เรามีบทความที่ถ่ายทอดเรื่องราว Startup Ecosystem ในสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านกันมาหลายบทความแล้ว แต่ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นเรื่องราวจากประเทศในแถบยุโรป ล่าสุดรังสรรค์ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม โจ้ QueQ ได้เดินทางไปร่วมงาน Asia Pacific Week 2019 ที่จัดขึ้นที่เยอรมัน และเก็บเนื้อหาที่น่าสนใจมาแบ่งปันเป็นตัวอักษรให้พวกเราได้ทำความรู้จัก Startup Ecosystem แห่งเมืองอินทรีเหล็กนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
บทความโดยรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ - CEO of QueQ
ผมได้รับเกียรติให้มาร่วมงาน APW2019 (Asia Pacific Week 2019) ร่วมกับทาง NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ)โดยได้รับคำเชื้อเชิญจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเมืองหลวงของประเทศเยอรมันนี ที่เบอร์ลินแห่งนี้
นอกจากผมกับทีมงาน NIA ที่นำโดยรองจ๋า Theresa, โตโน่ และข้าวปุ้น แล้วก็มี ม๊อด จากทีม Dootv media และมะเหมี่ยวจาก 500 Tuk Tuk ซึ่งเป็นครั้งแรกของทุกคนในคณะเลย ที่จะได้สัมผัสกับเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์อันสำคัญบทหนึ่งของมนุษยชาติ เมืองนี้
นอกเหนือจากการได้รับการอำนวยความสะดวก การต้อนรับอย่างดีและเป็นกันเอง ของทางสถานทูต ทีมงาน NIA และทีมรับรองที่เลี้ยงดูปูเสื่อพวกเราทั้งคณะอย่างดีเยี่ยม
ผมจะขอกล่าวถึงมุมมองในหลายๆ ด้านเท่าที่ได้สัมผัสในการช่วงเวลาเกือบสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลก StartUps และ Ecosystem ของที่นี่
เบอร์ลิน เมืองที่ผมว่าผู้คน Relax และเป็นกันเองกว่าอีกหลายๆ เมืองในเยอรมันที่ผมเคยเข้าใจมา แล้วก็ยังมีคนไทยอยู่กันเยอะมาก ประกอบกับการได้พูดคุยกับหลายๆคนทีนี่ ก็ได้ข้อสรุปเดียวกันว่าชาว เบอร์ลินเน่อ ไม่ว่าจะโดยกำเนิด หรือหลายๆคนที่เลือกมาใช้ชีวิตที่นี่ เพราะชอบความแหกคอก การทำตัวอยู่เหนือกรอบอะไรบางอย่าง ของเยอรมันชนตามมาตราฐาน ซึ่งเอื้อให้สภาพมันเหมาะแก่การเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ StartUp ที่เรารู้จักกันดี อย่าง FoodPanda, Blinkist, SoundCloud และอีกๆหลายตัว ไม่แพ้ที่ San Francisco เลย แต่ที่แพ้หลุดลุ่ยจริงๆน่าจะเป็นจำนวน Homeless ที่อาจจะมีอยู่บ้างที่นี่ แต่น้อยกว่าที่ซานฟรานฯ อย่างเทียบไม่ติด
แต่ไม่ว่าจะแหกคอก คิดต่าง หลุดกรอบ ยังไง เยอรมันก็ยังเป็นเยอรมัน รูปแบบการดำเนินชีวิต วิธีคิด ระเบียบแบบแผน ก็ยังมีลักษณะที่ฝังติดกับตัวตนของแต่ละปัจเจกชนอย่างเหนียวแน่น เพียงแต่มันผสมผสานจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของที่นี่ ผสมกลิ่นอายของความอาร์ตหนักๆ เป็นเหมือนเส้นตรงที่ไม่ได้เป็นเส้นที่แค่ลากเส้นผ่านตรงๆ แต่เป็นภาพกราฟิตี้ที่มีเรื่องราว สีสัน ความหมาย ประวัติศาสตร์ การปฎิรูป แต่ก็ยังมุ่งไปยังทิศทางของตัวเองอย่างมั่นคง
ในความรู้สึกของผม ผมว่ามันมีความคล้ายคลึงกับเชียงใหม่บ้านเรามากๆ ในเชิงอัตลักษณ์ เป็นเมืองที่เหมาะที่จะสร้างทีม StartUp ด้วยความเป็นอยู่ เสน่ห์ สภาพภูมิอากาศ ค่าครองชีพ และปัจจัยอื่นๆอีกหลายด้าน เอื้อให้เหล่าผู้กล้า จากหลายๆสารทิศ มากระจุกรวมตัวและสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆร่วมกันได้อย่างดี
แต่ Startup ที่นี่มีวิธีการเติบโตที่น่าสนใจ “เริ่มที่เบอร์ลินแต่ไปโตที่อื่น”!! ไม่ว่าจะ Foodpanda ที่ตัวกิจการที่เบอร์ลินถูกซื้อไปแล้วด้วยซ้ำและไม่ได้ active อีกแล้วในเบอร์ลิน แต่กลับขยายบริการไปที่ต่างๆ ทั่วโลก และทำได้ดีในเอเชีย อย่างที่เราได้เห็นกัน
Blinkist เองก็เริ่มที่นี่ HQ ก็อยู่ที่นี่ แต่ผู้ใช้และตลาดหลักคือ อเมริกา ผมเจอน้องเก้า คนไทยที่ตัดสินใจย้ายมาปักหลักที่นี่และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีม Blinkist
เก้าเล่าให้ฟังว่า ทีมโฟกัสการขยายไปอเมริกาตั้งแต่วันแรก เพราะตลาดใหญ่กว่ามาก และที่ยุโรปแม้จะมีขนาดใหญ่และจำนวนของผู้คนจะมาก แต่ปัญหาคือความแตกต่าง ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม รูปแบบการใช้ชีวิต ยุโรปเหนือกับใต้ ตะวันออกกับตะวันตก ล้วนมีรูปแบบที่แตกต่างกันมากๆ อีกทั้งเรื่องกฏหมายและข้อจำกัดต่างๆก็มีมากมาย ดังนั้นตลาดอเมริกาจึงน่าสนใจกว่าที่ยุโรปมาก
Blinkist เติบโตไวมาก ด้วยบริการที่เหมือนผนวกเอา eBook การสรุปความ และ Podcast เข้าด้วยกัน เพื่อนๆ Startup รู้จักกันดีเพราะ หนังสือดังๆที่เราอ่านกันก็อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ทั้งนั้น ตอนนี้ user กว่า 8 ล้านคน แค่ปีที่แล้วปีเดียวมี new user ถึง 3 ล้านคน โดยจำนวน User 80% อยู่ในอเมริกา อันนี้เป็นเรื่องราวที่จับใจความได้จากการพูดคุยกันในวงอาหารที่ท่านเอกอัครทูตฯ กรุณาเปิดบ้านเลี้ยงอาหารค่ำ พวกเราอย่างเป็นกันเอง
Startup เริ่มที่เบอร์ลิน แล้วไปโตได้ทั่วโลก! แล้วบ้านเราล่ะ? จะสามารถทำแบบเดียวกันแบบนี้ได้มั้ย มันมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่เกื้อหนุนให้เกิดภาพลักษณะนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาในแนวคิดวิธีการที่นี่ทำ ซึ่งผมว่ามันคือพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันให้การเติบโตของผู้ประกอบการที่นี่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง
งาน APW2019 เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมพอจะแกะวิธีคิดของการขับเคลื่อนของ ecosystem ของที่นี่ได้อย่างหนึ่ง ความรู้สึกแรกที่ผมได้ยินเมื่อได้รับคำเชิญไปร่วมงาน Asia Pacific Week ที่เยอรมัน เอ๊ะ! ที่เยอรมัน เหรอ ชื่องานแบบนี้อ่ะนะ เยอรมันกับเอเชีย ในแง่มุม Startup น่ะเหรอ เค้าจะได้อะไร แล้วเราจะได้อะไร
ต้องย้อนความไปนิดนึงเมื่อ 2 ปีก่อน ทางทีม QueQ เองก็ได้มีโอกาสได้รับทุนเข้าร่วมโครงการหนึ่งของ มาเลย์เซีย ชื่อว่า MaGIC ที่สนับสนุนโดยภาครัฐของมาเลย์เซียโดยตรง เหมือนเป็นการไปเข้าค่ายร่วมกับทีมสตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วโลก รวมกับสตาร์ทอัพของมาเลย์เซียเอง ในอัตราส่วนประมาณ 40/60 ประเด็นมันอยู่ตรงการคละกันนี่แหล่ะ ไปเข้าแคมป์ด้วยกัน ทำงานใน Space เดียวกัน นอนที่เดียวกัน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ผมขอข้ามเรื่องผลลัพธ์ออกไป เพราะไม่มีข้อมูลมากพอว่ามันได้ผลลัพธ์ประการใดจากโปรแกรมนี้บ้างในเชิงปฏิบัติ แต่ในทางทฤษฎี Startup บ้านเค้าได้รู้จัก Ecosystem ของทั่วโลก ได้เรียนรู้กระบวนการ วิธีคิด และแน่นอนได้คอนเนคชั่นที่ดี โดยไม่ต้องทุ่มงบประมาณ หรือให้สตาร์ทอัพของเค้าไปเสี่ยงกันเองในประเทศอื่นๆ ในเวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น!!!
ครั้งแรกที่ไปเข้าร่วมโครงการนี้ ผมก็มีความสงสัยว่า เราน่ะได้ทุน เราน่ะได้เรียนรู้ตลาดมาเลย์ แล้วโครงการอยากได้อะไรจากเราล่ะ มันต้องมีอะไรสักอย่างแหล่ะ ในโลกไม่มีใครทำอะไรเพื่อใครฟรีๆได้จริงๆหรอก และก็ได้ข้อสรุปนี้ หลังจากเราเริ่มโฟกัสกับการขยายตลาดไปต่างประเทศ เราใช้เวลาในแต่ละประเทศระดับนึงเลยกว่าที่เราจะกล้าลงทุนขยายตลาดไป กว่าจะรู้จักคน กว่าจะรู้จักวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเค้า ลองผิดลองถูกอยู่นาน แล้วก้อคิดได้ว่า สมมุติมันมีโครงการที่ดึงคนในประเทศที่เราตั้งใจจะขยายตลาดไป เอาคนเจ๋งๆเข้ามา ได้เรียนรู้ ได้ปรึกษา ได้สร้างคอนเนคชั่นดีๆ เราจะประหยัดเวลา และต้นทุนไปได้อีกโขเลย นั่นแหล่ะผมเลยเข้าใจได้ทันทีว่าจริงๆแล้ว MaGIC ต้องการอะไร
เช่นเดียวกันกับงาน APW2019 ลองนึกภาพว่า Startup เยอรมันจะบุกเอเซีย เอ้ย! เอาจริงเหรอ!! ก็เอาจริงๆ Startup ยุโรปก็บุกบ้านเรามาได้สวยๆหลายตัวละนี่ แต่ที่แน่ๆเค้าไม่ได้ใช้ท่าเดียวกับบ้านเค้า หรือในยุโรป หรือในอเมริกาแน่ๆ แต่เค้าใช้ท่าแบบเอเชีย แบบเรากันเอง หรือแบบที่ได้ผลกับเรา เค้าจะทำได้อย่างไร? ก็ด้วยการต้องรู้จักเราให้มากขึ้น เรียนรู้เราให้มากขึ้น ทำงานกับเรามากขึ้น หรือเป็นหุ้นส่วนกับเราในรูปแบบการลงทุน, JV หรือ Acquisition แล้วจุดเริ่มต้นมันก็เริ่มด้วยงานแบบนี้แหล่ะ มาแชร์กันก่อน คุณมีอะไร และเรามีอะไร แล้วจะทำท่าไหนกันได้บ้าง
สำหรับ Startup ที่เบอร์ลิน หรือแม้แต่ในยุโรปเอง อาจจะมีสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าความอหังกา ไม่เทียบเท่ายักษ์ใหญ่ในฝั่งอเมริกา ยังรู้ว่าเอเชียเป็นตลาดที่เค้าไม่ได้มีความได้เปรียบ ทั้งในเรื่องภาษา วิถีชีวิต และรูปแบบการทำธุรกิจ มีอีกหลายเรื่องที่เค้าควรมองเราเป็นพันธมิตรมากกว่าคู่แข่งขัน เดินจับมือกันมากกว่าวิ่งแข่งกัน ภาพที่ออกมาในมุมของความร่วมมือกับหลายๆประเทศในเอเชีย เลยมีให้เห็นกับหลายๆประเทศในแถบนี้ ซึ่งแน่นอนว่ากำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่แพ้หลายๆประเทศในภูมิภาคเราเช่นกัน
และอีกประเด็นหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากๆ คือการพยายามดึงเอา Corperate ระดับยักษ์ที่สามารถเป็น Spring Board ที่ดีให้กับ Startup ที่อยู่ในสายงานหรือธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กัน เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเรื่องการให้ทุน การให้พื้นที่ทำงาน การเป็นพี่เลี้ยง การทำงานร่วมกัน รวมถึงการช่วยขยายผลทางธุรกิจ ผลักดันผ่านเครือข่ายและกำลังของตัว Corporate เองไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก ยังเป็นแนวทางสำคัญที่จะ ‘ขุน’ ให้ Startup เหล่านั้นโตวันโตคืน จนกลายเป็นยูนิคอร์นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องการลงทุน และเศรษฐกิจ ที่อาจจะเป็นตัววัดอนาคตตัวหนึ่งของทั้งประเทศได้เลย
อันนี้ในบ้านเรายังเป็นภาพที่คลุมเครือ การร่วมมือกันกับภาค Corporate ยังมีความยากและไม่ชัดเจนอยู่หลายเรื่อง ซึ่งต้องขอย้อนกลับไปอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสติดตามคณะ AIS The StartUp ไปดูงานที่นิวยอร์กและบอสตัน ที่บอสตันคณะเราได้เข้าไปร่วมงานและพูดคุยกับอาจารย์ที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology)
รูปแบบการสนับสนุนของทาง MIT ให้เกิดการผลิต Startup และเหล่า Founder เริ่มกันตั้งแต่เข้ารั้วมหาวิทยาลัย ถูกละครับ เริ่มตั้งแต่ปีหนึ่ง ไม่ใช่ใกล้จบแบบบ้านเรา มีการสนับสนุนด้วยทุน ด้วยเทคโนโลยี และการเข้าถึงการวิจัยต่างๆ เพื่อสร้างเป็นธุรกิจกันอย่างต่อเนื่อง แต่ท่อนสุดท้ายของกระบวนการนี้ คือการเชื่อมต่อ เข้ากับท่อขนาดยักษ์ที่จะนำพาเทคโนโลยีและรูปแบบทางธุรกิจเหล่านี้ พุ่งทะยานไปได้ทั่วโลก ท่อที่ว่าก็คือ Corperate ยักษ์ใหญ่ ที่มีสายธุรกิจและสาขาอยู่แล้วทั่วโลกของประเทศอเมริกา!!
ใช่ละครับ เค้าขยับท่าเดียวกันเลย ซึ่งผมก็ไม่มีตัวเลขและข้อมูลที่แน่ชัดในเรื่องความสำเร็จของกระบวนการเหล่านี้อีกแล้ว แต่ด้วยทางแนวคิดนี้ มันเห็นได้ชัดถึงความพยายามให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อแข่งขันในโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่ไม่ได้มองแค่การแข่งขันกันเองในประเทศแน่ๆ ไม่ได้มองการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอันกระจิ๋วหริวกันแบบในไทย แต่มอง Global Impact ที่อาจจะเรียกว่าเป็นการเดิมพันระดับประเทศในสงครามยุคใหม่ก็ว่าได้
แล้วเราได้อะไรจากเรื่องนี้ และจะเล่นเกมส์ เกมส์นี้ต่อไปอย่างไรดี
ผมในฐานะกัปตันเรือของทีม Startup ทีมเล็กๆ ทีมนึง สิ่งที่เราทำได้โดยที่ไม่ต้องรอโชคชะตา รอฟ้ารอฝน รอคลื่นลม คือการเล่นตามเกมส์ให้ถูก พวกเราได้ประโยชน์จากการไปร่วม Accelerator Program รวมถึง Landing Program หลายๆ ตัว ในหลายๆ ประเทศ อาศัยลู่ทางความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ เชื่อมโยงให้เกิดผลอันต่อเนื่องในการขยายตลาดไปยังแต่ละประเทศเหล่านั้น ได้พบปะคน Local ที่หลายคนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่เบสในแต่ละประเทศ ได้เรียนรู้ว่าต้องปรับอะไรตรงไหนบ้างให้เข้ากับพฤติกรรมของคนแต่ละพื้นที่ ได้เรียนรู้และได้รับการสนับสนุนอย่างดีในการตั้งต้นธุรกิจในประเทศต่างๆ จากโครงการและเจ้าหน้าที่ของโครงการต่างๆเหล่านั้น แม้ว่าเราเพิ่งเริ่มขยายตลาดกันได้ไม่นาน แต่เราก็อาศัยช่องทางที่ว่าทำให้มันเกิดได้จริง การออกไปเจอ การไปสัมผัส โอกาสต่างๆ ที่ได้คุยกับคนที่อยู่ต่าง Ecosystem โอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาเมื่อเรามีโอกาสพาตัวเองออกไปเจอ อย่างที่งาน APW2019 นี้เราก็ได้พูดคุยกับ ภาคธุรกิจที่พยายามสร้างการเชื่อมโยงระหว่าง ไทยและเยอรมัน ได้เจอกับเจ้าของ รพ ที่สนใจแนวคิดและ Solution ของเรา ซึ่งใครจะรู้มันอาจจะนำพาบริการแบบ QueQ เข้าสู่ยุโรปโดยเริ่มที่เบอร์ลินนี้ก็เป็นได้
เหล่านี้มันคืออะไรหลายๆ อย่างที่เรายังหาไม่ได้ในประเทศของเราในตอนนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต เพียงแต่ว่าเราอาจจะรอไม่ได้ แล้วทำไมเราไม่ถามตัวเองล่ะว่าเราน่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมันขึ้นมาในบ้านเราซะเองเลยก็ได้นี่
ออกไปใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่าให้เต็มที่ เพียงขอแค่ยังพึงระลึกได้ว่า เราคือ Thai Startup และกำลังเดิมพันไปพร้อมๆ กับประเทศของเราไว้ก็พอ....
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด