ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของธุรกิจบน E-Commerce สูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า ในปี 2017 ตลาด E-Commerce ไทย ทำเงินกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 14.5% ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมียอดขายอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญในปี 2022 และแตะ 11.1 พันล้านเหรียญในปี 2025 ได้ โดยกลุ่มธุรกิจ E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดขณะนี้ คือ กลุ่มอิเลคทรอนิคส์และสื่อ ที่มีมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญ
Techsauce ได้รวบรวมธุรกิจ E-Commerce ของประเทศไทยทั้งหมดมาให้เห็นภาพกันว่าตอนนี้มีใครกันบ้าง และมีผู้เล่นไหนที่มาใหม่ มาแรง และเป็นที่พูดถึงในปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วปัจจุบันเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจแบบ B2B หรือ B2C หรือ C2C มันจะไม่ได้ชัดเจนมาก เนื่องจากหลายธุรกิจก็ผันตัวเองเป็นแบบ B2B2C หรือ B2A (Business to All) กันบ้างแล้ว แต่เราได้พยายามจัดวางให้เห็นภาพกันชัดๆ และแยกตามหมวดหมู่ว่าตอนนี้มีใครกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง
หากใครสนใจอยากนำ Infographics นี้ไปแปะบนเว็บของท่าน สามารถคัดลอกโค้ดด้านล่างนี้ ไปแปะในเว็บของท่านได้เลย
เริ่มจากกลุ่ม C2C กันก่อน มีผู้เล่นใหม่น่าจับตามองในกลุ่มของ Marketplace ที่บุกตลาดไทยมาเมื่อปลายปี 2015 อย่าง Zilingo ที่เจาะกลุ่ม SME โดยโฟกัสที่สินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะ / Shopee แอปพลิเคชันบนมือถือ ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงเวลาเดียวกัน โดยในปี 2016 Shopee เผยถึงยอดการโหลดแอปพลิเคชันเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านครั้ง และมีคำสั่งซื้อกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งตัวเลขได้สะท้อนเทรนด์การซื้อของบนมือถือในประเทศไทยที่เติบโตขึ้นมาก
สองสามปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ผู้เล่นต่างชาติเข้ามามีบทบาทและครองตลาด E-Commerce เอาไว้ได้ โดยเฉพาะ Lazada ที่เติบโตจนเตะตายักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ของ แจ๊ค หม่า เข้าอย่างจัง ทำให้เกิดการซื้อกิจการและเพิ่มมูลค่าบริษัทขึ้นไปอยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญ / นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นเกาหลีใต้ 11 Street ที่ทุ่มงบมหาศาลเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่เผยว่ากลุ่มสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อมากที่สุดคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาด้วย Kid & Baby และ Beauty & Health
กลุ่มเว็บไซต์ประกาศซื้อ-ขาย ก็ยังเต็มไปด้วยผู้เล่นที่เราคุ้นหูกันดี อย่าง Kaidee / Pantip Market รวมถึงเว็บประกาศขายบ้าน และ คอนโด อย่าง DDProperty ที่หันมาเปิดแอปพลิเคชันบนมือถือ / Hipflat / Prakard.com / Think of Living / ZmyHome และเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์มือสองหลายเจ้า
กลุ่มที่น่าสนใจของ C2C คือกลุ่ม Travel ที่มีผู้เล่นอย่าง Airbnb แพลตฟอร์มให้เช่าที่พัก โดยใครก็ตามที่มีห้องว่างสามารถเอามาปล่อยให้เช่าได้ ซึ่ง Airbnb เผยว่ามีนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกว่า 774,000 คนในการจองที่พักในประเทศไทย รวมถึงมีคนไทยใช้บริการ Airbnb เมื่อไปพักในต่างประเทศกว่า 3 แสนคน / นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่ง Startup คนไทยอย่าง Favstay ที่เน้นการจองที่พักตากอากาศ โดยได้รับการลงทุนจากเครือโรงแรม Dusit International ไปเมื่อกลางปีนี้
ในปี 2017 ผู้เล่นใหญ่ในกลุ่ม Fashion อย่าง Zalora ถูกเซ็นทรัลกรุ๊ปซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น LOOKSI หวังสะท้อนภาพลักษณ์ให้มีความเป็นไทยและให้จำง่ายมากขึ้น / ผู้เล่นใหม่ไฟแรง Pomelo เปิดตัวไปเมื่อปี 2014 และเพิ่งได้รับเงินระดมทุนรอบใหม่จากเซ็นทรัล และ JD.com ไปหมาดๆ ซึ่งทำให้ Pomelo กลายเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองมากๆ ในปีนี้
ในกลุ่ม Beauty ก็มีผู้นำด้านความงามอย่าง Sephora ที่เปิดตัวเว็บออนไลน์ไปเมื่อกลางปี 2016 โดยเป็นการรวมกิจการกับ Luxola เว็บไซต์จำหน่ายเครื่องสำอางอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / ขณะเดียวกัน Orami สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ที่เกิดจากการรวมกิจการระหว่างสองเจ้าใหญ่ Moxy กับ Bilna ก็บุกตลาดออนไลน์ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด Orami ได้รับเงินลงทุนจาก Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ในรอบการระดมทุนถึง 535 ล้านบาทไปเมื่อปีที่แล้วด้วย
ตลาดที่กำลังคึกคักในช่วง 2-3 ปีมานี้ คือตลาด Food Delivery ซึ่งเต็มไปด้วยคู่แข่งรายใหญ่ เริ่มด้วย Food Panda ที่เมื่อปลายปี 2016 ได้ประกาศร่วมมือกับ Grab เพื่อเพิ่มกำลังการจัดส่งอาหาร ลดเวลาการจัดส่งให้เร็วยิ่งขึ้น / LINE MAN ที่ร่วมมือกับ Lalamove และ Wongnai ชูความโดดเด่นจากการร่วมมือกันของ 3 กลุ่มธุรกิจ โดยเน้นเจาะกลุ่มร้านอาหารทั่วไปที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด/ ต้นปี 2017 ก็มีผู้เล่นใหม่อย่าง UberEATS ที่แตกไลน์แยกออกมาจากแอปพลิเคชันบริการรถร่วมเดินทาง ชูจุดเด่นด้วยการคัดเลือกพันธมิตรร้านอาหารในเกรดพรีเมี่ยมทั้งไทยและนานาชาติ นอกจากนั้น ก็มีผู้เล่นอื่นๆ อีกอย่าง Zab Delivery / honestbee และ Happy Fresh
มามองในกลุ่ม Travel นอกเหนือจากผู้เล่นใหญ่ๆ อย่าง Agoda/ Booking.com/ Expedia และ Tripadvisor ที่คุ้นหูกันดีอยู่แล้ว ก็มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ Traveloka สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ที่เน้นทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในไทย โดยได้รับเงินลงทุนมาเพิ่ม 350 ล้านดอลลาร์จาก Expedia ทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายล่าสุดในภูมิภาค / นอกจากนี้ยังมี Trivago บริการค้นหาโรงแรมที่พักแบบเปรียบเทียบราคา ที่มี Expedia เป็นผู้ถือรายใหญ่อยู่เช่นเดียวกัน
มีสตาร์ทอัพหลายรายที่เห็นช่องทางบุกตลาด Ticket ในเมืองไทย เริ่มด้วย Event Pop ที่เพิ่งได้รับการลงทุนรอบใหม่จากสอง CVC เจ้าใหญ่อย่าง Invent และ Beacon VC เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มจัดการงานอีเว้นท์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการที่ครบวงจรตั้งแต่การขายบัตรออนไลน์ การดูแลบริหารการตลาด การลงทะเบียนเข้างาน รวมถึงระบบการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ / สตาร์ทอัพอีกรายที่น่าจับตามองคือ ZipEvent ที่ตั้งแต่ปี 2016 ได้ขยายโฟกัสการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B เพิ่มเติม โดยขยายบริการเป็นอีเว้นท์แพลตฟอร์มที่ครบวงจรตั้งแต่การโปรโมต ลงทะเบียน In-event engagement รวมถึงสร้าง Registration Kiosk สำหรับการลงทะเบียนด้วย / Ticketmelon ถือเป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพมาแรงสำหรับปีนี้ มีจุดเด่นที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฎิบัติการให้แก่ผู้จัดงานอีเว้นท์ด้วยเทคโนโลยี RFID บัตรชนิดหนึ่งที่มีคลื่นวิทยุเฉพาะตัว สามารถนำไปใช้จ่ายเงินในรูปแบบของ wristband ที่เติมเงินได้ ซึ่งทำให้ร่วมกิจกรรมในงานง่ายมากขึ้น
สตาร์ทอัพรายอื่นที่ไม่เข้าพวก แต่มีความโดดเด่นน่าจับตามอง อาทิ Freshket ตลาดสดออนไลน์สำหรับร้านอาหาร / BUILK.com ธุรกิจด้านซอฟท์แวร์บริการธุรกิจก่อสร้างและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ / OneStockHome ขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ และ Wazzadu.com แพลตฟอร์มที่รวมผู้ประกอบการด้านวัสดุและตกแต่งบ้านทุกร้านทั่วประเทศมารวมอยู่ที่เดียวกัน
กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ปล่อยให้ตลาด E-Commerce หลุดมือ Central Group ได้เปิดเว็บไซต์ออนไลน์ของตัวเองด้วยเช่นกัน Central.co.th / Tops และ Robinson ขณะที่ CP Group เปิดเว็บออนไลน์ของ Tesco Lotus / 7-11/ 24Catalog และ ThaiBev ซื้อ BigC กับ Cmart ไป
มาถึงกลุ่มที่แข่งขันกันดุเดือดที่สุดเลยก็ว่าได้ กับกลุ่มของ Fintech ด้าน Payment และ E-Wallet ที่มีผู้เล่นจากทั้งธนาคารและบริษัทเอกชนมากมายเดินหน้าออกแอปพลิเคชันให้บริการด้านการเงินกันอย่างคับคั่ง เล่ายังไงก็คงจะไม่หมดครบถ้วน ขอพูดถึงในส่วนของสตาร์ทอัพเด่นๆ อย่าง Omise ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน ICO โดยเหรียญที่พวกเขาสร้างออกมานั้นมีชื่อว่า OmiseGO (OMG) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหรียญดิจิทัลที่มีความนิยมมากและจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลกในขณะนี้ อีกทั้งเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็ได้เข้าซื้อกิจการของ Paysbuy ไป / 2C2P ล่าสุดได้เปิดตัว Social Commerce ภายใต้ชื่อ Qwik ที่ให้บริการชำระเงินผ่าน Facebook โดยร้านค้าออนไลน์ที่มีหน้า Facebook Page สามารถให้ลูกค้าชำระเงินผ่านทาง Facebook Messenger ได้ / นอกจากผู้เล่นไทยแล้ว ก็ยังมี Alipay ของจีนที่ร่วมกับ True money บุกตลาดไทยด้วยการรับการชำระเงินใน 7-11 และตั้งเป้าหมายให้ไปถึง 1 แสนจุดรับชำระภายในสิ้นปีนี้
มีธุรกิจรองรับการช้อป ก็ต้องมีธุรกิจคืนเงินให้นักช้อป โดยสตาร์ทอัพที่เพิ่งเปิดให้บริการในไทยเมื่อกลางปีที่ผ่านมาและเพิ่งได้รับเงินลงทุนจาก Invent ไปหมาดๆ ก็คือ Shopback บริการ Cashback ให้กับลูกค้า โดยเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากร้านที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Shopback ก็จะได้รับเงินคืนโดยอัตโนมัติเข้าสู่ E-Wallet และสะสมยอดไว้จนกว่าจะถึงยอดที่สามารถแลกคืนเป็นเงินสดได้
อีกกลุ่มธุรกิจที่ดุเดือดไม่แพ้กันคือ กลุ่ม Logistics ที่ Techsauce เคยทำเปรียบเทียบข้อมูลให้บริการเอาไว้ ทั้งในกลุ่ม 3PL อย่าง ไปรษณีย์ไทย / Kerry Express/ Ninja Van / Nim express และกลุ่ม On-demand ที่เน้นให้แมสเซนเจอร์ส่งของภายในเวลา 1 ชั่วโมง อย่าง Alpha/ Grab/ Line Man/ Lalamove / SCG Express / Send it / Skootar / Deliveree นอกจากสองกลุ่มข้างต้น ยังมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการขนส่ง และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า อย่าง Giztix / Shippop / Smartship และ SME Shipping
Social Commerce ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มโซเชียลหลักๆ อย่าง Facebook / Instagram / Line และ Twitter โดยมีร้านค้าออนไลน์มากมายที่อาศัยเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ด้วยการโพสต์รูปภาพและรายละเอียดสินค้า พร้อมให้สั่งผ่าน inbox ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Social Commerce ที่กว่า 50% ของลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์ต่างซื้อผ่าน social networks
นอกจากกลุ่มที่แบ่งไปข้างต้นทั้งหมดแล้ว ขาดไม่ได้กับผู้เล่นที่ให้บริการโซลูชันด้าน Digital Infrastructure แก่ธุรกิจ E-Commerce ทั้งด้าน marketing แพลตฟอร์มออนไลน์พร้อมใช้ อย่าง Efratructure / ReadyPlanet และ Ascend บริษัทลูกของ True Corporation / นอกจากนี้ก็ยังมี aCommerce ผู้ให้บริการแบบครบวงจรแก่ธุรกิจ E-commerce แบบ End-to-End โดยใช้โมเดล B2A (Business-2-All) และเพิ่งได้รับเงินระดมทุนรอบล่าสุด นำโดยเอ็มเมอรัล มีเดีย ไปกว่า 2.14 พันล้านบาท
หวังว่าผู้อ่านจะได้มองเห็นภาพรวมของตลาด E-Commerce ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปแล้วทั้งในปัจจุบันและอนาคต เชื่อว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ และสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอีกมากในปีหน้า และปีถัดๆ ไป
เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมทุกเจ้าเอาไว้ในภาพนี้ ถ้าหากขาดตกใครไป หรือต้องการอัพเดตข้อมูล สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ [email protected] และทางเราจะอัพเดทข้อมูลให้ค่ะ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด