ถ้าคุณมาจากบริษัทรองเท้าที่มีเป้าหมายเจาะตลาดประเทศที่มีรายได้น้อย สิ่งที่ต้องพกมาด้วยคือการมองโลกในแง่ดี เพราะถ้าคุณไปถึงแล้วพบว่าไม่มีใครใส่รองเท้า คุณจะได้มองว่านี่คือโอกาส ไม่ใช่ทางตัน
แต่การมองโลกในแง่ดีจะไม่ช่วยคุณได้มากนัก ถ้าคุณมาจากบริษัทผ้าอนามัย
คุณสามารถขายรองเท้าให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ถ้าขายผ้าอนามัยคุณจะเหลือลูกค้าแค่กลุ่มเดียว และลูกค้าของคุณก็มีความแตกต่างจากผู้หญิงในประเทศอื่นถึงขนาดที่จะทำให้คุณขายของได้ยากมาก ๆ
ความต่างที่ว่าคือพวกเธอมีจำนวนบุตรเฉลี่ยที่สูง อย่างเช่นในประเทศมาลาวี ผู้หญิงมีบุตรเฉลี่ย 4.38 คน ประเทศอื่นล่ะ ? บูร์กินาฟาโซ 5.11 คน / โซมาเลีย 5.98 คน / มากสุดคือ ไนเจอร์ 7.07 คน
หนังสือเพศศึกษาบอกว่าการตั้งครรภ์แต่ละครั้งจะทำให้ประจำเดือนขาดไปประมาณ 2 ปี ดังนั้นยิ่งพวกเธอตั้งครรภ์มาก จำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ก็น้อยลงมาก ต่อให้คุณเป็นยอดนักขายก็คงไม่สามารถโน้มน้าวขอให้พวกเธอลดการตั้งครรภ์ได้แน่ ๆ
แล้วทำไมพวกเธอถึงต้องมีลูกมากขนาดนั้นด้วยล่ะ ก็เพราะความเป็นอยู่ของคนในประเทศเหล่านี้ย่ำแย่
พวกเขาต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารและการล้มป่วย การป่วยทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นมาทำงานได้ บางคนอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นการที่ผู้หญิงต้องมีลูกมาก ๆ ก็เพื่อทดแทนคนที่ตายไปเหล่านั้น
แนวโน้มการมีลูกมากจะยังคงมีต่อไปจนกว่าจะหลุดพ้นจากความยากจน คนเหล่านี้ต้องสร้างครอบครัวให้ใหญ่เพื่อที่จะช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเอง แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้เวลาหลายรุ่นกว่าจะหลุดพ้นจากจุด ๆ นี้หรือก็คือพวกเขาต้องเผชิญกับความสูญเสียไปอีกพักใหญ่
แต่ถ้าลองอ่านหนังสือ Factfulness แล้วตามด้วยเข้าไปดูข้อมูลใน Gapminder.org ก็จะเห็นความหวังชัดขึ้น
เมื่อปี 1800 แทบทุกประเทศต่างยากจนข้นแค้นเหมือนกับประเทศในทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ประเทศส่วนใหญ่ได้หลุดพ้นจุดนั้นกันมาแล้ว แนวโน้มของโลกกำลังบอกว่าทุกประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศที่มีรายได้น้อยจะหมดไป
แต่ทั้ง Factfulness และ Gapminder ไม่ใช่สื่อประเภทสร้างแรงบันดาลใจ ผู้สร้างเองก็ไม่ได้สอนให้เรามองโลกในแง่ดีและเขาก็ไม่ได้เป็นคนประเภทนั้นด้วย
เพราะสิ่งที่เขาภูมิใจนำเสนอเป็นเรื่องของข้อมูลล้วน ๆ
==========
Hans Rosling เป็นผู้เขียนหนังสือ Factfulness ที่ว่าด้วยการมองโลกด้วยสายตาแบบใหม่ สายตาที่เรามองโลกคือการมองด้วยสัญชาตญาณ เราใช้มันในการดำเนินชีวิตเป็นสวนใหญ่ แต่พฤติกรรมแบบนี้แหละที่มีปัญหา
มีครั้งหนึ่งที่ Rosling พานักศึกษาไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลเอกชนที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในอินเดีย พวกเขาพากันเข้าไปในลิฟต์ตัวใหญ่ที่สามารถขนเตียงได้หลายเตียง พอกดปุ่มไปที่ชั้นหกและประตูกำลังจะปิด ก็มีนักศึกษาสาววิ่งมาจะขอขึ้นลิฟต์ด้วย เพื่อนของเธอในลิฟต์ก็เลยเหยียดขาออกไปเพื่อกันไม่ให้ประตูปิด
แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ประตูมันยังคงปิดต่อและหนีบขานักศึกษาคนนั้น เธอร้องด้วยความเจ็บปวด แล้วลิฟต์ก็เริ่มเคลื่อนขึ้น เธอร้องเสียงดังขึ้น ขาของเธอกำลังจะชนกับขอบบนของประตูลิฟต์แล้ว โชคดีที่ผู้นำทางกระโดดมากดปุ่มหยุดฉุกเฉินได้ทัน
ทั้งผู้นำทางและคณะของ Rosling ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น ผู้นำทางบอกว่าเขาไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน รับคนโง่แบบนี้มาเรียนแพทย์ได้ยังไง Rosling อธิบายว่า ปกติลิฟต์ที่สวีเดนทุกตัวจะมีเครื่องตรวจจับที่ประตู ถ้ามีอะไรมาขวาง ประตูจะค้างไว้และเปิดออก แต่ผู้นำทางทำท่าไม่เชื่อและสงสัยว่าจะรู้ได้ไงว่ากลไกนี้มันจะทำงานทุกครั้ง
แน่นอนว่านักศึกษาคนนั้นไม่ได้โง่ เธอแค่ “เหมารวม” ว่าลิฟต์ที่อินเดียจะเหมือนกับลิฟต์ที่สวีเดน
ถ้าเราใช้สัญชาตญาณอย่างเดียว เราก็จะ “โดนหนีบ” แบบนี้กับอีกหลายเรื่อง Rosling จึงอยากให้ปรับสายตาการมองโลกกันใหม่ แนวคิดหลักที่ต้องการให้เรานำไปใช้มาก ๆ คือ การแบ่งรายได้ 4 ระดับ
ปกติเรามักจะแบ่งโลกออกเป็นสองส่วนเพราะมันเข้าใจง่าย เช่น ประเทศพัฒนาแล้ว - ประเทศกำลังพัฒนา / ประเทศร่ำรวย - ประเทศยากจน / ชาติตะวันตก - ชาติตะวันออก / พวกเรา - พวกเขา แต่การแบ่งแบบนี้ทำให้พลาดโอกาสไปหลายอย่าง ถ้าเป็นนักธุรกิจก็จะพลาดโอกาสลงทุนครั้งใหญ่ ถ้าเป็นนักการเมืองก็จะไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของประชาชน
ระดับรายได้ทั้ง 4 เป็นเหมือนด่านต่าง ๆ ในเกม ผู้เล่นทุกคนต้องการเลื่อนระดับจากระดับที่ 1 เป็นระดับที่ 2 และเลื่อนขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ต่างจากเกมคือ ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ยากที่สุด
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
รายได้ระดับที่ 1 คุณจะมีเงิน 1 ดอลล่าร์ต่อวัน มีลูก 5 คนช่วยกันถือถังพลาสติกเดินเท้าเปล่าหลายชั่วโมงไปตักน้ำจากหลุมโคลนสกปรก ระหว่างกลับบ้านก็เก็บฟืนมาด้วย ส่วนคุณเตรียมข้าวบดสีเทา ถ้าช่วงไหนผืนดินไม่ให้ผลผลิต คุณก็ต้องนอนพร้อมกับความหิวโหย
วันหนึ่งลูกสาวของคุณอาจจะป่วยเพราะควันไฟที่จุดในบ้าน คุณไม่สามารถหายาฆ่าเชื้อได้ หนึ่งเดือนต่อมาเธอก็ตายลง แต่ถ้าวันหนึ่งคุณขายผลผลิตได้มากและมีรายได้มากกว่า 2 ดอลล่าร์ต่อวัน คุณก็มีโอกาสเลื่อนไปที่ระดับต่อไป --- ปัจจุบันมีประชากรที่ใช้ชีวิตแบบนี้ประมาณ 1พันล้านคน
รายได้ระดับที่ 2 ตอนนี้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นสี่เท่าเป็น 4 ดอลล่าร์ต่อวัน คุณมีเงินซื้อผักกินหรือซื้อไก่มาออกไข่ และคุณมีเงินเก็บพอที่จะซื้อจักรยานและถังพลาสติกมากขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาไปตักน้ำได้มากโข ฟืนไม่ต้องใช้แล้วเพราะคุณมีเตาแก๊ส
คุณเริ่มเข้าถึงไฟฟ้า เด็ก ๆ จึงสามารถทำการบ้านตอนมืดได้ แต่ไฟฟ้าก็ยังไม่พอสำหรับตู้เย็น ตอนนี้คุณมีเงินซื้อเสื่อไม่ต้องนอนบนพื้นโคลนแล้ว แต่ชีวิตก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ ถ้าคุณป่วยคุณอาจจะต้องขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อซื้อยา นั่นทำให้คุณตกไปที่ระดับ 1 อีกครั้ง --- ปัจจุบันมีประชากรที่ใช้ชีวิตแบบนี้ประมาณ 3 พันล้านคน
รายได้ระดับที่ 3 รายได้คุณเพิ่มขึ้นอีกแล้ว ตอนนี้มีรายได้ 16 ดอลล่าร์ต่อวัน คุณสามารถซื้อตู้เย็นเพื่อสำรองอาหารได้แล้ว มีไฟฟ้าที่เสถียรพอที่จะทำให้เด็ก ๆ ทำการบ้านได้ดีขึ้น คุณเริ่มมีเงินซื้อรถจักรยานยนต์ทำให้สามารถไปหางานรายได้ดี ๆ ในเมืองได้
แต่ถ้าวันหนึ่งโชคร้ายประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาล คุณก็อาจจะต้องเอาเงินที่เก็บไว้สำหรับการศึกษาของลูก ๆ มาจ่าย ถ้าคุณมีเงินเก็บพอ ระดับของคุณก็ไม่ลดลงและลูกของคุณมีโอกาสเรียนในระดับที่สูงขึ้น เมื่อพวกเขาจบมัธยมปลายก็สามารถหางานที่รายได้ดีกว่าคุณ เพื่อเป็นการฉลอง คุณจึงพาครอบครัวไปเที่ยว อาจจะเป็นที่ทะเลก็ได้ --- ปัจจุบันมีประชากรที่ใช้ชีวิตแบบนี้ประมาณ 2 พันล้านคน
รายได้ระดับที่ 4 คุณมีรายได้มากกว่า 32 ดอลล่าร์ต่อวัน คุณเป็นผู้บริโภคที่ร่ำรวยแล้ว คุณได้ร่ำเรียนมากกว่า 12 ปี เคยนั่งเครื่องบินไปเที่ยวพักผ่อน ไปกินข้าวนอกบ้านเดือนละครั้ง และมีรถยนต์ไว้ใช้ แน่นอนว่าคุณมีน้ำอุ่นและน้ำเย็นในบ้านแล้ว
และ Rosling บอกว่าถ้าคุณได้อ่านหนังสือของเขา เป็นไปได้มากว่าคุณอยู่ระดับที่ 4 --- ปัจจุบันมีประชากรที่ใช้ชีวิตแบบนี้ประมาณ 1 พันล้านคน
==========
แล้วไทยอยู่ระดับไหนล่ะ ข้อมูลล่าสุดพบว่าอยู่ระดับที่ 3 แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ระดับนี้ เรายังเห็นคนที่ยากจนกว่าระดับที่ 3 แต่ข้อมูลที่แสดงหมายถึงคนส่วนใหญ่
การแบ่งแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าความเป็นอยู่ของคนแต่ละกลุ่มเป็นแบบไหน และคุณจะเข้าใจมากขึ้นไปอีกถ้าลองเข้าไปเล่นเครื่องมือใน Gapminder.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของมูลนิธิที่ Rosling ร่วมก่อตั้งขึ้น
ถ้าคุณทำงานภาคสังคมอาจจะกดต่อไปที่ลิงค์ dollar street คุณก็จะเห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนระดับต่าง ๆ สมมติถ้าอยากรู้ว่า “ห้องน้ำ” ของคนแต่ละระดับเป็นยังไง คุณก็จะเห็นภาพแบบนี้
ระดับที่ 1 คุณจะเห็นส้วมแบบหลุม ระดับที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นส้วมแบบนั่งยอง ระดับที่ 3 ก็เป็นนั่งยองเช่นกัน แต่บางบ้านก็มีชักโครกแล้ว ส่วนระดับที่ 4 ก็เป็นชักโครกแน่นอน
แปรงสีฟันของคนแต่ละระดับก็มีให้เลือกดู แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกันมากเท่าไหร่นัก คือเป็นแปรงสีฟันพลาสติกทั่ว ๆ ไป ระดับที่ 4 อาจจะมีแบบแปรงสีฟันไฟฟ้าบ้าง ส่วนระดับที่ 1 ในบางประเทศอาจจะใช้นิ้วหรือไม่ก็เศษไม้แปรงฟัน
แปรงสีฟันของครอบครัวหนึ่งในแทนซาเนีย
บางครอบครัวในมาลาวีใช้นิ้วแปรงฟัน
ส่วนถ้าคุณทำธุรกิจ คุณก็น่าจะลองเข้าไปดูที่ data ในนี้มีข้อมูลที่แปลงเป็นภาพให้เข้าใจง่าย
กลับมาที่ธุรกิจผ้าอนามัยกันอีกรอบ ถ้าคุณเห็นข้อมูลจำนวนเด็กที่เกิดต่อผู้หญิงโดยเฉลี่ย คุณจะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในระดับที่ 2 - 3 ซึ่งนี่แหละคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีคนมากเป็นพัน ๆ ล้านคน
แต่ Rosling ก็พบว่าบริษัทผ้าอนามัยรายใหญ่ ๆ กลับมองไปที่ประเทศรายได้ระดับที่ 4 พวกเขาต้องการขายผลิตภัณฑ์แบบ niche เช่น ผ้าอนามัยที่บางขึ้นสำหรับบิกินี่ ผ้าอนามัยสำหรับชุดหลากสไตล์ ผ้าอนามัยพิเศษสำหรับนักปีนเขา
ผ้าอนามัยเหล่านี้น่าจะเล็กจนต้องเปลี่ยนบ่อยในหนึ่งวัน ถ้าคุณจะเข้ามาแข่งตลาดนี้ ลูกค้าของคุณจะมีประมาณ 300 ล้านคน และคุณต้องแข่งกับพวกเขาในตลาดที่เล็กมาก จะไม่ดีกว่าหรือถ้าโฟกัสไปที่ประเทศรายได้ระดับที่ 2 และ 3 แทน
ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้กำลังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ออกไปทำงานไกลบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับบริษัทผ้าอนามัย พวกเธอไม่ใส่ชุดหรูหรา ไม่เสียเงินไปซื้อผ้าอนามัยแบบบางเฉียบ พวกเธอต้องการผ้าอนามัยราคาถูกที่จะทนอยู่ได้ทั้งวันเพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนขณะออกไปทำงาน และเมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจ พวกเธอก็จะติดยี่ห้อนั้นไปตลอดชีวิตและแนะนำให้ลูกสาวใช้ต่อ
บริษัทยายักษ์ใหญ่ก็ไม่ต่างกัน พวกเขาให้ความสนใจประเทศรายได้ที่ 4 มากเกินไป ผลิตภัณฑ์ใหม่เน้นเรื่องการทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น
พวกเขากำลังสูญเสียลูกค้าในประเทศระดับที่ 2 และ 3 Rosling บอกว่าลูกค้าในประเทศเหล่านี้น่าจะมีหลายร้อยล้านคน เช่นผู้ป่วยเบาหวานในเขตเกราลาที่ต้องการยาที่ค้นพบแล้วแต่มีราคาที่เหมาะสม หากบริษัทยาปรับราคาให้เหมาะกับแต่ละประเทศและลูกค้าแต่ละกลุ่ม คงทำเงินได้มากมายด้วยสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว
==========
ปี 1800 หลายประเทศกระจุกตัวอยู่ที่รายได้ระดับที่ 1 เวลาต่อมาแต่ละประเทศได้ขยับเขยื้อนจนมีฐานะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สิ่งนี้บอกอะไรเรา
“โลกเรามีการเปลี่ยนแปลงเสมอ”
สัญชาตญาณของเราชอบทำให้คิดว่าโลกนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อันที่จริงมันแยกไม่ออกว่าแบบไหนคือการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แบบไหนคือไม่เปลี่ยนแปลง สองอย่างนี้มีความต่างกัน ถ้ามองข้ามการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยไปล่ะก็ สุดท้ายก็จะพบความลำบากในภายหน้า
ความรู้บางอย่างจะไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาผ่านไป เช่นในคณิตศาสตร์ 2 2 จะเท่ากับ 4 เสมอ (ถ้าไม่ได้อยู่ในโลกดิสโทเปียน่ะนะ) แต่ถ้าเป็นเรื่องสังคมศาสตร์ ต่อให้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดก็ผิดได้อย่างรวดเร็ว ลองเทียบค่านิยมของคุณปู่กับของคุณดูก็ได้ มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง
ระดับรายได้ที่เรามีไม่ใช่ค่าคงที่ ประเทศไทยสามารถไปสู่ระดับที่ 4 ถ้ามีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน ระหว่างทางเราจะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องหยุดชะงัก อย่างเช่น Covid-19 ถ้ารัฐบาลรับมือกับสถานการณ์ได้ดี เราก็จะยังอยู่ระดับที่ 3 ต่อ แต่ถ้ารับมือได้แย่มาก ๆ ก็มีโอกาสไปอยู่ระดับที่ 2 (อย่าเป็นแบบนั้นเชียว)
ความรู้เกี่ยวกับโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สดใหม่เสมอ ความรู้ใดที่ใช้ไม่ได้แล้วก็จำเป็นต้องทิ้งไปแล้วใส่ความรู้ใหม่เข้าไปแทน เหมือนกับที่บริษัทรถยนต์พบว่ารถที่ผลิตมีข้อผิดพลาด เขาจะส่งจดหมายมาให้เรา “เราขอให้นำรถยนต์กลับคืนและเปลี่ยนเบรกใหม่” Hans Rosling ผู้ล่วงลับก็บอกว่าความรู้ที่เราได้มาตอนสมัยเรียนก็เป็นแบบนั้นแหละ
“เมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกที่ได้เรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยล้าสมัย คุณเองก็ควรจะได้รับจดหมายด้วยว่า ขออภัย สิ่งที่เราสอนท่านนั้นไม่จริงอีกต่อไป ขอให้ท่านนำสมองของท่านกลับมาเพื่อรับการปรับปรุงข้อมูลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
==========
ข้อมูลอ้างอิง :
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด