ใครที่เคยผ่านต้มยำกุ้ง ปี 40 มา น่าจะจำบรรยากาศอันหดหู่ของสภาพเศรษฐกิจที่น่ากลัวช่วงนั้นได้ว่ามันน่ากลัวขนาดไหน
ทั้งหมดมันเกิดจากความโลภ ไม่รู้จักพอทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาล จนไปใช้อะไรเกินความสามารถตัวเองไปเยอะเกิน รอบต้มยำกุ้งเหมือนระเบิดลง ตูมเดียว! พังหมด คือหลังจากรัฐบาลพลเอกชวลิตประกาศลอยตัวค่าเงินบาทปุ๊บ อีกวันก็เละปั๊บ เริ่มจากภาคการเงิน ลามมาภาคการคลัง อสังหา การผลิต ไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนั้น มันหนักตรงที่ภาคการเงิน ทั้งไฟแนนซ์ ทั้งธนาคารไม่มีเงินเลย แต่หนี้เพิ่มท่วมตัว ทำให้ธุรกิจอื่นๆที่ต้องใช้เงินกระทบไปด้วย การหมุนเวียนกระเสเงินสดถูกแช่แข็งไปหมด แต่ตอนนั้น ภาคอสังหาฯมันเลวร้ายเพราะการเก็งกำไรแบบ ฟองสบู่ที่ถูกเป่าลมจนโป่งมหึมา ไม่มีใครเตือนใคร ต่างคนต่างเร่งกอบโกย มีที่ไหน ขายโครงการด้วยกระดาษเปล่า คนลงทุนแทบไม่ต้องมีทุนเอง ทั้งค่าที่ดิน ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง ค่าบริหาร ทุกอย่างแทบจะกู้ได้หมด เงินกู้อนุมัติง่าย ได้มาก็เอามาซื้อรถหรูกันก่อนที่จะลงทุนทำโครงการจริง
ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับหลายคนที่บอกว่า รอบวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็น “ปัญหาของคนรวย” นะ เพราะจริงๆตอนนั้น “คนรวย”ต้องกลายมาเป็น “คนเคยรวยเยอะ” แต่คนชั้นกลางก็ตกงานกลับไปเป็น “คนไม่มี” ก็เยอะ ส่วน “คนไม่มี” ไม่ต้องพูดถึง เพราะโดนกระทบทุกรอบอยู่แล้ว
ถ้า “ต้มยำกุ้ง”เหมือนระเบิดลง งั้น “COVID” ก็คงเหมือน “ลื่นไถลตกเหว” ไม่ตายคาที่ ยังมีชีวิตรอด แต่ต้องค่อยๆหาทางว่าจะหาอะไรกินประทังชีวิตให้รอด แล้วค่อยๆปีนขึ้นจากเหวให้ได้
ปัญหาคือ “จะหาน้ำ และ อาหาร ให้พอเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด เพื่อจะได้มีแรงปีนขึ้นมายังไง”
เพราะรอบนี้ มันค่อยๆซึมลง จากการที่ต้อง “หยุดการแพร่เชื่อให้ได้” จึงเริ่มมีการปิดเมือง ปิดห้าง ปิดร้านอาหาร ปิดการจัดงาน ปิดโรงแรม ปิดสนามบิน และนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางกันไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก
นี่คือที่มา ของการที่เหมือนอยู่ก้นเหว ไม่ตาย แต่เหมือนขาดอาหาร ขาดน้ำ ดีที่ยังพอมีอากาศหายใจ ทุกธุรกิจจะหารายได้ที่ขาดหายไปอย่างไรให้พอนำพาธุรกิจ ที่มีค่าใช้จ่ายประจำรวมทั้งลูกจ้าง พนักงานต่างๆ ที่พลอยไม่มีรายได้ไปด้วย ให้รอดถึงการมีแรงปีนกลับไปบนปากเหวได้ !
มองโลกแง่ดี รอบนี้ แบงค์มีเงินล้นแบงค์ ทุนสำรองระหว่างประเทศยังเยอะ ไม่ได้ตายคาที่เหมือนปี 40 ยังพอมีเวลาให้คิดให้แก้
มองโลกแง่ร้าย เอาจริงๆก็ร้ายไปหมด ภาคที่ทำเงินเข้าประเทศมาโดยตลอดเสียหายหนัก อย่างการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เอาแค่ สนามปิด สายการบินปิด นี่ก็เปลี่ยนคนมีอันจะกิน เป็นคนตกงานได้ทันที หลายสาขาอาชีพ ที่เคยเป็นลูกค้าอันเป็นที่รักของแบงค์เวลายื่นกู้ขอสินเชื่อ อย่าง นักบิน แอร์โฮสเตส ผู้จัดการโรงแรม ที่ไปซื้อคอนโดที่ไหน เซลล์ยิ้มระรื่นเพราะเชื่อว่ายังไงก็กู้ผ่านได้ค่าคอมเต็มแน่นอน มาวันนี้ คนกลุ่มนี้กลายเป็น ผู้มีอาชีพในกลุ่มเสี่ยง ที่ธนาคารแทบจะปฏิเสธ ให้สินเชื่อทันที นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่มาจาก วิกฤต COVID-19 รอบนี้
คนทำงานกินเงินเดือน ที่ดูแล้วมั่นคงที่สุดตอนนี้ คงเหลือแค่ “ข้าราชการ”กับ “นักการเมือง” นี่แหละ ที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องโดนลดเงินเดือน ไม่เสี่ยงตกงาน ส่วนภาคเอกชนนี่เสี่ยงกันหมด หลายๆธุรกิจ ที่รัฐบาลไม่ได้ประกาศว่า ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดของรัฐบาล แต่จริงๆโดนเต็มๆเลยนะ อย่าง เช่นธุรกิจ รับจัด EVENT ธุรกิจ รับส่งของในสนามบิน ธุรกิจสื่อ พวกนี้รายได้หายไปเต็มๆ แต่รัฐ บอกไม่กระทบ ประเด็นเหล่านี้แหละ ที่จะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระยะยาว ไม่จบเร็วๆนี้แน่นอน
ช่วงต้มยำกุ้งปี 40 ที่เศรษฐกิจพังลงไป ผมจำได้ว่าตอนนั้นกว่า บริษัทที่ผมทำงานเป็นผู้บริหารอยู่จะกลับมาเริ่มแข็งแรง มีงานมากขึ้นจนแก้ปัญหาการเงินทั้งหมดได้ คือ ปี 2547 แปลว่า รอยที่แล้ว ใช้เวลาไปประมาณ 7-8 ปี ถึงจะเริ่มกลับมาปกติ ช่วงต้มยำกุ้ง มีอัตราการตกงาน 3.4% ของคนทำงานทั้งประเทศ
แต่วิกฤต รอบนี้ ทาง EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินไว้ว่า คนตกงานจะสุงที่สุดในประวัติศาสตร์วิกฤตชาติ คือ 8-13% ซึ่ง น่าตกใจมาก เพราะยิ่งคนตกงานมาก แปลว่า เม็ดเงินที่จะมาหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยในวงจรเศรษฐกิจจะยิ่งเหลือน้อย ยังไม่ต้องมองเรื่อง อสังหาฯเลย เอาแค่ ของกินของใช้ นี่กำลังซื้อก็หายไปเยอะแน่ๆ แล้วผู้ประกอบการภาคอสังหาฯมองอย่างไร
ไว้มาเล่าให้ฟังต่อในตอนหน้าครับ
บทความโดย : โอภาส ถิรปัญญาเลิศ ( ใหญ่ ) นักธุรกิจและนักลงทุน / ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด / หุ้นส่วนในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Maxxi Condo / นักเขียน / บรรณาธิการหนังสือ / วิทยากรการลงทุน / ที่ปรึกษาธุรกิจ และ Influencer ด้านอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของแฟนเพจ โอภาส ใหญ่ HI – Happy Investor
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด