แก้วิกฤติฝุ่น คนไทยจะมีอากาศที่ดีขึ้นได้อย่างไร คำแนะนำจากผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม | Techsauce

แก้วิกฤติฝุ่น คนไทยจะมีอากาศที่ดีขึ้นได้อย่างไร คำแนะนำจากผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม

ในทุก ๆ ต้นปี เราต่างเผชิญกับปัญหาเรื้อรัง ‘PM 2.5’ ที่ส่งผลสำคัญต่อสุขภาพของเรา โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่องมานานหลายปี ดังที่เห็นได้จากกรณีจังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับ 1 ฝุ่น PM 2.5 อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก

Techsauce ร่วมกับ AIS NEXT หน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมของ AIS จึงนำมาสู่ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาในการเฟ้นหาสุดยอดไอเดียแบบ Startup ในโครงการ JUMP Thailand 2021 โครงการ Hackathon ระดมความคิดในการเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายครั้งสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง PM 2.5, ไมโครพลาสติก ขยะพลาสติก มลภาวะ ภาวะโลกร้อน รวมอยู่ด้วย

และในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา Techsauce ได้ร่วมกับ AIS NEXT เสวนากับ speaker หลากหลายท่านผู้คร่ำหวอดจากวงการเทคโนโลยี และผู้มีประสบการณ์ในการกำหนดนโยบายและผลักดันภาครัฐ ใน Live Session พิเศษ ‘แก้วิกฤติฝุ่น คนไทยจะมีอากาศที่ดีขึ้นได้อย่างไร คำแนะนำจากผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม’ โดยแต่ละท่านได้ให้ความคิดเห็นถึงปัญหา PM 2.5 ไว้อย่างน่าสนใจ และเสนอแนวทางการแก้ไขที่มุ่งเน้นถึงความยั่งยืน 

 แก้วิกฤติฝุ่น คนไทยจะมีอากาศที่ดีขึ้นได้อย่างไร คำแนะนำจากผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม

ฝุ่น PM 2.5 หรือที่เรียกกันว่า Particulate Matter 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยทั่วไป องค์กรอนามัยโลก  (WHO) ได้กำหนดว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร จะมีผลต่อสุขภาพ แต่ทว่าในประเทศไทยนั้นกลับเข้าขั้นวิกฤติ เพราะปริมาณฝุ่นแต่ละวันกลับเกินระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตรไปแล้ว ถ้าหากสูดรับฝุ่น PM2.5 เป็นประจำ ก็จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด เกิดโรคภัยร้ายแรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด หัวใจวาย เส้นเลือดสมองตีบ จนกระทั่งอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 

คุณวีณาริน ลุลิตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด (Thailand CAN) และเป็นผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ได้ระบุถึงต้นตอสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5  เพราะคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาในระดับเชิงโครงสร้าง ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยแก้ไขและสร้างโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรง คอยควบคุมการดำเนินการใช้นโยบายของรัฐให้เหมาะสมกับปัญหาก็คือ กฎหมาย 

คุณวีณารินกล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยนั้นไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศเลย การแก้ไขปัญหาในแต่ละกระทรวงจึงกระจัดกระจายและก่อให้เกิดประสิทธิผลต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยจะไม่สามารถบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศให้ตรงตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ จึงทำให้ยิ่งนานวันเข้า มูลค่าความเสียหายของสังคมที่เกิดขึ้นจากฝุ่นพิษก็อาจสูงขึ้นได้ถึงหลักล้านล้านบาท และจากคุณภาพอากาศที่แย่ลง คนไทยก็จะมีอายุขัยที่สั้นลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเชียงราย 

จึงเป็นที่มาของการผลักดัน พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ เป็นการเอาประเด็นของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมารวมกัน เพราะสุขภาพจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ คุณวีณารินมองว่าหากพ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บังคับใช้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ช่วยกระจายอำนาจให้แต่ละคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านนโยบายและแนวทางปฏิบัติการ และมีกองทุนช่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน (สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ Thailandcan  และศึกษาเนื้อหาร่างพรบ. และวิธีการร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ที่นี่   


เทคโนโลยีและความรู้ : เครื่องทุ่นแรงที่ผลักดันการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้ตรงจุด

คุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค Head of Novel Engine Execution Department ของ AIS Next ได้พูดถึงบทบาทของเทคโนโลยีด้าน IT และความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากหลากหลายสาขา ในการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยระบุว่า หากใช้เทคโนโลยี IT ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoT), Data, หรือ 5G ควบคู่ไปกับการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศ จะทำให้คนตระหนักถึงปัญหาในวงกว้างมากขึ้น ข้อมูล Data เชิงลึกจำนวนมากที่เราเก็บได้ก็จะช่วยให้เราเห็นภาพเหตุการณ์วิกฤติมลพิษอากาศที่เกิดขึ้น และสามารถวัดระดับก๊าซที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจได้อย่างเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังสามารถคาดการณ์ได้ถึงปัญหาทางอากาศต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

คุณวีณารินก็ได้ยกตัวอย่างถึงการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือสารเคมีที่กระจายอยู่ในสภาพอากาศ โดยเฉพาะกระบวนการ crowdsourcing ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลของฝุ่น PM 2.5 จากประชาชนจากทั่วประเทศ ทำให้เราทราบถึงปัญหาที่เกิดจากข้อเท็จจริง ได้ข้อมูลที่สดใหม่อยู่เสมอ ซึ่งจะต่อยอดกับการเสาะหาวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง

ในส่วนนี้เอง  ดร. กริชชาติ ว่องไวลิขิต นักวิจัยหลักในโครงการ Sensor for all และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กล่าวเสริมว่าในทางปฏิบัติ เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ Data ก็ได้ช่วยให้เราได้ทราบถึงระดับมลพิษได้อย่างทั่วถึง ดังที่เห็นจากในโครงการ Sensor for All ที่ช่วยกรองข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมควบคุมมลพิษ ทำให้คนไทยทราบถึงระดับคุณภาพอากาศได้ทุกวัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้แต่ละภาคส่วน สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปวางแผนจัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือจะนำไปต่อยอดการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้ในระยะยาว


ประชาชน : หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

คุณวีณารินได้ย้ำถึงความสำคัญของปัญหา PM 2.5 ว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกับสิทธิในการหายใจ คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะได้รับ โดยปกติเราได้หายใจเอาปริมาณอากาศ 5-8 ลิตรต่อนาที การเกิดขึ้นของมลภาวะ PM 2.5 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับเราได้อย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ต่อให้จะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก ให้เราทราบถึงปัญหามลพิษทางอากาศมากแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่มีความหวังในอนาคต การแก้ไขปัญหาก็จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ปล่อยให้ฝุ่นควันอยู่บนอากาศให้เราสูดจนเสียสุขภาพได้ 

ด้วยเหตุนี้เอง การเริ่มต้นจากหน่วยเล็ก ๆ จากคนหนึ่งคนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากคน ๆ หนึ่งสามารถจุดประกายสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนอีกจำนวนหนึ่งจนเกิดเป็น community ปัญหาที่ว่าใหญ่อย่าง PM 2.5 ก็สามารถทำให้เกิดการรับรู้ในระดับประเทศ และนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจังได้ หากเราใส่ใจพร้อมจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา คนจากหลากหลายสาขาความรู้ก็พร้อมจะช่วยเหลือในด้านนวัตกรรมไปสู่ solution ที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ได้อย่างยั่งยืน 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...