บทความนี้ Techsauce ได้หยิบงานวิจัยที่จัดทำโดย Abacus, 500 Startups และ the South China Morning Post ขึ้นมา เพื่อพาทุกคนไปดูภาพรวมของอุตสาหกรรมออนไลน์ของประเทศจีน ประจำปี 2018 โดยได้รวบรวมทั้งผู้เล่นรายใหญ่ในแต่ละแขนง พร้อมชี้ให้เห็น 4 ความจริงที่เกิดขึ้นและกำลังครอบคลุมตลาดจีนในปัจจุบัน
ก่อนอื่นเราไปดูภาพรวมด้านการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศจีนกัน โดยเทียบกันให้เห็นชัดๆ กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้เปอร์เซ็นการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศจีน จะอยู่ที่ประมาณ 50% ของประชากรทั้งหมด (1.4 พันล้านคน) แต่แค่นั้นก็คิดเป็น 3 เท่าของผู้ใช้ Smart Phone และ 11 เท่าของผู้ใช้ Mobile Payment ในอเมริกา โดยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนอยู่ 772 ล้านคน ขณะที่ในอเมริกามีผู้ใช้ 292 ล้านคน
หมัดต่อหมัด ผู้เล่นรายใหญ่ของจีนและอเมริกาในแต่ละแขนง
ปักกิ่งเป็นเมืองที่ผลิต Startup คุณภาพออกมาเยอะที่สุด โดยมี Unicorn ถึง 61 ราย รวมมูลค่ากว่า 305 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย หางโจว 240 พันล้านดอลลาร์ และเซี่ยงไฮ้ 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งปัจจุบัน จีนมี Unicorn รวมทั้งหมดถึง 142 ราย
แน่นอนว่าผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของจีน ก็คือ Alibaba ที่มีมูลค่าสูงถึง 492.4 พันล้านดอลลาร์ และ Tencent มูลค่า 479.6 พันล้านดอลลาร์ นำห่างจากผู้เล่นรายอื่นๆ อย่าง Baidu และ JD (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.ค. 2018)
หากนับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ปี 2017 ถึง กรกฏาคม ปี 2018 มี Startup ที่ถูกซื้อกิจการเด่นๆ อย่างเช่น Ele.me ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ ถูก Alibaba ซื้อไปด้วยราคาสูงสุด 9.5 พันล้านเหรียญ ตามด้วย Mobike สตาร์ทอัพให้เช่าจักรยาน ที่ Meituan-Dianping ซื้อไป 2.7 พันล้านเหรียญ
1. บริษัทยักษ์ใหญ่ทำทุกอย่างและอยู่ในทุกที่
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent ต่างออกบริการและธุรกิจในทุกๆ แขนงที่เกี่ยวข้องกับ Internet Ecosystem ไม่ว่าจะด้วยการลงทุน หรือควบรวมกิจการ เช่น ธุรกิจ E-Commerce, ธุรกิจสื่อออนไลน์, Social media, AI, Smart Device, Blockchain, FinTech, ธุรกิจเกมส์, การศึกษา, กีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย
สามารถดู list แบบเต็มๆ ได้ที่นี่
2. อินเตอร์เน็ตช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนแถบชนบท
จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแถบชนบทของประเทศจีน เพิ่มขึ้นเป็น 209 ล้านคนในปี 2017 หรือคิดเป็น 35% ซึ่งจากรายงาน อินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ในการพัฒนาด้าน E-commerce ด้านการศึกษา และ การรับข่าวสารในเมืองห่างไกล
3. บริษัทต่างๆ หันมาใช้โมเดล Social+ ในการดำเนินธุรกิจ
บริษัท E-Commerce จีน ต่างหันมาใช้โมเดล Social+ ซึ่งคือการนำ Social Networks มาเป็นเครื่องมือดึงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ และขยายการเติบโต เช่น แอปพลิเคชัน Pinduoduo ที่มีผู้ใช้กว่า 156 ล้านคนในปี 2017 ใช้วิธีให้ส่วนลดกับผู้ที่ชักชวนเพื่อนผ่าน WeChat มาซื้อของผ่านแพลตฟอร์มด้วยกัน หรือ แอปพลิเคชัน Xiaohongshu ที่รวบรวมฟังก์ชันของ Instagram, Pinterest และ Amazon เอาไว้ ผู้ใช้สามารถโพสต์ภาพตนเอง หรือของที่ใช้พร้อมติด tag ยี่ห้อเสื้อผ้า, เครื่องสำอางค์ ไปที่ร้าน E-Commerce โดยตรงได้เลย ปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้ถึง 30 ล้านคน
และไม่เพียงแต่แพลตฟอร์ม E-commerce เท่านั้น แพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างสื่อ หรือแพลตฟอร์มด้านการศึกษา ก็หันมาใช้โมเดลนี้เพื่อเข้าถึงผู้คนเช่นเดียวกัน
4. ชะตากรรมที่อยู่ในมือของรัฐบาล
ความสำเร็จหรือล้มเหลว ของ Internet Landscape ในประเทศจีน ล้วนแขวนอยู่กับการตัดสินใจ และกฎข้อบังคับของรัฐบาล โดยเฉพาะวงการสื่อและ FinTech
อ้างอิงภาพและเนื้อหา Abacus
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด