Power Harassment การกลั่นแกล้งโดยผู้มีอำนาจ เรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม | Techsauce

Power Harassment การกลั่นแกล้งโดยผู้มีอำนาจ เรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

รู้หรือไม่? ญี่ปุ่นมีจำนวนเคสถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงานเมื่อปี 2021 สูงถึง 88,000 เคส มากเป็นสามเท่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในประเทศไทยมีข่าวครูสาวต้องซื้อเก้าอี้ตัวใหม่ให้ผู้อำนวยการ เนื่องจากเผลอไปนั่งเก้าอี้ตัวโปรดของ ผอ. จึงถูกต่อว่าและให้ซื้อเก้าอี้ใหม่มาทดแทน และในหลายๆ ประเทศในเอเชียมักโดนกลั่นแกล้งในที่ทำงานโดยผู้มีตำแหน่งสูงกว่าซึ่งหลายคนไม่รู้ตัวเลยว่าที่ถูกกระทำอยู่เรียกว่า “Power harassment”

Power harassment คืออะไร

Power harassment คือ การล่วงละเมิดหรือการกลั่นแกล้งซึ่งผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเป็นผู้กระทำต่อลูกน้อง ในภาษาอังกฤษสามารถเรียกว่า “Abuse of power” หรือ “Bullying” ในประเทศญี่ปุ่นจะเรียก “Pawa Hara (พาวะ ฮาระ)” ในขณะเดียวกันประเทศเกาหลีใต้ก็มีกรณี Power harassment ที่เหมือนกันกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่จะเรียกว่า “Gapjil (แก๊ปจิล)” แทน 

Power harassment มักจะถูกจำสับสนกับหลายๆ คำที่มีการใช้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เช่น Workplace harassment หรือ Sexual harassment ซึ่ง Workplace harassment จะเป็นหมวดใหญ่ ส่วน Power harassment กับ Sexual harassment อยู่ภายใต้ Workplace harassment อีกที 

อย่างไรก็ตาม แม้ Power harassment และ Sexual harassment จะมีความทับซ้อนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันตรง Sexual harassment จะเน้นไปที่การกระทำและคำพูดที่คุกคามเหยื่อมากกว่า

แล้วแบบไหนถึงจะเข้าข่าย Power harassment 

การกระทำที่เข้าข่าย Power harassment

พฤติกรรมที่เข้าข่ายมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ดังนี้

  1. การกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน 

  2. การกระทำที่เกินขอบเขตที่จำเป็นและเกินขอบเขตที่มีเหตุผลในการทำงาน 

  3. การกระทำที่ทำลายบรรยากาศในที่ทำงาน

เช่น Power harassment มีทั้งทำร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว การสั่งงานที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป และการล่วงเกินเรื่องส่วนตัว เช่น การด่าทอลูกน้องต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่น การกระทำนี้เข้าข่ายทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ 1. ถูกด่าทอให้รู้สึกอับอายในที่ทำงาน 2. การดุด่าเกินขอบเขตที่จำเป็น ทั้งๆ ที่ในความจริงสามารถตักเตือนเป็นการส่วนตัวได้ และ 3. ทำลายบรรยากาศที่ทำงานทำให้ลูกน้องต้องหวาดระแวงว่า หากทำผิดจะด่าทอต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ในขณะเดียวกันลูกน้องที่เห็นเหตุการณ์ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนต่อเพื่อนร่วมงานที่โดนกลั่นแกล้ง ซึ่งกรณีนี้เป็นการทำร้ายจิตใจของเหยื่อ และทำให้เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยว

นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่าง Power harassment อื่นๆ ในหลายประเทศ เช่น

  • ประเทศเกาหลีใต้ ลูกสาวของอดีตประธานสายการบิน Korean Air บังคับให้เครื่องบินจอดที่สนามบิน JFK

Cr. Daily mail

  • ประเทศญี่ปุ่น ครูรุ่นพี่ที่สอนในโรงเรียนมัธยมบังคับให้ครูรุ่นน้องกินแกงกะหรี่ที่เผ็ดเกินไป
  • ประเทศไทย ทหารเกณฑ์ถูกนายทหารยศใหญ่ใช้ให้ทำงานบ้านหรือเป็นคนขับรถ
  • ประเทศจีน พนักงานโดนไล่ออกหลังทำงานได้สามวัน สาเหตุเพราะเลิกงานตรงเวลา 

Power harassment ในที่ทำงานส่งผลเสียอย่างไร

Power harassment นอกจากจะทำร้ายร่างกายและจิตใจของเหยื่อแล้ว กลับกลายเป็นว่าเหยื่อถูกทำร้ายจิตใจซ้ำอีกรอบ เพราะเสียงของเขาไม่ได้รับการสนใจ โดยมีผลสำรวจจากบริษัท Shikigaku ระบุว่า ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ Power harassment มีเพียง 36% ที่รายงานบริษัทเรื่องถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากกลับตอบว่า รายงานเรื่องนี้ไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม และในกลุ่มคนที่รายงาน 47% ตอบว่าบริษัทไม่ได้มีการตอบสนองใดๆ การที่บริษัทหรือองค์กรไม่ให้ความสำคัญและไม่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพนักงานที่ทำงาน และสังคมเป็นทอดๆ 

ในส่วนผลกระทบต่อการเงินของบริษัทมีทั้งพนักงานลาป่วยบ่อยครั้ง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่หาคนมาแทนพนักงานที่ลาออก หรือการที่ Productivity และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดลง เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัย ด้านค่าใช้จ่ายในการหาคนมาแทนพนักงานที่ลาออกเฉลี่ยคนละ 1,000 ปอนด์ หรือคือประมาณ 46,656 บาทไทย และ Productivity ของพนักงานจะลดลง 1½ - 2% ทำให้งานมีความล่าช้ามากขึ้น

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิด Power harassment ในสังคมเอเชีย

ปัจจัยที่ทำให้เกิด Power harassment ในสังคมเอเชียมีหลากหลายองค์ประกอบทั้งวัฒนธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ ดังนี้

1. วัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโสในสังคมเอเชีย

วัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโสในสังคมเอเชียมาจากรับคำสอนของลัทธิขงจื๊อ ที่มีต้นกำเนิดจากจีนว่าด้วยการเชื่อฟังผู้อาวุโส และเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ทำให้สังคมเอเชียยึดถือคำสอนนี้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ประเทศฝั่งเอเชียให้ความสำคัญกับคำว่าครอบครัว และในหลายๆ องค์กรนิยามบริษัทตัวเองว่าเป็นการทำงานแบบครอบครัวซึ่งต้องให้เคารพผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ดี ดังนั้น ผู้ที่สูงอายุกว่าจึงมีอำนาจมากกว่า หากผู้น้อยต่อต้านหรือเห็นต่างก็ถือว่าไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้น้อยส่วนมากจึงต้องทำตามและห้ามมีปากมีเสียง ทำให้เกิด Power harassment ได้ง่าย

2. การ Victim blaming ในสังคมเอเชีย

การ Victim blaming หรือ การกล่าวโทษเหยื่อ คือ การที่เหยื่อจากการล่วงละเมิด เหตุการณ์ความรุนแรง หรือเหตุการณ์อาชญากรรมถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำผิดนั้นขึ้นมา ซึ่งในสังคมเอเชียมักเกิด Victim blaming บ่อยครั้ง เพราะมีความคิดว่าเหยื่อที่โดนกระทำเช่นนั้นมีสาเหตุมาจากตัวเหยื่อเองไม่ทำตามกรอบบทบาทหน้าที่ หรือตามจารีตประเพณีทางสังคม ในขณะเดียวกันก็มีความคิดเห็นบางส่วนที่คิดว่าการทำโทษด้วยความรุนแรงจะทำให้เหยื่อปรับปรุงตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบง่ายกว่าการสอนแบบถนอมน้ำใจ ทำให้เหยื่อ Power harassment ไม่กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง และเกิดการผลิต Power harassment วนเวียนซ้ำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไปในที่สุด

3. ความเครียด

ความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด Power harassment โดยเฉพาะความเครียดที่สะสมมาอย่างยาวนานในเศรษฐกิจของเอเชีย ทำให้หลายบริษัทกดดันบุคลากรระดับหัวหน้างาน และบุคลากรเหล่านี้ก็กดดันพนักงานต่อไปเป็นทอดๆ โดยการนำอารมณ์มาลงกับพนักงาน หรือการควบคุมความคิดการทำงานของพนักงาน จ้องจับผิดแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และนำไปสู่ Power harassment 

4. กลัวการตกงาน

เนื่องจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้หลายคนไม่ค่อยมีโอกาสให้เปลี่ยนงาน กลัวตกงาน หรือกลัวว่าจะมีชื่อเสียงไม่ดีพ่วงท้ายแล้วจะทำให้เป็นปัญหาต่อการสมัครงานที่อื่นในอนาคต คนที่มีตำแหน่งสูงกว่ารู้ว่าลูกน้องกลัวที่ตกงานจึงใช้ความกลัวมาขู่ ลูกน้องจึงไม่กล้าที่จะพูดและเลือกที่จะเงียบ และกลายมาเป็นเหยื่อของ Power harassment ในที่สุด

แนวทางแก้ไข Power harassment ในอนาคต

แนวทางการแก้ปัญหา Power harassment นั้นมีหลายวิธีมาก แต่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน คือ การออกกฎหมาย ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้คิดหาวิธีการมารองรับเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นในปี 2019 ได้ออกกฎหมายเพื่อป้อง Power harassment ในที่ทำงานซึ่งก่อนหน้านี้มีแค่กฎหมาย Sexual harassment และ Maternity harassment ในที่ทำงานเท่านั้น ส่วนประเทศเกาหลีใต้ใช้วิธีการโต้กลับโดยมีการให้บริการ Gapjil hotlines เพื่อให้ประชาชนรายงานหัวหน้าที่มีพฤติกรรมที่แย่ 

นอกจากออกกฎแล้ว พนักงานควรตระหนักถึงสิทธิตัวเองและควรมีข้อตกลงที่มีการกำหนดขอบเขตที่เห็นได้แน่ชัด อย่างเช่น การกำหนดเวลาการทำงานที่ชัดเจน ทั้งเวลาทำงานปกติและล่วงเวลาในวันหยุด ในส่วนสังคมก็ควรที่จะสร้างค่านิยมใหม่โดยไม่มองว่าการ Power harassment เป็นเรื่องธรรมดา และสิ่งสำคัญที่สุด คือ Hr ขององค์กร เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้รักษากฎหมายควรปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ไม่ควรมองว่าการ Power harassment เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรับแจ้งถึงปัญหา ควรปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บทสรุป

Power harassment มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมเอเชีย แต่คนที่กล้าออกมาเรียกร้องกลับมีน้อยมาก เพราะเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่กดทับทำให้ผู้น้อยไม่กล้าพูดหรือยืนหยัดเพื่อสิทธิของตัวเอง แต่ประเทศในฝั่งเอเชียก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายออกมาเรื่อยๆ ให้ทันสมัย ผู้คนต่างก็พยายามที่จะเรียนรู้และป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อของ Power harassment และมีการพยายามสร้างบรรทัดฐานของสังคมให้ใหม่ขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการถกถามอยู่เสมอว่าจะทำยังไงให้สภาพแวดล้อมการทำงานปลอดภัยและปราศจาก Power harassment อีกทั้งยังมีคำถามว่า กฎหมายมีประสิทธิภาพจริงไหมในสังคมที่ระบบเส้นสายยังมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน แล้วใครจะเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้

อ้างอิง: BBCjapan, Japanintercutural, Firstpost, jomad, PWC




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...