Google และ Temasek เผยตัวเลขวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2018 พร้อมคาดการณ์ตัวเลขในปี 2025 ที่จะถึง โดยได้การศึกษา 4 ภาคธุรกิจหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในภูมิภาค ได้แก่ ธุรกิจ E-Commmerce, Online Media, Ride Hailing และ Online Travel
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านรายได้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และขนาดของประชากรก็ตาม โดยมีตัวเร่งการเติบโตที่เหมือนกันนั่นก็คือการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ปัจจุบัน พบว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาค้นหาข้อมูล รับชม VDO และซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป หรือญี่ปุ่น และหันมาใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น จำนวนผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่มีน้อยกว่า 50 ล้านคนในปี 2015 เป็น 120 ล้านคนในปี 2018 และในช่วงเวลาเดียวกันผู้ใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 เท่า จาก 8 ล้านคน เป็น 35 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีบริษัทดิจิทัลชั้นนำเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาคนี้ โดยมีผู้เล่น E-Commerce ใหญ่ๆ อย่าง Lazada, Shopee และ Tokopedia คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของการซื้อสินค้าออนไลน์ในปี 2018 ซึ่งมีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และ startup ระดับ Unicorn (มูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์) อยู่ถึง 9 ราย นอกจากนี้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) มากถึง 8 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยส่วนใหญ่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน GO-JEK และ Grab
สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดในปีนี้ คือความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะครึ่งปีแรกของปีนี้ธุรกิจ startup ในภูมิภาค สามารถระดมทุนได้มากถึง 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น startup ระดับ Unicorn ขณะที่ 1 ใน 3 ของเงินทุนที่ระดมได้จำนวน 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 2015 ได้กระจายไปยังบริษัทเทคโนโลยีรายเล็กมากกว่า 2,000 บริษัท
ตลาด E-Commerce คือส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐดิจิทัลไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา โดยขยายตัวขึ้นถึง 49% ที่มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย โดยมีผู้เล่นสำคัญอย่าง Lazada และ Shopee
ในช่วงต่อจากปี 2018 จะเป็นช่วงที่ผู้เล่นต่างๆ เริ่มพยายามแข่งขันให้เป็นผู้นำของประเทศ (Country leader) หรือ เป็นผู้นำในตลาดแต่ละประเภทสินค้า (Category/ Segment Leader) ร่วมถึงเริ่มคิดเรื่องการทำเงินจากแพลตฟอร์มของตน มากกว่าการพยายามหาฐานลูกค้าแบบที่ทำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ปีนี้คือปีแห่งการระเบิดความนิยมของธุรกิจสื่อดิจิทัล อย่างแพลตฟอร์ม Music Streaming, VDO streaming เกมส์ และ การโฆษณาออนไลน์ โดยมีตัวเลขการเติบโตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ online media เติบโต คือ คุณภาพของผู้ผลิต local ที่สร้าง content ระดับโลก ทำให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มที่แพร่หลายในวงกว้าง
หากเทียบกับปีที่แล้ว ธุรกิจ Ride Hailing ที่รวมถึงธุรกิจเรียกรถแท๊กซี่ และบริการส่งอาหาร ได้เติบโตช้ากว่าที่คาดไว้เล็กน้อย โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 เติบโตจากปีที่แล้ว 22%
แนวโน้มต่อไปที่จะได้เห็น คือจะเกิดการควบรวมและ partner กันของผู้ให้บริการ รวมถึงจะมีการพัฒนาแอปสู่บริการด้าน Financial services และกลายเป็น Everyday app ที่ให้บริการมากกว่า 1 บริการ
ตลาดการท่องเที่ยวออนไลน์ รวมถึงธุรกิจจองโรงแรมและเครื่องบิน เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีการเติบโตสูงในประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยในปี 2018 ตลาดประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์จะแตะ 2 หมื่นล้านภายในปี 2025 เว็บไซต์จำพวก Online Travel Aggregators ที่รวบรวมและเปรียบเทียบราคามีส่วนช่วยผลักดันตลาดเป็นอย่างมาก
ถึงแม้ว่าเราจะเห็นการเติบโตของก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามหลายๆ บริษัทยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการพยายามขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค โดยอุปสรรคหลักๆ คือ การขาดความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันระหว่างระบบ (interoperability) และมาตรฐานที่สอดคล้องกัน บริษัทเทคโนโลยีต้องฝ่าด่านเขาวงกตของระเบียบข้อบังคับแห่งชาติกว่า 10 รายการที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูลและการค้าข้ามพรมแดน
นอกจากนี้การกระจายตัวของ solution การชำระเงินระดับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่ยังคงเป็นการใช้เงินสดทำให้เกิดแรงเสียดทานและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ สำหรับภาคเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานร่วมกันได้และการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลภายในภูมิภาคจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศไทยสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่น และจะทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน
อุปสรรคอีกประการหนึ่งมาจากความหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและมีความหลากหลายในเรื่องของการใช้ภาษา การจ้างงานบุคลากรในท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและทักษะที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ รายงานการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2018 ชี้ว่ากำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาคต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 10% เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในการฝึกอบรมประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีบุคคลากรที่เป็นนักพัฒนา software ที่เป็น local นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และนักวิเคราะห์ข้อมูล Google มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาบุคคลที่มีความสามารถในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะจัดการฝึกอบรมด้านทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานเอสเอ็มอี 3 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2563
ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.7% ของ GDP ของประเทศ ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ทั้ง จีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเติบโต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด