ในปี 2024 การค้าทางทะเลอาจถูกตัดขาด จากปัญหา Climate Change และเอลนีโญ ธุรกิจนำเข้าส่งออกกระทบหนักแน่ ถ้าไม่เตรียมตัวให้พร้อม
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนมาก แล้งหนักถึงขั้น ฝนไม่ตก ระดับน้ำทะเลลดลงจนไม่สามารถเดินเรือได้
การค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ใช้เรือ ไม่ใช่เครื่องบิน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยว่า สินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศมากกว่า 90% ถูกจัดส่งทางทะเล และคาดว่าภายในปี 2050 การค้าทางทะเลจะขยายตัวขึ้นได้ถึง 3 เท่า
แต่ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างมากจะเป็นตัวการหลักที่ฉุดรั้งการเติบโต
อย่างที่รู้กันดี เส้นทางเดินเรือสายสำคัญหลาย ๆ แห่ง เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อตัดผ่านให้เรือสินค้าแล่นไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปอ้อมไกล ๆ เช่น คลองสุเอซ ตัดผ่านแผ่นดินอียิปต์ ซึ่งใช้เดินทางจากเอเชียใต้ไปยุโรป เส้นทางสายนี้ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องเดินทางไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป
แต่ถ้าเส้นทางสายสำคัญเหล่านี้ถูกปิดตาย หรือแล้งหนัก น้ำลดจนเรือไม่สามารถผ่านได้ เศรษฐกิจจะเสียหายแค่ไหนกัน ?
ย้อนกลับในปี 2021 ที่เรือบรรทุก Ever Given หนึ่งในเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ทำให้เส้นทางเดินเรือสายนี้ถูกปิดไปช่วงหนึ่ง หลายบริษัทต้องเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้า เดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกาออกไป
การที่เรือสินค้าต้องใช้เวลานานขึ้นในการเดินทาง เท่ากับว่าต้นทุนในการขนส่งก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนเวลาที่เสียไป ซึ่งเหตุการณ์ Ever Given เกยตื้น ส่งผลให้การค้าหยุดชะงักครั้งใหญ่ ระหว่างยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง สูญเสียทางการค้าถึง 7 พันล้านปอนด์/วัน และคลองสุเอซเสียรายได้ไปกว่า 10.9 ล้านปอนด์/วัน
นี่เป็นเพียงแค่ความเสียหายจากเส้นทางสายเดียวเท่านั้น และคิดดูว่าถ้าหากเส้นทางการค้าทางทะเลสายสำคัญทั่วโลกถูกตัดขาด เพราะเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้ง Climate Change และเอลนีโญ จะยิ่งทวีคูณความเสียหายไปแค่ไหน ?
ปานามา: ประเทศปานามาเผชิญภัยแล้งหนักขาดฝนรุงแรง ทำให้ระดับในคลองลดต่ำลงจึงต้องจำกัดจำนวนเรือและปริมาณสินค้าที่บรรทุก โดยจำนวนเรือที่ผ่านคลองลดลงจาก 36 ลำเหลือเพียง 32 ลำ นอกจากนี้เรือบรรทุกต้องลดปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ลงกว่า 40% หรือมากกว่า 2,000 ตู้เผื่อให้เรือมีน้ำหนักเบาและแล่นผ่านคลองตื้น ๆ ไปได้
แม่น้ำไรน์: แม่น้ำสายสำคัญที่เป็นเส้นการค้าขายที่ตัดผ่านเมืองต่าง ๆ ในเยอรมนีและยุโรป ระดับน้ำลดต่ำลงมากที่สุดในรอบหลายปีตั้งแต่ปลายกรกฎาคม ทำให้เรือต้องบรรทุกของน้อยลงและค่าขนส่งมีราคาแพงขึ้น แต่การเดินทางในแม่น้ำไรน์เป็นเส้นทางขนส่งระยะสั้น จึงทำให้เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถเปลี่ยนเส้นทางหรือแก้ไขปัญหาได้ไว จึงไม่ได้กระทบกับการขนส่งมากนัก
ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดภัยแล้งที่โลกกำลังเจออยู่ได้ แต่ธุรกิจยังสามารถสนับสนุนการ Net Zero ที่ทั่วโลกมุ่งมันทำให้สำเร็จภายในปี 2050 ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ภายใต้สหประชาชาติ (UN) วางมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสําหรับขนส่งระหว่างประเทศ ตั้งเป้าปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
นำโดยบริษัทเดินเรือญี่ปุ่นเริ่มลงทุนใช้พลังงานสะอาดอย่าง เรือขนส่งปลอดมลพิษ เป็นตัวอย่างที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในไทยจะเริ่มมองหาแนวทางดำเนินธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับโลกใบนี้ได้
อ้างอิง: wartsila, forwardermagazine, cnbc, cbsnews
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด