สรุปเนื้อหาจากเวทีระดมความเห็น 'สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน' ในงาน ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน | Techsauce

สรุปเนื้อหาจากเวทีระดมความเห็น 'สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน' ในงาน ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน

สรุป Key Takeaways จากงานเสวนา “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน (Collaborative Partnership for Sustainability)” ในหัวข้อ “สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน” ร่วมระดมความคิดเห็น โดย คุณสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด, ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน), คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และคุณขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP

การเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อโลกที่ดีขึ้นจากกลุ่มธุรกิจ TCP

คุณขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP 

กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของ In Process คือในกระบวนการธุรกิจ และ After Process คือเรื่องที่นอกเหนือจากกระบวนการธุรกิจ โดยมีเป้าหมายความยั่งยืน 4 ด้านดังนี้

อย่างแรก ความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ (Product Excellence) เป็นความยั่งยืนในเรื่อง In Process กลุ่มธุรกิจ TCP มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ส่งออกขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงพยายามที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ใช้วัสดุน้อยลง เช่น ลดน้ำหนักแก้ว ลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม และการใช้ขวดพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

ถัดมาคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นความยั่งยืนในเรื่อง In Process  กลุ่มธุรกิจ TCP ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการประเมิน Carbon Footprint ในตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบบขนส่งก็ปรับเปลี่ยนเป็นประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เรื่องต่อมา เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นความยั่งยืนในเรื่อง After Process กลุ่มธุรกิจ TCP มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในเรื่องนี้ เช่น โครงธนาคารขยะ ร่วมทำงานกับ GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ทำงานเรื่องการบริหารจัดการการเก็บขยะ โครงการนี้มีการบริหารจัดการไปจนถึงการเก็บบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค 

สุดท้ายคือ การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Water Sustainability) เป็นความยั่งยืนในเรื่อง After Process กลุ่มธุรกิจ TCP จัดตั้งโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิอุทกภัยในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก และสำนักทรัพยากรน้ำใต้ดินมหาวิทยาลัยขอนแก่น

มุมมองของไทยเบเวอร์เรจแคนที่มีต่อความยั่งยืน

คุณสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด 

บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) เป็นบริษัทผลิตกระป๋องอลูมิเนียมและฝาชั้นนำของประเทศไทย TBC ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% อย่างไม่รู้จบ โดยไม่สร้างขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

บริษัทได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวในการบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร คือ ‘TBC Sustainability Goals 2030’ (TBC SG 2030) ผ่านการยกระดับการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy: BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

โดยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ 2 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) ซึ่งครอบคลุมความรับผิดตั้งแต้ต้นทางไปจนถึงปลายทางหลังการบริโภค และกลยุทธ์ด้านการสร้างพลังขับเคลื่อนสังคม (Social Impact) ซึ่งคำนึงถึงพลังขับเคลื่อนเชิงบวกต่อทั้งพนักงานของบริษัทและชุมชนโดยรอบ

2 กลยุทธ์นี้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งต้องเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายคอยสนับสนุน เพื่อให้บริษัทสามารถมุ่งไปสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ TBC ยังได้ริเริ่มโครงการ Aluminum Loop ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R), สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด, บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แองโกล เอเชีย เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อส่งเสริมการเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจรในประเทศไทย หรือเรียกว่า (Close-Loop Recycling)

Aluminum Loop ยังเป็นตราสัญลักษณ์ที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม โดยจะแสดงให้ผู้บริโภคได้ตระหนักว่ากระป๋องอลูมิเนียมนั้นเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างไม่รู้จบ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนก็คือ การคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก

เป้าหมายของ SCGC ธุรกิจที่ขับเคลื่อนแนวคิด ESG 

ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) 

บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC มุ่งเน้นที่ Pethochemical บางคนอาจจะมองว่าพลาสติกเป็นตัวร้าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะหากย้อนกลับไปดูกันจริง ๆ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะให้แทนพลาสติกในการใช้งานหลาย ๆ ส่วนมันเป็นไปไม่ได้แล้ว เช่น บรรจุภัณฑ์รถยนต์ เมื่อเรารู้ว่า End of life ของพลาสติกไม่สามารถบริหารได้ เราจะต้องปฏิบัติตนด้วย ESG framework ที่ดี และการจะทำให้ ESG framework ต้องทำงานกับทุก ๆ ภาคส่วน เพื่อทำวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ปัจจุบัน SCGC มีความตั้งใจสองเรื่องหลัก ๆ คือ จะทำ Green Polymer พอร์ตฟอลิโอให้ถึงหนึ่งล้านตันภายในปี 2030 และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 20% จากปี 2021 ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ลูกค้า Certifier การขนส่ง และอื่น ๆ เพื่อทำให้มี Carbon Footprint น้อยที่สุด 

บทบาทขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกต่อประเด็นความยั่งยืน

คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) 

TGO มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองต่อนโยบายประเทศในการมุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065  

TGO จึงได้พัฒนาระบบการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทั้งระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์และการบริการ  กิจกรรมหรืออีเว้นท์ ระดับบุคคล รวมทั้งสร้างระบบการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ได้มีการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล และการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการชดเชยในระดับองค์กรสำหรับใช้รายงานต่อสาธารณะผ่านรายงานความยั่งยืนขององค์กร One Report ของ ก.ล.ต. CDP และ DJSI แสดงให้เห็นศักยภาพและจุดยืนขององค์กรภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจไทยในด้านจัดการก๊าซเรือนกระจก

เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณะเพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ได้สะดวกยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ TGO กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แบบครบวงจร ทั้งการวัด ลด ชดเชย การคำนวณค่าคาร์บอนแฝง (Embedded Emission) เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกิจกรรมและอีเว้นท์ต่างๆ เช่น งานสัมมนา นิทรรศการ การท่องเที่ยว การเดินทาง งานแข่งกีฬา งานบุญ เป็นต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมที่สร้างขึ้นนี้ จะช่วยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน  

ทุกภาคส่วนสามารถมีบทบาทในเรื่องความยั่งยืนได้

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วดังนี้

คุณวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

ภาคอุตสาหกรรม คุณวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่าเมื่อพูดถึงคำว่า Innovation สามารถขยายความได้ไปถึงเรื่องของ Impact, Speed, Collaboration โดยเฉพาะเรื่องของความร่วมมือ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Innovation เพื่อความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่เป็นเรื่องของการจัดการ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า การรวมพลังจะนำไปสู่ความยั่งยืน 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ภาคการศึกษา รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่ากุญแจดอกสำคัญของการขับเคลื่อนความยั่งยืนคือเรื่องการศึกษา อีกทั้งยังกล่าวว่าทุกวันนี้มีค่ายสิ่งแวดล้อมตามมหาวิทยาลัยเยอะมาก ทุกคนไปแล้วได้ความสนุก แต่การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงอยากเชิญชวนให้ปรับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ

คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ จาก Environmental Education Center 

ภาคธุรกิจเพื่อสังคม คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ จาก Environmental Education Center เป็นบุคคลที่ได้ทำงานในสองโลกคือ Education เปิดองค์กรที่ทำค่ายให้กับเด็ก ๆ และโลกของ Entertainment คือเป็นนักแสดง จึงคิดว่าหนึ่งในวิธีการช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่าง หรือสร้างความยั่งยืนในหลาย ๆ มิติคือ “Edutainment” การเอาการ Education มาผสมกับ Entertainment เอาสองโลกมาผนวกรวมกันเพื่อช่วยสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับเยาวชนเข้ามาผลักดันและช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรได้มากขึ้น

คุณสุปราณี กำปงซัน จาก IUCN 

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  คุณสุปราณี กำปงซัน จาก IUCN กล่าวว่า IUCN มีส่วนร่วมในกระบวนการ EPR กับ TCP บทบาทของ IUCN เป็นการหาหลักฐานและการเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าในกระบวนการเรียกเก็บกลับคืนจะสำเร็จด้วยปัจจัยอะไรบ้าง แล้วอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเก็บกลับคืนไม่ประสบความสำเร็จ เน้นการทำงานกับผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการขยะปลายทาง

คุณอนุพงษ์ เครือสุวรรณเวส ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

ภาคเอกชน คุณอนุพงษ์ เครือสุวรรณเวส ผู้อำนวยการอาวุโส จากบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) ผู้ผลิตไนโตรเจนและแก๊สอุตสาหกรรม สิ่งที่ BIG กำลังจะพัฒนาอยู่ตอนนี้คือ เรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน และระบบน้ำดี น้ำเสีย รวมถึง distribution fleet ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่จะมีการนำไฮโดรเจนมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิง ซึ่ง BIG เป็นผู้นำด้านการผลิต Blue hydrogen ที่จะช่วยลดการปลดปล่อย CO2 ในภาคขนส่ง 

คุณธันยพร กริชติทายาวุธ Executive  Director สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ภาคธุรกิจ คุณธันยพร กริชติทายาวุธ Executive Director สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มองว่า นอกจากภาคเอกชนจะร่วมพลังกันแล้ว ต้องมีการสื่อสารกับภาคประชาชนให้หันมาเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

โลกกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างถ้วนหน้า ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายความยั่งยืนคือ “ทุกภาคส่วน” จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ภาคธุรกิจเปิดเกมรุกสู่ Net Zero Transition มุ่งสร้างมูลค่าและ ROI ระยะยาว

รวมสาระสำคัญเพื่อการทำ 'Net Zero Transition' จาก Speakers ในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX NEXT TECH...

Responsive image

ปัญหาสภาพอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง AI จะช่วยโลกได้อย่างไร?

ผลกระทบมากกับความท้าทายใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราผลิตและใช้พลังงานและ AI มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปล...

Responsive image

อินเดียเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ทำไมคนในชาติยังอดอยาก?

อินเดียเลี้ยงปากท้องคนทั้งโลกได้และกำลังจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ กลับติดอันดับต้น ๆ ประเทศที่ประชากรหิวโหยและขาดแคลนอาหารมากที่สุดในโลก เป็นเพราะอะไรกัน ?...