นักท่องเที่ยวคนพิการ ความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย | Techsauce

นักท่องเที่ยวคนพิการ ความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ปัจจุบันสังคมโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging society) และสังคมคนพิการ (Disabled society) เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้นและอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดความพิการ จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 9.2 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2556 และอาจเพิ่มสูงถึงร้อยละ 21.1 ในปี 2593 ในขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แสดงให้เห็นว่าตัวเลขคนพิการในโลกมีสูงถึง 785 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรโลก ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนคนพิการยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยคาดการณ์ว่าจะมีคนพิการมากถึง 160 ล้านคนในปี 2025 ในยุโรป และ 100 ล้านคนในปี 2030 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยทั้งสิ้น

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแม้คนพิการจะมีข้อจำกัดในการเดินทางแต่ก็ยังคงต้องการประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นจากการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อคนพิการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้มีงานวิจัยในยุโรปที่เกี่ยวข้องกับพลังในการใช้จ่ายของกลุ่มคนพิการแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 70 ของประชากรที่เป็นคนพิการในยุโรปมีความพร้อมทั้งสภาพทางการเงินและความสามารถทางร่างกายในการเดินทางท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวคนพิการจะใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 1.16 เท่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้พยากรณ์มูลค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับคนพิการในยุโรปตั้งแต่ ปี 2005-2025 เอาไว้

ดังแสดงในตารางที่ 1

ความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือพลังในการใช้จ่ายเพื่อให้ได้ท่องเที่ยวตามที่ต้องการ โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวนั้นจะทวีคูณเสมอเนื่องจากต้องมีผู้ที่ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง กลุ่มคนพิการจึงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านจำนวนและพลังในการใช้จ่าย ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญคือผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการมีค่อนข้างน้อย ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวของไทยพบว่า จำนวนบริษัทที่รับจัดนำเที่ยวให้คนพิการมีเพียงไม่กี่บริษัท บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำเสนอรายการนำเที่ยวที่เฉพาะสำหรับคนพิการ นอกจากนี้ในแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ เนื่องมาจากความไม่เข้าใจความต้องการของคนพิการ ความกลัวที่จะไม่สามารถดูแลหรือให้บริการที่ถูกต้องเหมาะสมได้ การไม่มีตัวเลขทางสถิติยืนยันจำนวนนักท่องเที่ยวคนพิการ รวมทั้งความไม่แน่ใจถึงความสามารถในการเดินทางและกำลังในการใช้จ่ายของคนพิการสอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอังกฤษที่แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 63 ของบริษัทนำเที่ยวไม่เคยขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้เลย 

ที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสิทธิของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการ เดินทางท่องเที่ยวเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนจึงมีการออกข้อกำหนดและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนพิการอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีแผนพัฒนาต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคบริการ เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับคนทั้งมวลและการให้บริการที่เท่าเทียม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แผนพัฒนาต่างๆ นี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการให้บริการคนพิการ เมื่อผนวกกับข้อมูลทางสถิติจากหลายประเทศที่ยืนยันถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวและพลังในการใช้จ่ายของคนพิการ ทำให้นักท่องเที่ยวคนพิการเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา โดยควรเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วน และเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่จะเอื้อให้คนพิการสามารถเดินทางและเข้าถึงข้อมูลทางการท่องเที่ยวได้อย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรจะวิเคราะห์สถานการณ์และข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายในการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการอันจะนำไปสู่การตอบสนองความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการจัดบริการให้คนพิการนั้นนอกจากจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการตอบสนองสิทธิพื้นฐานของคนพิการและเพื่อพัฒนาความสามารถในการให้บริการอันจะนำไปสู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเองแล้ว ยังเป็นสร้างความแตกต่างที่ส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่อจิตใจผู้คนในสังคมอีกด้วย

บทความโดย ผศ.ดร. กัลยา สว่างคง (คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก: Nutty's Adventures

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...