หลายคนอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องพูดเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงาน ยิ่งสถานการณ์ใน 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้นและเริ่มมีผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้การใช้ชีวิตในสภาวะปกติที่รวมไปถึงการทำงานเริ่มสร้างความไม่สบายใจให้กับหลายคนจนไม่สามารถทนอยู่ได้ บางคนจึงหันไปพึ่งจิตแพทย์ที่แม้ว่าตามทฤษฎีจะช่วยได้ แต่หลายปัญหาโดยเฉพาะในส่วนของที่ทำงานก็ต้องอาศัยการคุยกับหัวหน้างานเกี่ยวกับสภาวะที่เกิดขึ้น แล้วถ้าหากหัวหน้าทุกคนมีการรับฟัง ทำความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจโดยไม่ตัดสินไปก่อน ก็คงทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจมากขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถร่วมกันทำให้เกิด work life balance และลดความเครียดลงได้
ทั้งนี้ จากสภาวะโรคระบาดก็ทำให้หลายบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน และวิธีการดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณได้วางแผนก่อนเข้าไปคุยกับบริษัทหรือหัวหน้าของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ
1. รู้สิทธิพื้นฐานในที่ทำงานของตัวเอง รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตพนักงานของบริษัท
2. ปรึกษากับฝ่ายที่ดูแลเรื่องสุขภาพของบริษัท ภายใต้กฎหมายกำกับการดูแลตามสิทธิพื้นฐาน เช่น การอำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต
3. วางแผนการสื่อสารที่จะคุยกับหัวหน้า โดยการลิสต์ในสิ่งที่จะพูด และสิ่งที่อยากถาม
4. ทบทวนสิ่งที่จะคุย เพราะการคุยในครั้งนี้จะเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกหลายส่วน คุณจะได้รู้ว่าส่วนไหนที่คุณไม่อยากถ่ายทอด อาจจะคัดเลือกสิ่งจำเป็นที่ต้องบอกให้หัวหน้างานรับรู้ เพื่อนำไปปรับให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน
5. แชร์เฉพาะสิ่งที่สบายใจ ไม่จำเป็นต้องแชร์อาการของความเจ็บป่วยให้บริษัทฟัง แค่บอกว่าเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรืออาการป่วยทางจิต ไม่ควรสาธยายรายละเอียดอื่นเกินความจำเป็น
6. ถ้ามีอะไรที่ทำให้กังวลหรือไม่สบายใจเป็นพิเศษ ลองอธิบายเป็นคำพูดง่าย ๆ เช่น เกิดอะไรขึ้น หรือใครพูดอะไร และอะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น ถ้าจำเป็นก็อธิบายว่าหลังเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบต่อการทำงานยังไง
7. แจ้งให้เจ้านายทราบว่าอะไรที่ทำแล้วมีความสุขในที่ทำงาน (หาให้เจอ) แล้วลองปรับเปลี่ยนงานที่เหมาะกับความสนใจและความสามารถ ก็จะสามารถลดความเครียดลงได้
8. พูดคุยกันแบบซึ่ง ๆ หน้าและให้ความจริงจังกับสถานการณ์นี้ แม้จะต้องเป็นการคุยแบบ virtual หรือแม้ว่าคุณจะสนิทกับหัวหน้างานจนสามารถคุยกันแบบไม่เป็นทางการ ที่สำคัญคือต้องมีเวลาให้กัน คนเล่าต้องมีเวลาเล่า และคนฟังต้องมีเวลาฟัง
9. บอกเล่าเหตุการณ์และขอแนวทางแก้ไข เพราะหัวหน้าไม่รู้หรอกว่าแท้จริงแล้วคุณต้องการอะไร
10. ถามถึงการ follow up ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลังจากการคุยกันครั้งนี้ยังไงบ้าง
ยิ่งบริษัทให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ความหลากหลาย และคำนึงถึงการร่วมงานกัน ก็จะต้องมีแผนการที่จะช่วยพนักงานในเรื่องของสุขภาพจิต ที่ไม่ใช่แค่ความผิดปกติทางกายภาพ เพราะสุขภาพจิตของทุกคนไม่ว่าจะเป็นอาการที่แสดงออกมาเลยหรือไม่ก็มีความสำคัญต่อตัวพนักงานไปจนถึงระดับองค์กร
อ้างอิง : fastcompany.com
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด