อินโดนีเซียกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการลงทุนจากทั่วโลก ในฐานะประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน ดึงดูดการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก
อินโดนีเซียสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เพียงปีเดียวสร้างมูลค่าถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศที่มี GDP โตกว่า 5% อย่างต่อเนื่อง
อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติไม่ควรมองข้าม? บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึก 5 เหตุผลสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก และพร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนประชากรประมาณ 275.7 ล้านคน โดยมีลักษณะเด่นคือประชากรที่อายุน้อย อายุเฉลี่ยเพียง 30.1 ปี และ 60% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Z มีสัดส่วนสูงที่สุด ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และถือว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีแรงงานมากกว่า 130 ล้านคน
นอกจากนั้น ต้นทุนแรงงานในอินโดนีเซียยังคงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ประกอบกับประเทศยังคงมีเสถียรภาพทางการเมือง และประชากรหนุ่มสาวส่วนใหญ่มีการศึกษา โดยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุระหว่าง 18 ถึง 39 ปี
ในปี 2022 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 แต่เศรษฐกิจอินโดนีเซียสามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศยังทำสถิติสูงสุดถึง 84,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานกว่า 1.3 ล้านตำแหน่ง
เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าในปี 2024 อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มประเทศ G20
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคม 2021 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 175 ล้านคน ซึ่งสร้างโอกาสสำคัญสำหรับบริการที่ใช้เทคโนโลยี เช่น อีคอมเมิร์ซ การเรียกรถโดยสาร และการชำระเงินออนไลน์ การใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 4.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025
ผู้บริโภคในอินโดนีเซียมีฐานะร่ำรวยและมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้รูปแบบการใช้จ่ายในประเทศเปลี่ยนไป ซึ่งเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.7 ล้านล้านบาทภายในปี 2025
รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังผลักดันประเทศด้วยโครงการต่างๆ รวมถึงการปรับนโยบายต่างๆ และมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรและการแปรรูปปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตแบบครบวงจรของประเทศ ตอกย้ำความสำคัญที่เพิ่มขึ้นในฐานะศูนย์กลางการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก และเร่งการพัฒนาประเทศ
เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ อินโดนีเซียตั้งเป้าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่า 545 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 18 ล้านล้านบาทภายในปี 2040 เพื่อพัฒนาสินค้า 21 รายการในหลายภาคส่วน เช่น แร่ธาตุ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ สวนเกษตร ทางทะเล ป่าไม้ และประมงเป็นต้น
นอกจากนี้ในปี 2020 อินโดนีเซียได้ปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการสร้างงานหรือ Omnibus Law มาใช้ ซึ่งมุ่งหวังที่จะเพิ่มโอกาสในการทำงานโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนและความแน่นอนทางกฎหมาย กฎหมายดังกล่าวจะลดความยุ่งยากของการสร้างธุรกิจ เชื่อมต่อนโยบายส่วนกลางกับระดับภูมิภาคให้เป็นระบบและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจมากขึ้น
“เราปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนของเราไปพร้อมๆ กับขยายขอบเขตของธุรกิจปลายน้ำ ปรับปรุงภาคการเงิน และเพิ่มกฎระเบียบและแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นดึงดูดนักลงทุน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน/ประธาน BKPM Mr. Bahlil Lahadalia กล่าว
ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ริมเส้นทางเดินเรือหลัก ทำให้เป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์สำหรับการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีทรัพยากรแร่ธาตุมากมายและเป็นผู้ผลิตนิกเกิล ดีบุก ทองแดง บอกไซต์ แมงกานีส สังกะสี และตะกั่วเป็นรายใหญ่ของโลก และแม้ว่าการทำเหมืองจะคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ในประเทศแล้ว แต่ยังมีแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศต่อไป
ถึงแม้อินโดนีเซียจะมีแนวโน้มดึงดูดนักลงทุนได้จากทั่วโลก แต่ก็ยังมีความท้าทายที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ อุปสรรคด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ แม้รัฐบาลจะลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่คุณภาพและความน่าเชื่อถือในการสร้างถนน ท่าเรือ และระบบขนส่งยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นและเกิดความล่าช้าในการผลิต
อีกปัจจัยสำคัญคือระบบราชการและการทุจริต กระบวนการดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐยังมีความซับซ้อนและล่าช้า ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการทุจริตที่ยังคงพบในบางภาคส่วน ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามปฏิรูประบบแล้วก็ตาม
นอกจากนี้อินโดนีเซียยังเผชิญกับความท้าทายด้านช่องว่างทักษะแรงงาน แม้จะมีแรงงานรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ความสามารถที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขผ่านการลงทุนในระบบการศึกษาและการฝึกอบรม
ขณะนี้อินโดนีเซียกำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่อาจปลดล็อกโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน ความน่าสนใจ โอกาสและความท้าทายที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีใหญ่ๆ เช่น Microsoft และ Nvidia เป็นต้น อินโดนีเซียจะเติบโตไปในทิศทางใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เป็นที่น่าจับตาดูต่อไปในอนาคต
ย้อนอ่าน "Indonesia Startup Ecosystem" พาชมอินโดนีเซีย ดินแดนที่มี “Unicorn” มากที่สุดใน Southeast Asia
อ้างอิง : bloomberg, inti.asia, aseanbriefing, jakartaglobe.id, businessgo.hsbc
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด