงการเข้ามาของ Emerging Technology ที่ทำให้ Startup มีทางเลือกในการ Tackle ปัญหาและคว้าโอกาสในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น ดังนั้น ในปี 2022 แม้จะมีสถานการณ์ COVID-19 แต่ด้วยปัจจัยสืบเนื่องจากปี 2021 หลายฝ่ายจึงมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ Golden Age ของ Startup ไทย

รูป 1 แสดงมูลค่าและจำนวนดีลตั้งแต่ปี 2012-2021 โดยใช้ข้อมูลตามหลักการใน Techsauce Startup Directory แผนภาพบนแสดงจำนวนและมูลค่าการระดมทุน แผนภาพล่างแสดงจำนวนการระดมทุนแบ่งตาม Funding Round 

ภาพรวมกิจกรรมการระดมทุน

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 แม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดตัว แต่สำหรับในการระดมทุนนั้นกลับยังมีความคล่องตัวสูง โดยเห็นได้จากจำนวนการระดมทุนที่มีนัยยะสำคัญมากถึง 58 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าที่เปิดเผยรวมกันถึง 318.514 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากข้อมูลที่ได้รับการอัพเดตล่าสุดถึงวันที่ 11 กพ 2022) นอกจากจำนวนรวมและมูลค่าที่สูงขึ้นแล้ว มูลค่าต่อรอบการระดมทุนในไทยก็มีตัวเลขที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนปี 2019 โดยแนวโน้มดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็เลือกลงทุนใน Startup ที่ค่อนข้างเติบโตอยู่แล้วหรือ Series A ขึ้นไป จากข้อมูลของ Techsauce มีการระดมทุนระดับ Series A ขึ้นไปมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปีนี้ โดยคิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ของดีลทั้งหมด (ไม่นับรวม Venture Round และ Undisclosed) 

ทั้งนี้ ตัวเลขการระดมทุนยังมีแนวโน้มโอกาสเพิ่มขึ้นในปีถัดไป เนื่องจากเหล่าบรรดานักลงทุนและสถาบันมีเงินรอลงทุนที่ได้รับอนุมัติ (ภาวะ Dry Powder) เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมี Startup มารองรับเงินลงทุนดังกล่าวด้วย

รูปที่ 2 แสดงการระดมทุนในปี 2021 โดยใช้ข้อมูลตามหลักการใน Techsauce Startup Directory 
ภาพบนแสดงจำนวนรอบการระดมทุนแบ่งตามรอบการระดมทุนและอุตสาหกรรม 
แผนภาพล่างแสดงมูลค่าการระดมทุนทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม

กิจกรรมการระดมทุนที่น่าจับตาของปี 2021

จากการกำเนิดของ Startup Unicorn สัญชาติไทย ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทำให้วงการสตาร์ทอัพไทยเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง โดยผลกระทบหลักของ Unicorn Startup คือการทำให้เกิด Awareness ต่อ Startup Ecosystem ทั้งหมด สร้างความตื่นตัวและความเชื่อมั่นให้ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการและนักลงทุน 

โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาในขั้นต่อไปคือการที่ Startup สามารถดำเนินธุรกิจที่สร้าง Impact ต่อตลาดและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรคาดหวังกับ Startup Unicorn และการหมุนเวียนของทรัพยากร ทั้งเงินทุนของผู้ลงทุนรอบก่อนที่ตัดสินใจ Exit หลังกิจการเกิดเป็น Unicorn ซึ่งอาจวนกลับมาที่ Startup รายใหม่ ไปจนถึงกลุ่มบุคลากรที่ได้รับผลประโยชน์และตัดสินใจออกมามีส่วนร่วมกับ Ecosystem เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ประกอบการ (Founder) นักลงทุน หรือแม้แต่ Mentor ซึ่งนี่คือผลสืบเนื่องจากการเกิด Unicorn โดย Startup Unicorn ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นด้วยคนไม่กี่คน และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

  • Flash Express ผู้ให้บริการด้านขนส่งเอกชน ปิดการระดมทุน 2 รอบภายใน 1 ปี ทั้ง Series D+ และ Series E มูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์ โดยได้ SCB 10X เป็นผู้ร่วมทุนใหญ่ในทั้ง 2 รอบ และใน Series E ก็ยังคว้า Buer Capital กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ร่วมด้วย SCB 10X ตามด้วย eWTP, บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP และ Krungsri Finnovate 

  • Bitkub ผู้ให้บริการ Digital Asset Exchange Platform ที่ประกาศขายกิจการให้กับ บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCB Securities (SCBS)  ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นมูลค่า 535 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Corporate ไทยกับการลงทุนในต่างประเทศ

  • SCB 10X มีการลงทุนในต่างประเทศตามกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการลงทุนใน Blockchain และ DeFi Project โดยในปี 2021 มีการร่วมลงทุนใน Anchorage แพลตฟอร์มรับฝากสกุลเงินดิจิทัลรอบ Series C มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับ Fireblock แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยระดับองค์กร Series D มูลค่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีการลงทุนใน Business Solution อย่าง DarwinBox แพลตฟอร์มสำหรับ HR จากอินเดียใน Series C กับการลงทุนใน Nansen นักพัฒนา Platform วิเคราะห์ข้อมูล Blockchain จากสิงคโปร์ใน Series B

  • อุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนคือ FoodTech ก็มีการลงทุนกับ Startup ต่างประเทศ โดย NRF ลงทุนใน Wicked Kitchen ในส่วนของไทยยูเนียน (Thai Union) มีดีลที่น่าสนใจหลายดีล อาทิลงทุนใน Blue Nalu, ร่วมลงทุนกับ Fuchsia Venture Capital ใน Alchemy และร่วมมือกับอีกหลายบริษัทเพื่อเตรียมพัฒนาในเรื่อง Cell plant base ทั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทล้วนมีการลงทุนใน Food Tech Startup ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของไทยซึ่งมี Footprint อยู่ในระดับโลก

  • อีก Deal หนึ่งคือการลงทุนของ Beacon VC ร่วมลงทุน Series C ใน Carro มูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • นอกจากนี้ยังมี EnergyTech ที่น่าสนใจจากกระแสพลังงานทางเลือกในอนาคตโดย Thai Oil ได้ลงทุนใน UnaBiz จากสิงคโปร์ และอีกหนึ่งการระดมทุนในอุตสาหกรรม Business Solution คือการลงทุนของ SPrint Holding ใน Gemini Data Inc. ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จากสหรัฐอเมริกา

    สรุปการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A)

  • ในปี 2021 เกิดการเข้าซื้อและควบรวมกิจการทั้หมด 7 ดีล โดยดีลที่สำคัญได้แก่ Bitkub ที่ถูกเข้าซื้อกิจการโดย SCBS จนกลายเป็น Unicorn, Skootar ที่ถูกเข้าซื้อโดย V Ventures Technology ด้วยมูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการควบรวมกิจการของ Eventpop กับ SYNQA

  • นอกเหนือจาก Startup แล้ว ยังมีการควบรวมกิจการของ dtac กับ true ซึ่งถือเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ ในขณะที่เขียนบทความนี้เป็นช่วงการศึกษาร่วมกันถึงความเป็นไปได้ โดยคาดว่าการควบรวมจะลุล่วงภายในปี 2022 ทั้งนี้ dtac และ true ต่างเป็นบริษัทที่มีส่วนร่วมกับ Startup Ecosystem มาอย่างยาวนาน โดย dtac นั้นเป็นผู้ก่อตั้ง dtac accelerate โครงการ accelerator ที่บ่มเพาะ Startup มากที่สุด ณ เวลานี้ แต่ได้ยุติกิจกรรมไปเมื่อปี 2019 ส่วน true เองก็มีหน่วยงาน CVC อย่าง true incube และมี Business Unit อื่นๆ อย่าง true Digital Park ซึ่งวางเป้าหมายเป็นจุดผลักดัน Tech Ecosystem ของไทยให้เติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การควบรวมกิจการจะยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก ถึงทิศทางการขับเคลื่อน Startup Ecosystem แต่มีการระบุว่าจะมุ่งสนับสนุนด้าน SpaceTech ด้วย ดีลนี้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีผลกับทิศทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวม ซึ่งมีส่วนต่อเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมากในปัจจุบัน

รูปที่ 3 ตารางแสดงจำนวน Startup ไทย ที่มีการเข้าซื้อและควบรวมกิจการในปี 2021

กิจกรรมสำคัญของ Startup Ecosystem

Digital adoption ในภาคประชาชนและรายย่อย

สาเหตุของ Digital Adoption ในไทย นอกจาก Work from Home ที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ยังมาจาก เครื่องมือมาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐที่เกิดขึ้นบน Digital Platform อย่างการใช้แอปพลิชันเป๋าตัง และการหันมาใช้งาน e-Service เพื่อรับบริการที่จำเป็น เช่น การรับวัคซีน 

การเพิ่มขึ้นของ E-Payment จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน Transaction ใน E-Payment เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุมาจากการใช้งาน E-Wallet ที่เพิ่มขึ้นในข่วงล็อกดาวน์ ตัวอย่างหนึ่งคือมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่าง คนละครึ่ง ที่ประชาชนต้องยืนยันสิทธิ์และใช้จ่ายผ่าน แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทำให้มียอดการใช้จ่ายบนระบบมากขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากดูมูลค่าที่เกิดขึ้นต้องถือว่าไม่ได้สูงมากนักเนื่องจากเป็นการใช้งานแบบ Microtransaction ที่มีมูลค่าต่อครั้งไม่สูง

https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=681&language=th

นอกจากนี้ ยังมีการใช้งาน e-Service เพื่อเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นในช่วง COVID-19 โดยเฉพาะการจองฉีดวัคซีน COVID-19 ที่หน่วยงานต่างๆ จัดการผ่านแอปพลิเคชัน โดยเฉพาะ 'หมอพร้อม' ที่ประชาชน สามารถใช้แสดงผลการฉีดวัคซีนหรือผลการตรวจโรค COVID-19 เพื่อเข้าใช้บริการต่างๆ แทนการพกเอกสารยืนยันได้

ปรากฎการณ์ Tech Company

ในปี 2021 การ Work From Home ยังคงเป็นเทรนด์ใหญ่ในเรื่องการทำงานและธุรกิจ ประกอบกับในประเทศไทยมีการใช้ Lockdown ตามสถานการณ์ทำให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ Solution มากขึ้นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน แน่นอนว่าเทรนด์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากปี 2020 เองก็มีการนำ Business Solution มากมายมาใช้กันแล้ว แต่ในปี 2021 การใช้ Solution ดังกล่าวเริ่มขยับขยายไปสู่องค์กรขนาดกลางซึ่งมีจำนวนมาก โดยการขยายตัวนี้เกิดจากการเห็นความสำคัญของผู้บริหารที่ต้องการปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นบนสถานการณ์ที่ขาดความแน่นอน

การขยับขยายด้านการใช้ Digital Tools และ Digital Platform ในธุรกิจขนาดกลางอาจกล่าวว่าเป็นสัญญาณอันดีในอนาคตเพื่อปูทางสู่ Mass Digital Transformation โดยธุรกิจขนาดกลางจะใช้งาน Digital Product ในทุกงานที่สามารถทำได้ทั้ง Production, Operation ไปจนถึงงาน Management และการทำธุรกรรมระหว่างองค์กร

นอกจากการปรับตัวขององค์กรที่ถือเป็น Demand แล้ว Startup ไทยซึ่งเป็น Supply ก็เตรียมตัวอย่างดีด้วยการพัฒนา Solution มาตอบรับความต้องการ และนอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐให้ธุรกิจใช้งาน Digital Product โดยกิจการในประเทศไทยจากองค์กรสนับสนุนอย่าง depa และ ETDA เป็นต้น

ความเคลื่อนไหวของ Venture builder

    ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Venture Builder ยังถือว่าน่าสนใจสำหรับปี 2021 ซึ่งประเด็นที่เราสรุปได้มีดังนี้

  • แม้จะเห็นบริษัทใหญ่ออกมามีความเคลื่อนไหวในการทำโครงการ Venture Builder แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมทำให้ยังไม่เห็นผลกระทบออกมาชัดเจนนัก สำหรับผู้เกี่ยวข้องควรติดตามสถานการณ์ในปี 2021 ต่อไป
  • สำหรับการมาของ Venture Builder แม้หลายคนจะมีความกังวลในเรื่องของการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ในทางกลับกันก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองมากขึ้น รวมถึงต้องมองถึงการ Synergy กับ Corporate มากกว่าที่ผ่านมา
  • ทั้งนี้ ข้อดีของ Venture Builder ยังคงเป็นการลดความเสี่ยงของ Talent ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการด้วยการเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร เหมาะกับบุคคลที่มีความสามารถแต่มีภาระที่ต้องการความมั่นคงมากกว่าออกมาดำเนินธุรกิจเอง
  • องค์กรที่มีความโดดเด่นและผลักดันด้าน Venture Builder โดยตรงของไทย อาทิ SCB10x
  • Deal และกิจกรรมที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Tech Company ที่มีการ spin-off ธุรกิจออกมาจากบริษัทใหญ่ และมีการระดมทุน ในปี 2021
    • Ascend Money ระดมทุนกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Bow Wave Capital ร่วมลงทุนกับเครือ CP และ Ant Group
    • SCB Abacus หนึ่งใน Venture Builder ของ SCB X  ได้เงินลงทุนกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯฯ จาก Openspace Ventures , Vertex Ventures Southeast Asia และ CAI Partners 

ตัวอย่างกิจกรรมด้าน Venture Building ในปี 2021

สถานการณ์ Talent

 สถานการณ์ด้านบุคลากรในปี 2021 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายไม่น้อยจากการเปลี่ยนแปลงหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเดิมอย่างจำนวน Tech Talent ที่ยังขาดคลาน ในขณะที่ Demand ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเทรนด์ของอาชีพการทำงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

  • ปัจจุบัน สถานการณ์ Tech Talent ในไทยประสบปัญหาขาดแคลนด้านจำนวน โดยเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ Demand จาก Corporate ที่ต้องการพัฒนาเป็น Tech Company จึงเกิดการแข่งขันเพื่อ Acquire Talent ค่อนข้างสูง โดยนอกจากจำนวนแล้ว ค่าจ้าง Talent ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจาก Corporate มีกำลังที่จะจ้างในราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับ Startup

  • ในด้านความสามารถในการทำงานจริงก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีบัณฑิตสายงานเทคโนโลยีออกมาเพิ่มขึ้นแต่ความสามารถของบุคลากรยังคงน่าเป็นห่วง Tech Talent ในไทยยังมีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษซึ่งสำคัญสำหรับการค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาในงานของตน รวมถึงบางทักษะพื้นฐานที่ยังไม่แข็งแรงพอจะทำงานร่วมกันได้ทันที ทำให้องค์กรต้องจัดฝึกอบรมเพิ่มเติม ซึ่งการฝึกอบรมก็เป็นต้นทุนที่บริษัทต้องพิจารณาเพิ่มขึ้นทันที

  • ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้บุคลากรที่มีความสามารถยังทำงานอยู่กับองค์กรได้ ซึ่ง Startup แม้จะมีทุนจำกัด แต่ก็มีแนวทางในการแก้ปัญหานี้สำหรับบริษัทที่ค่อนข้างมั่นคงหรือเป็นที่รู้จักแล้ว ด้วยการเสนอหลักทรัพย์ของบริษัทแก่พนักงานหรือ ESOP อย่างไรก็ตาม ESOP จะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อกิจการที่ให้มีโอกาสที่ดีในการเติบโต และบริษัทให้เงินเดือนเพียงพอต่อการดำรงชีพของพนักงานเป็นสำคัญ

  • ปัจจุบัน ทุกองค์กรหันมาให้ความสนใจในเรื่องของ “วัฒนธรรมองค์กรและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” มากขึ้น จึงทำให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในการตัดสินใจทำงานของบุคลากรที่สำคัญพอกับเงินเดือน ดังนั้นถ้าไม่อาจแข่งขันราคาในการบุคลากรได้ วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดพนักงานเข้ามาได้

  • อีกหนึ่งแนวทางคือ “นักศึกษาฝึกงาน” แม้ว่าจะมีต้นทุนในการอบรมสอนงาน แต่ก็ได้ผลตอบแทนเป็นงานกลับมากลับมา และถ้าบริษัทมีความน่าอยู่ คนกลุ่มนี้ก็จะกลับมาเป็นพนักงานที่มีประสบการณ์มาจากการฝึกงานแล้ว ทำให้สามารถทำงานได้ทันที และไม่ต้องเสียเวลาในการปรับตัว

  • ในส่วนของการมี Software House หรือ Tech Pool ที่มากขึ้น อาจแก้ปัญหาได้แค่เพียงบางส่วน เนื่องจากธุรกิจบางรูปแบบจำเป็นต้องมีบุคลากรเป็นของตัวเองเพื่อความราบรื่นในการดำเนินงาน เช่นเดียวกันกับการจ้าง Digital Nomad ที่อาจยังไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร เพราะต้นทุนในการดำเนินการจ้างงาน และการสื่อสาร แต่ก็สามารถแก้ปัญหาขาดแคลน Talent ได้ในระดับหนึ่ง

  • ปัจจุบัน มีการหาเงินที่วิธีการหลากหลายกว่าเดิม ทำให้ Talent เข้าหาวิธีการใหม่ ๆ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การเป็น Influencer หรือ Content Creator โดยทั้งหมดนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกทำงานประจำหรือทำ Startup เองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยุคก่อน

ข้อเสนอแนะและความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามต่อ

ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ

ด้วยกระแส Globalization และการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ควรจะวาง Business Model ให้มีเป้าหมายที่เป็นระดับ Regional หรือ Global เลยตั้งแต่แรก นอกจากนี้การเลือก Positioning ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การเลือก Sector ที่เป็น Rising Tide หรือ Star จะมีโอกาสโตได้ง่ายกว่า รวมถึงการหาที่ว่างในพื้นที่ตลาดนั้นๆ และสำหรับ SMEs ในปัจจุบันก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง adopt digital to the core และคอยสร้างปฏิสัมพันธ์กับ  investor และ community เพื่อหา strategic partner ที่จะช่วยสร้างเสริมธุรกิจให้แข็งแรงยิ่งขึ้น รวมถึงการมองหานักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแต่ในประเทศ เพราะปัจจุบันมีวิธีการระดมทุนแบบใหม่ที่มาพร้อมกับเงินทุนจำนวนมาก และการทำงานกับนักลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรศึกษาการระดมทุนแต่ละรูปแบบและเลือกให้เหมาะสมตนเอง เพราะการมีแหล่งเงินทุนที่ดีเป็นหนึ่งใน Key Success 

สำหรับช่องว่างในปัจจุบัน/อนาคตที่น่าสนใจ นอกจากเทรนด์ที่มาแรงในตอนนี้อย่าง DeFi, Digital Asset, Metaverse หรือที่เริ่มเป็นที่น่าสนใจตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดของโควิดแต่ยังมีช่องว่างอยู่อย่าง HealthTech, MedTech, EdTech รวมไปถึงการทำธุรกิจแบบ B2B เนื่องจากกระแส Digital Transformation ที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้น ดังนั้น Enterprise Software, business solution และ cybersecurity จึงจำเป็นต่อองค์กร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับ Silver Economy เป็นที่น่าสนใจ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กระแสสิ่งแวดล้อม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี DeepTech, BioTech, EV, Mobility, 5G, IoT, Smart City, Web 3.0 จึงเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะ  tech startup ที่มี core technology ที่ไม่อาจ replicate ได้ง่าย ๆ 

และสิ่งที่สำคัญที่สุด Entrepreneur ที่ประสบความสำเร็จแล้วนอกจากการแชร์ประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นแล้ว ควรจะกลับมาช่วยให้คำแนะนำ (Mentor) หรือเป็นนักลงทุน (Angel Investor) รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงเครือข่าย Startup Ecosystem ก็จะช่วยให้ Community มีบรรยากาศที่ดีและเพิ่มโอกาสสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อ Ecosystem ได้มากขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อนักลงทุน

    สำหรับนักลงทุน เนื่องจากในปี 2021 ถือเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวเชิงบวกที่สำคัญมากมายที่ถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน อย่างไรก็ตามยังมีสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเป็นโอกาสของนักลงทุนและผู้ที่สนใจสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนใน Startup ด้วย ซึ่ง Techsauce สรุปได้ดังนี้

    การลงทุนใน Early Stage Startup กลายเป็นประเด็นหนึ่งจำเป็นมากในอนาคตระยะสั้นเนื่องจากจากตัวเลขของ Techsauce พบว่ามีการลงทุนใน Seed Stage ที่ประกาศออกมาค่อนข้างน้อยกว่าปีก่อนหน้า สิ่งที่ตามมาหากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่คือการขาด Deal Flow หลังจาก VC สามารถ Exit Startup รายเดิมและต้องหารายใหม่ลงทุน ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการลงทุน

    แน่นอนว่าปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการ Supply ของ Startup ที่ลดลง แต่ขณะเดียวกัน การเพิ่ม Demand ของ VC และ Investor ก็มีส่วนช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ Angel Investor ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญลำดับแรกๆ ในกิจกรรมนี้ ซึ่งหาก Angel Investor ไม่ได้เน้นลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ความสามารถช่วยสนับสนุน Startup เพื่อให้เขาดำเนินกิจกรรมไปได้ตามเป้าหมาย โอกาสสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งก็หมายถึงผลตอบแทนที่ Angel Investor จะได้โดยตรง ลำดับต่อมาคือ VC Fund ซึ่งแม้จะมีแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์ แต่หากสามารถปรับมาลงทุนใน Startup ระดับ Early Stage ได้ก็จะช่วยเพิ่มความคึกคัก อันส่งผลต่อภาพรวม Ecosystem ที่กำลังต้องการเพิ่ม Deal Flow และลด Shortage ของ Seed Stage Startup ได้

    ทั้งนี้ การลงทุนใน Startup ถือเป็นการลงทุนแบบ High risk high return เช่นเดียวกับ Cryptocurrency แต่อาจจะแตกต่างกันที่สภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนกับ Startup จะสามารถสร้าง Impact ให้กับสังคมนั้นๆ โดยตรง จึงถือเป็นการลงทุนซึ่งจะเกิดผลดีที่ใกล้ตัวกว่า

    สำหรับ Startup ระดับ Growth Stage เองก็ยังมีจุดที่พวกเขาต้องการ Support จากนักลงทุนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการ Synergy กับ Corporate หรือ Agency ต่างๆ เพื่อเร่งโตให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและตลาดที่อยู่ในระดับที่ Mature แล้วซึ่งยากหาก Startup จะดำเนินการเพียงลำพัง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมองถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการ Synergy ของ Startup ไว้ด้วย ซึ่งการที่นักลงทุนมองถึงจุดนี้จะช่วยให้ Startup โตเร็วและสร้างผลตอบแทนได้เร้วขึ้น

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังเริ่มมีการพูดถึง Startup ที่เกิดและให้บริการนอกกรุงเทพมหานคร โดยแม้จะมีการเข้ามาให้บริการที่คล้ายกันโดยรายใหญ่ เช่น Food Delivery หรือ Online Service ต่างๆ แต่ Startup เหล่านี้มีข้อได้เปรียบเรื่อง Insight ในพื้นที่และลูกค้า อีกทั้ง Startup กลุ่มนี้ยังเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนท้องถิ่นซึ่งมีทรัพยากรรอการลงทุนอยู่มาก หากนักลงทุนสามารถเข้าถึงและประสานความร่วมมือกับ Startup และนักลงทุนท้องถิ่นก็อาจเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

เมื่อพูดถึงผลกระทบทางสังคม การลงทุนใน ESG Startup และ Diversify Startup ซึ่งเน้นการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมนั้น ไม่ใช่การลงทุนเพื่อการกุศลอีกต่อไป ปัจจุบัน Startup ลักษณะดังกล่าวทั่วโลกหลายรายเริ่มประสบความสำเร็จทางการเงินไปพร้อมกับการช่วยยกระดับสังคมได้ ในอนาคตอันใกล้ นักลงทุนจึงสามารถพิจารณาแนวทางการลงทุนในกลุ่มนี้เพื่อสร้างผลตอบแทนไปพร้อมกับผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้

สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ ปี 2022 จะถือเป็นปีทองสำหรับ Startup ไทยเนื่องจากผลกระทบของการเกิด Unicorn โดยนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจ Startup ไทยในปัจจุบันจะมีช่องทางการติดต่อที่หลากหลายเพื่อเข้าหา Community ในไทยที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนของรัฐอย่าง NIA หรือ depa รวมถึง Community Builder กลุ่มต่างๆ และเครือข่ายผู้ประกอบการประจำมหาวิทยาลัย    

ข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบายและหน่วยงานสนับสนุน

ภาคนโยบายยังถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับ Ecosystem ไทย ซึ่งปัจจุบันแม้หน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุน Startup จะสามารถทำตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้ แต่ยังขาดการสื่อสารกันระหว่างองค์กรเพื่อลดการทำงานที่ทับซ้อนกัน รวมถึงการประสานงานกับเอกชนและหน่วยงานต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขยายโอกาสต่างๆ 

หนึ่งในการปรับตัวที่มีโอกาสสร้าง Impact ได้ดีที่สุดคือการจัดทำนโยบายสนับสนุนแบบ Proactive หรือการมองไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดเป้าหมายอย่างที่ต่อการ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานสนับสนุนเริ่มมีนโยบายที่ Proactive มากขึ้นตามขอบเขตและข้อกำหนดเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยพลวัตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มาตรการที่เคยออกมาก่อนหน้านี้อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ซึ่งทุกฝ่ายก็ติดตามและคาดหวังถึงการสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมใน Ecosystem เป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น

การสื่อสารถือเป็นประเด็นที่หน่วยงานสนับสนุนจำเป็นต้องเพิ่มเติม ทั้งเพื่อให้มาตรการมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นผ่านการสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และลดการทำงานที่มีวัตถุประสงค์ซ้ำซ้อนกันอันจะทำให้ผลกระทบเชิงบวกของแต่ละงานลดลง นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังสามารถใช้การสื่อสารเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การสนับสนุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นได้

ข้อเสนอแนะต่อ Community Builder

สถานการณ์ Accelerator ในปี 2021 แม้จะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่หากดูในรายละเอียด จะพบว่า Accelerator ที่มีนั้นจะเน้นไปที่โครงการเร่งโตของธุรกิจในรายอุตสาหกรรม แน่นอนว่าการมีโครงการแบบนี้อาจเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นข้อจำกัดให้ Startup ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใด ๆ นั้นสามารถเข้าถึงโอกาสและต่อยอดในมุมของตัวเองได้ ดังนั้น Accelerator ที่เปิดกว้างด้านประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมจึงยังจำเป็นต่อ Ecosystem ประเทศไทย ซึ่งการเริ่มต้นโครงการลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยบริษัทเอกชนอย่างที่เคยเป็นมาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสนับสนุนของภาครัฐ ร่วมกับบริษัทเอกชน หรือ Venture Capital และ Private Equity Firm ทั้งในไทยและต่างประเทศซึ่งมองหาการลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Return) ทั้งนี้ สิ่งสำคัญสำหรับการทำโครงการ Accelerator คือการดำเนินโครงการเพื่อเป้าหมายระยะยาว คือเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนบทบาทของบุคลากรโดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิด Community อันจะช่วยให้การสานต่อประสบการณ์และความเชี่ยวชาญไปยังผู้ประกอบการรุ่นถัดไปได้อย่างมั่นคง

Incubator เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นประกอบกิจการของผู้ประกอบการหน้าใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการเริ่มต้นต้องการในระยะแยกนั้นมีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเข้าถึงเครือข่ายเพื่อเริ่มต้นก่อร่างในด้านต่าง ๆ อาทิ การค้นหา Talent เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเริ่มมองหาช่องทางเข้าถึงตลาด การเริ่มต้นติดต่อกับนักลงทุนเพื่อรับเงินระดมทุนระยะเริ่มต้น และการเข้าถึงช่องทางสนับสนุนต่าง ๆ แม้ว่าผู้ประกอบการจะเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้เอง แต่การมีเครือข่ายจะช่วยลดเวลาในการคัดเลือกผู้มีส่วนร่วมที่น่าเชื่อถือได้ ดังนั้น หาก Incubator ซึ่งถือเป็นจุดบ่มเพาะระยะแรกมีเครือข่ายชุมชนที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นตามไปด้วย

การเคลื่อนไหว Government regulation ที่น่าจับตามองต่อในปี 2022

ความคืบหน้ามาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain 

ความเคลื่อนไหวของภาคการกำกับดูแลเมื่อปี 2021 ที่ผ่าน ช่วงปลายปีรัฐบาลได้มีการตอบข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี capital gain หรือ ภาษีที่เก็บกำไรจากการขายหุ้น สำหรับการลงทุนใน Startup 

ต่อมาในเดือนมกราคม 2022 ณ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็บชอบในมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและ Startup และได้มีการมอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ ร่วมกับกรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สวทช. NIA และ ก.ล.ต. จัดทำร่าง พ.ร.ฎ.ยกเว้น ภาษี Capital Gains 

จากมาตรการดังกล่าว ถือเป็นการสนับสนุนด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับ Startup ไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ Startup ตั้งบริษัทในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแนวทางร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในทางปฏบัติจริงต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นต่อไป

LiVE Exchange ตลาดรองสำหรับ Startup และ SME ในประเทศไทย

ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการส่งเสริมให้ SMEs และ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนได้ในวงกว้าง และสามารถนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดรองได้ ผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นกระดานที่ 3 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุนที่เพิ่มมากขึ้น 

สำหรับเงื่อนไขการเข้าระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก หรือ IPO ของ Startup นั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯได้กำหนดให้  Startup ที่มี VC ลงทุน หรืออยู่ในระดับ Series A ขึ้นไป สามารถเข้าระดมทุนได้ ส่วนงบการเงินหรืองบ PAE นั้นจะใช้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น และไม่มีการกำหนดเกณฑ์กำไรขั้นต่ำ กล่าวคือ แม้ว่า Startup จะยังมีงบการเงินที่ขาดทุนอยู่ก็สามารถระดมทุนได้ โดยจะต้องระดมทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการระดมทุนนั้นต้องได้เงินไม่น้อยกว่า 80% ของการระดมทุน  

อย่างไรก็ตามสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติเกณฑ์ในการที่จะระดมทุนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม 2565  และคาดว่าภายในไตรมาส 1 ปี 2565 LiVE Exchange จะสามารถเปิดให้เข้ามาซื้อขายได้

การเก็บภาษี Digital Asset 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงเป็นอย่างมาก เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่กรมสรรพากรได้มีการประกาศเรียกเก็บภาษี Digital Asset ซึ่งในระยะแรกนั้นเกณฑ์ต่าง ๆ อาจจะยังไม่ได้มีความชัดเจนเท่าที่ควร ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ ดิจิทัลไทย สมาคมฟินเทคประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ได้มีการหารือ เพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 28  มกราคม 2022 กรมสรรพากรได้มีการออกแนวทางโดยมุ่งเน้นไปที่ 'ทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต' สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น   และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2022 กรมสรรพากร ได้มีการออกคู่มือถึงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการยื่นแบบฯ ประจำปี 2564 เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับประชาชนผู้เสียภาษี

การสนับสนุน Smart City

Smart City เป็นหนึ่งในนโยบายที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะ depa ซึ่งมีภารกิจด้านนี้โดยตรง ซึ่งหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่เห็นได้คือการจัดงาน depa Smart City Accelerator Program ซึ่งจัดเป็น Batch 2 แล้ว

แม้โครงการ Accelerator จะเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนวัตกรรม แต่ก็ต้องมีส่วนอื่นที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยเฉพาะการสร้างตลาดเพื่อขับเคลื่อนการใช้งานนวัตกรรมจนนำไปสู่การเกิดเป็น Ecosystem ของ Smart City ซึ่งปัจจุบัน depa กำลังทำงานด้วยการเชื่อมโยง Startup ที่พัฒนา Digital Solution หรือเป็น Digital Provider ให้กับผู้ที่มีความต้องการใช้งานดังกล่าว เพื่อให้เกิดตลาด ซึ่งปัจจุบันในฝั่ง Demand จะมีทั้งภาครัฐอย่างหน่วยงานบริหารส่วนต่างๆ ของเมือง (เทศบาล, ตำบล และ อำเภอ) ภาคเอกชนที่ลงทุนในโครงการนิคมอุตสาหกรรม ไปจนถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคนโยบายมาร่วมเอาผลิตภัณฑ์ของ Startup ไปใช้ด้วย

การสนับสนุนด้านทุนสำหรับ Startup โดยหน่วยงานรัฐ

การสนับสนุนด้านทุนสำหรับ Startup ยังเป็นมาตรการที่หน่วยงานสนับสนุนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการสนับสนุนด้านทุนผ่านโครงการคัดเลือกการให้เงินทุนโดยตรงแล้ว หน่วยงานสนับสนุนยังมองถึงวิธีการทำ Matching Fund โดยจากการสัมภาษณ์หน่วยงานสนับสนุนด้านกิจกรรม Startup ทั้ง NIA และ depa ล้วนมีแนวคิดการสนับสนุนโครงการ Matching Fund ทั้งคู่ โดย NIA ระบุว่ากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางทางกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานสามารถร่วมลงทุนได้ ซึ่งการร่วมลงทุนของหน่วยงานน่าจะช่วยให้นักลงทุนให้ความสนใจและตัดสินใจลงทุนกับ Startup ไทยได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้ ทาง NIA กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติ Startup เพื่อระบุคุณสมบัติของ Startup ที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

ขณะเดียวกัน หน่วยงานสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่าง depa เองก็มองถึงการทำ Matching Fund ในเพื่อส่งเสริมให้ SME และกิจการธุรกิจในประเทศไทยใช้บริการ Tech startup ไทย โดยมีแนวคิดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือเสนอผลประโยชน์บางอย่างแก่กิจการเมื่อมีการใช้บริการ Startup ไทย

ไม่เพียงแต่ Matching Fund เท่านั้น แต่ depa ยังมีแนวคิดการลงทุนใน Startup โดยตรง (Direct Investment) แทนที่การสนับสนุนผ่านเงินทุนให้เปล่า (Grant) ซึ่งดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษากฎหมายและจัดทำแนวทางซึ่งทางหน่วยงานคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2025

------------------------------------------------------------------------------------

ติดตามส่วนที่ 2 รายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรมได้ที่นี่

สำหรับรายละเอียดและข้อมูลเชิงลึก เตรียมติดตามได้ใน Techsauce Tech Startup Ecosystem Report 2021 ภายในเดือนมีนาคมนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...