มัดรวมมุมมอง Crypto ปี 2024 โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล | Techsauce

มัดรวมมุมมอง Crypto ปี 2024 โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล

บทความนี้นำประเด็นที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน จาก 'Decoding: Is FY24 The Best Year For Crypto? ร่วมถอดรหัสภูมิทัศน์สินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศและ Landscape การลงทุน' งานเสวนาด้านการลงทุนที่มัดรวมมุมมองและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นโดย ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH) อาทิ ปี 2024 เป็นปีที่ดีต่อการลงทุนในตลาด Cryptocurrency หรือไม่ การเติบโตของตลาดคริปโตในประเทศไทยเป็นอย่างไร มีปัจจัยบวก-ปัจจัยเสี่ยงด้านไหนบ้าง อะไรที่นักลงทุนต้องตระหนักและต้องศึกษา รวมถึงกรณีที่มีการโอนย้าย บิตคอยน์ (Bitcoin) ล็อตใหญ่ของ Tesla (คุยเพิ่มในภายหลัง)

2024 ปีสำคัญของคริปโต - สำคัญแบบไหนในมุมของผู้เชี่ยวชาญ

Crypto

บทเวทีเสวนา Decoding: Is FY24 The Best Year For Crypto? มีการพูดคุยในมิติกฎระเบียบ กลยุทธ์ โอกาส การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเงินดิจิทัล โดย 5 ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้

  • คุณนเรศ เหล่าพรรณราย 
    นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย    
  • คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์ 
    ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไรท์ชิฟท์ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม จำกัด
  • ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน 
    ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา FWX แพลตฟอร์ม DeFi และอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล 
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด
  • ดร.กร พูนศิริวงศ์ 
    ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และผู้อำนวยการ Binance TH Academy บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด

คุณนเรศ เหล่าพรรณราย
กฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้นและการเข้าร่วมของสถาบันที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

Crypto, BINANCE

คุณนเรศ เหล่าพรรณราย นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวถึงปี 2024 ว่า เป็นปีที่ดีของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในด้านราคาสินทรัพย์ ปีต่อๆ ไปจะมีราคาที่ดียิ่งกว่า 

"ปีนี้เป็นปีที่ Traditional Finance หรือ การเงินแบบดั้งเดิมกับสินทรัพย์ดิจิทัล มาอยู่ด้วยกันอย่างเป็นทางการ ทำให้เม็ดเงินจากฝั่งการเงินแบบดั้งเดิมเริ่มเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรม“

ต่อด้วยการเน้นย้ำในด้าน 'การมีส่วนร่วมจากสถาบันและความชัดเจนด้านกฎระเบียบในปี 2024' โดยยกตัวอย่าง ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในฮ่องกง สิงคโปร์ ดูไบ ว่าต่างก็มีความก้าวหน้าในด้านการกำหนดกฎระเบียบอย่างชัดเจน และแม้จะออกกฎเข้มงวดแต่ก็ไม่ทิ้งโอกาสในการส่งเสริมและผลักดันการเติบโตของตลาดคริปโต พร้อมทั้งยังโปรโมตการใช้งานอีกด้วย

  • สิงคโปร์ - มุ่งเน้นการนำบล็อกเชนมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งก็จะมีใบอนุญาตในด้าน Payment ที่สิงคโปร์สามารถใช้คริปโตในการใช้จ่ายได้ มีใบอนุญาตที่จะออก Stablecoin ได้ กล่าวคือ มุ่งเน้นเรื่องการสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ 
  • ฮ่องกง - มุ่งเปิดให้มีการลงทุน โดยจะมีใบอนุญาตด้าน Exchange, Bitcoin ETF รวมถึงจะมีกองทุนคริปโตตามออกมาในอนาคต
  • ดูไบ - มุ่งเป็น Digital Financial Hub 

อีกฝั่งของการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแบบเข้มงวดจัดๆ โดยภาครัฐ คือ ฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลกำกับดูแลเข้มงวดขึ้นมาก โดย ก.ล.ต. ทำแบบ 'หว่านแห' เข้าไปกำกับดูแลเว็บเทรดที่คนอเมริกาเข้าถึงได้ทั้งหมด หลังเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่าง FX, การล่มสลายของ LUNA ตามมาด้วยเรื่อง GameFi, Metaverse, NFT ส่วน ฝั่งยุโรป ก็คุมเข้มเกี่ยวกับระบบการเงินมากขึ้น ขณะที่ ฝั่งเอเชีย เช่น ประเทศไทย พยายามป้องกันไม่ให้มีเหตุร้าย โดยเพิ่มกฏใหม่ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

"ปีนี้เราเห็นการพัฒนากฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้นทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีความล่าช้า และสำหรับประเทศไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมการใช้โทเคนดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างโอกาสใหม่ๆ จาก ESG, Soft Power"

คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์
เงิน Fiat เสื่อมค่าลง ตอกย้ำความมั่นคงของ Bitcoin

Crypto, BINANCE

คุณพิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไรท์ชิฟท์ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม จำกัด กล่าวว่า ปี 2024 เป็นปีที่สำคัญสำหรับ Bitcoin เนื่องจากเป็นการครบรอบ 15 ปีของสกุลเงินดิจิทัลนี้ แม้ว่าปีนี้อาจไม่ใช่ปีที่ Bitcoin มีราคาสูงที่สุด แต่ความมั่นคงของ Bitcoin ยังคงทำให้มันเป็นสินทรัพย์ที่เชื่อถือได้

“Bitcoin อยู่มา 15 ปีแล้ว ปีนี้เป็นการยืนยันความมั่นคงของ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ว่าในปี 2024 อาจไม่เห็นราคาที่สูงที่สุด แต่ปีนี้เป็นปีที่ Bitcoin ยังคงยืนยันบทบาทของตนในตลาดดิจิทัล"

Bitcoin จึงต่างจากเงิน Fiat เพราะนับวัน เงิน Fiat ก็ยิ่งมีมูลค่าลดลง บ่งชี้ว่า การถือเงิน Fiat ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ส่วนการลงทุนในคริปโต มูลค่าเงินดิจิทัลก็สามารถลดลงได้ในชั่วพริบตา เพื่อชวนคิดต่อว่า เก็บเงินแบบไหนเป็นความเสี่ยงกันแน่ และแบบไหนคาดการณ์ได้ หรือป้องกันความเสี่ยงได้มากกว่า คุณพิริยะยกตัวอย่างกรณีการค่าเงินลดในต่างประเทศ เช่น อียิปต์ ที่ประกาศลดค่าเงินบาท 50% ในเช้าวันหนึ่ง ซิมบับเวย์ ที่มีการออกสกุลเงินใหม่เพราะมั่นใจว่าแข็งแกร่งกว่าทองคำ แต่ต่อมาประกาศลดมูลค่าลงไป 50% ภายในวันเดียว หรืออีกหลายประเทศที่เผชิญสถานการณ์ที่อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลงโดยที่ยังไม่เกี่ยวกับการลงทุนใดๆ 

เชื่อมโยงกับค่าเงินที่ลดลง คุณพิริยะกล่าวถึงเด็กยุคนี้ว่า โตมาพร้อมกับ Digital Currency, Bitcoin และพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาสัมผัสได้คือ เงินเฟ้อ ทำให้เข้าใจสถานการณ์ที่สิ่งของในท้องตลาดราคาแพงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาจะต่ำลง 

"ผมพูดเสมอว่าสิ่งนี้ไม่ใช่มาตรวัดเงินเฟ้อ สิ่งที่ชี้วัดสถานการณ์เงินเฟ้อจริงๆ คือ ราคาข้าวของที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี มันส่งผลให้คนสัมผัสได้แล้วว่า เงินเสื่อมมูลค่าลง ซื้อของได้น้อยลง เมื่อเงินเฟ้อสัมผัสได้ คนก็จะเริ่มมองหาแล้วว่า ทางออกอยู่ตรงไหน"

ความมั่นคงของเงิน Fiat จึงต่างจาก Bitcoin ชัดเจน "เพราะ Bitcoin มี 21 ล้านเหรียญ แต่การที่มีจำนวนเหรียญในปริมาณนี้ ไม่ได้หมายความว่า คุณสามารถซื้อจากใครไปก็ได้ แต่มันเป็นระบบที่ทำให้ผู้ใช้งานระบบไปสร้างเหรียญกันเอง ไป Bid เหรียญกันเอง และในที่สุด เมื่อผลิตกันจนหมดสิ้นแล้วจะไม่สามารถมีเหรียญเกินจำนวน 21 ล้านเหรียญได้ ซึ่งตรงนี้ถูกกำหนดไว้ในนโยบายด้านการเงินของ Bitcoin Halving คือข้อที่บอกไว้ว่า ทุกๆ 210,000 บล็อก หรือประมาณ 4 ปี เงินสนับสนุนการผลิตบล็อก (Block Subsidy) หรือการขุดบิตคอยน์จะลดลงครึ่งหนึ่ง" 

คุณพิริยะอธิบายต่อถึงผลตอบแทนจากการขุด Bitcoin, เรื่อง Supply-side Equation ที่สามารถรู้มูลค่าวันนี้และอนาคต รู้จำนวนเหรียญที่มีอยู่ในตลาด และด้วยความที่ Bitcoin มีนโยบายการเงินชัดเจน แข็งแรง ผู้ถือ Bitcoin จึงสามารถวางแผนการเงินได้ จากนั้นกล่าวถึง ด้วยการพูดถึง Demand-supply ในตลาด ว่าตลาดมีความสมดุล มีกำลังซื้อ-กำลังขายเท่าเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่หากอยู่ดีๆ Supply-side Equation หรือมีจำนวนการเทขายหายไปครึ่งหนึ่ง เท่ากับฝั่งกำลังขายหายไปครึ่งหนึ่ง ตลาดก็จะค่อยๆ ไหลขึ้น ซึ่งจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาที่นักลงทุนกระโดดกลับเข้ามา ราคาก็จะขึ้น จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็น Speculative Demand ที่ไหลเข้ามา พอ Supply ลดลง ก็จะเกิด Leverage Effect ขึ้น ทำให้เกิดเป็น Cycle อย่างที่เราเห็น

15 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นจังหวะที่คนตัวเล็กตัวน้อย (Retail Investor) เข้าไปจับจองสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Geek ในยุคแรกๆ ถือครองโดยที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ตอนนี้เป็นอีกยุค เพราะสิ่งที่ตามมาหลังจากมีการอนุมัติ Spot Bitcoin ETF คือ การยกระดับ Bitcoin ให้เข้าถึงได้ (Accessible) ในกลุ่ม Traditional Investor ในระดับสถาบัน และลักษณะเดียวกันในกลุ่มประเทศต่างๆ Wealth Fund ต่างๆ ที่เข้ามาในตลาด Bitcoin มากขึ้น 

ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน 
มองตลาดคริปโตกับการเติบโตเชิงกลยุทธ์

Crypto, BINANCE

ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ผู้ร่วมก่อตั้ง FWX และอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยทางตลาดที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดคริปโตในปี 2024 ว่าเหตุการณ์ Halving ของ Bitcoin และการสะสมสินทรัพย์จากกลุ่ม 'วาฬ' เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเติบโตที่ดีขึ้น

“การ Halving ของ Bitcoin จะส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และการสะสม Bitcoin จากผู้เล่นรายใหญ่ส่งสัญญาณความมั่นใจในตลาด” 

ผศ.ดร.อุดมศักดิ์อธิบายเพิ่มเกี่ยวการเข้าตลาด Bitcoin ในช่วงปีต่างๆ และการเข้าสู่ Super Cycle 

"ถ้าวันนี้ไปถามคนที่ลงทุนว่าเข้าตลาด Bitcoin ปีอะไร ตัวเลขที่เราจะเจอคือ 2012 - 2013, 2016 - 2017, 2020 - 2021 เป็นการนับรุ่นในตลาด Bitcoin คำว่ารุ่นหมายถึง จุดพีคของตลาดในแต่ละจุด เป็นจุดที่คนเข้าตลาดเยอะที่สุด รอบถัดมาก็จะเป็น 2024 – 2025 ช่วงเหล่านี้คือจังหวะ Halving ที่ตลาดพุ่งขึ้น มีทั้งคนใหม่ที่เข้ามาและคนที่ออกไป แต่ Halving รอบนี้ คนใหม่ที่เข้ามาจะไปใช่ตาสีตาสาแบบ 4 ปีที่แล้ว จะเป็นคนที่มีเงินเยอะมากๆ เงินจะอัดฉีดในตลาดมากและทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น จึงเป็นที่มาของ Super Cycle Theory ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้" 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ยังอธิบายเชิงเปรียบเทียบให้เห็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของ Bitcoin เมื่อเทียบกับเงินสด

"ในโลกทางการเงินมีสิ่งที่เรียกว่า Liquidity Cycle คือเงินสด เงินฝากที่อยู่ในมือพวกเรา มันจะเพิ่มหรือลดเป็น Cycle ซึ่งถ้าเราเอา Liquidity Cycle มาเทียบกับ Bitcoin Halving จะพบว่า Cycle ที่ผ่านมา มันจะล้อไปในเส้นเดียวกันจนมีคนตั้งสมมติฐานว่า หรือจริงๆ แล้ว ซาโตชิวางวัน Bitcoin Halving ไว้ให้ตรงกับจุดเริ่มต้นของ Liquidity Cycle เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวัน Halving เงินจะก็ถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบ ไหลเข้ามาในระบบสินทรัพย์เสี่ยง แต่เงินมันท่วมโลกมาก ขณะที่ Bitcoin มันเล็กนิดเดียวและมีจำกัด จึงดันให้ราคาของ Bitcoin สูงขึ้นไป" 

คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล
คริปโตเข้าสู่กระแสหลัก แล้วอะไรคือปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง?

คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ ไบแนนซ์ เห็นว่าปี 2024 เป็นปีที่สำคัญสำหรับตลาดคริปโต เนื่องจากมีการพัฒนาที่สำคัญในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้คริปโตเริ่มเข้าสู่กระแสหลักอย่างแท้จริง

“ปีนี้เป็นปีที่คริปโตเริ่มเข้าสู่กระแสหลัก” คุณนิรันดร์กล่าว “เรามีการเปิดตัว ETF ของ Bitcoin ในสหรัฐฯ และฮ่องกง กฎระเบียบของยุโรปภายใต้ MICA เริ่มมีผล และรัสเซียกำลังรับรองการขุด Bitcoin ประเทศเล็ก ๆ เช่น เอลซัลวาดอร์ และภูฏานก็สะสม Bitcoin อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระดับโลกต่อเทคโนโลยีนี้”

คุณนิรันดร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการมองคริปโตในฐานะเทคโนโลยีใหม่ โดยเปรียบเทียบกับความสงสัยในยุคแรกของอินเทอร์เน็ต และฝากถึงผู้ที่จะเริ่มลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำนึงถึงและศึกษาปัจจัยสำคัญๆ 5 ข้อ ดังนี้

  • 1) ความปลอดภัย - เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนต้องมั่นใจว่า ที่ที่จะนำเงินไปลงทุนนั้นมีการป้องกันหรือรักษาความปลอดภัยที่ดี
  • 2) จำนวนเหรียญ - เป็นแพลตฟอร์มที่มีเหรียญหลากหลายก็จะตอบโจทย์ความสนใจของนักลงทุนได้หลายแบบ และช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน
  • 3) สภาพคล่อง - เป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างคล่องตัว
  • 4) ค่าธรรมเนียมการให้บริการ (Fee) - เป็นแพลตฟอร์มที่เก็บค่าธรรมเนียมการฝาก/ถอนและการซื้อขายที่เป็นธรรม
  • 5) ประสบการณ์ของลูกค้า - เป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมส่งเสริมการลงทุนได้อย่างยั่งยืน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า

ดร.กร พูนศิริวงศ์
การเงินดั้งเดิมและคริปโตเริ่มผสานกัน ตลาดการศึกษาก็เริ่มเปลี่ยนไป

ดร.กร พูนศิริวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และผู้อำนวยการ Binance TH Academy บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด กล่าวถึงการผสานระหว่างการเงินดั้งเดิมและคริปโตในปี 2024 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น 

“ปี 2024 เป็นปีที่เราจะเห็นการผสานระหว่างการเงินดั้งเดิมและคริปโต โดยมีการเปิดตัว ETF สำหรับ Bitcoin และ Ethereum ซึ่งทำให้คริปโตเข้าสู่กระแสหลัก” 

ดร.กรกล่าวในฐานะที่ดูแล Binance Academy หน่วยงานที่มุ่งให้ความรู้เรื่อง Blockchain Technology, Cryptocurrency และแปลกใจที่เห็นความสนใจของสถาบันการศึกษาและนักศึกษาในปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ 

"หากเป็นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เรื่องคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีข้อกังขา ความไม่แน่ใจในสถาบันการศึกษา แต่วันนี้ผมได้รับเชิญให้ไปแชร์ข้อมูลให้นิสิตนักศึกษาในหลายๆ สถาบัน ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าราชกระบัง เอแบค ม.กรุงเทพฯ ม.เกษตร มักจะเชิญเราไปพูดเสมอ เนื่องจากมองว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ มันเข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนมากขึ้น และนักศึกษา ต่อให้เราไม่ให้ความรู้แก่พวกเขา พวกเขาก็ไปลงทุนเองอยู่ดี" 

"ถ้าดูตามสถิติ นักศึกษาวัยตั้งแต่ 20-24 ปี ไม่ค่อยมีใครพูดถึงการซื้อธนบัตรแล้ว ส่วนใหญ่หันไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทางมหาวิทยาลัยจึงหาวิทยากรมาให้ความรู้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตอนนี้เราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในด้านนี้เยอะ บางมหาวิทยาลัยเปิดวิชา Blockchain Technology & Cryptocurrency โดยมองว่าเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่มาแน่นอน" 

และเนื่องจากมีผู้ลงทุนรายใหม่ๆ คนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น ดร.กรกล่าวปิดท้ายว่า "แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งเรื่องเหรียญที่จะลงทุน แพลตฟอร์มที่จะใช้บริการ รวมถึงดูข่าวสารรอบตัวไม่ว่าจะเป็นข่าวสงคราม, ข่าวการเงิน, ข่าวเศรษฐกิจ, ข่าวการเมือง ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อคาดการณ์อนาคต ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรใช้เงินเย็น เป็นเงินสำหรับการลงทุนโดยเฉพาะ และเน้นการลงทุนระยะยาว"

คุยเพิ่มเรื่อง Tesla ย้าย Bitcoin ยกล็อต ตอกย้ำว่า 2024 เป็นปีที่เหรียญมีมูลค่าเพิ่มและน่าทำอะไรสักอย่าง?


จากกรณีที่ Tesla โอนย้าย Bitcoin มูลค่าประมาณ 765 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท ไปยังกระเป๋าเงินซึ่งไม่ทราบที่มา (Unknown Wallet) ซึ่งไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้ว่า Tesla มีแผนที่จะขาย Bitcoin หรือไม่ ทีมเทคซอสได้พูดคุยกับคุณนเรศ เหล่าพรรณราย โดยคุณนเรศเล่าในภาพรวมว่า การโอน Bitcoin หรือคริปโตนั้นมีปลายทาง 2 แบบ

  • หากโอนไปยัง Exchange สันนิษฐานได้ว่า ผู้โอนต้องการ 'นำไปขาย' ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงลบ
  • หากโอนไปยัง Hardware Wallet สันนิษฐานได้ว่า เป็นการ 'โอนไปเก็บ' เพื่อถือระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวก

"ในกรณีของ Tesla เป็นการโอนไปยัง Unknown Wallet ยังไม่สามารถบอกได้ว่าโอนไปที่ไหน จึงตีความได้สองแบบว่า เป็นการ 'ย้ายที่เก็บ' หรือเอาออกไป 'เตรียมขาย' ซึ่งถ้ามีการขายออกไปก็จะรู้ได้อยู่แล้ว เพราะคริปโตมีข้อดีที่ Track หรือติดตามข้อมูล On Chain ได้ว่า แต่ละ Address ทำรายการอะไรไว้ แต่ถ้ามันเงียบไปแสดงว่าเป็นการย้ายที่เก็บ" 

เนื่องจาก Tesla อยู่ภายใต้การบริหารของ อีลอน มัสก์ คุณนเรศวิเคราะห์ว่า อีลอนมีมุมมองเชิงบวกต่อคริปโต แต่ไม่ใช่คนที่ศรัทธาหรือซื้อเหรียญโดยไม่สนว่า ราคาจะขึ้นลงมากแค่ไหน ซึ่งในกรณี Bitcoin ถ้าจะขายในช่วงนี้ก็มีความเป็นไปได้เพราะได้กำไรมาก เช่น ขายแล้วอาจจะนำเงินไปลงทุนด้าน AI ต่อ

"ปี 2024 มีปัจจัยเชิงบวกเยอะ โดยเฉพาะการที่ FED ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง, การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองฝ่ายค่อนข้างสนับสนุนคริปโต โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณบวกและมีนโยบายแรงกว่า กมลา แฮร์ริส ขณะเดียวกัน สถานการณ์ตอนนี้ ก.ล.ต.เป็นภัยต่อคริปโตค่อนข้างมาก แต่หลังเลือกตั้งคาดว่าตลาดคริปโตจะมีแรงบวก แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดีเป็นใคร"

คุณนเรศแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่เป็นการปิดท้ายว่า ผู้สนใจลงทุนต้องติดตามข่าวให้ดี โดยเฉพาะใน X ที่มักจะมีการเผยแพร่ข่าวปลอมจำนวนมาก 

"อยากให้ดูข่าวจากสำนักข่าวที่ไว้ใจได้ อย่าติดตามและเชื่อ X หรือ Twitter ของบุคคล เนื่องจากตลาดคริปโตไม่มีการควบคุมเหมือนตลาดทุน เพราะฉะนั้น ใครก็ให้ข่าวได้ และในการลงทุนต้องเผื่อใจรับความเสี่ยง เพราะมันพร้อมจะมีข่าวปลอมตลอดเวลา และอาจเกิดแรงสวิงค่อนข้างเยอะ สมมติมีข่าวหลอกว่าเหรียญนั้นดี ถ้าไปลงทุนเยอะก็อาจจะขาดทุนได้"

มองอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย หลัง ก.ล.ต. ปรับหลักเกณฑ์การลงทุน ผ่านมุม BINANCE TH

แนวโน้มการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลกและได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินหรือกองทุนระดับโลก ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนทางตรงและการลงทุนผ่าน Crypto ETF เช่นในกรณีของ BlackRock และ Fidelity สะท้อนให้เห็นการปรับตัวตามพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลระดับสากลที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ด้านการกระจายการลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการยอมรับและทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเติบโตมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ประเด็นล่าสุดที่หลายภาคส่วนจับตาความเปลี่ยนแปลง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนทั่วไปในการพาไปลงทุนหรือจัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 

ในประเด็นนี้ คุณนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BINANCE TH เปิดเผยว่า ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กระแสเงินทุนใหม่ของสถาบันและกองทุนต่างๆ ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมสินทรัย์ดิจิทัล คือ การเพิ่มสภาพคล่องและการทำให้มูลค่าของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเสถียรภาพมากขึ้น 

“โดยทั่วไปแล้ว การมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ จำเป็นต้องมาพร้อมกับกรอบการดูแลที่ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนได้รับความคุ้มครอง และยกระดับมาตรฐานของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมและรักษาเสถียรภาพของตลาดไปควบคู่กัน” 

นโยบายใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงถือเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล ให้สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น Bitcoin ETFs ได้ง่ายขึ้น แม้ว่า Bitcoin จะมีความผันผวนสูง แต่ก็ถือเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างชัดเจน และหากกองทุนมีการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ก็จะสามารถให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมได้ตามความเสี่ยง และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันความผันผวนจากตลาดการเงินแบบดั้งเดิมได้

นอกเหนือจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎเกณฑ์ใหม่อื่นๆ สำหรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในด้านเพิ่มเติม ซึ่งถ้ามีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ คุณนิรันดร์บอกว่า

"เราคาดว่าการยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลจะพุ่งสูงแบบทวีคูณยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า" 

อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นที่ ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH) เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การผสมผสานเข้าด้วยกันระหว่างการลงทุนแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล เห็นได้จาก การแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงให้เป็นโทเคนดิจิทัล (Real World Assets Tokenization) โดยธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการแปลงสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนบล็อกเชน

“การแปลงสินทรัพย์จะเปิดโอกาสให้การซื้อขายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ขยายการเข้าถึงระหว่างประเทศ และอาจเป็นการเปลี่ยนโฉมตลาดการลงทุนดั้งเดิมและเพิ่มโอกาสทางการลงทุนให้กว้างขวางมากขึ้น และเมื่อเส้นแบ่งระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมกับสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มจางลง ทั้งสองภาคส่วนเกื้อหนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราจะเห็นระบบนิเวศที่มีความคล่องตัวและโปร่งใสมากขึ้น" คุณนิรันดร์กล่าวปิดท้าย

เปิดข้อมูลเชิงลึกตลาดรายเดือน - ตุลาคม 2567

สำหรับคนที่อยากได้ข้อมูลความเคลื่อนไหวหรือข้อมูลเชิงลึกในแวดวงคริปโต ขอส่งท้ายด้วยบทสรุปจาก ข้อมูลเชิงลึกตลาดรายเดือน - ตุลาคม 2567 (Monthly Market Insights - October 2024 ที่จัดทำโดย BINANCE มาปันกันอ่าน

  • 1. ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 8% เป็นผลจากความเชื่อมั่นเชิงบวกในตลาด จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกัน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ได้ดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยและประกาศแผนการลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio: RRR) เพื่อลดแรงต้านภาวะเงินฝืด โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารจำนวน 1 ล้านล้านหยวน ปัจจัยบวกเหล่านี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดคริปโตมีการปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานทางเศรษฐกิจและนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอนาคตยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าจับตา

  • 2. Wrapped Bitcoin (wBTC) ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด โดยมีปริมาณการซื้อขายรายสัปดาห์พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 65% แม้จะเผชิญความขัดแย้งเกี่ยวกับรูปแบบการเก็บรักษาสินทรัพย์แบบ 'หลายเขตอำนาจศาลและหลายสถาบัน' ที่เพิ่งนำมาใช้ รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดปัจจุบันซึ่งมีผู้เล่นมากกว่า 20 ราย

  • 3. การออกเหรียญ ETH ในเดือนกันยายนมีอัตราสูงประมาณ 0.74% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี ยิ่งส่งผลต่อแนวคิด 'Ultrasound Money' หรือการมองว่า Ethereum จะกลายเป็นเงินที่รักษามูลค่าได้ดีกว่าบิตคอยน์ ดูห่างไกลออกไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดจากกิจกรรมในเครือข่ายลดลง อันเป็นผลจากสภาวะตลาดโดยรวมและการแย่งส่วนแบ่งของ Layer 2 (L2) ค่าธรรมเนียมธุรกรรมและอัตราการเผา (Burn) ที่ต่ำลงทำให้ ETH ไม่สามารถคงสถานะเงินฝืดได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปทานรายวันสุทธิเป็นบวก ดังที่เห็นในปัจจุบัน

  • 4. มูลค่ารวมของสินทรัพย์ในโลกจริง (Real World Assets: RWAs) บนบล็อกเชนแตะระดับ All-Time Highs อยู่ที่ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมตลาดสเตเบิลคอยน์ที่มีมูลค่ากว่า 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) คิดเป็นส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาด ประมาณ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนถึง 70% ของมูลค่า RWA ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริษัทฟินเทคชื่อ 'Figure' สำหรับพันธบัตรรัฐบาลที่แปลงเป็น Token ก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2567 โดยมีมูลค่าเพิ่มจาก 769 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี ขยับเป็นกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน ซึ่งการเติบโตนี้น่าจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี (จนกระทั่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าสุด)

  • 5. นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายรวมจากการโดนแฮ็กคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากการนำโปรโตคอลความปลอดภัยที่แข็งแกร่งมาใช้ในอุตสาหกรรม แม้ว่าการแฮ็กที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในปีนี้มุ่งโจมตี Centralized Exchanges เช่น DMM Bitcoin สูญเสียเป็นจำนวน 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐ WazirX สูญเสียเป็นจำนวน 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner เผย! 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2025 ที่ผู้นำต้องปรับตัวรับตามให้ทัน

โลกเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจและผู้นำด้านไอทีจึงต้องปรับตัวให้ทัน Gartner บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic Technology T...

Responsive image

เจาะลึกอนาคต Data Center - Cloud Service ไทย อัพเดท ปี 2024 Big Tech ลงทุนในไทยแล้วกี่เจ้า ?

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย พร้อมศักยภาพ แนวโน้ม และโอกาสในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ในประเทศไทย ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมต่อยอดให้ไทยกลา...

Responsive image

ขาดทุน 4 ปีซ้อน! ทำไม 'ธนาคารไร้สาขา' ในฮ่องกง ยังคงดำเนินธุรกิจ แม้ไม่มีกำไร

การเปิดตัวของธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Banks ในฮ่องกงเมื่อสี่ปีที่แล้วถูกมองว่าเป็นอนาคตของการบริการทางการเงินในยุคดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นและล...