ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมของปี 2018 ที่ผ่านา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มต้นจัดงานเสวนาด้าน Blockchain เทคโนโลยีสุดร้อนแรงแห่งโลกการเงินเป็นการเฉพาะ ในชื่อ Blockchain the Series โดยปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับแนวคิด ไปจนถึงเป็นพื้นที่แถลงความร่วมมือในแวดวงการเงินและเทคโนโลยีครั้งสำคัญในไทยมากมาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2019 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาดังกล่าวอีกครั้งกับ Blockchain the Series No.4 หรือครั้งที่ 4 ซึ่งครั้งนี้นำเสนอเรื่องการ Implement หรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างชัดเจน ตั้งแต่แนวคิดการบริหารคนไปจนถึงการทำความเข้าใจ Platform แต่ละชนิด ซึ่ง Techsauce ได้รับโอกาสเข้าร่วมเสวนาดังกล่าว จึงขอเสนอบทสรุปเนื้อหาที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ดังนี้
เริ่มที่เนื้อหาใน Session แรกของวันโดยคุณ David Treat, Manageing Director and Global Blockchain Lead, Accenture, USA ที่ชวนคุยในประเด็นว่า “เมื่อไรควรเลือกใช้เทคโนโลยี Blockchain” ซึ่งมี Key Takeaway 4 ข้อด้วยกัน
ต่อด้วย Session ที่สองจากคุณ N.V. Narendra Kumar ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีธนาคารจากประเทศอินเดีย ที่มานำเสนอวิธีพิจารณาการเลือกใข้ Blockchain platform ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจคุณสมบัติของ platform ได้ดีขึ้น
คุณ Narendra กล่าวว่า การพิจารณา Blockchain platform มีข้อพิจารณาทั้งหมด 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่ ศักยภาพการขยาย (Scalibility), ความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว (Security and Privacy), ศักยภาพการรองรับการไหลเวียนของข้อมูล (Throughput), การกำกับดูแล (Governance), ผู้ตรวจสอบกลาง (Consensus) และ Smart Contract
ทั้ง 6 ข้อพิจารณาช่วยให้ผู้ใช้งานตัดสินใจได้ว่าจะเลือกระบบแบบใดที่เหมาะสมกับงานของตน งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องมี Throughput สูง แต่ต้องมีการกำกับดูแล (Govenrment) มากเป็นพิเศษ จึงควรเลือก Platform แบบ Private blockchain หรือ Permissioned system เพื่อให้อยู่ในขอบเขตการดูแล ในทางตรงกันข้าม งานบางอย่างจำเป็นต้องรองรับการ Scale ขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาและต้องมี Throughput ที่สูง แต่ข้อมูลไม่ได้มีนัยสำคัญต่อกิจการหรือความเป็นส่วนตัวมากนัก ก็อาจจะเลือกใช้ Public Blockchain หรือ Permissionless เพื่อให้ระบบทำงานอัตโนมัติได้ดีขึ้น
ถ้าพูดถึง Community ที่ขับเคลื่อนการ Blockchain ในภาคธุรกิจอย่างจริงจัง ชื่อของ BCI หรือ Blockchain Community Initiative จะถูกนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ แน่นอน โดยหลังจากที่หน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจกว่า 22 ราย ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท BCI อย่างเป็นทางการแล้วนั้น บรรดาผู้มีส่วนร่วมจัดตั้งประกอบด้วย คุณอิทธิพันธ์ เจียกเจิม กรรมการบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Global Transaction Banking Services ธนาคารไทยพาณิชย์, ดร.วิโรจน์ บัวคลี่ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, คุณเชียรวิทย์ อุดมวัฒน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คุณนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ Accenture ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้ถือโอกาสในงานนี้เผยบทเรียนที่เกิดขึ้นระหว่างทางให้กับองค์กรต่างๆ ที่สนใจใช้เทคโนโลยี Blockchain กัน
ทั้ง 4 ท่านกล่าวย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือซึ่งเริ่มจากการที่ธนาคารหลายแห่งนำ Project ด้าน Letter of Guarantee มาทดลองใน Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมกัน ทำให้ ธปท. เห็นว่าเมื่อเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกคน อีกทั้งการแก้ปัญหายังช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นเจ้าภาพเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Blockchain ระดับประเทศขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
เมื่อถามถึงบทเรียนจากการพัฒนา Blockchain ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า Letter of Gaurantee ของ กฟภ. สำเร็จได้จาก 2 ส่วน คือผู้บริหารระดับสูงเป็นฝ่ายสนับสนุน ทั้งยังตั้งทีมที่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจเป็นหัวหน้าทีม อีกส่วนหนึ่งคือการดึงบุคลากรที่ทำงานในโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเข้ามาร่วม ทำให้คนทำงานเห็นประโยชน์ที่จะพัฒนา Platform ให้สำเร็จ ส่วนคุณเชียรวิทย์ กล่าวว่า ปตท. เองเป็นองค์กรใหญ่ การที่จะขยับขยายไปยังเทคโนโลยีจึงเริ่มจากการปรับกฎระเบียบภายในให้เอื้อกับการทดลองและพัฒนา
คุณอิทธิพันธ์ กล่าวในส่วนแผนงานอนาคตของ BCI ว่า ต่อจากนี้จะพัฒนา Common Node ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสำหรับผู้ใช้งานรายย่อยหรือผู้ต้องการทดลองใช้งาน และมีแผนจะขยายการใช้งานไปยังด้านอื่นๆ รวมถึงที่อยู่นอกเหนืออุตสาหกรรมการเงินด้วย
ทั้งนี้ คุณอิทธิพันธ์ กล่าวสรุปว่า เมื่อมีการพูดคุยและตั้ง Common Goal ว่าให้ Blockchain เป็น Infrastructure ของประเทศ เอกชนที่อาจทำธุรกิจแข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกันก็สามารถร่วมมือกันได้
นอกจากแนวคิดที่น่าสนใจแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเชิญผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมและใช้งาน Blockchain จริงมาร่วมเสนอตัวอย่างทั้งภาคเอกชน และตังแทนหน่วยงานรัฐอย่าง กรมศุลกากร, สำนักงานหนี้สาธารณะ และฝ่ายการชำระเงินและพันธบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย
ส่วนตัวอย่างการใช้ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย Reward Point Solution ให้พนักงานในองค์กรนำคะแนนไปแลกเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งภายในและนอกองค์กร, การพัฒนา Solution ด้านการจัดเก็บสินค้าและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยวิธี Process Tracking และการร่วมในขั้นตอนการออก Letter of Gaurantee ของกรมศุลกากร ลดขั้นตอนและต้นทุนเอกสารด้านภาษี ช่วยให้การค้าดำเนินได้อย่างสะดวกกว่าเดิม เป็นต้น
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด