‘สตาร์ทอัพไม่ใช่งานกลุ่ม’ เรื่องเล่าที่ผู้ก่อตั้งฝากถึงคนที่กำลัง (จะ) ทำสตาร์ทอัพ | Techsauce

‘สตาร์ทอัพไม่ใช่งานกลุ่ม’ เรื่องเล่าที่ผู้ก่อตั้งฝากถึงคนที่กำลัง (จะ) ทำสตาร์ทอัพ

มีสถิติที่รับรู้กันทั่วไปว่า ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ 90% นั้นพาธุรกิจไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งเว็บไซต์ Go-Global.com เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ อัตราของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว โดยบอกทั้งสถิติและแนวโน้มไว้หลายแง่มุม เช่น

  • สตาร์ทอัพที่ประสบความล้มเหลวในปีแรกมี 21%
  • สตาร์ทอัพที่ประสบความล้มเหลวในปีที่ 10 มี 67%
  • 75% ของสตาร์ทอัพที่มี Venture Capital ร่วมลงทุน ไม่สามารถเปิดเผยต่อนักลงทุนได้ว่าได้เงินจากการทำธุรกิจเท่าไร
  • 20% ของผู้ก่อตั้งที่ประสบความล้มเหลวจากการทำธุรกิจสตาร์ทอัพในครั้งแรกนั้น จะทำสำเร็จในครั้งที่สอง
  • 80% ของบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้น มีผู้ก่อตั้งมากกว่า 1 คน
  • ฯลฯ

เปอร์เซ็นต์เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า การทำสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่าย และ ‘ผู้ก่อตั้ง’ เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด ทีมเทคซอสจึงนัดพูดคุยกับ พี่ดอท (นามสมมติ) ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพคนหนึ่งซึ่งผ่านความเหนื่อยยากมาสารพัด และยินดีถ่ายทอดเบื้องลึกเบื้องหลังบางมุมของโลกสตาร์ทอัพที่น้อยคนจะกล้าเล่า

เทคซอส : ทักษะอะไรบ้างที่คนทำสตาร์ทอัพต้องมีเป็นลำดับต้นๆ

พี่ดอท : ทุกคนควรมีทักษะในการมองคน ซึ่งคนเป็นซีอีโอ เป็นผู้นำต้องเข้าใจตัวเองก่อนเข้าใจคนอื่น ต้องรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร มีข้อดีข้อเสียอะไร ย้อนดูว่าตัวเองมีข้อบกพร่องอะไรก่อน และคนที่เป็นผู้นำต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำในระยะสั้น ระยะยาว และต้องกล้ารับความเสี่ยงเมื่อตัดสินใจผิดพลาด คือต้องมีคนที่ยอมเอาหัวขึ้นเขียง ซึ่งในโลกสตาร์ทอัพ ไม่มีใครทำถูกทั้งหมด และก็ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น

เทคซอส : ทราบว่าร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเมื่อหลายปีก่อนและผ่านงานมาหลายบริษัท เท่าที่ทำงานมาคิดว่าปัญหาด้านไหนที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพล่มมากที่สุด

พี่ดอท : เหตุผลหลักที่ธุรกิจเลิกเพราะ ทีมแตก ที่เจอบ่อยๆ ก็เนื่องจาก การกำหนดสโคปงานไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก คือเพื่อนกัน เดี๋ยวค่อยคุยก็ได้ แต่ของพวกนี้ต้องชัดเจนว่าใครทำอะไร ตัวเองจะทำอะไร ช่วยอะไรบริษัทได้บ้าง ทำงานอะไรได้ ซึ่งเมื่อระบุชัดเจนแล้วก็จะได้ไม่มาโทษกันทีหลังว่า ทำไมเธอไม่ทำอย่างนั้น ทำไมเธอไม่ทำอย่างนี้

เทคซอส : สโคปงานที่พูดถึง หมายถึงการแบ่งงานแบบ Full-time หรือ Part-time Job ที่ไม่ลงตัว?

พี่ดอท : สตาร์ทอัพเกิดใหม่ เราอาจได้เห็นทีมที่มีทั้ง Part-time และ Full-time และอาจเห็นทั้งแบบที่ Co-founder หารหุ้นเท่ากัน ซึ่งตอนแรกอาจยังไม่เกิดอะไรเพราะผลประโยชน์ยังไม่เข้า แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง คนทำ Full-time ที่อาจจะไม่ได้คิดอะไรตอนแรก เป็นไปได้ว่าจะเริ่มล้า กลับมาดูผลตอบแทนที่ควรจะได้รับ ดังนั้นการกำหนดสโคปงาน ใครรับผิดชอบอะไรแค่ไหน ภาระหน้าที่มากน้อยแค่ไหน เวลาที่สละให้ได้กับบริษัทนี้ และความทุ่มเทต่างๆ ควรชัดเจน และตรงนี้จะเป็นตัวบอกกลับมาว่าใครทุ่มเทมากก็ควรได้รับสิ่งตอบแทนที่สูงกว่าในรูปเงินเดือนหรือหุ้น

เทคซอส : คนที่ทำ Full-time จึงควรได้รับ Incentive มากกว่าคนที่ทำ Part-time เสมอ?

พี่ดอท : ควรจะเรียกว่าปรับ Incentive ตามการทำงานจริง และความทุ่มเทดีกว่า คนที่ทำ Part-time ถ้าถือหุ้นเท่าคน Full-time บางคนก็อาจมองว่าไม่แฟร์  ไม่อย่างนั้นคนที่เหนื่อยก็รู้สึกท้อได้ ดังนั้น Incentive และผลตอบแทนที่ได้ก็ต้องสอดคล้องกับความทุ่มเท และอีกอย่าง การให้ Incentive ที่ไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่ วันข้างหน้ามีนักลงทุนเข้ามาก็จะเช็คว่า คนนั้นถือหุ้นเท่านั้นแล้วทำอะไร ทำไมคนนี้ถือเท่านี้ นักลงทุนเขาก็ดูหมด ว่าการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพก็เป็นการลงทุนในตัวบุคลากรด้วย คนที่เป็นหัวใจหลักของบริษัท รู้เลยว่าขาดคนนี้ไม่ได้หรือเป็นหัวเรือหลักของบริษัท ถ้า Incentive ไม่สอดคล้อง นานไปสักพักคนเขาก็อาจจะท้อ นักลงทุนมองถึงระดับนั้น

ภาพโดย rawpixel.com on Unsplash

เทคซอส : ในวงการสตาร์ทอัพมีคนเก่งจำนวนมาก ถ้าเลือกได้ ใครเหมาะสมที่สุดที่จะชวนมาลงเรือลำเดียวกัน

พี่ดอท : ถ้าเป็นเพื่อนกันมาก่อนจะเป็นข้อดี รู้ว่าใครถนัดอะไร แล้วหาคนที่มี Skill Set ที่เราทำไม่ได้เข้ามาช่วย ซึ่งในวงการสตาร์ทอัพทำให้คนรู้จักกันง่ายขึ้น ทำให้รู้ว่าคนนั้นถนัดทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ถ้า Co-founder ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจะทำให้ความเชื่อใจในบริษัทนี้น้อยลง ซึ่งนักลงทุนก็จะเช็คว่ารู้จักกันมานานแค่ไหน ถ้าเพิ่งรู้จักกันทั้งคู่หรือรู้จักกันจากงาน Networking ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะไปกันไม่รอด เหมือนกับคนที่จะแต่งงานกัน ถ้ารู้จักกันน้อยไปก็มีความเสี่ยงมากที่จะทำให้แยกทางกัน และถ้าเรารู้จักเขาไม่ดีพอ คนเราจะรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไรก็ต่อเมื่อเจอวิกฤต สุดท้ายแล้ว เกิดเจอปัญหาขึ้นมา คุณยอมที่จะกระโดดลงไปในบ่อโคลนด้วยกันหรือเปล่า นอกจากนี้ นักลงทุนก็อาจจะมีคำถามอีกว่า บริษัทขาดคนนั้นหรือขาดคนนี้ได้? เพราะฉะนั้น คนเก่ง ทำสินค้าออกมาดี มีความเชี่ยวชาญ แต่ถ้าอีโก้สูงกันทั้งคู่ เคมีไม่เข้ากัน รอดยาก

เทคซอส : มีนิสัยหรือแนวคิดแบบไหนที่พึงระวังเมื่อต้องทำงานเป็นทีม

พี่ดอท : นิสัยหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือนิสัย "อะไรก็ได้" "'ง่ายๆ ยอมๆ กันไป" "เดี๋ยวค่อยว่ากัน" แต่ถ้าเมื่อไรมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาก็อาจมีปัญหาในภายหลัง ช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ใจคนก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องธรรมดา Co-founder บางคนอาจไม่ได้ทำงานทุ่มเทมากเพื่อนคนอื่นๆ พอระดมทุนรอบถัดไป ตัวเองไม่อยากทำแล้วก็อยากขอขายหุ้นของตัวเองก่อน ก็เกิดขึ้นได้หมด ซึ่งเรื่องพวกนี้ควรตกลงกันให้ดี

และเท่าที่สังเกต บริษัทที่เลิกกิจการมีปัญหาที่ Co-founder ไปกันไม่รอดเพราะมีอีโก้ บางครั้งคนที่เป็นผู้นำทำผิดพลาดบ่อยก็มี และไปล้ำเส้นทีมงานก็มี เช่น ตรวจสอบทุกเคส ไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่พาร์ทเนอร์ ทำตัวแบบจับผิด

เรื่องความถนัดและไม่ถนัดก็ด้วย คนหนึ่งมีไอเดียเยอะ แต่ทำไม่เก่ง อีกคนโอเปอเรชันเก่งแต่ไอเดียไม่ค่อยมี ปัญหาคือ คนที่คิดเก่ง ทำไม่เก่ง ก็จะมองว่าไอเดียมาจากเขา บริษัทไปต่อได้เพราะไอเดียเขา ส่วนคนที่ทำเยอะๆ ก็จะบ่นว่าเหนื่อยมาก ถ้าไม่มีเขา บริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์มักจะมองข้อดีของตัวเอง ดังนั้น เมื่อยอมที่จะลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ให้ยอมรับจุดแข็ง จุดอ่อนของกันและกัน ยอมรับว่าคนเรามีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน และถ้าทั้งสองคนมีอีโก้แล้วยังมีนิสัยขี้น้อยใจ ขี้โมโหด้วย  จากตอนแรกเฉยๆ ชิลๆ แต่ผ่านไปสักครึ่งปีก็จะเห็นว่าคนหนึ่งสั่งใหญ่ อีกคนก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักจะระเบิด ไปไม่รอดกันเพราะแบบนี้

อีกเรื่องที่อยากฝากคือ การตัดสินใจของทีม สมมติถ้ามี Co-founder 4 คน ถ้าตั้งกฎหารหุ้นเท่ากันหมด ให้นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่ยกมือเปิดโหวตเลือกคนเป็นหัวหน้าทีม แบบนี้ไม่ดีต่อการทำธุรกิจเสมอไป คือแนวคิดที่ถูกยกขึ้นมาแล้วได้รับการโหวต แน่นอนว่าถ้าเคาะตามเสียงข้างมากน่ะได้ แต่มันอาจจะไม่ใช่ทิศทางที่ถูกวางไว้ก็ได้ เช่น เกิดการล็อบบี้กัน ในทิศทางที่ไม่ควรจะเป็น

เทคซอส : สัมพันธ์กับบทบาทของการเป็น Spokeperson?

พี่ดอท : ปกติจะมีคนที่เป็น Spokeperson ของบริษัท เป็นบุคคลที่คนข้างนอกรู้จัก แต่อีกคนถ้าเป็นคนหลังบ้าน เช่น ดูแลด้านเทคนิค อาจจะเกิดความน้อยใจที่ไม่มีใครรู้จัก ซึ่งมีผลต่อความรู้สึก แม้ว่าแต่ละคนจะมีผลต่อความรับผิดชอบแตกต่างกัน แต่คนที่ออกหน้า ถ้าสื่อจะเล่นก็ต้องเป็นคนที่รับผิดชอบก่อน โดนก่อน ชื่อจะดีหรือเสียก็ไปก่อน และมีภาวะเครียดในเชิงความสัมพันธ์กับคนภายนอกด้วย แต่คนหน้าบ้านก็ควรต้องให้เครดิตกับคนที่อยู่หลังบ้านด้วย เช่น พาไปออกงานร่วมกัน พูดถึงหรือแนะนำในงานต่างๆ การเป็นพาร์ทเนอร์คือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ทิ้งกัน

เทคซอส : เป็นสตาร์ทอัพ ทำงานที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ใช่ไหม

พี่ดอท : ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่จะมองว่าทำงานที่บ้านก็ได้ แต่บริษัทขับเคลื่อนในสิ่งที่มากกว่างาน นั่นคือ Culture หรือ วัฒนธรรม ทำให้ได้มาเจอเพื่อน ได้มารีแลกซ์ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ความรู้ เราเชื่อในการเจอหน้ากัน แต่การทำงานของคนที่ทำ Part-time ก็จะนัดเจอยาก เพราะเวลามันถูกลิมิต เสาร์อาทิตย์ก็อาจจะต้องมาประชุม คนที่ทำ Full-time ก็อยากจะมีชีวิตส่วนตัว แต่ถ้าคนที่ทำ Full-time เป็นพวก Workaholic ผสมการทำงานเข้าไปในชีวิตโดยไม่คิดอะไรก็แล้วไป แต่คนที่มองเรื่อง Work-life Balance ก็อาจจะเริ่มคิดว่า ทำไมทำเต็มเวลาแล้วต้องเจียดเวลาเสาร์อาทิตย์มาเจอ มาประชุมอีก และการที่คนไม่ทำ Full-time จะมีปัญหาการขับเคลื่อนงานช้าเพราะไม่ได้โฟกัส  ไม่ต่างอะไรกับงานกลุ่ม แม้จะมี Conference Call เข้ามาช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดคุยแบบเจอหน้าเจอตัว ช่วยในการตัดสินใจให้เร็วขึ้นอีกระดับ ซึ่งเราไม่เชื่อว่าทำงานผ่าน Conference Call อย่างเดียวแล้วจะไปได้ดีตลอด ทางที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพคือต้องเจอหน้าแบบ Face-to-face

ภาพโดย Tim Gouw on Unsplash

เทคซอส : ถ้าทำธุรกิจไปสักระยะแล้วผู้ร่วมก่อตั้งบางคนตีตัวออกห่างเพราะไม่มีเวลา ควรทำอย่างไร

พี่ดอท : ต้องถามว่า Co-founder ที่เหลือยอมรับสิ่งที่เขาเป็นได้นานแค่ไหน ถ้าเขาไม่กลับมาจะรับได้ไหม เรื่องนี้ต้องคุยกัน แต่ก็ให้เผื่อใจไว้ด้วย  ซึ่งเราก็เคยเป็นผู้นำแล้วลดบทบาทลง แต่ก็บอกเพื่อนชัดเจนว่าอย่าคาดหวัง แล้วก็ให้ลด Incentive ลง ถ้าเพื่อนรับไม่ได้ก็อาจจะต้องถอนหุ้น แต่ถ้าเห็นว่าเรายังมี Value ก็อาจจะยังถือหุ้นไว้ คือถ้าแน่ใจว่าทำไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว คุยกัน เคลียร์กันให้ชัดเจนดีกว่า ทีมก็จะได้ไม่ต้องรอให้เสียเวลา

เทคซอส : ถ้าบริษัทโตขึ้นเรื่อยๆ ความท้าทายและสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมคือเรื่อง?

พี่ดอท : ความท้าทายของสตาร์ทอัพที่จะก้าวขึ้นสู่จุดที่โตขึ้นได้ จากเดิมที่เป็น Specialist ต่างคนต่างเชี่ยวชาญหรือถนัดบางเรื่อง เช่น ถนัดเรื่องพาร์ทเนอร์ชิพ ถนัดด้านเทคนิค จุดที่ท้าทายคือ ทุกคนเก่งหมดในเรื่องที่ตัวเองถนัด แต่วันหนึ่ง การที่จะเปลี่ยนให้เป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น มันคือการสร้างหัวหน้าหรือ Head ของแต่ละส่วนขึ้นมาให้ได้ เรียกว่า Middle Management แต่การที่จะมอบอำนาจหรือถ่ายทอดเรื่องบางเรื่องให้ตัดสินใจแทนได้ก็ต้องฝึกฝน เรียนรู้ 

ถ่ายทอดเพื่อสร้างโค้ชรุ่นถัดไป อันนี้คือความท้าทายอย่างหนึ่งของบริษัทเล็กๆ ที่จะเติบโตต่อไป ความท้าทายของผู้นำคือ ต้องสอนให้คนขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อดูแลรุ่นถัดไปได้ ให้เขาตัดสินได้ว่าเรื่องนี้สามารถตัดสินใจเองหรือเรื่องนี้ต้องคุยกับซีอีโอก่อน เพื่อเป็นการลดงานที่จะกลับเข้ามาสู่ Centralize และคนที่อยู่ข้างบนต้องยอมให้คนข้างล่างตัดสินใจผิดบ้างในบางเคสที่ไม่ใหญ่นักเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการตัดสินใจที่ถูกต้องในครั้งถัดไป เพราะถ้าคนเราไม่เรียนรู้ความผิดพลาดเลยก็จะไม่สามารถเป็นผู้นำคนถัดไปได้ นี่คือทักษะของการเป็นหัวหน้าคน ต้องเก่งมากกว่าแค่เรื่องงาน ต้องดูว่าคนที่จะรับงานต่อจากเรา เขาพร้อมแค่ไหน ซึ่งของพวกนี้ไม่มีในตำราเรียน เป็นเรื่องที่ต้องผ่านมาสักระยะแล้วจะรู้

เทคซอส : สรุปแล้วสตาร์ทอัพต้องเหนื่อยต่อเนื่อง ต้องทำงานหนักทุกคน?

พี่ดอท : ถ้าไม่พร้อมที่จะทำงานหนักหรือไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรทำสตาร์ทอัพ เพราะชีวิตก็มีความสุขในหลายๆ แบบที่มันไม่เหมือนกัน คุณอาจจะเก่งในองค์กรใหญ่ แล้วมีรายได้จากช่องทางอื่นที่สร้างรายได้เสริมได้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาทำ ไม่อยากให้คิดว่าการทำสตาร์ทอัพ ทำเพราะคิดว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่แล้ว  ถ้าอย่างนั้นไปทำงานฟรีแลนซ์ก็ได้ แต่การที่เราอยากทำสตาร์ทอัพ ต้องคิดว่าเรารักและอยากจะทำผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นให้ดี ต้องพร้อมสู้จริงๆ เพราะงานมีปัญหาเยอะไปหมด ซึ่งก็จะย้อนกลับไปถึงสิ่งที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ คือ ถ้าไม่สามารถสร้าง The next coach สร้างทีมงานได้ ก็ไม่สามารถที่จะปล่อยให้คนอื่นทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระและโตเป็นองค์กรใหญ่ได้

เทคซอส : ปิดท้ายด้วยข้อความที่อยากให้คนทำสตาร์ทอัพนำไปขบคิด

พี่ดอท : เคยได้ยินเรื่องวงล้อ 3 วงไหม วงแรก สิ่งที่คุณรัก วงที่ 2 สิ่งที่คุณถนัด และวงที่ 3 สิ่งที่คุณทำอยู่นั้นมีคนต้องการและมีคนตอบแทนด้วยการจ่ายเงินได้ ถ้ามีแค่ 2 วง คือสิ่งที่คุณรักและสิ่งที่คุณถนัด มันจะเป็นแค่งานอดิเรก แต่ถ้า 3 วงนี้ลงตัวก็ทำสตาร์ทอัพได้ ซึ่งก็จะเจอเส้นทางที่ขรุขระหน่อยเพราะมันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

โฟกัสให้ถูกจุด สำคัญกว่าทำงานหนัก! แนวคิดจาก Marc Randolph ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Netflix

หลายคนอาจเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทำงานหนัก แต่มาร์ค แรนดัลฟ์ (Marc Randolph) Co-founder Netflix กลับมองต่างเขามองว่าการทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จเป็นเรื่องหลอกลวง และมองว่ากา...

Responsive image

เป็น Introvert ชีวิตก็ Work ได้ รู้จัก 5 วิธีพัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อน เพื่อก้าวหน้าในอาชีพสไตล์ Introvert

หลายครั้งสังคมมักมีความคิดแบบเหมารวมต่อ Introvert ว่าขาดคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการทำงาน บทความนี้จะพาไปดูว่า จริงๆ แล้ว Introvert ในที่ทำงานเป็นยังไง และชาว Introvert จะมีวิธีใช้จุด...

Responsive image

จงถ่อมตัวอยู่เสมอ และยินดีกับโอกาสที่ได้รับ แนวคิดชีวิต Charles Leclerc นักแข่ง Formula 1 ผู้โด่งดัง

Charles Leclerc (ชาร์ล เลอแกลร์) นักแข่งฟอร์มูล่า 1 ที่มีชื่อเสียงจากทีม​ Scuderia Ferrari พูดในรายการ Podcast ของ Jay Shetty ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ แล...