เพราะสถานการณ์โควิดในไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศน้อยลงจนรัฐบาลเริ่มออกมารณรงค์โครงการเที่ยวปันสุขเพื่อคลายความเครียด ประกอบกับมีวันหยุดนักขัตฤกษ์บ่อยครั้ง เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้ชดเชยวันสงกรานต์เมื่อสิ้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยวันเฉลิมพระชนพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล่าสุดคือวันแม่แห่งชาติ เรียกได้ว่าการท่องเที่ยวในไทยกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นฟู อันรวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้สำหรับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เริ่มทยอยกลับมาขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย สำหรับบุคคลทั่วไปการเลือกของใช้เหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องง่ายไม่ต้องพิถีพิถันอะไรมาก แต่มันกลับเป็นเรื่องยากสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ๆ เป็นสมาชิกและกำลังเลือกซื้อของใช้เพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเด็กอยู่
ด้วยเหตุนี้ iPrice และ Motherhood จึงจับมือกันออกแบบสำรวจเรื่อง ‘พฤติกรรมการเลือกซื้อของใช้ที่จำเป็นเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเด็ก’ ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคุณพ่อ-คุณแม่ หรือผู้ปกครองชาวไทย 50 คน และชาวต่างชาติ 50 คน เพื่อให้ผู้ที่กำลังหาข้อมูลด้านนี้สามารถเลือกเปรียบเทียบพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของทั้งสองกลุ่มตัวอย่างได้ จากผลสำรวจทำให้พบไฮไลท์ที่สำคัญ ดังนี้
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าสำหรับเด็กเพื่อการท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นเพราะการปิดเทอมยาวนาน มาตรการเคอร์ฟิว หรือการยกเลิกประเพณีสงกรานต์ในไทยเมื่อช่วงเดือนเมษายนก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นตัวผลักดันให้บรรดาผู้ปกครองโหยหากิจกรรมคลายความเครียดให้ลูกหลาน และการท่องเที่ยวก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดี ทำให้ผู้ปกครองชาวไทย 88% และชาวต่างชาติ 72% เริ่มออกไปท่องเที่ยว หรือกำลังวางแผนท่องเที่ยวในเร็ววัน จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงโควิด แบ่งเป็นชาวไทย 12% และ 28% สำหรับชาวต่างชาติ
มากไปกว่านั้น จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเด็กทางออนไลน์กว่า 70% ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเกือบ 50% ที่มีแหล่งประกอบการตัดสินใจซื้อเป็นการรีวิว หรือการโฆษณาผ่านโลกโซเชียล ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ iPrice ช่วงล็อกดาวน์ (Lockdown) ที่ว่า Facebook Ads คือเทรนด์การตลาดออนไลน์มาแรงในยุคโควิด ตามมาด้วยการค้นหาข้อมูลผ่าน Google ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองกว่า 25% ทั้งจากผู้ปกครองชาวไทยและต่างชาติ
ผู้ปกครองชาวไทยเน้นซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจาก ‘ชื่อแบรนด์’ มากกว่า
ดูเหมือนเจลล้างมือ และทิชชู่เปียกจะกลายเป็นไอเท็มสู้โควิดที่สำคัญไปซะแล้วไม่ว่าจะทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ แต่การเลือกซื้อให้เด็กดูเหมือนจะต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัยมากกว่า เพราะผิวของเด็กบอบบางและแพ้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เริ่มจากเจลล้างมือที่นอกจากจะต้องเลือกเพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อโควิดได้มากที่สุดแล้ว หากใช้ในเด็กผู้ปกครองยังคงต้องกังวลถึงส่วนผสมอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือส่วนใหญ่จะเน้นไปทางแบรนด์ที่ผลิตสินค้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ดูเหมือนความคิดเห็นของผู้ปกครองชาวต่างชาติ และชาวไทยจะต่างกัน เพราะชาวต่างชาติเน้นเลือกจากส่วนผสมมากกว่าถึง 48% ตามมาด้วยการเลือกจากแบรนด์ 38% และอีก 14% เลือกจากขนาด, การดีไซน์, สี และกลิ่น ต่างจากชาวไทยที่เน้นเลือกจากแบรนด์สำหรับเด็กมากกว่าที่ 46% ตามมาด้วย 38% เลือกจากส่วนผสม และอีก 16% ถึงจะเป็นการดีไซน์ และรูปลักษณ์
สอดคล้องกับการเลือกซื้อทิชชู่เปียกที่ผู้ปกครองชาวไทยก็เน้นเลือกจากแบรนด์ด้วยเช่นกันสูงถึง 70% แล้วจึงตามมาด้วยการเลือกจากราคา 18% และเลือกจากระดับแอลกอฮอล์สูง ๆ อีก 12% ต่างจากชาวต่างชาติที่เลือกซื้อจากระดับแอลกอฮอล์สูง ๆ ก่อนถึง 46% แล้วจึงตามมาด้วยเลือกจากแบรนด์ 38% และจากราคา 16%
จะเห็นได้ชัดว่าผู้ปกครองชาวไทยมักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็กจากแบรนด์ที่ผลิตมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ เพราะชาวไทยเชื่อมั่นในการทดสอบอาการแพ้ของแบรนด์ดั้งเดิมมากกว่าทำให้สินค้าชนิดนี้มักถูกเลือกซื้อเป็นเซ็ต หรือซื้อจากแบรนด์เดียวกันเพื่อการฆ่าเชื้อแบบอ่อนโยนที่สมบูรณ์แบบ
‘ส่วนผสมและแบรนด์สำหรับเด็ก’ คือตัวเลือกที่ผู้ปกครองชาวไทยเน้นหนักที่สุด
สเปรย์กันยุง และครีมกันแดด ถือเป็นไอเท็มเสริมเพื่อการท่องเที่ยวที่ขาดไม่ได้ แล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต่างก็อัดแน่นไปด้วยสารเคมีอันตรายที่ต้องเลือกซื้ออย่างระมัดระวังและต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด ทำให้การเลือกซื้อจากสินค้าที่ผลิตมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ และส่วนผสม เป็นปัจจัยที่ผู้ปกครองทั้งชาวไทย และต่างชาติคำนึงถึงมากที่สุด
เริ่มจากผู้ปกครองชาวไทยที่เน้นเลือกซื้อสเปรย์กันยุงจากสินค้าที่ผลิตมาเพื่อเด็กเท่านั้นสูงถึง 82% นอกนั้นจะเน้นเลือกส่วนผสมจากสมุนไพร 18% มากไปกว่านั้นจากผลสำรวจยังพบว่า ไม่มีผู้ปกครองเลือกซื้อสเปรย์กันยุงจากความป้องกันที่ยาวนานเลย ต่างจากผู้ปกครองชาวต่างชาติที่แม้จะเลือกซื้อจากสินค้าที่ผลิตมาเพื่อเด็กเท่านั้นมากที่สุดเหมือนกันที่ 46% แต่ก็มีผู้ปกครองที่เน้นส่วนผสมจากสมุนไพรสูงไล่เลี่ยกันที่ 42% และยังมีผู้ปกครองที่เลือกซื้อโดยเน้นจากระยะเวลาป้องกันที่ยาวนานเป็นส่วนน้อยที่ 12% โดยอาจกล่าวได้ว่า ทั้งผู้ปกครองทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างก็นิยมเลือกซื้อสเปรย์กันยุงสำหรับเด็กจากสินค้าผลิตมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ หรือเลือกซื้อจากส่วนผสมธรรมชาติที่มีความเชื่อว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก เป็นต้น
ต่อมาคือการเลือกซื้อครีมกันแดดสำหรับเด็กทั้งผู้ปกครองชาวไทย และต่างชาติ ซึ่งต่างก็มีเคล็ดลับการเลือกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เริ่มจากชาวต่างชาติที่เน้นเลือกจากค่า SPF สูง ๆ ถึง 46% ในขณะที่ชาวไทยเน้นความสามารถด้านนี้น้อยที่สุดเพียง 14% ด้วยเชื่อว่า ค่า SPF สูงก็มักตามมาด้วยสารเคมีสูงเช่นกัน ทำให้หลายปีที่ผ่านองค์การอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้ครีมกันแดดที่วางจำหน่ายในไทยห้ามมีค่า SPF สูงเกิน 50 ตามมาด้วยการเลือกซื้อจากส่วนผสมที่ดูเหมือนทั้งผู้ปกครองชาวไทย และต่างชาติจะเน้นเป็นอันดับที่สอง เพราะจากผลสำรวจชาวไทยนิยมเลือกจากส่วนผสมสูงถึง 36% ซึ่งชาวต่างชาติก็เลือกสูงถึง 38% ใกล้เคียงกัน และตามมาด้วยการเลือกจากแบรนด์ที่ชาวไทยก็ถือเป็นตัวเลือกหลัก เพราะกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมีผู้เลือกสูงถึง 50% ในขณะที่ชาวต่างชาติเลือกเพียง 16% เท่านั้น
‘ราคา และอายุการใช้งาน’ ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อคาร์ซีท และรถเข็นเด็ก
คาร์ซีท และรถเข็นสำหรับเด็ก เป็นเหมือนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวกับเด็กเล็ก ๆ ที่ทุกครัวเรือนไม่อาจมองข้ามได้ และเพราะสินค้าทั้งสองประเภทนี้มีราคาแพง การเลือกซื้อจึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษเพื่อให้คุ้มค่าและสามารถใช้งานได้นานที่สุด จากผลสำรวจพบว่า ผู้ปกครองทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างมีเคล็ดลับการเลือกซื้อที่คล้ายคลึงกัน เริ่มจากคาร์ซีทที่ทั้งชาวไทย และต่างชาติเลือกจากความเหมาะสมกับช่วงอายุมากที่สุดสูงถึง ชาวต่างชาติ 56% และชาวไทย 68% ถัดมาคือมีจำนวนผู้เลือกจากอายุการใช้งานเท่ากันที่ 20% ปิดท้ายด้วย การเลือกจากน้ำหนักตัวที่ชาวต่างชาติเน้นเป็นอันดับสองที่ 24% (รองจากการเลือกจากช่วงอายุ) และชาวไทย 12%
ต่อมาคือการเลือกซื้อรถเข็นสำหรับเด็ก ซึ่งผู้ปกครองทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทย มีเปอร์เซ็นต์เคล็ดลับการเลือกเท่าเทียมกัน เริ่มจากการเลือกจากวัสดุที่เบา ทนทาน แบ่งเป็นชาวไทย 70% และ ชาวต่างชาติ 84% ตามมาด้วยการเลือกจากฟังก์ชั่นเสริม ซึ่งชาวไทยเลือก 16% และชาวต่างชาติ 10% สุดท้ายคือการเลือกจากราคา มีเพียง 14% ที่ชาวไทยเลือกตอบ และเพียง 6% สำหรับชาวต่างชาติ
จากผลสำรวจชี้ว่า แม้รถเข็นเด็กจะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ต่างก็เน้นเรื่องความเหมาะสมต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กรวมไปถึงความสะดวดต่อการพกพาเป็นหลัก มากกว่าราคา และระยะเวลาใช้งาน
ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ยิ่งซึมซับได้นานเท่าไหร่ ยิ่งตอบโจทย์เท่านั้น
เพราะเหตุผลของการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คือเพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา ทำให้ทั้งผู้ปกครองชาวไทย และต่างชาติต่างก็เลือกซื้อจากระดับการซึมซับที่ยาวนานที่สุด จากผลสำรวจพบว่า ชาวไทยเลือกสูงถึง 56% และชาวต่างชาติ 60% รองลงมาคือการเลือกซื้อจากแบรนด์ ชาวไทย 38% และชาวต่างชาติ 26% สุดท้ายคือการเลือกจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ผู้ปกครองทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสำคัญน้อยที่สุด โดยมีผู้เลือกเพียง ชาวต่างชาติ 14% และชาวไทย 6%
อย่างไรก็ตาม บนฉลากของผ้าอ้อมสำเร็จรูปมักจะระบุระยะเวลาใช้งาน และข้อแนะนำว่าควรเปลี่ยนทุกกี่ชั่วโมงเพื่อสุขอนามัยที่ดีของเด็ก ดังนั้นแม้เหตุผลของการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปคือความสะดวก แต่ก็ไม่ควรให้เด็กใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเดิมนานเกินไป เพราะหากเด็กติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นผื่นผ้าอ้อม ไม่แน่ว่าค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษาอาจมากกว่าราคาของผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็เป็นได้
การศึกษาข้อมูล
iPrice ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากผลการสำรวจเรื่อง 'การเลือกซื้อสินค้าสำหรับเด็กเพื่อการท่องเที่ยวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19' จากบริษัท Motherhood ประเทศไทย โดยแบบสำรวจนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับชาวไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 50 คน และอีก 50 คน สำหรับชาวต่างชาติ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 100 คน
เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล iPrice
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด