ฝันที่ยังไม่เป็นจริงของ Smart Farming เกษตรอัจฉริยะระดับชุมชน

ฝันที่ยังไม่เป็นจริงของ Smart Farming เกษตรอัจฉริยะระดับชุมชน

เราเข้าใจกันว่านวัตกรรมดิจิทัลเป็นสิ่งช่วยให้เราทำอะไรหลายๆ อย่างได้ง่ายขึ้น แต่ลองคิดให้ถี่ถ้วน กว่าจะมาถึงจุดที่คนใช้นวัตกรรมได้จริงๆมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ออนเคยได้ยินคนพูดบ่อยๆว่า คนทำเกษตรในไทยไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี แต่ด้วยจิตวิญญาณของคนในวงการ Startup ฉันมันตั้งคำถามในใจว่า “ทำไมเขาถึงไม่ใช้” อย่างที่ Startup บอกว่า “start with why” จากนั้นออนก็เริ่มหาคำตอบจากการสังเกต ทำให้ออนเริ่มมีคำถามที่สอง ที่สาม ขึ้นมา “เขาไม่รู้จักเลยไม่ได้ใช้ หรือ เขารู้จักแต่ไม่ยอมใช้?” หรือ “เขารู้จัก ยอมใช้ แต่ใช้ไม่ก็เลยเลิกใช้?” ----บทความพิเศษ Guest Post โดย ดร. ศรีหทัย พราหมณี หรือ ดร. ออน ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรทฎษฎีใหม่ ไร่ทองหทัย บ้านนายาง อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ----

นวัตกรรมที่เราเรากำลังจินตนาการกันอยู่ทำมาเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรในระดับชุมชนซึ่งเป็นเกษตรรายย่อยหรือรายบุคคล และเป็นประชากรส่วนใหญ่จริงหรือไม่ หรือทำมาเพื่อตอบสนองการเกษตรระดับอุตสาหกรรมและพยายามที่จะให้เกษตรระดับชุมชนใช้ตาม

จากที่ออนเคยสัมผัสจากประสบการณ์โดยตรงจากการลงมือทดลองทำศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่ทองหทัย อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ออนพบปัจจัยหลายอย่างเลยที่ทำให้ความฝันที่จะเห็นเกษตรส่วนใหญ่ของไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปได้ไม่ถึงฝัน

  • นวัตกรรมคือปลายทางไม่ใช่ทั้งหมดของการลงทุน : หลายครั้งเราบอกว่าต้องใช้นวัตกรรมทำโน่นทำนี่เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ออนก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดอย่างนั้น เอานวัตกรรมมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาองค์ประกอบพื้นฐานของมันให้ดี ออนลงทุนนำระบบเปิด-ปิดสวิตรดน้ำผ่านมือถือ หลังจากการใช้งานไม่นานก็พบว่าไฟตกตลอดเวลาเนื่องจากกำลังไฟไม่เพียงพอ ระบบไฟที่มีอยู่เดิมของไร่เป็นระบบไฟครัวเรือนเนื่องจากว่าก่อนหน้านี้พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นการปลูกพืชผักแบบเดิม พอจะเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามา ต้องปรับให้เป็นระบบไฟแบบอุตสาหกรรมก่อน ออนต้องกลับไปค้นตำราฟิสิกส์มาศึกษาใหม่ ปรึกษาผู้เชียวชาญในการคำนวนไฟฟ้ากำลัง เสียทั้งเงินและเวลาในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าการทำระบบดิจิทัลบนมือถือเสียอีก นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นนะ มันมีโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายอย่างที่ต้องเตรียมตัวให้ดี เช่น การวางระบบท่อกระจายน้ำ และ การวางผังไร่ เป็นต้น คนที่สร้างนวัตกรรมดิจิทัลกับคนที่ชำนาญกการวางโครงสร้างพื้นฐานส่วนมากจะเป็นคนละคนกัน การจะเอานวัตกรรมหนึ่งมาใช้ เลยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน
  • UX - UI ไม่สอดคล้องกับความเคยชินเดิม : เรามักได้ยินคนพูดถึง smart farm หรือ การเกษตรอัจฉริยะ อยู่บ่อยๆ แล้วก็จินตนาการไปถึงเทคโนโลยีชั้นสูง แต่เราลืมคิดไปหรือเปล่าว่าอะไรที่สูงเกินไปก็อาจจะเกินเอื้อมสำหรับคนธรรมดา smart farm ควรง่ายเพียงพอที่ทำให้เกษตรกรระดับชุมชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้งานได้ เพราะถ้ามันยากไป มันก็จะกลายเป็นการสร้าง complicated farm แทน น่าแปลกใจที่แอพพลิเคชัน นวัตกรรมดิจิทัล หรือโซลูชั่นส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อการเกษตรอัจฉริยะออกแบบมาสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางถึงใหญ่ (ค่อนไปทางขนาดใหญ่ด้วยซ้ำกัน) ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานระดับชุมชนซึ่งฐานผู้ใช้กลุ่มใหญ่ คนกลุ่มนี้เคยชินกับพฤติกรรมการทำงานแบบเดิมๆมานานหลายสิบปี การออกแบบการใช้งานต้องเชื่อมโยงความเคยชินเดิมของเขาเข้ามาด้วย มากกกว่าที่พยายามบังคับให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่เขาไม่คุ้นชินมาก่อน
  • นวัตกรรมแยกชิ้น ยากในการประกอบร่าง : การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมและธุรกิจการเกษตรสามารถทำได้ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บ การแปรรูป ถึงการขายเลย แต่เทคโนโลยีที่เข้ามาส่งเสริมในแต่ละขั้นตอนนั้นอยู่แยกกัน หลายครั้งนวัตกรรมถูกสร้างขึ้นจากต่างคนต่างที่กัน ไม่ได้ออกแบบให้เกิดการเชื่อมโยงกัน การประกอบร่างในแต่ละฟังก์ชั่นการใช้งานของแต่ละโซลูชั่นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก
  • นวัตกรรมราคาสูง ไม่คุ้มค่าการลงทุน : ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรกรรายบุคคลที่ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงชีพจะมีต้นทุนหรือภาระบางอย่างที่ต้องใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เช่น ค่าเช่าที่ดิน หรือ ค่าใช้จ่ายการศึกษาลูก เป็นต้น การซื้อเทคโนโลยีมาใช้งานสร้างต้นทุนเพิ่มเติมให้พวกเขา มากไปกว่านั้น ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆซ่อนเล้น หรือต้นทุนแฝง (hidden cost) อีกหลายอย่าง เช่น การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การจัดซื้ออุปกรณ์ และ ค่าบำรุงรักษาในระยะยาว เป็นต้น ผู้สร้างนวัตกรรมมักจะคำนึงถึงแค่ใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการนวัตกรรมในส่วนที่ตนเองสร้าง แต่ลืมคิดถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงเป็นการดีที่มีนวัตกรรมที่ง่าย ราคาที่คนในชุมชนเอื้อมถึง และ ไม่สร้างต้นทุนแฝงในระยะยาว

  • คอมมูนิตี้ของคนสร้างนวัตกรรมดิจิทัลและคอมมูนิตี้ของคนใช้นวัตกรรมการเกษตรดิจิทัลอยู่แยกกัน : เป็นที่น่ายินดีที่เมืองไทยมีหลายองค์กรที่สนับสนับสนุนนักธุรกิจดิจิทัลสร้างนวัตกรรมใหม่ๆมาเป็นเครื่องมือช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีหลายองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่มาผสมผสานกับการใช้นวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล เรามีการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายกันและอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่น เช่น คอมมูนิตี้ของกลุ่มนักธุรกิจ Startup ที่สร้างนวัตกรรม คอมมูนิตี้ของกลุ่มนักธุริกิจขนาดกลางที่เน้นเรื่องการขายสินค้า หรือ คอมมูนิติ้ของนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ที่สนใจการสร้างมูลค่าให้กับอุตสากรรมการเกษตร เป็นต้น ออนโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหลายคอมมูนิตี้ ได้เห็นความตั้งใจของผู้นำคอมมูนิตี้เหล่านั้น แต่น่าเสียดายที่ฉันยังไม่เคยเห็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ข้ามคอมมูนิตี้เท่าใหร่นัก แต่ละคนยังแยกกันทำกิจกรรมตามความสนใจของตนเองเป็นหลัก แต่จริงๆแล้ว แต่ละคอมมูนิตี้ก็มองหาส่วนที่จะมาเติมเต็มจากอีกคอมมูนิตี้ คนสร้างนวัตกรรมเพื่อการเกษตรก็มองหาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะมาใช้งาน ในขณะเดียวกันเกษตรกรรุ่นใหม่ก็มองหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาเพิ่มความสะดวกในการทำงาน ออนเป็นคนที่เชื่อในพลังของความเชื่อมโยง การทำงานในโลกปัจจุบันไม่มีใครสามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว หากมีการส่งเสริมให้แต่ละคอมมูนิตี้ทำงานประสานกันจะเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความแข็งแรงให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจการเกษตรไทยในยุคดิจิทัลได้มากขึ้น

บทความนี้เป็น guest post ของ ดร. ศรีหทัย พราหมณี หรือ ดร. ออน ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรทฎษฎีใหม่ ไร่ทองหทัย บ้านนายาง อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ร่วมกับคุณพ่อและพี่สาว พลิกผืนดินเก่าให้เป็นพื้นที่พรีเมียมออแกร์นิก สร้างประโยชน์กับคนในชุมชน พร้อมส่งต่อคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการจากไร่ให้กับลูกค้า นอกจากนั้น ดร.ออนคร่ำหวอดอยู่ในวงการวิจัยนวัตกรรมและการธุรกิจของคนรุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศมานานมากกว่า 20 ปี น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ แนวคิด ikigai และ หลักกา Startup  #ornsrihathai #ไร่ทองหทัย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...