'Startup' เป็นคำที่เราได้ยินกันอย่างหนาหูในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับเหล่าบริษัทที่ก่อตั้งใหม่โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าหรือบริการที่มีความสามารถในการเติบโตสูง เป็นลักษณะของธุรกิจที่ว่ากันว่าสร้างขึ้นเพื่อแก้ pain point ของผู้คนในสังคม และแน่นอนว่านั่นก็ควรจะเป็นบทบาทของเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา นอกจากนี้ยังมี startup อีกกลุ่มที่มุ่งเน้นทำเพื่อสังคมมากกว่าเพื่อผลกำไรที่เราเรียกกันว่า Social Enterprise (SE) หรือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งมักจะมุ่งแก้ไขปัญหาของผู้คนในชนบทหรือชาวไร่ชาวนาต่าง ๆ ในภาคเกษตรกรรม แต่ทว่าหลังจากที่ทีมงานของเราได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปตามบางชุมชนในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบมนุษย์ออฟฟิศในชุมชนเมืองสักเท่าไหร่นัก ก็เกิดคำถามเล็ก ๆ ขึ้นในใจของเราว่า จริง ๆ แล้วเหล่า starup และ SE นั้นเป็นเพียงสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ของคนรากหญ้าหรือเปล่า คนที่หาเช้ากินค่ำนั้นจะสามารถได้รับประโยชน์จากการมีระบบนิเวศน์ของ startup (startup ecosystem) จริงหรือ?
ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบก็เป็นได้ทั้งสองมุมไม่ว่าจะใช่หรือไม่ใช่ ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ก็ตามที
แต่ก่อนที่เราจะนำไปสู่คำตอบของคำถามเหล่านั้นในรายละเอียดเพิ่มเติม เราขอเล่าเกี่ยวกับประเภทของสินค้าต่าง ๆ สักเล็กน้อย ซึ่งประเภทที่เรากำลังกล่าวถึงนี้เป็นการจำแนกในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น สินค้าด้อย (inferior goods) หมายถึง สินค้าที่คนจะบริโภคน้อยลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น นึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ ก็อาจจะเป็นบรรดาเหล่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหลาย หรืออีกประเภทคือ สินค้าปกติ (normal goods) หรือสินค้าที่คนจะบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้มากขึ้น ตัวอย่างคงมีมากมายนับไม่ถ้วน และยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์อีกหลายประเภทด้วยกัน แต่ประเภทของสินค้าที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือ สินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงของหรูหราแบรนด์เนมต่าง ๆ อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงสินค้าที่คนต้องใช้เงินในสัดส่วนที่มากกว่าเปอร์เซ็นต์การเพิ่มของรายได้เพื่อซื้อหาเพื่อเป็นเจ้าของนั่นเอง เช่น เงินเดือนของเราอาจจะเพิ่มขึ้น 10% แต่สินค้าที่เราซื้อนั้นมีมูลค่าคิดเป็น 30% ของรายได้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน พูดอีกอย่างได้ว่าสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นเป็นกลุ่มหนึ่งของสินค้าปกติ แต่ไม่ใช่สินค้าปกติทุกชนิดที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้นั่นเอง
ตอนนี้ก็กลับมาที่คำตอบของคำถามของเรากันอีกครั้ง
เพราะหลาย startup และ SE นั้นได้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มหรือเป็นจุดนัดพบของเหล่าคนขายกับคนซื้อ เหล่าผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ซึ่งผู้ขายและผู้ให้บริการมากมายบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นเองก็เป็นกลุ่มชาวรากหญ้าผู้มีรายได้น้อย หรือเคยมีโอกาสเข้าถึงตลาดน้อยกว่าที่เป็นอยู่ จึงกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของ startup และ SE นั้นก็เหมือนเป็นการเพิ่มแหล่งรายได้และการเข้าถึงตลาดให้กับคนกลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงบางธุรกิจเองก็มีการให้ความรู้หรือนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนต่าง ๆ หรือ startup บางกลุ่มอาจจะมองลูกค้าของตัวเองเป็นรัฐบาลหรือองค์กรเพื่อสังคมอื่น ๆ ที่จะมาเป็นลูกค้า B2B โดยหวังว่ากลุ่มองค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ กับประชาชนในรูปแบบของสวัสดิการของประชาชนที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรต่าง ๆ นั่นเอง
ซึ่งสินค้าและบริการประเภทนี้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท หรือบางครั้งก็อาจจะช่วยชีวิตพวกเขาไว้ได้เสียด้วยซ้ำ เช่น ตลาดออนไลน์สำหรับชาวนาที่สามารถเสนอขายให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการขายผ่านนายหน้าปกติทั่วไป หรือแพลตฟอร์มที่คนท้องถิ่นสามารถให้บริการทัวร์หรือการจองที่พักอาศัยโดยตรงแก่นักท่องเที่ยวได้ รวมไปถึงแพลตฟอร์มสำหรับการบริจาคเพื่อการกุศลต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น
แต่ถ้าหากเรามองในอีกมุมหนึ่ง ประโยชน์ที่จะตกกับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์มากอย่างที่ทุกคนคิด เพราะมีเพียงแค่รายได้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งแต่ความเป็นอยู่ในแง่อื่น ๆ อาจจะไม่ได้ดีขึ้นมากนักเพราะยังคงไม่มีกำลังซื้อมากพอหรือไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจแย้งว่าในเมื่อมีรายได้ก็ย่อมต้องหมายถึงมีอำนาจในการซื้อเพิ่มขึ้น มีเงินที่จะใช้จ่ายมากขึ้นแล้วไม่ใช่หรือ
แต่โลกของความเป็นจริงนั้นเป็นจริงหรือไม่? ลองนึกถึงกรณีที่ SE นั้นโฆษณาประกาศว่าข้าวออร์แกนิกหรือพืชผักผลไม้ออร์แกนิกต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า มีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าผลิตผลโดยกรรมวิธีทั่วไปที่ทั้งสารอาหารต่ำกว่าและเจือปนสารตกค้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันข้าวออร์แกนิกที่ว่ากลับมีราคาแพงกว่าข้าวธรรมดาทั่วไปตามท้องตลาดถึงสี่เท่าเมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน คำถามคือรายได้ที่ว่าเพิ่มขึ้นของคนกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้เพิ่มอำนาจซื้อได้ถึงสี่เท่าเช่นเดียวกับราคาสินค้าเหล่านี้หรือไม่ นี่จะกลายเป็นการทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลังด้วยการ ‘กีดกัน’ พวกเขาในการเข้าถึงสารอาหารดี ๆ เหล่านี้ด้วยราคาที่สูงเกินกว่าจะจ่ายได้หรือไม่ (ทั้งนี้ไม่นับรวมกลุ่มชาวนาผู้ปลูกที่อาจสามารถบริโภคได้เองในครัวเรือน และในโลกความเป็นจริงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ย่อมไม่ได้มีเพียงแค่ในภาคเกษตรกรรม) นอกจากนั้นอีกคำถามที่เกิดขึ้นคือ มีคนที่มีรายได้แบบหาเช้ากินค่ำ ชักหน้าไม่ถึงหลังสักกี่คนที่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อมาแก้ pain point ที่พวกเขามีในชีวิตประจำวัน จะมีสักเท่าไรกันที่สามารถทำได้อย่างเหล่าผู้มีอำนาจในการจับจ่าย ซึ่งมักเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ startup และ SE ส่วนใหญ่ ในเมื่อพวกเขาไม่มีกำลังทรัพย์จะจ่ายมากเท่า ทั้ง ๆ ที่ก็มี pain point เดียวกัน หรือกลุ่มคนเหล่านี้จะทำได้เพียงแค่หาเงินประทังชีวิตจากระบบนิเวศน์ของ startup และ SE เท่านั้น แทนที่จะได้ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เทคโนโลยีควรจะให้?
อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า startup และ SE นั้นทำให้โลกเราดีขึ้นในภาพรวม ผู้คนมากมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น หรืออาจจะมีความสุขมากขึ้น รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหากำไร หากไม่มีแรงจูงใจเหล่านี้ โลกเราก็อาจจะไม่ได้พัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เป็นได้ นวัตกรรมต่าง ๆ คงจะน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่
แต่ถึงอย่างนั้นความท้าทายสำหรับคนรุ่นต่อไปอาจจะไม่ใช่เพียงแค่การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างธุรกิจขึ้น แต่เป็นการหาจุดสมดุลให้กับโลกที่เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้นทุกวันพร้อมกับกระแสทุนนิยมที่ไหลบ่าจนท่วมท้นขึ้นทุกทีให้พอเหมาะพอดีกับโลกที่ควรจะเป็นสำหรับมวลมนุษยชาติทุกคน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด