13 ทักษะที่มนุษย์ควรมี เพื่อให้เหนือกว่า AI ไม่ต้องกลัวถูกแทนที่ เพราะเราเก่งกว่า | Techsauce

13 ทักษะที่มนุษย์ควรมี เพื่อให้เหนือกว่า AI ไม่ต้องกลัวถูกแทนที่ เพราะเราเก่งกว่า

เมื่อโลกมาถึงจุดที่หุ่นยนต์อัจฉริยะไม่ใช่นิยายแฟนตาซีอีกต่อไป มนุษย์จะปรับตัวอย่างไรกับทักษะที่กำลังถูกแทนที่

13 ทักษะที่มนุษย์ควรมี เพื่อให้เหนือกว่า AI ไม่ต้องกลัวถูกแทนที่ เพราะเราเก่งกว่า

พล็อตหนัง sci- fi ว่าด้วยหุ่นยนต์ครองโลกแทนที่มนุษยชาติ คงเป็นเรื่องเว่อเกินจริงไปสักหน่อยหากเป็นเมื่อก่อน แต่ถ้าเป็นตอนนี้เรายังสามารถตอบได้เต็มปากเต็มคำอยู่ไหมล่ะว่า ยังไงหุ่นยนต์ก็ไม่มีทางแทนที่มนุษย์…. เพราะมันเริ่มเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วไงล่ะ

ปัจจุบันมีการใช้ AI ทำงานแทนมนุษย์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น AI ตอบแชทลูกค้า, AI ฝ่าย HR, AI เสิร์ฟอาหาร, AI วิเคราะห์เอกสาร แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นข่าวเก่าที่เราคุ้นชินกันอยู่แล้ว จนกระทั่ง

หนังสือ ebook ที่เขียนโดย AI ติดอันดับยอดขายดีใน Amazon กว่าหลายสิบเล่มเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา” 

งานศิลปะที่สร้างโดย AI ชนะประกวด Colorado State Fair Fine Arts Competition ประจำปี 2565”

ข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ‘Creative หรือความคิดสร้างสรรค์’ เป็นทักษะที่ไม่คิดว่า AI จะมีเหมือนมนุษย์ในเร็ววัน กลับกลายเป็นว่าตอนนี้กำลังแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ หลายงานที่ไม่คาดคิดว่าจะถูกแทนที่ดันเกิดขึ้นจริง เช่น นักพากย์ นักเขียน ศิลปิน Content creator และอีกมากมาย

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจเกิดคำถามว่า แล้วต้องทำไงล่ะถึงจะอยู่รอด? บทความนี้จึงได้รวบรวมทักษะที่มนุษย์อย่างเรา ๆ ควรมีในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะ ซึ่ง ‘ยัง’ ไม่ถูก AI แทนที่ ณ ตอนนี้

Soft skills อะไรจะช่วยให้เราเหนือกว่า AI

มีศิลปะในการพูด

ถึงแม้ว่า AI จะพูดคุยโต้ตอบได้ แต่ก็ยังไม่สามารถพูดจาให้เข้าใจลึกซึ้ง จับจังหวะน้ำเสียงไม่ลื่นไหลเท่ามนุษย์ ซึ่งศิลปะในการพูดนี้รวมไปการพูดโน้มน้าว เจรจาข้อตกลง พูดแสดงความรู้สึก รวมถึงการพูดในที่สาธารณะ (Public speaking) เพื่อสะกดความสนใจ สร้างความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจ

Teamwork เข้ากับคนได้

อย่างที่คุ้นหูกันว่า ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ ข้อนี้อาจไม่ถูกใจชาว Introvert เท่าไหร่นัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเลี่ยงการเข้าสังคมไม่ได้จริง ๆ ทักษะนี้จึงเป็นทักษะที่จำเป็นมากแม้โลกจะเข้าสู่ยุคแห่ง AI แล้วก็ตาม เพราะทุกองค์กรล้วนต้องการพนักงานที่สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ทํางานเป็นทีมได้ดี ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า เป็นอีกทักษะที่ AI ทำแทนไม่ได้

ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

ทักษะนี้ยังคงเป็นทักษะที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และถึงแม้ในปัจจุบัน AI จะวิเคราะห์คำนวณข้อมูลที่ซับซ้อนได้ แต่ยังไม่มีความละเอียดอ่อนในการแสดงอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ คือ การมีสภาพจิตใจที่มั่นคง รู้เท่าทัน ควบคุมอารมณ์ตัวเองที่จะแสดงออกได้ และสามารถใช้อารมณ์ในการทำความเข้าใจจิตใจผู้อื่นหรือความเป็นมนุษย์นั่นเอง

ถึงแม้สติปัญญาความรู้ (IQ) จะสำคัญ แต่ผู้ที่มี EQ ด้วยก็จะได้เปรียบในที่ทำงานเพราะสามารถสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจกับเพื่อนร่วมงานได้ เข้าใจว่าผู้อื่นคิดหรือรู้สึกอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานที่มี EQ ดีถึงดูโดดเด่นในที่ทำงาน

รู้จักปรับตัว ยืดหยุ่นเป็น

ตอนนี้ AI ถูกตั้งโปรแกรมให้ปรับตัวได้แค่กับสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ยังไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ ดังนั้นคนที่มีความยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับระบบการทำงานใหม่ ๆ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป วิกฤตใหม่ จะอยู่รอดในโลกของการทำงานได้

คิดแบบมีวิจารณญาณ

หรือที่เรียกกันว่า Critical thinking  ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างบนโลกดิจิทัลไม่ใช่ของจริงไปทั้งหมด ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้อย่างง่ายดายจนต้องอาศัยการแยกแยะว่าอะไรควรเชื่อ องค์กรต่าง ๆ จึงให้ความสําคัญกับคนที่มีคุณสมบัตินี้เป็นอย่างมาก เพื่อพิจารณาข้อมูลอย่างเป็นกลางว่าสมควรได้รับความไว้วางใจจากองค์กรหรือไม่

Chris Griffiths ผู้ก่อตั้ง OpenGenius และนักเขียนหนังสือขายดีด้านนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ชี้ว่า ทักษะ Critical thinking สำคัญเป็นสองเท่าในยุคปัจจุบัน เพราะไม่เพียงแต่จะต้องใช้ระบุข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจาก AI แต่ยังต้องใช้เพื่อป้อนข้อมูลให้ AI ทำงานอีกด้วย เนื่องจาก AI ไม่มีประสบการณ์ทางความรู้สึก (Subjective experience) เหมือนมนุษย์

อยากรู้ อยากเห็น

ในที่นี้ไม่ใช่แค่อยากรู้ทั่ว ๆ ไปแบบฉาบฉวย เช่น อยากรู้เรื่องคนอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการตัวเอง แต่หมายถึงความกระหายอยากรู้ในเชิงลึกเพื่อหาคำตอบหรือไอเดียใหม่ ๆ ที่สร้างองค์ความรู้ได้ 

คุณสมบัตินี้จะทำให้เราเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา และรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว ซึ่ง Harvard Business Review ยังเคยระบุไว้ว่า คนที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูงจะรู้จักคิดแบบสร้างสรรค์และคิดแบบซับซ้อน สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้

รู้เท่าทันภัยดิจิทัล 

การรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัลเป็นสกิลที่ทำให้เราสามารถประเมินและตั้งรับต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือ Generative AI ได้ ยกตัวอย่างเช่น AI voice generator เลียนเสียงพนักงานในบริษัทเพื่อเข้าถึงข้อมูลบริษัท หรือ Generative AI เผยแพร่เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลที่สาม

Hard skills ยังคงสำคัญมากในยุค AI 

แน่นอนว่าเราจะมีแต่ Soft skills ไม่ได้ การทำงานในอนาคตย่อมต้องมี Hard skills ควบคู่ไปด้วยจึงจะอยู่รอด โดย Hard skills ที่สำคัญที่สุดเลยก็หนีไม่พ้นการใช้ AI ให้เป็น หรือทักษะทาง Digital

เขียน prompt AI 

ในยุคที่ Generative AI ถูกนำมาใช้ผลิตข้อความ รูปภาพ และโค้ดกันอย่างแพร่หลาย ความสามารถในการใช้ประโยชน์จาก Generative AI จึงเป็นทักษะที่สำคัญ

การเขียน Prompt คือ การสร้างงานคอนเทนต์โดยการเขียนข้อความอธิบายสิ่งที่เราต้องการให้ AI อัลกอริทึมสร้างผ่านคำสั่งที่ป้อนเข้าไป (Prompt) เพื่อให้ AI ตอบกลับมาตรงกับความต้องการของเรา ทักษะนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างคอนเท้นด้วย Generative AI และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

ตรวจเช็คข้อมูลจาก AI (Verification Skills)

สกิลที่จำเป็นในการตรวจเช็คความถูกต้อง ความเกี่ยวข้อง และความเป็นธรรมของผลลัพธ์จากข้อมูลที่ผลิตโดยใช้เครื่องมือ Generative AI ซึ่งหมายถึงความสามารถในการวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อมูลที่จะแชร์ไม่ให้ผิดพลาดหรือมีอคติ เพื่อป้องกันองค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียงและให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เขียนโปรแกรม (Coding) 

ทักษะการเขียนโปรแกรม หรือ Coding ไม่จำเป็นว่าจะต้องจบวิศวกรหรือโปรแกรมเมอร์อย่างเดียวถึงจะทำได้ เพราะทักษะ Coding เป็นมากกว่าการเขียนชุดคำสั่งด้วยภาษาเฉพาะให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามที่เราต้องการ แต่ยังเป็นการฝึกให้เราสามารถคิดแบบสร้างสรรค์ มีตรรกะ และเป็นเหตุเป็นผลแก้ปัญหาได้

คณิตศาสตร์และสถิติ

ในการสร้าง AI ให้เรียนรู้จากประสบการณ์ เราจะต้องตั้งโปรแกรมให้ AI มีความสามารถในการเข้าใจและให้เหตุผล ดังนั้นท้กษะทางคณิตศาสตร์และสถิติจึงสำคัญ เพราะคณิตศาสตร์คือการศึกษารูปแบบและความสัมพันธ์ของตัวเลข ส่วนสถิติคือการศึกษาวิธีการรวบรวม วิเคราะห์ และตีความข้อมูล

Carlos Anchia ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Plainsight กล่าวว่า ผู้ที่เชี่ยวชาญในสาขา AI จําเป็นต้องมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่กว้างขวาง เพื่อสร้างอัลกอริธึมและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับองค์กร อุตสาหกรรม และปัญหาทั่วโลก โดย Carlos Anchia ชี้ว่าผู้เชี่ยวชาญที่เก่ง ๆ มักจะมีความรู้สถิติและคณิตสาขาพีชคณิตเชิงเส้น

วิเคราะห์ Data

Data Analysis และ Data Analytic เป็นเครื่องมือสําคัญในการทําความเข้าใจโลกรอบตัวเรา ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น เข้าใจความต้องการของลูกค้า และติดตามประสิทธิภาพความคืบหน้า ซึ่งเป็นทักษะที่จําเป็นในทุกธุรกิจหรือองค์กร

โดย Data Analysis คือ การนำเอาข้อมูลที่มีอยู่แล้วในอดีตมาวิเคราะห์สิ่งที่เคยเกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุของปัญหา เช่น วิเคราะห์สถานการณ์การตลาด และข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายลูกค้า

ส่วน Data Analytic คือ การนำเอาข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือในอดีตมาวิเคราะห์ ทำนายอนาคตโดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาแคมเปญการตลาดให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

การสื่อสารระหว่างภาษามนุษย์และ AI

Natural Language Processing หรือ NLP คือ การทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์ รวมไปถึงเข้าใจความหมายของคํา แยกวิเคราะห์ประโยคออกเป็นส่วน ๆ ได้ ตัวอย่างการทำงานเช่น การแปลภาษา การสรุปข้อความ

ผู้ที่มีทักษะนี้จะต้องมีความรู้ด้านภาษาศาสตร์ควบคู่กับวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถวิเคราะห์และตีความข้อมูลของภาษามนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม AI นั้นก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าในอนาคตทักษะเหล่านี้จะไม่ถูกแทนที่ มนุษย์อย่างเราจึงไม่ควรอยู่เฉย ๆ แต่ควรเพิ่มพูนหลากหลายทักษะเพื่อเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เพราะอย่าลืมว่าเก่งแค่อย่างเดียวไม่สามารถอยู่รอดในโลกแห่งการแข่งขันได้

อ้างอิง : CNBC , Linkedin , Linkedin , TTB , Forbes , Greatlearning

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Food Biotechnology “เนื้อจากแล็บ” ทางเลือกของอาหารเพื่อมวลมนุษยชาติ

Blood Free Group บริษัท Biotechnology จากซีรีส์เรื่อง Blood Free เปิดตัว ‘เนื้อจากแล็บ’ ตอบรับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค...

Responsive image

เปิดตัว 7 สตาร์ทอัพ FinTech ในงาน Money20/20 Asia เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาค

Money20/20 Asia ผู้จัดงานงานฟินเทคโชว์สุดยิ่งใหญ่เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพทั้ง 7 ที่เชื่อว่าจะผลักดันพร้อมปฏิวัติโลกของการเงิน...

Responsive image

เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะว่าทำไมร้านของชำ Samsung ในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความของเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเ...