Join&Coin ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่กับแนวคิด ‘Startup ภูธร’ โมเดลลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท | Techsauce

Join&Coin ธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่กับแนวคิด ‘Startup ภูธร’ โมเดลลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท

เมื่อพูดถึง Startup หลายคนอาจจะมองเห็นภาพของแนวคิดการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน เพื่อการแก้ปัญหา (pain point) อย่างใดอย่างหนึ่งให้กับสังคม โดยจะมีอิทธิพลที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกันในการแก้ปัญหาของสังคมเมืองเป็นส่วนใหญ่  ในทางกลับกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีอยู่ในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมชนบทในระดับท้องถิ่น ที่ประชากรยังขาดโอกาสในการเข้าถึงและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต

ฐัช หัชลีฬหา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  Join&Coin Corporation

ปัจจุบันแนวคิดของการทำ Startup ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรใหญ่ จากการที่มีกระบวนการที่ตอบโจทย์ที่จะต้องมีการ Transform องค์กรให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล  ซึ่งในบทความนี้ Techsauce มีหนึ่งในกรณีศึกษาของ Corporate ดั้งเดิมที่ได้ปรับเปลี่ยนองค์ โดยใช้แนวคิดของการทำ Startup เข้ามาออกแบบโมเดลธุรกิจ นั่นคือ บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจค้าปลีกธรรมดามาเป็นธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่

เดิมทีในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน Join&Coin เริ่มต้นมาจาก ยาสมุนไพรจีน 'โหย่งเหิง' ที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพให้กับคนไทย ถือเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อ จนเกิดเป็นเครือข่ายของการบอกต่อ หลังจากนั้นนับตั้งแต่ปี 2010 โลกเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทำต้องมีการปรับโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้มีแค่ยาสมุนไพรจีนเพียงอย่างเดียว แต่ปรับไปสู่การทำธุรกิจรูปแบบของการค้าปลีก (Retail) ต่อมาเมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตของผู้คนมากขึ้น จากค้าปลีกยุคเก่าก็ต้องปรับมาเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ Modern Trade ซึ่งก็เป็นปกติของการทำธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา หรือการ Disrupt ตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ด้วยการที่ Join&Coin มีแกนหลักในการทำธุรกิจ คือ การแก้ปัญหา (pain point) ที่เกี่ยวกับข้อง 'คน' ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันรูปแบบการดำเนินธุรกิจ คือ ร้านค้าปลีกในรูปแบบของแฟรนไชส์  ภายใต้ชื่อร้าน J&C iMart ที่เจาะกลุ่มคนท้องถิ่นเป็นหลัก และมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ประกอบกับมีการนำแนวคิด Social Enterprise ที่หัวใจหลักคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ของผู้คนเข้ามาดำเนินธุรกิจด้วย 

ในบทความนี้ Techsauce ได้พูดคุยกับ ‘ฐัช หัชลีฬหา’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  Join&Coin Corporation ทายาทรุ่นสองที่ได้เข้ามาบริหารงานและปรับโฉมธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวให้เป็นธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ จากการใช้มิติของ  Big Data ที่ทำให้เห็นปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงเกิดเป็นโมเดลของการทำ Startup ภูธร  เพื่อเข้าไปแก้ pain point ของความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมชนบท ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน

Join&Coin เห็นปัญหาอะไรที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีการนำแนวคิดของการทำ Social Enterprise มาเป็นโมเดลของการทำธุรกิจ 

สำหรับ Join&Coin เรามีจุดแข็งก็คือ ‘คน’ ซึ่งถือเป็น core value ในการดำเนินธุรกิจของเรา ดังนั้นด้วยเครือข่ายที่เรามีอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาเมื่อ 20  ปีก่อน ทำให้เราเห็นสิ่งที่เรียกว่า Big Data หรือข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่คนที่เข้ามาเป็นเครือข่ายของเราจะเป็นคนต่างจังหวัด และการศึกษาอาจจะไม่ได้สูงมาก อยากหาโอกาสเข้ามาทำงานเมือง เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องมาเป็นลูกจ้าง เมื่ออยู่ไปก็มีความคิดว่าอยากกลับไปต่างจังหวัดใช้ชีวิตแบบท้องถิ่น แต่ปัญหาคือถ้ากลับไปก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร เกษียณแล้วจะไปทำอะไร ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ รับราชการหรือเกษตรกร ซึ่งนอกเหนือจากอาชีพเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร ถ้าเป็นผู้สูงอายุ ได้เบี้ยยังชีพไม่ถึงหนึ่งพันบาทต่อเดือน ก็ไม่พอใช้ 

และยิ่งในปัจจุบันมีเรื่องของ Disruption เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนอีก เมื่อคนเหล่านี้ถูก Disrupt ในโรงงานต่างก็ลดคนงาน และใช้หุ่นยนต์มาทำงานแทน แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร ? 

บรรยากาศภายในร้าน J&C iMart

ดังนั้นเมื่อ Join&Coin มีข้อมูลตรงนี้อยู่ จึงทำให้เราคิดโมเดลธุรกิจที่อาศัยแนวคิดของ Social Enterprise เข้าไป เพื่อต้องการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในแง่ของความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ เพราะตอนนี้ประเทศไทยของเราก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว และก็ดูเหมือนว่าช่องว่างทางสังคมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้น้อยลงเลย แต่กลับยิ่งกว้างขึ้นด้วยซ้ำ

ด้วย Big Data ที่เรามี ก็ได้นำไปสู่การวิเคราะห์พฤติกรรมของคน ซึ่งทำให้เรารู้ถึงเป้าหมายของพวกเขา รวมไปถึงความต้องการที่แท้จริง แน่นอนว่าทุกคนที่เข้ามาเขาต้องการรายได้ทั้งสิ้น ต้องการอาชีพที่มั่นคง แต่คำว่าอาชีพที่มั่นคงต่างกันที่ตัวบุคคล บางคนเขาไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของเราเพื่อมาทำธุรกิจในรูปแบบของเครือข่าย แต่บางคนสมัครเพื่อต้องการที่จะนำสินค้ามาฝากขาย บางคนเข้ามาเพื่อเป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว และบางคนต้องสมัครมาเป็นสมาชิกเพื่อมาซื้อสินค้าแล้วนำไปขายต่อ จะเห็นว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมที่ต่างกัน 

เราจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ ซึ่งทำให้เรารู้ว่า เราไม่สามารถทำแค่ในรูปแบบของค้าปลีกที่เราจะแค่ขายในรูปแบบของแฟรนไชส์ให้คนเอาไปเปิดต่ออย่างเดียวได้ เราก็เลยมีการคิดเรื่องที่จะให้คนนำสินค้ามาฝากขายได้ และด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิมที่เรามีอยู่ ทำให้เราคิดต่อไปอีกว่าทุกส่วนนั้นจะต้องเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีร้านค้าไปเปิดแล้ว คนนำสินค้ามาวางขายได้ ผู้ซื้อและผู้ขายได้ประโยชน์ คนกลางก็ได้ประโยชน์ในการทำ Transaction ด้วย  

สิ่งที่ Join&Coin ทำก็เหมือนกับการทำ Startup ที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไข pain point ของผู้บริโภค แต่ส่วนใหญ่แล้วมักแก้ปัญหาของสังคมเมือง แต่ของเรานั้นต้องการแก้ไขปัญหาของสังคมชนบท ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นจะเรียกว่าโมเดลธุรกิจของเราเป็น Startup ภูธร ก็ว่าได้

อยากให้ขยายความของโมเดลธุรกิจที่เราเรียกว่า ‘Startup  ภูธร’ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในสังคมชนบทได้อย่างไร

Startup ภูธร คือ การดำเนินธุรกิจที่เราใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อน โดยมุ่งแก้ pain point ในสังคมลดลง โดยปัญหาหลัก ๆ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุอย่างที่ได้กล่าวไปเมื่อตอนต้น ซึ่งก็มีทั้งคนที่มีโอกาส เช่น มีการศึกษาหรือมีธุรกิจครอบครัวที่ต่างจังหวัด และคนที่ไม่มีโอกาสที่ใกล้จะเกษียณ 

ผมขออธิบายแบบนี้ว่า ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ประชากรเกือบ 70 ล้านคน เกินครึ่งเป็นเกษตรกร แต่ก็อย่างที่รู้ว่ามันก็จะเจอปัญหาภัยแล้งหรือไม่ก็น้ำท่วม และเจอปัญหาระดับมหภาค นั่นคือ กำแพงทางการค้า (trade wall) ที่ทำให้ประเทศไทยที่ผ่านมามันโตด้วย การเป็นแหล่งผลิต เพราะค่าแรงต่ำ และญี่ปุ่นก็มาตั้งโรงงาน แต่ตอนนี้เขาไม่ได้ตั้งแค่ที่ไทยอย่างเดียว ย้ายไปเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือเมียนมาด้วย เพราะค่าแรงถูกกว่า รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาด้วย  

โดยปกติแล้วในต่างจังหวัดจะมีส่วนกลางที่จะช่วยตรงนี้ คือ ภาครัฐ โดยมีนโยบายและการประกันราคาต่างๆ แต่ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมันฝืด ทั้งสภาพแวดล้อม รัฐบาล ประกันสังคม สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้คนทำงานน้อยลง คนจ่ายภาษีก็น้อยลง 

รวมถึงในปี 2564 จะมีผู้สูงอายุในสังคมไทยสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดสภาวะพึ่งพิง นั่นคือ เมื่อแก่ตัวลงก็ยังไม่รวย ก็ต้องมีคนมาดูแล เมื่อผู้สูงอายุไม่มีอาชีพ จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร แบบสองคือผู้สูงอายุติดเตียง 

“Join&Coin กำลังทำให้ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดเป็นผู้สูงอายุที่ติดสังคม เพราะถ้าหากเราสามารถทำให้เขามีกิจกรรมโดยใช้บ้านตัวเองเป็นร้านค้าได้ จะเป็นสิ่งที่ลดปัญหาต่าง ๆ ไปได้มากเลยทีเดียว เพราะพวกเขามีอาชีพ และมีรายได้” 

รูปแบบการดำเนินธุรกิจของร้าน J&C iMartแล้วในส่วนของรูปแบบของการดำเนินธุรกิจ  Startup ภูธร เป็นอย่างไร 

ระบบของเราเกี่ยวกับคนทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ผลิต นักขาย และ ผู้ค้ารายใหญ่ โดยผู้ผลิตที่ไม่มีช่องทางในการขาย มาเจอกับนักขาย ซึ่งในตอนแรกผู้ผลิตเหล่านั้นเขาไม่รู้ว่า ถ้าจะขายต้องมีต้นทุน และต้นทุนก็จะมากองที่ร้านของผู้ขาย ดังนั้นจึงต้องไปจัดหาผลิตภัณฑ์ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน ถ้าไปซื้อที่ modern trade ไปซื้อจำนวนไม่เยอะ เขาก็ไม่ลดราคาให้ แต่เนื่องจากเรามี order อยู่แล้ว เราก็เอาไปคุยกับผู้ค้ารายใหญ่ แล้วเขาจะย่อยสินค้าให้กับ Join&Coin และเราก็ย่อยให้รายย่อยอีกที และเราก็จะมีคะแนนสะสมต่าง ๆ ดึงดูดและสร้าง Loyalty ให้กับพวกเขาด้วย นอกจากนี้เรายังมีการฝึกอบรมทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่างๆที่จำทำให้การมาซื้อสินค้าของพวกเขาง่ายขึ้นด้วย 

หน้าที่ของ Join&Coin คือ เรากำลังบ่มเพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็น Micro SME นั่นคือ สังคมชนบทที่ต้องการโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นตรงนี้เป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจของเรา 

แน่นอนว่าเมื่อก่อนตอนสมัยเรียน ในห้องเรียนมักจะให้เราเรียนในสิ่งที่เป็นกรณีศึกษาของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กรณีศึกษาแบบที่เป็นเกษตรกร ชาวบ้าน คนหาบของขาย เราแทบจะไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งผมเองได้กลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเราทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเข้าถึงคนกลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ต้องเข้ามาศึกษาคนกลุ่มนี้ด้วย 

ผมมองว่าไม่ว่าคนจะสร้างเทคโนโลยีที่ดีขนาดไหนก็ตาม แต่ไม่มีคนใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่สามารถทำออกมาให้เป็นเชิงการค้าได้ ก็เป็นแค่ invention ไม่ใช่ innovation แต่ในทางกลับกันถ้าทำออกมาแล้วมีคนใช้ เป็นประโยชน์และมีการบอกต่อมันจะมีคุณค่าและทรงพลังมาก 

การแนะนำให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจการใช้แอปพลิเคชั่นในการซื้อขายสินค้า

เราวิธีการเชื่อมต่อเทคโนโลยีให้เข้าถึงชาวบ้าน เพื่อที่จะให้พวกเขานำมาใช้ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง 

จริงอยู่ว่า การทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงชาวบ้านในสังคมชนบทค่อนข้างมีความท้าทาย อย่างที่เรารู้คือ การศึกษาเรื่องดิจิทัลในต่างจังหวัดยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาหลัก ๆ เลยก็ว่าได้ ดังนั้นเราได้มีการทำงานร่วมกับสถาบันอาชีวะในต่างจังหวัด เพราะเรารู้ว่าตรงนี้จะเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้ โดยเราเข้าไปอบรมให้ความรู้ และให้การสนับสนุนกับนักเรียนอาชีวะ ให้มีการต่อยอดสร้างอาชีพได้ด้วย และเขาก็จะมีการบอกต่อ สอนต่อให้กับคนรอบๆตัวเขา นี่ก็เป็นหนึ่งในวิธีการ...

นอกจากนี้เราก็ได้มีการพัฒนา AI ขึ้นมา ที่เป็นหุ่นยนต์ที่พูดคุยกับคนได้ อย่างที่บอกว่าจากการที่เรามี  Data มาแล้วบอกว่าคนนี้มีพฤติกรรมแบบไหน มีการดูเรื่องความเสี่ยง และการที่อยากประสบความสำเร็จ เอาทั้งสามอย่างนี้มาดูแล้วทำเป็นระบบ AI ในการวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นก็จะมีให้คนมาตอบคำถาม เมื่อตอบเสร็จก็จะรู้ว่าเขาเหมาะกับการเป็นคนแบบไหน แต่ถ้าตอบแล้ว อยากเป็นอีกแบบ ก็จะมีบอกว่าเขาขาดอะไรบ้าง และเราก็จะมีหลักสูตรในการฝึกอบรมเพื่อมารองรับในสิ่งที่เขาอยากเป็น เหมือนเป็นการสแกนตัวเองก่อน 

ทุกวันนี้คนใช้มือถือในการเข้าถึงข้อมูล เมื่อชาวบ้านเข้ามาใน Join&Coin เขาก็โหลดแอปพลิเคชันของเรา เมื่อชาวบ้านจะซื้อสินค้าเขาก็เลือกใส่ตะกร้าได้เลย เราก็อาศัยการออกแบบให้ชาวบ้านเขาใช้ง่าย ซึ่งตอนนี้จำนวนคนที่โหลดมีประมาณหลักหมื่น อย่างผู้ผลิตเขาก็เอาของมาวางไว้และอัปโหลดขึ้นไปได้ 

ตัวอย่างเช่น ในภาคใต้มีน้องอาชีวะคนหนึ่งเขามาบอกผมว่า มีสินค้าที่ดีมาก เป็นน้ำพริก เขาอยากลองตีตลาด เราก็ให้เขาทำในเขตอำเภอหาดใหญ่ มีคะแนนให้เขาและเขาก็ขายได้ ซึ่งตอนนี้เขาก็ไปขายในภาคอีสาน จากตอนแรกที่มีของ ทำเองที่บ้าน ตอนนี้เขาก็ขยายให้อยู่ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ จะเห็นได้ว่าน้องอาชีวะที่ไม่อยากอยู่ในเมือง แต่อยู่ในท้องถิ่นกับครอบครัวแต่ก็มีอาชีพทำ มีสินค้า มีลูกค้าเข้าร้าน พ่อแม่เองก็เป็นคนท้องถิ่น ทำให้มีคนรู้จักมากก็พาลูกค้ามา 

“นี่คือทักษะของคนในวัยที่ต่างกันแต่ส่งเสริมกันและกัน โดยที่ Join&Coin เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยและความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ช่วยลดได้การได้รับโอกาส และการมีรายได้ที่จะส่งเสริมให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

แอปพลิเคชันที่ออกแบบให้คนท้องถิ่นเข้าใจและใช้ได้ง่ายสุดท้ายนี้ในฐานะของคนที่ทำธุรกิจโดยใช้แนวคิด Social Enterprise อยากฝากอะไรบ้าง

ผมมองว่า การทำ Social Enterprise ไม่ใช่ว่ามีแค่ไอเดียดีอย่างเดียว แต่ต้องเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความมีส่วนร่วมกับคนที่เกี่ยวข้องได้ด้วย เพราะเราไม่สามารถทำด้วยตัวของเราเองได้ทั้งหมด อย่างที่เราบอกว่า สิ่งที่เราทำ เพราะต้องการแก้ปัญหาโดยลดความเหลื่อมล้ำและอยากให้คนมีอาชีพ แต่ถ้าคนที่เขาต้องการ เขาไม่ได้เข้ามาร่วม ก็เหมือนกับเราตบมือข้างเดียว แต่นี่คือเขาเข้ามาร่วมได้ เริ่มที่จะยืนด้วยตัวเองได้ เริ่มมีความรู้สึกว่าภาระน้อยลง จากนั้นก็เริ่มทำบทบาทได้เต็มที่มากขึ้น เริ่มช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น ก็จะเริ่มเป็นแบบอย่าง (role model)ในชุมชน หรือเรียกว่า network effect คือ บริษัททำมาอย่างหนึ่ง ตอนแรกกำไรน้อยมาก เหมือนกับ Youtube ที่ให้คนมาใช้ฟรี จากนั้นก็ทำให้เกิดการเข้าสู่ระบบ เริ่มมีอำนาจทางการตลาด และเริ่มให้มีการกดติดตาม

เช่นเดียวกัน ตอนแรกที่เราทำ เราก็มีทรัพยกรแค่ 'คน' และ 'ข้อมูล' แล้วเราก็เริ่มคุยกับธนาคาร เริ่มคุยกับโลจิสติกส์ และเริ่มคุยกับผู้ผลิตให้เอาสินค้าเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม จนกระทั่งให้ผลประโยชน์กับผู้ใช้ (user) และเกิดการบอกต่อจากผู้ใช้งานสู่ผู้ใช้งาน (user to user) ซึ่งตรงนี้ถือเป็น ที่เรียกว่าการเข้าถึงในชุมชนที่ลึกมาก อย่างเขาโหลดแอปพลิเคชั่นของเรา แล้วเขาไปคุยในบ้านกันเอง เรียนรู้ด้วยกัน แน่นอนว่าธุรกิจมันต้องมีรายได้ แต่เราได้มา 100 บาท เราแชร์ไป 90 บาท แต่บริษัทก็ยังอยู่ได้ 

ฉะนั้น Social Enterprise จะประสบความสำเร็จได้นั้น คือเราต้องอยู่รอดและมีส่วนร่วม ซึ่งส่วนรวมก็ต้องอยู่ได้และเราก็อยู่ได้ ที่สำคัญคือความผูกพันที่ได้ทั้งเพื่อนและมิตรภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ออนไลน์ทำไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้ร้านโชว์ห่วยยังอยู่ได้ เราทำเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้คนได้นำไปใช้เพื่อให้เกิดอาชีพ เราไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อให้เทคโนโลยีแย่งอาชีพคน นั่นคือสิ่งที่แตกต่าง 

ตอนนี้ในประเทศไทยเรามีตลาดในระบบและนอกระบบ โดยตลาดในระบบคือคนที่ทำงาน ขึ้นทะเบียนต่างๆ แต่ก็ยังมีตลาดนอกระบบอีกมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย่างคนหาบของ วินมอเตอร์ไซต์ เกษตรกร ซึ่งคนเหล่านี้ คือคนส่วนใหญ่ใน Join&Coin และเรากำลังทำให้เขาอยู่ในระบบ ทำให้คนมีบทบาทมีอาชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าภาษีก็เกิด 

ทั้งหมดที่เราทำ คือ การทำให้คนมีอาชีพ มีรายได้ โดยที่ไม่ต้องเข้ามากระจุกตัวกันอยู่ในเมือง ซึ่งมันก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ โดย Join&Coin ได้สร้างการมีปฏิสัมพันธ์ (engagement) ให้กับหนึ่งคน แล้วเขาก็ไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นต่อ ซึ่งทั้งหมดมันส่งเสริมกันและกัน และมีความสุขจากนวัตกรรมที่ได้ใช้ สุดท้ายคือก่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...