บทสัมภาษณ์พิเศษ 3 CEO หญิง กับความท้าทายของผู้หญิงในวงการ Startup ไทย | Techsauce

บทสัมภาษณ์พิเศษ 3 CEO หญิง กับความท้าทายของผู้หญิงในวงการ Startup ไทย

โลกของเราได้เดินทางมาสู่ยุคสมัยที่เปิดกว้างและยอมรับในความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อมองมาที่วงการ Startup ในประเทศไทย กลับมองเห็นผู้หญิงในวงการนี้ค่อนข้างน้อย Techsauce จึงคว้าโอกาสนี้ เพื่อมาสัมภาษณ์ 3 หญิงเก่งแห่งวงการ Startup ไทย ทั้ง CEO ของ Sea (Garena), Ikigai Group และ Chiiwii LIVE

ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 เริ่มตั้งแต่ที่ดารา Hollywood ต่างพร้อมใจกันใส่ชุดราตรีสีดำล้วน เพื่อร่วมงาน Golden Globe เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนโครงการ Time’s up เพื่อตอบกลับกรณีของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายหนังที่ถูกแฉว่าคุกคามทางเพศผู้หญิงมากว่า 30 ปี ไปจนถึงกรณีที่มี ผู้สื่อข่าว BBC ลาออกหลังจากสืบทราบว่าผู้ร่วมงานผู้ชายได้รับค่าจ้างมากกว่า

สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง- สำนวนไทยที่ทุกคนคุ้นหูกันดี

ถึงแม้บทบาทของผู้หญิงในครอบครัวมักเกี่ยวข้องกับการจัดการการเงิน และดูแลธุระต่างๆ ภายในบ้าน แต่ก็ยังต้องต่อสู้กับการถูกมองว่าเป็นเพศที่มีอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งหากผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวมักจะถูกมองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าพูดถึงการดำรงตำแหน่งสูงๆ ในบริษัทใหญ่ มักจะตามมาด้วยคำถามเสมอ

ในทุกๆ ประเทศในแถบ ASEAN มีผู้หญิงจบการศึกษาถึงเกินครึ่ง แต่มีผู้หญิงเพียง 30 คนต่อ ผู้ชาย 100 คนที่ดำรงตำแหน่งสูงๆ ในบริษัทใหญ่ แล้วในวงการ Startup ล่ะ? จะเป็นเช่นเดียวกันไหม?

Techsauce จึงนำประเด็นนี้มาพูดคุยกับ 3 CEO หญิงคนเก่ง คุณนก มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ, CEO Sea (Gerena), คุณแชนนอน กัลยาณมิตร แห่ง Ikigai Group, และ หมอแม้ว ศกุณี Dr. แห่ง Chiiwii LIVE เพื่อถกกันถึงประเด็นนี้

คุณคิดว่า ในตอนนี้มีผู้หญิงในวงการ Startup มากพอไหม?

หมอแม้ว: ในวงการ Startup มีผู้หญิงอยู่พอสมควร แต่ถ้าเทียบกับผู้ชายแล้ว ก็ถือว่ายังน้อย

คุณนก: เราไม่ค่อยได้เห็นธุรกิจ Startup ที่นำโดยผู้หญิงและประสบความสำเร็จจริงๆ เท่าไหร่นัก ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น บางทีผู้หญิงมักล้มเลิกความคิดเร็วเกินไป หรือไม่มีความมั่นใจในการพาธุรกิจไปอีกขั้น หรือไม่ค่อยกล้าได้กล้าเสีย แต่ถึงอย่างนั้น นกก็ยังเชื่อว่า เราจะได้เห็นธุรกิจที่ก่อตั้งโดย founder ผู้หญิง เติบโตและระดมเงินทุนได้เยอะขึ้นในอีกไม่ช้า

แชนนอน: ถ้าถามว่า ปัจจุบันมีโอกาสเปิดกว้างในวงการ Tech/ Engineering/ Management มากพอสำหรับผู้หญิงไหม? หรือผู้หญิงคิดว่าตัวเองสามารถสู้กับผู้ชายในวงการนี้ได้ไหม? หรือหากแม้คิดว่าสู้ได้ แล้วคิดว่าจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันไหม? ตอบได้เลยว่า ‘ไม่’ ทั้งเพศหญิงและเพศที่สามยังมีหนทางอีกยาวไกลที่ต้องเดินและต่อสู้

สถิติต่างๆ ที่ออกมาว่ามีผู้หญิงเป็นผู้บริหารในบริษัทในประเทศไทย มักจะเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่ให้ลูกสาวดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการบัญชี หรือการเงิน ขณะที่ตำแหน่ง CEO มักจะเป็นของลูกผู้ชาย

Ikigai Group CEO Shannon Kalayanamitr

ในฐานะที่เป็นผู้บริหารธุรกิจ Startup คิดว่าอะไรคือข้อได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เมื่อต้องขอระดมทุนจาก VC?

หมอแม้ว: ถ้าพูดถึงการระดมทุนจาก VC ส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ตัวผลิตภัณฑ์หรือตัวธุรกิจเป็นหลัก แต่ต้องยอมรับว่า VC หรือนักลงทุนมักจะติดภาพว่าผู้หญิงเจ้าอารมณ์และอ่อนไหว ขณะที่มองว่าทีมที่นำโดยผู้ชายจะสามารถตัดสินใจได้ชัดเจนกว่า

แชนนอน: นักลงทุนมักมองหาคุณสมบัติต่างๆ ในตัว CEO เช่น ความมั่นใจ ความแข็งแรง ความดื้อรั้น การมีตรรกะทางความคิด ไม่ตัดสินใจตามอารมณ์ ฉลาดและรอบรู้ในธุรกิจของตัวเอง การมีเครือข่าย และคุณสมบัติอื่นๆ ในการทำธุรกิจ

ซึ่งปัญหาหลักๆ คือ เพศหญิง (หรือแม้แต่เพศที่สาม) มักถูกมองว่า ไม่มีคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นเลย เนื่องจากติดภาพของผู้หญิงที่ อ่อนแอ ไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์เป็นหลัก เหมาะกับการทำงานอยู่ในครัว หรือควรทำงานในส่วนของการตลาดเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงมักจะเจอปัญหาเมื่อต้องการระดมทุนจาก VC

ตัวผู้หญิงเอง ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงและลุกขึ้นมาสร้างภาพลักษณ์ตัวเองใหม่ และสื่อสารออกไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม

คุณนก: จริงๆ แล้ว เพศไม่ควรจะมีผลในการระดมทุนเลย คุณควรจะเป็นคนทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในตัวคุณ และกล้าที่จะลงทุนกับธุรกิจของคุณให้ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะมีไอเดียที่เจ๋งมากๆ และมีแผนธุรกิจที่ดูยิ่งใหญ่ แต่หากคุณไม่สามารถทำให้เขาเชื่อได้ว่าคุณคือ ‘คนที่ใช่’ ที่จะสามารถผลักดันธุรกิจไปได้ เขาก็จะไม่มาลงทุนในไอเดียนี้ และในท้ายที่สุดความเชื่อมั่นในตัวทีมมักจะนำไปสู่การลงทุนเสมอ

มีคำพูดว่าโลก Startup เป็นโลกของผู้ชาย คุณคิดว่าประโยคนี้เป็นจริงไหมในประเทศไทย?

แชนนอน: น่าเศร้าว่ามันจริงอยู่ แต่ก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ที่ทำงานด้วยการสร้าง connection ผ่านการดื่มหลังเลิกงาน ไปเที่ยวบาร์ ตีกอล์ฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้หญิงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก

คุณนก: มันเป็นเรื่องจริงใน 10 ปีที่แล้ว แต่หลายสิ่งเปลี่ยนไปแล้วตามกาลเวลา หากเราลองไปดูอาชีพที่เคยมีแต่ผู้ชายทำ ปัจจุบันก็มีผู้หญิงทำมากขึ้น ตามการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย รวมถึงธุรกิจ Startup ด้วย

ในประเทศไทย มีผู้หญิงหลายคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรใหญ่ๆ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคต หากเรามีผู้บริหารผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพพนักงานผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้บริหารต่อๆ ไปได้

หมอแม้ว: ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะนักลงทุนหรือ VC เองต่างก็เป็นผู้ชาย ซึ่งถือว่าฉันโชคดีมากๆ ที่มีเพื่อนร่วมงานทั้งผู้หญิง และผู้ชายที่เชื่อมั่นในความคิดและความสามารถ คนที่อยู่ในวงการ Startup มักจะเป็นคนที่มีความคิดเปิดกว้าง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่แท้จริง

Chiiwii LIVE CEO Dr. Sakunee Niranvichaiya (Maew)

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารหญิงไทยแตกต่างจากชาติอื่น?

หมอแม้ว: ผู้บริหารผู้หญิงในไทยส่วนใหญ่มักจะมีความเห็นอกเห็นใจ และให้โอกาสต่อคนอื่นๆ เรามองความสำเร็จจากการเป็นคนที่มีคุณภาพ ไม่ใช่จากตัวเลข

คุณนก: โดยทั่วไปแล้ว นกไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แต่ซึ่งหนึ่งที่ดีในการเป็นคนไทยคือเรายิ้มแย้มอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ภายใต้ความกดดัน เราก็ยังยิ้ม และแสดงออกถึงความคิดบวก แล้วทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการเป็นคนใจดีก็จะต้องมาควบคู่กับความหนักแน่นทางความคิดด้วย

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการ Startup มากขึ้น?

Garena Group CEO Maneerut Anulomsombut (Nok)

คุณนก: ควรมีกิจกรรมหรือโปรแกรมสำหรับ Startup ที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น เช่น อาจจะมี Workshop สำหรับผู้หญิงที่มีความสนใจในด้านนี้โดยเฉพาะ และเรียนรู้จากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจ

ผู้บริหารผู้หญิงเองก็ควรมีส่วนในการช่วยผลักดันและพัฒนาพนักงานผู้หญิงด้วยกันเอง เพื่อให้คนอื่นลบภาพจำเดิมๆ ออกไปได้

หมอแม้ว: อยากแรกเลยคือ เราต้องเชื่อในตัวเองและเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความสามารถของเรา อย่างที่สองคือ ในขณะที่สังคมเริ่มเปิดกว้างให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารงานมากขึ้นแล้ว เราก็ควรจะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานทั้งชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้สำหรับวงการ Startup เราควรจะมีกลุ่มสำหรับผู้ก่อตั้งผู้หญิงโดยเฉพาะบ้าง อย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่มีกลุ่ม 'Female Founder Group' และ 'She Love Tech'

แชนนอน: เนื่องจากมันมีการถกเถียงมากมายถึงเรื่องของผู้หญิง ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนทำให้คนเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย ฉันจึงคิดว่า มันถึงเวลาที่เราควรจะพูดถึงการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกๆ เพศ ในแง่ของธุรกิจ เราควรพูดกันถึง ปัญหาและเป้าหมายของตัวธุรกิจ ว่าเราควรจะทำอะไรเพื่อจะพัฒนาไปถึงจุดนั้น รวมถึงการวางแผนและหาวิธีการที่ยั่งยืนในการต่อยอดธุรกิจ

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของทุกคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศที่สาม เราควรจะต้องก้าวข้ามประเด็นเหล่านี้ และหันกลับมาดูความสามารถและสิ่งที่เราสามารถทำได้จริงๆ มากกว่า

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Bill Gates แนะนำ 'The Coming Wave' หนังสือ AI ที่ควรอ่าน ทำนายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน

Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft แนะนำหนังสือ "The Coming Wave" เขียนโดย Mustafa Suleyman ซีอีโอของ Microsoft AI ซึ่งเขายกให้เป็นหนังสือ AI ที่สำคัญที่สุดและอยากให้ทุกคนอ่าน เพื่อเต...

Responsive image

The Puzzle Principle เคล็ดลับของไอน์สไตน์ที่จะทำให้คุณฉลาดขึ้น

เรียนรู้หลักการ The Puzzle Principle ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์และแนวคิดจาก Adam Grant ที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เปิดใจกว้าง และทำให้คุณฉลาดขึ้น พร้อมตัวอย่างงานวิจัยที่ยืนยันผลลัพ...

Responsive image

บริหารแบบ Micromanagement ใส่ใจไม่จู้จี้ บทเรียนพลิกธุรกิจจาก Brian Chesky CEO ของ Airbnb

สำรวจว่าแนวทางการบริหารที่ใส่ใจในรายละเอียดของ Chesky ช่วยเปลี่ยน Airbnb ให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกได้อย่างไร และเพราะเหตุใดการ micromanagement ...